มันสำปะหลัง
มันสำปะหลัง ชื่อสามัญ Cassava, Bitter Cassava, Manioc, Sweet Potato Tree, Tapioca plant, Yuca[1],[2]
มันสำปะหลัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Manihot esculenta Crantz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Manihot utilissima Pohl) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[2],[5]
มันสำปะหลัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มันหิ่ว (พังงา), มันสำโรง มันไม้ (ชื่อเดิม), ต้าวน้อย, ต้าวบ้าน (ภาคเหนือ), มันต้นเตี้ย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สำปะหลัง มันสำโรง (ภาคกลาง), มันเทศ มันต้น มันไม้ (ภาคใต้), ต้าง (คนเมือง, ไทลื้อ), ก๋อนต้ง (ม้ง), โคร่เซาะ (กะเหรี่ยงแดง), หน้อยซิ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), หน่วยเซ่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ลำหม่อน ไคว่ต้น (ลั้วะ), กวายฮ่อ (ขมุ), ม่ะหนิ่ว (ปะหล่อง), ต้างน้อย, ต้างบ้าน, มันตัน, อุบีกายู เป็นต้น[2],[6]
มันสำปะหลัง มีถิ่นกำเนิดในแถบที่ลุ่มเขตร้อน มีหลักฐานแสดงว่ามีการเพาะปลูกกันในประเทศโคลัมเบียและเวเนซุเอลามานานกว่า 3,000-7,000 ปีแล้ว โดยมีการสันนิษฐานว่าแหล่งกำเนิดของมันสำปะหลังน่าจะมาจาก 4 แหล่งด้วยกัน คือ แถบประเทศกัวเตมาลาและเม็กซิโก, ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้, ทางทิศตะวันออกของประเทศโบลิเวียและทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอาร์เจนตินา, หรือทางทิศตะวันออกของบราซิล[3]
มันสำปะหลังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดหวาน และชนิดขม โดยชนิดหวานจะใช้เพื่อบริโภคหรือทำอาหารได้โดยตรง เช่น การนำไปนึ่ง เชื่อม ทอด (เช่น สายพันธุ์ระยอง2 และพันธุ์ 5 นาที) มีปริมาณของกรดไฮโดรไซยานิคต่ำและไม่มีรสขม ส่วนชนิดขม จะไม่เหมาะสำหรับนำมาบริโภคหือใช้เลี้ยงสัตว์โดยตรง เนื่องจากมีปริมาณของกรดไฮโดรไซยานิคสูง ซึ่งมีความเป็นพิษต่อร่างกาย การนำมาใช้ต้องผ่านการแปรรูปก่อน (เช่น พันธุ์ระยอง1, พันธุ์ระยอง3, พันธุ์เกษตรศาสตร์50) แต่ในประเทศไทยจะมีการปลูกมันสำปะหลังชนิดขมเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมกันมากกว่าชนิดหวาน[7]
ลักษณะของต้นมันสำปะหลัง
- ต้นมันสำปะหลัง จัดเป็นไม้พุ่ม มีลำต้นตั้งตรง เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความสูงของลำต้นประมาณ 1-5 เมตร มีการแตงกิ่ง กิ่งที่แตกจากลำต้นหลักเรียกว่า “กิ่งชุดแรก” ส่วนกิ่งที่แตกจากิ่งชุดแรกเรียกว่า “กิ่งชุดที่สอง” ต้นมันสำปะหลังจะแตกกิ่งเป็นแบบ 2 กิ่ง หรือ 3 กิ่ง ตามลำต้นจะเห็นรอยก้านใบที่หลุดร่วงไปเรียกว่า “รอยแผลใบ” และในระหว่างแผลใบจะเรียกว่า “ความยาวของชั้น” ส่วนที่อยู่เหนือรอยแผลใบมีตา ทุกส่วนของต้นเมื่อนำมาสับจะมีน้ำยางสีขาวไหลออกมา และรากสะสมอาหารเป็นแท่งหนาอยู่ใต้ดิน มีประมาณ 5-10 รากต่อต้น[1],[3],[4],[6]
- รากมันสำปะหลัง (หัวมันสำปะหลัง) ระบบรากเป็นแบบรากฝอย รากจะเกิดจากข้อของลำต้นที่ใช้ปลูกและขยายใหญ่เป็นหัว โดยหัวมันสำปะหลังเมื่อนำมาตัดตามขวางจะมีส่วนประกอบดังนี้ คือ เปลือกชั้นนอก เปลือกชั้นใน และส่วนสะสมแป้งหรือที่เรียกว่าไส้กลาง[4] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่ารากมันสำปะหลังจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ รากจริง และรากสะสมอาหาร (ทั่วไปเรียกว่าหัว) ที่มีปริมาณแป้งประมาณ 15-40%[5] รากสะสมอาหารจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-100 เซนติเมตร[6]
- ใบมันสำปะหลัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เกิดเวียนสลับรอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปโล่ ขอบใบแยกเป็นแฉกประมาณ 3-9 แฉก เว้าลึกเกือบถึงโคนใบ ในแต่ละแฉกมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ แกมรูปใบหอก หรือแกมรูปดาบ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ด้านบนเกลี้ยง บางที่เป็นสีแดง ส่วนด้านล่างเป็นสีขาวนวล และอาจมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบ ก้านใบเป็นสีแดงเข้ม ยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร ที่โคนก้านใบติดกับลำต้นมีหูใบ หูใบมักเป็นแฉกรูปหอก 3-5 แฉก ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ร่วงได้ง่าย[1],[4],[6]
- ดอกมันสำปะหลัง ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน แต่อยู่คนละตำแหน่ง ใบประดับเป็นรูปยาวแคบ ร่วงง่าย ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมาก โดยช่อดอกจะเป็นแบบ Panicle ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงดอกยาว 3-8 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ที่ปลายแยกเป็นแฉกสามเหลี่ยม 5 แฉก แต่ไม่มีกลีบดอก ภายในดอกเพศผู้มีก้านเกสรเพศผู้ อับละอองเกสรเพศผู้ เกสรเพศผู้มี 10 อัน เรียงเป็น 2 วง สั้นและยาวสลับกัน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูมีขนาดเล็ก ส่วนดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ มีก้านดอกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันที่โคนเพียงเล็กน้อย ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร รังไข่มีสัน 6 สัน และไม่มีขน ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ท่อรังไข่เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะแยกเป็นแขนงเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกจำนวนมาก ดอกเพศเมียจะไม่มีกลีบดอก และดอกจะประกอบไปด้วยรังไข่ 3 คาร์เพล ในแต่ละคาร์เพลมี 1 ออวุล[1],[4],[6]
- ผลมันสำปะหลัง ผลเป็นแบบแคปซูล ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร เกลี้ยง และมีปีกแคบ ๆ ตามยาว ภายในผลจะมีเมล็ด 3 เมล็ด[4],[5],[6]
- เมล็ดมันสำปะหลัง เมล็ดเป็นสีน้ำตาลลายดำ ลักษณะคล้ายเมล็ดละหุ่งแต่มีขนาดเล็กกว่า เมล็ดมีลักษณะรี ยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร รอยของก้านออวุลที่เหลืออยู่มีลักษณะเป็นสันนูนขึ้นทางด้านหนึ่งของเมล็ด ส่วนด้านล่างของเมล็ดมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีสีขาว สีชมพู หรือสีม่วง[4],[5],[6]
สรรพคุณของมันสำปะหลัง
- ส่วนของรากหรือหัวมันสำปะหลังเมื่อนำมาใช้ปรุงเป็นอาหาร จะสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ (ราก)[1]
- ใบอ่อนนำมาต้มให้สุกใช้รับประทาน ช่วยแก้โรคขาดวิตามินบี1 (ใบ))[6]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมันสำปะหลัง
- สารสำคัญที่พบได้แก่ amento flavone, linamarin, linustatin, glucoside, querecetin, yucalexin[1]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ มันสำปะหลังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อไวรัส ยับยั้งคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ยับยั้งการมีไขมันในเลือดสูง ยับยั้งการสร้างเอสเตอร์ของคอเลสเตอรอล แต่มีฤทธิ์ทำลายไตและเป็นพิษต่อปลา[1]
- เมื่อปี ค.ศ.1985 ได้มีการศึกษาทดลองในกระต่าย โดยให้กระต่ายกินรากมันสำปะหลังเป็นอาหาร หลังการทดลองพบว่ากระต่ายมีระดับไขมันในเลือดลดลง[1]
- เมื่อปี ค.ศ.1982 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการศึกษาทดลองในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง ด้วยการให้รากมันสำปะหลังเป็นอาหาร หลังการทดลองพบว่าหนูทดลองมีระดับไขมันในเลือดลดลง[1]
- เมื่อปี ค.ศ.2002 ที่ประเทศเกาหลี ได้ทำการศึกษาทดลองผลการลดไขมันในเลือดของมันสำปะหลัง ด้วยการนำแป้งที่ได้จากรากมันสำปะหลังกับโอ๊ตไฟเบอร์ โดยทำการทดลองในหนูแฮมสเตอร์ที่ถูกทำให้อ้วน (ให้อาหารที่มีไขมัน 17%, คอเลสเตอรอล 2% เป็นเวลา 20 วัน) แล้วนำหนูดังกล่าวมาให้มันสำปะหลัง พบว่าหนูทดลองในกลุ่มที่ให้มันสำปะหลัง สามารถลดคอเลสเตอรอลได้ โดยให้มันสำปะหลัง 916 mg./dl. และข้าวโอ๊ต 964 mg./dl. พบว่าสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้ถึง 32.4% ในกลุ่มที่ให้มันสำปะหลัง และลดไขมันได้ 51.7% ในกลุ่มที่ให้ข้าวโอ๊ต[1]
- เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศบราซิล ได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันของใบมันสำปะหลัง จากการทดลองพบสาร Polyphenol และสาร Saponins ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและลดไขมันจำพวกไตรีกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล และไขมันอื่น ๆ โดยทำการศึกษาทดลองกับหนูวิสตร้าเพศผู้เป็นระยะเวลา 7 สัปดาห์ ด้วยการนำใบมันสำปะหลังมาอบแห้งที่ 30-35 ≥ และนำใบมันสำปะหลังในขนาด 5%, 10%, 15% มาผสมในอาหารที่ให้หนูทดลองกิน ผลการทดลองพบว่าในขนาด 10% และ 15% สามารถช่วยลดไขมันในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[1]
ประโยชน์ของมันสำปะหลัง
- มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 5 ของโลก (รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง) โดยเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญอย่างมากของประเทศในเขตร้อน ด้วยการนำมารับประทานสด ต้ม นึ่ง ย่าง อบ เชื่อม หรือทำเป็นแป้งแล้วแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ ตลอดจนนำมาฝานเป็นแผ่นแล้วทอด[3]
- นอกจากจะใช้หัวเป็นอาหารแล้ว เรายังใช้ใบมันสำปะหลังมารับประทานแบบสด ๆ หรือนำมาต้มจิ้มกับน้ำพริก นำมาทำแกงก็ได้ อีกทั้งใบยังมีประโยชน์ในการช่วยลดคอเลสเตอรอลอีกด้วย[1],[3]
- นอกจากเราจะใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารของมนุษย์แล้ว เรายังใช้หัวสด ใบสด และลำต้นเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย โดยส่วนของหัวสามารถใช้ได้ทั้งหัวสด เปลือกของหัว และกากที่เหลือจากการทำแป้ง ในส่วนใบจะใช้ใบสดนำมาตากแห้งป่นผสมกับอาหารข้นเลี้ยงสัตว์และเป็นอาหารผสม และในส่วนของลำต้น จะนำมาตัดส่วนยอดผสมกับใบสดใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง ตากแห้งเป็นอาหารหยาบ[3]
- ลำต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นท่อนพันธุ์ได้ โดยนำมาตัดเป็นท่อน ๆ แล้วนำไปปลูก[3]
- มันสำปะหลังเป็นพืชที่สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไทยได้มากเป็นอันดับ 4 (รองจากข้าว ยางพารา และอ้อย) โดยผลผลิตครึ่งหนึ่งจะถูกนำมาทำมันเส้นและมันอัดเม็ด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนำไปแปรรูปเป็นแป้ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับมันสำปะหลังมากที่สุดในโลก[3]
