มะแว้งเครือ สรรพคุณและประโยชน์ของมะแว้งเครือ 26 ข้อ !

มะแว้งเครือ

มะแว้งเครือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum trilobatum L. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1]

สมุนไพรมะแว้งเครือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แขว้งเคีย (ตาก), มะแว้งเถา (กรุงเทพฯ), มะแว้ง มะแว้งเถาเครือ (ทั่วไป) เป็นต้น[1],[3]

หมายเหตุ : ทั้งมะแว้งเครือและมะแว้งต้นต่างก็มีสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกันมาก แต่มักจะนิยมใช้มะแว้งเครือทำเป็นยามากกว่า แม้กระทั่งผลมะแว้งที่นำมาจิ้มกับน้ำพริกรับประทาน ก็ยังนิยมใช้ผลมะแว้งเครือเช่นกัน แต่แพทย์แผนไทยในอดีตจะนิยมใช้ทั้งมะแว้งเครือและมะแว้งต้นร่วมกัน โดยเรียกว่า “มะแว้งทั้งสอง[8]

ลักษณะของมะแว้งเครือ

  • ต้นมะแว้งเครือ จัดเป็นไม้เถาขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นกลมเป็นเถามันสีเขียว ตามลำต้นมีหนามแหลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือจากสัตว์ (โดยเฉพาะนก) ที่กินผลแล้วถ่ายเมล็ดออกมา จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ต้องการน้ำและความชื้นในปริมาณปานกลาง มักขึ้นเองตามธรรมชาติในบริเวณที่ราบชายป่า ที่โล่งแจ้ง และบริเวณที่รกร้างริมทาง สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย[1],[5],[8]

ต้นมะแว้งเครือ

รูปต้นมะแว้งเครือ

  • ใบมะแว้งเครือ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเว้า ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร หลังใบเรียบมัน ส่วนท้องใบมีหนามตามเส้นใบ[1],[2],[3]

ใบมะแว้งเครือ

  • ดอกมะแว้งเครือ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ในช่อดอกหนึ่งจะมีดอกอยู่ประมาณ 5-12 ดอก ดอกย่อยเป็นสีม่วงอมชมพู มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะย่น ปลายกลีบแหลม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน แต่ละดอกมีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 ก้าน ส่วนก้านดอกและก้านช่อเป็นสีเขียว[1],[3],[5]

ดอกมะแว้งเครือ

รูปดอกมะแว้งเครือ

  • ผลมะแว้งเครือ ออกเป็นช่อคล้ายมะเขือพวง ผลมีลักษณะกลม ผิวผลเรียบเกลี้ยง ผลมีขนาดเล็กกว่าผลของมะเขือพวง หรือมีขนาดประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีลายเป็นสีขาว ๆ ตามยาว เมื่อแก่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด ภายในผลมีเมล็ดลักษณะแบน ๆ อยู่หลายเมล็ด ผลมีรสขม[1],[2],[3],[5]