- ใช้ในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง (แป้งนำมาทำอาหาร เครื่องปรุง วุ้นเส้น เบียร์ ใช้เป็นทำให้สารติดแน่นคงรูปร่าง ทำเป็นตัวให้ผงฝุ่นในอุตสาหกรรมทอผ้า ซักรีด ทำกาว กระดาษ แอลกอฮอล์ แป้งเปียก ยา อะซีโตน กลูโคส ใช้ในอุตสาหกรรมเจาะน้ำมัน แป้งแปรรูป ฯลฯ), แป้งดิบ (ใช้สำหรับทำขนมอบชนิดต่าง ๆ คล้ายกับแป้งสาลี สามารถใช้ทดแทนแป้งสาลี แป้งข้าวจ้าวได้ ฯลฯ), อุตสาหกรรมมันเส้น (ใช้เป็นอาหารสัตว์), อุตสาหกรรมมันอัดเม็ด ฯลฯ[3]
- นอกจากนี้ใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบประกอบในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย เช่น อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมไม้อัด อุตสาหกรรมกาว อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่าง ๆ เส้นก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น สาคู ซอสต่าง ๆ ไอศกรีม ก็ใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมแทบทั้งสิ้น[3]
- ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักในการแปรรูป ก็ได้แก่ ผงชูรส (monosodium glutamate), ไลซีน (กรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้), และสารให้ความหวาน ซึ่งได้แก่ กลูโคสเหลว (ใช้เป็นวัตถุในการผลิตลูกกวาดและเครื่องดื่มหลายชนิด), กลูโคสผง (แบ่งเป็น เดกซโตสโมโนไฮเดรส (ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง) และเดกซโตสแอนไฮดรัส (ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยา)), และซอร์บิทอล (ใช้ในอุตสาหกรรมยาสีฟันและเครื่องสำอาง) เป็นต้น[3]
- ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ได้จากแป้งมันสำปะหลัง ก็ได้แก่ พลาสติกที่สลายได้ทางชีวภาพ, สารดูดน้ำ (ใช้ในด้านอนามัยทางการแพทย์ ได้แก่ ผ้าอ้อมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ และใช้ในอุตสาหกรรมเป็นสารข้นสำหรับหมึกสกรีนระบบน้ำ วัสดุดูดน้ำออกจากเชื้อเพลิง เป็นต้น), แอลกอฮอล์ (สามารถนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ที่เรียกว่า “ก๊าซโซฮอล์” (gasohol) ได้ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง)[3]
- เมล็ดมันสำปะหลังถูกนำมาใช้สกัดเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดีที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยาได้[3]
คุณค่าทางโภชนาการของมันสำปะหลัง ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 160 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 38.06 กรัม
- น้ำตาล 1.7 กรัม
- ใยอาหาร 1.8 กรัม
- ไขมัน 0.28 กรัม
- โปรตีน1.36 กรัม
- น้ำ 59.68 กรัม
- วิตามินเอ 13 หน่วยสากล
- วิตามินบี1 0.087 มิลลิกรัม
- วิตามินบี2 0.048 มิลลิกรัม
- วิตามินบี3 0.854 มิลลิกรัม
- วิตามินบี6 0.088 มิลลิกรัม
- วิตามินบี9 27 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 20.6 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 0.19 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 1.9 ไมโครกรัม
- แคลเซียม 16 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.27 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 271 มิลลิกรัม
- โซเดียม 14 มิลลิกรัม
- สังกะสี (ซิงค์) 0.34 มิลลิกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
โทษของมันสำปะหลัง
- มันสำปะหลังชนิดหวานจะมีพิษน้อยกว่าชนิดขมที่ปลูกกันอยู่ทั่วไป ถ้านำมากินแบบดิบ ๆ ระบบย่อยจะดูดซึมพิษไซยาไนด์ โดยไซยาไนด์จะอยู่ในรากที่เป็นกรดไฮโดรไซยานิก (HCN) หรือกรดพรัสซิก (Prussic acid) ซึ่งมีความเป็นพิษ และจะมีอยู่มากในเปลือกมากกว่าเนื้อ การนำมาแช่น้ำและการนำมาต้ม จะทำให้กรดเหล่านี้ระเหยไปได้ โดยสารไซยาไนด์ชนิดนี้จะเป็นสาเหตุของ Cyanogens พิษของรากมันสำปะหลัง หากไม่นำมาปรุงให้สุกจะมีพิษ ซึ่งการนำมาปรุงอาหารก็ต้องเอาเปลือกออก ส่วนการต้มโดยเฉพาะในส่วนของรากควรต้มประมาณ 30-40 นาที แล้วทิ้งน้ำที่ต้ม ถ้าเป็นส่วนของใบให้ต้มมากกว่า 10 นาที ยิ่งถ้าเป็นใบแก่ก็ยิ่งต้องต้มนานมากขึ้น[5],[7]
- ทั้งต้น ราก ใบ และหัวมันสำปะหลังดิบมีสารพิษที่ชื่อว่า Cyanogenic glycoside เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองได้น้อยลง เมื่อกินพืชที่มีสารชนิดนี้สด ๆ จะทำให้เกิดอาการอาเจียน หายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้อกระตุก มีอาการมึนงง ไม่รู้ตัว มีอาการชักก่อนจะหมดสติ มีอาการขาดออกซิเจน ตัวเขียว ลมหายใจมีกลิ่นไซยาไนด์ หากได้รับเข้าไปในปริมาณมากจะมีอาการโคม่าภายใน 10-15 นาที และทำให้เสียชีวิตได้[2],[7] และยังพบอาการเป็นพิษแบบเฉียบพลัน คือ อาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง และอุจจาระร่วง โดยทั่วไปอาการที่พบมี 2 อาการสำคัญ คือ อาการ Konzo หรือ tied legs (อัมพาตฉับพลันที่ขาทั้งสองข้าง เป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องในการควบคุมการเคลื่อนไหวของประสาทสวนบน), และอาการ Tan หรือ Tropical ataxic neuropathy (อาการที่เกิดจากพิษของมันสำปะหลัง โดยมีอาการชา ความรู้สึกผิดปกติ สูญเสียการมองเห็น ตาพร่ามัว หูหนวก ขาลีบ สูญเสียการทรงตัว)[7]
- สำหรับวิธีการรักษา ให้รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง ในกรณีที่มีอาการรุนแรงให้ดม amyl nitrite แล้วรีบล้างท้องด้วย 5% sodium thiosulfate หรือทำให้อาเจียน แล้วตามด้วยการฉีด soduim nitrite (3% solution at 2.5-5 ml/min.) ร่วมกับ sodium thiosulfate (50 ml of 25% solution,IV) โดยอาจจะต้องให้ยาซ้ำ และให้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วย[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “มันสำปะหลัง” หน้า 154.
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “มันสำปะหลัง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [26 พ.ค. 2014].
- ระบบข้อมูลทางวิชาการ, กรมวิชาการเกษตร. “มันสำปะหลัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th/vichakan/. [26 พ.ค. 2014].
- ภาควิชาพืชไร่นา, คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. “มันสำปะหลัง (cassava)” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agri.kps.ku.ac.th/agron/. [26 พ.ค. 2014].
- ศูนย์สารสนเทศชุมชน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มันสำปะหลัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 202.28.48.140. [26 พ.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Cassava, Manioc, Tapioca”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์), หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [26 พ.ค. 2014].
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี. (วันทนีย์ วัฒนาสุรกิตต์). “Cassava (มันสำปะหลัง)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sbo.moph.go.th. [26 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dfjtees, judymonkey17, Nelindah, Ahmad Fuad Morad), www.vcharkarn.com (by อุบล_น้ำยืน)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)