ลูกมะแว้งเครือ

ผลมะแว้งเครือ

สรรพคุณของมะแว้งเครือ

  1. ใบ รากมีรสขม เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก, ใบ, ผล)[3],[4],[5]
  2. ช่วยบำรุงโลหิต (ผล)[4]
  3. ทั้งผลสุกและผลดิบเป็นยาขมช่วยทำให้เจริญอาหาร ด้วยการใช้ผลสดประมาณ 5-10 ผล นำมาโขลกให้พอแหลก คั้นเอาแต่น้ำผสมกับเกลือใช้จิบบ่อย ๆ หรือจะใช้ผลสดนำมาเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ (ผล)[1],[2],[3],[4]
  4. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด แก้เบาหวาน ด้วยการใช้ผลที่โตเต็มที่ประมาณ 10-20 ผล นำมารับประทานเป็นอาหาร เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก (ผล)[1],[3],[4]
  5. ใบและรากใช้เป็นยารักษาวัณโรค (ใบและราก[3], ราก[4])
  6. รากมีรสขมขื่นเปรี้ยว เป็นยาแก้ไข้สันนิบาต (ราก)[3],[4] ช่วยกระทุ้งพิษไข้ให้ลดลง (ต้น[4], ราก[8]) ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  7. ราก ใบ ผล และทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไอ ตำรายาไทยจะใช้ผลสดเป็นยาแก้ไอ แก้เจ็บคอ ด้วยการใช้ในผลสด 4-10 ผล นำมาโขลกพอแหลกคั้นเอาแต่น้ำมาใส่เกลือเล็กน้อย ใช้จิบบ่อย ๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวกลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมเฝื่อน แล้วคายกากทิ้ง จะช่วยบำบัดอาการไออย่างได้ผลชะงัด (แต่บ้างใช้ผลแห้งปรุงเป็นยาแก้ไอ) (ราก, ใบ, ผล, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4] หรือจะใช้ใบและรากนำมาทำเป็นยาลูกกลอน หรือต้มและทำเป็นผง ทำเป็นยาแก้ไอ (ใบและราก)[3]
  8. ช่วยขับเสมหะ ตำรายาไทยจะใช้ผลสด 4-10 ผล นำมาโขลกพอแหลกคั้นเอาแต่น้ำมาใส่เกลือเล็กน้อย ใช้จิบบ่อย ๆ หรือเคี้ยวกลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมเฝื่อน (ผล)[1],[2],[3],[4] ต้นมีสรรพคุณขับเสมหะ (ต้น)[4] รากมีสรรพคุณกัดและขับเสมหะให้ตก (ราก)[3],[4]
  9. สรรพคุณของรากมะแว้งในบางตำราระบุว่า ใช้ระงับความร้อน (ราก)[8]
  10. ช่วยขับเหงื่อ (ทั้งต้น)[4]
  1. ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ต้น, ราก, ใบ, ผล)[3],[4]
  2. ช่วยแก้กระหายน้ำ (ราก)[4]
  3. ผลใช้เป็นน้ำกระสายยากวาด (ผล)[1]
  4. ช่วยแก้หืด หืดหอบ ด้วยการใช้ผลสดประมาณ 5-10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำและใส่เกลือ นำมาจิบบ่อย ๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ (ราก, ทั้งต้น)[4]
  5. ช่วยขับลม (ราก[1],[3], ผล[5])
  6. ต้น ราก ผลสด ผลแห้ง และทั้งต้นใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น, ราก, ผลสด, ผลแห้ง, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4]
  7. ต้นช่วยแก้หญิงท้องขึ้นในขณะตั้งครรภ์ (ต้น)[4]
  8. ช่วยแก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา (ราก, ผล)[4]
  9. มะแว้งเครือเป็นส่วนผสมหลักในตำรับยาประสะมะแว้ง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  10. ช่วยบำรุงน้ำดี (ผล)[4]
  11. ผลมะแว้งเครือแห้งมีฤทธิ์ช่วยทำให้น้ำตับอ่อนเดินได้สะดวก (ผล)[3]
  12. เปลือกต้น ใช้ฝนกับสุราปิดแผล รับประทานแก้พิษงู (เปลือกต้น)[7]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะแว้งเครือ

  • ใบมะแว้งเครือมีสาร Tomatid-5-en-3-ß-ol, ส่วนดอกมะแว้งเครือมีสาร Alkaloids, Cellulose, Pectins Unidentified organic acid Lignins, Unidentified saponins, และผลมะแว้งเครือมีสาร Enzyme oxidase, Vitamin A ค่อนข้างสูง[4]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยทำการเปรียบเทียบสารสกัดจากมะแว้งเครือด้วยคลอโรฟอร์ม ปิโตรเลียมอีเทอร์ เอทิลอะซิเตทและเอทานอล พบว่าสารที่สกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์มีความเป็นพิษต่อเซลล์ Leuk-L292 และ Vero มากที่สุด และเมื่อทำการแยกส่วนสกัดต่อก็พบว่าส่วนที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์มากที่สุดคือส่วน Sobatum โดยมีค่า LD50 เมื่อทดสอบกับเซลล์ Leuk-L292 และ Vero มีค่าเท่ากับ 7 และ 7.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัมตามลำดับ[6]
  • เมื่อให้สาร Sobatum เข้าทางช่องท้องในขนาด 100, 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าสารดังกล่าวไม่มีฤทธิ์เหนี่ยวนำ micronucleus ของเซลล์เม็ดเลือดแดงในไขกระดูก หรือทำให้เกิดความผิดปกติในโครโมโซม และเมื่อทำการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลันและแบบเฉียบพลันของส่วนสกัดดังกล่าว ก็ไม่พบว่าก่อให้เกิดอาการพิษ หรือความผิดปกติในเนื้อเยื่อ หรือทำให้หนูตาย[6]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดมะแว้งเครือด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 ด้วยการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูขาวทดลอง พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[6]

ประโยชน์ของมะแว้งเครือ

  • ผลอ่อนใช้รับประทานสดหรือลวก ต้ม เผาไฟ ใช้เป็นผักร่วมกับน้ำพริก โดยคุณค่าทางโภชนาการของผลมะแว้งเครือต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วยพลังงาน 59 แคลอรี, น้ำ 82.3%, โปรตีน 2.6 กรัม, ไขมัน 1 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 9.9 กรัม, ใยอาหาร 3.3 กรัม, เถ้า 0.9 กรัม, วิตามินเอ 1,383 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.04 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.1 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 8.4 มิลลิกรัม, วิตามินซี 6 มิลลิกรัม, แคลเซียม 50 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1 มิลลิกรัม[5]
  • นอกจากผลอ่อนแล้ว ยอดอ่อนก็ใช้รับประทานเป็นผักได้เช่นกัน แต่ต้องนำมาต้มให้สุกเสียก่อน แล้วจึงนำไปใช้เป็นผักจิ้ม (ส่วนผลอ่อนดิบจะใช้เป็นผักจิ้มได้เลย) นิยมรับประทานกับปลาร้า แต่ก็ใช้จิ้มกับน้ำพริกได้เหมือนกัน[8]
  • นอกจากประโยชน์ของมะแว้งในด้านอาหารและสมุนไพรแล้ว ยังอาจนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้อีก เช่น หากปลูกต้นมะแว้งเครือไว้ที่รั้วบ้านก็จะได้รั้วบ้านที่มีชีวิตชีวา มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีม่วงงดงาม ผลสุกเป็นสีแดงเข้มดูแปลกตา ผลัดเปลี่ยนกันไปตามฤดูกาล ไม่จำเจ และผลสุกของมะแว้งยังช่วยดึงดูดนกให้มาเยี่ยมเยียนขอชิมอยู่บ่อย ๆ ด้วย นอกจากนั้นต้นมะแว้งยังมีหนามอยู่มากมายที่จะทำหน้าที่เป็นรั้วได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น[8]
  • ในปัจจุบันสรรพคุณของมะแว้งในด้านการเป็นยาแก้ไอ ได้ถูกพัฒนาเป็นยาสำเร็จรูปโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ รักษาแผลในลำคอ โดยถือเป็นตำรับยาแผนโบราณที่มีประสิทธิภาพสูงอีกตำรับหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณขนานหนึ่ง มีการผลิตออกมาจำหน่ายอย่างจริงจัง และได้มีการปลูกต้นมะแว้งเพื่อนำมาผลิตเป็นยาโดยเฉพาะกันบ้างแล้ว[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “มะแว้งเครือ”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 641-642.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะแว้งเครือ”.  หน้า 191.
  3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “มะแว้งเครือ (Ma Waeng Khruea)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 237.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “มะแว้งเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [18 พ.ค. 2014].
  5. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “มะแว้งเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [18 พ.ค. 2014].
  6. ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “มะแว้งเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/.  [18 พ.ค. 2014].
  7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Solanum trilobatum L.”.  อ้างอิงใน: หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1, หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [18 พ.ค. 2014].
  8. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 235 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “มะแว้ง : ทั้งต้นและเครือล้วนเชื้อพันธุ์เดิม”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [18 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by santham2012, SierraSunrise, Anton Croos), bangkrod.blogspot.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด