มะเร็งไทรอยด์ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ 5 วิธี !

มะเร็งไทรอยด์

มะเร็งไทรอยด์ หรือมะเร็งต่อมไทรอยด์ (ภาษาอังกฤษ : Thyroid cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดกับต่อมไทรอยด์* โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมไทรอยด์กลายเป็นเนื้อร้าย สามารถเกิดได้กับต่อมไทรอยด์ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา รวมทั้งในเนื้อเนื่อที่เชื่อมต่อมทั้งสองข้างด้วย อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งชนิดนี้ก็มักรักษาให้หายขาด ไม่มีอาการเจ็บปวด และการวินิจฉัยก็ทำได้ง่าย หากพบเร็วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เกือบ 100%

มะเร็งไทรอยด์เป็นโรคที่พบได้น้อย สามารถพบได้ในคนทุกวัย มีรายงานพบได้ตั้งแต่อายุ 10-80 ปี ส่วนใหญ่พบได้มากในคนอายุ 20-40 ปี และ 50-70 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (มีรายงานในประชากร 100,000 คน จะพบโรคมะเร็งไทรอยด์ในผู้หญิงประมาณ 6 คน และพบในผู้ชายประมาณ 2 คน) และพบมากในผู้ที่เคยได้การฉายรังสีที่บริเวณลำคอเมื่อตอนเป็นเด็ก และบางชนิดอาจมีประวัติว่ามีคนในครอบเป็นด้วย

หมายเหตุ : ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ทางด้านหน้าของลำคอทั้งซ้ายและขวา โดยอยู่บริเวณใต้ลูกกระเดือกและมีเนื้อเยื่อไทรอยด์เชื่อมระหว่างต่อมข้างซ้ายและข้างขวา มีหน้าในการผลิตฮอร์โมนเพื่อควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย ระดับไขมันในเลือด ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ด้วย หากต่อมไทรอยด์ไม่สามารถควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติได้ ร่างกายจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น คอพอก คอพอกเป็นพิษ ต่อมไทรอยด์อักเสบ เนื้องอกของต่อมไทรอยด์ และโรคมะเร็งไทรอยด์

ชนิดของมะเร็งไทรอยด์

มะเร็งไทรอยด์มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้

  1. มะเร็งไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งจับกินแร่รังสีไอโอดีน เป็นกลุ่มโรคมะเร็งไทรอยด์ที่พบได้เป็นส่วนใหญ่และพบบ่อยที่สุดประมาณ 90-95% ของโรคมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมด แต่มีความรุนแรงต่ำและมีอัตราการหายจากโรคที่สูงกว่าชนิดไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีนมาก และยังแบ่งบ่อยออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
    • ชนิดแพพิลลารี (Papillary cell carcinoma) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 80% ของคนเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมด สามารถพบได้ในคนทุกวัย พบได้มากในคนอายุ 20-40 ปีกับในวัยสูงอายุ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า มักพบในผู้ที่เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณลำคอมาก่อน ก้อนมะเร็งจะโตช้าและมีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยมักไม่มีอาการอะไร มักมาพบแพทย์ด้วยการพบก้อนที่ลำคอ มะเร็งชนิดนี้ประมาณ 1 ใน 3 พบว่ามีการแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง จึงอาจพบก้อนที่คอร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตามผลการรักษาก็ได้ผลดีมากแม้ว่าจะมีการแพร่กระจายไปแล้ว ภายหลังการรักษาด้วยการผ่าตัดผู้ป่วยจะมีโอกาสมีชีวิตได้ยืนยาวหรือหายขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร
    • ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular carcinoma) เป็นชนิดที่พบได้ประมาณ 10-15% ของคนเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมด มักพบในผู้สูงอายุและผู้ที่เคยได้รับรังสีรักษาบริเวณลำคอมาก่อน มะเร็งชนิดนี้มีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก แพร่กระจายได้ง่ายชนิดแรก มักแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด โดยอวัยวะที่พบว่ามีการแพร่กระจายไปบ่อยที่สุดคือ ปอด กระดูก และสมอง และบางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินได้ แต่หากมะเร็งยังไม่แพร่กระจายการรักษามักได้ผลดี
  2. มะเร็งไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีน เป็นกลุ่มโรคมะเร็งไทรอยด์ที่พบได้ค่อนข้างน้อยประมาณ 5% ของโรคมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมด แต่มีความรุนแรงสูง ก้อนมะเร็งจะโตเร็วและแพร่กระจายได้ง่าย พบได้มากในผู้สูงอายุ โดยมีหลายชนิดย่อย เช่น
    • ชนิดเมดูลลารี (Medullary cell carcinoma) เป็นมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงมากขึ้น พบได้ไม่บ่อย อาจมีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นด้วย
    • ชนิดอะนาพลาสติก (Anaplastic carcinoma) เป็นมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงสูง พบได้ไม่บ่อยเช่นกัน และผลการรักษามักไม่ค่อยดีนัก

สาเหตุของมะเร็งไทรอยด์

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งไทรอยด์ แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้และเชื่อว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ที่สำคัญ คือ

  • กรรมพันธุ์ เพราะมีรายงานว่าโรคทางกรรมพันธุ์บางชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งไทรอยด์
  • ต่อมไทรอยด์ได้รับรังสีไอออนไนซ์ (Ionizing radiation) ที่ใช้ในการตรวจและรักษาโรคในปริมาณสูง เช่น การได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอเมื่อตอนเป็นเด็กเพื่อรักษาต่อมไทมัสโต
  • การได้รับรังสีจากกัมมันตรังสีที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ในปริมาณที่ไม่ถึงกับทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความเสีนหายกับหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ เช่น จากอุบัติเหตุโรงงานพลังงานปรมาณูและ/หรือจากระเบิดปรมาณู เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 10-20 ปี (มีรายงานพบได้ตั้งแต่ 3-5 ปี) ความเสียหายบางอย่างของเซลล์ต่อมไทรอยด์อาจขยายตัวขึ้นจนทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ได้
  • ระดับของเกลือแร่ไอโอดีนในอาหาร ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ โดยมีบางรายงานพบว่า ในถิ่นที่มีการเสริมเกลือแร่ไอโอดีนในอาหารและ/หรือน้ำดื่มจะพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งไทรอยด์ชนิดแพพิลลารีเพิ่มขึ้น ส่วนในถิ่นที่มีภาวะขาดไอโอดีนจะพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์เพิ่มขึ้น
  • อาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เพราะพบโรคมะเร็งไทรอยด์เกิดในผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายมาก

อาการของมะเร็งไทรอยด์

  • ผู้ป่วยจะมีอาการคอพอก (คอโต) ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นก้อนแข็งชนิดเดี่ยว ๆ ส่วนน้อยอาจเป็นหลายก้อน มักมีลักษณะติดแน่นกับเนื้อเยื่อโดยรวม ขยับไปมาไม่ค่อยได้ และไม่มีอาการเจ็บหรือปวดแต่อย่างใด ยกเว้นในรายที่มีเลือดเข้าไปในก้อนมะเร็ง อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดคล้ายต่อมไทรอยด์อักเสบได้
  • บางรายอาจมีอาการเสียงแหบร่วมด้วย เนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้นขนไปกดเบียดทับหรือลุกลามเข้าเส้นประสาทกล่องเสียงที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์
  • ในรายที่ก้อนมะเร็งโตเร็ว อาจโตจนกดท่อลมหรือหลอดอาหาร ทำให้มีอาการหายใจลำบากและ/หรือกลืนอาหารลำบาก เพราะทั้งสองเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์เช่นกัน
  • ผู้ป่วยอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอโตและคลำได้ หากเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • หากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง ตับ ปอด และกระดูก อาจทำให้มีอาการตามอวัยวะนั้น ๆ ที่โรคแพร่กระจายไปได้ เช่น มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูก อาจทำให้มีอาการปวดกระดูก มีก้อนขึ้นตามกระดูก หรือทำให้กระดูกหักตรงตำแหน่งที่โรคแพร่กระจายไป
  • ส่วนต่อมไทรอยด์ของผู้ป่วยส่วนมากจะยังคงหลั่งฮอร์โมนได้ตามปกติ ผู้ป่วยจึงมักไม่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือภาวะขาดไทรอยด์

ข้อควรรู้ : อาการต่อมไทรอยด์โตเป็นก้อนเฉพาะแห่ง (โดยที่ส่วนอื่น ๆ ของต่อมไทรอยด์ยังเป็นปกติ) มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเป็นมะเร็ง และส่วนมากประมาณ 90% จะมีสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น ถุงน้ำไทรอยด์ (Thyroid cyst) ซึ่งจะมีลักษณะค่อนข้างนุ่ม หรืออาจเป็นเนื้องอกธรรมดา (Thyroid adenoma) ซึ่งมีลักษณะไม่แข็งมาก บางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีก้อนที่คอควรไปพบแพทย์ทุกราย และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าไม่ใช่มะเร็งก็ขอให้สบายใจได้ เพราะการรักษาก้อนของต่อมไทรอยด์ที่ไม่ใช่มะเร็งนั้นอาจไม่ต้องทำอะไรถ้าก้อนมีขนาดเล็ก แต่ถ้าก้อนโตมากอาจต้องผ่าตัด

อาการมะเร็งไทรอยด์
IMAGE SOURCE : www.steadyhealth.com, www.siasat.com, medpic.org, symptomsmenit.blogspot.com.au

ระยะของมะเร็งต่อมไทรอยด์

ระยะของโรคมะเร็งไทรอยด์จะแตกต่างกับระยะของโรคมะเร็งอื่น ๆ เพราะจะมีการนำอายุของผู้ป่วยมาใช้ในการจัดระยะด้วย เนื่องจากความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 45 ปี จะมีความรุนแรงของโรคต่ำมาก

  • ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 45 ปี แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
    • ระยะที่ 1 โรคเกิดในต่อมไทรอยด์เพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง และ/หรือมีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ
      มะเร็งไทรอยด์ระยะแรก
    • ระยะที่ 2 โรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่พบได้บ่อยคือ แพร่กระจายเข้าสู่ปอด กระดูก หนังศีรษะ สมอง และตับ
      มะเร็งไทรอยด์ระยะที่2
  • ในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
    • ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร
      มะเร็งต่อมไทรอยด์ระยะที่1
    • ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร
      มะเร็งต่อมไทรอยด์ระยะที่2
    • ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 4 เซนติเมตร และ/หรือมีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ด้วย
      มะเร็งไทรอยด์ระยะที่3
    • ระยะที่ 4 ก้อนมะเร็งมีการลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ และ/หรืออวัยวะข้างเคียง และ/หรือมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่คอบริเวณอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ และ/หรือมีโรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่พบได้บ่อยคือ แพร่กระจายเข้าสู่ปอด กระดูก หนังศีรษะ สมอง และตับ

      มะเร็งไทรอยด์ระยะสุดท้าย
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

การวินิจฉัยมะเร็งไทรอยด์

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งไทรอยด์ได้จาก

  • การซักประวัติอาการและการตรวจร่างกาย ซึ่งมักพบก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์
  • การตรวจชิ้นเนื้อไทรอยด์โดยการใช้เข็มเจาะดูด (Fine needle aspiration biopsy) เมื่อใดก็ตามที่คลำได้ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ แพทย์จะทำการตรวจด้วยวิธีการใช้เข็มเจาะดูดเมื่อนั้น เพื่อเอาชิ้นมาตรวจพิสูจน์ว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่ ซึ่งการตรวจนี้ นอกจากจะช่วยวินิจฉัยโรคได้อย่างแน่ชัดแล้ว ยังช่วยระบุชนิดของมะเร็งไทรอยด์ได้ด้วย
  • การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของต่อมไทรอยด์และดูค่าสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ของต่อมไทรอยด์ เพราะมะเร็งไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งจับกินแร่รังสีไอโอดีนซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ สามารถสร้างสารบ่งชี้มะเร็งที่ใช้ในการตรวจติดตามผลการรักษาได้
  • การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมไทรอยด์และต่อมน้ำเหลืองที่คอ เป็นการตรวจเพื่อดูลักษณะของต่อมไทรอยด์ ดูการลุกลามของโรคไปยังต่อมน้ำเหลือง และอาจช่วยในการเจาะดูดเซลล์หรือตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น
  • การตรวจสแกนต่อมไทรอยด์ (Thyroid scan) ซึ่งอาจทำการตรวจในผู้ป่วยบางราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • การตรวจสแกนทั้งตัว (Whole body scan) เป็นการตรวจเพื่อดูว่ามีต่อมไทรอยด์เหลืออยู่มากน้อยเพียงใดภายหลังจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ไปแล้ว และเพื่อดูว่าโรคมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ หรือไม่
  • การตรวจเอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจเพื่อดูความผิดปกติของช่องอก หัวใจ และปอด รวมทั้งการแพร่กระจายของโรคมะเร็งไปสู่ปอด
  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เป็นการตรวจเพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา
  • การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานของตับ ไต และเพื่อดูระดับเกลือแร่ เช่น แคลเซียม ซึ่งอาจมีระดับลดลง เนื่องจากผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ออกไปด้วยในขณะผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (ต่อมพาราไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่อยู่ติดและอยู่ใต้ต่อต่อมไทรอยด์ และมีหน้าที่ควบคุมสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย)

การรักษามะเร็งไทรอยด์

  1. แนวทางการรักษามะเร็งไทรอยด์ การรักษาหลักของโรคมะเร็งไทรอยด์ คือ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ และภายหลังการผ่าตัดแพทย์จะทำการตรวจก้อนมะเร็งจากการผ่าตัดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา แล้วจะทำการประเมินว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาต่อเนื่องด้วยการกินแร่รังสีไอโอดีนเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจเหลือจากการผ่าตัดหรือไม่ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งว่าเป็นชนิดจับกินแร่รังสีไอโอดีนหรือไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีน) ซึ่งจะให้การรักษาโดยแพทย์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์และ/หรือแพทย์ทางรังสีรักษา แต่บางครั้งเมื่อโรคลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง อาจมีการฉายรังสีรักษาร่วมด้วย และถ้าเป็นโรคมะเร็งชนิดเซลล์รุนแรงหรือเป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่ไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีน อาจมีการรักษาร่วมหลังการผ่าตัดด้วยการให้รังสีรักษาและยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
  1. วิธีรักษามะเร็งมะเร็งไทรอยด์ ในการดูแลรักษาโรคมะเร็งไทรอยด์นั้นจะมีการรักษาหลัก ๆ ร่วมกันอยู่ 3 วิธี คือ
    • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ เป็นการรักษาที่ต้องทำเป็นอันดับแรก ซึ่งการผ่าตัดที่นิยมทำมากที่สุดคือ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก 2 ข้าง (ผ่าตัดออกให้เกลี้ยงมากที่สุด) เพราะมีข้อดีมากกว่าการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงบางส่วน คือ การช่วยเพิ่มอัตราการหายจากโรคให้สูงขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการกินแร่รังสีไอโอดีนในการรักษาหลังผ่าตัด และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจเลือดดูสารบ่งชี้มะเร็งที่แพทย์ใช้เฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำของโรค (ผู้ป่วยบางรายที่ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงบางส่วนในครั้งแรกจากการที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเพียงก้อนเนื้องอก เมื่อทราบผลชิ้นเนื้อภายหลังการผ่าตัดจากการตจรวจทางพยาธิวิทยาว่าเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ อาจต้องผ่าตัดอีกครั้งเพื่อเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้ง 2 ข้าง) สำหรับทางการเลือกในการผ่าตัดต่อมไทรอยด์จะมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ
      1. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกข้างเดียวและตัดส่วนเชื่อมตรงกลางออกไปด้วย (Thyroid lobectomy) มักทำเฉพาะในคนอายุน้อยที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กและยังไม่ลุกลาม ซึ่งมีข้อดีตรงที่ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาทกล่องเสียง (Recurrent laryngeal nerve) มีน้อยหรืออย่างมากก็ข้างเดียว และไม่เสี่ยงต่อการสูญเสียต่อมพาราไทรอยด์ (เพราะแม้เหลือเพียงข้างเดียวก็พอใช้อยู่ดี)
      2. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเกือบหมด (Subtotal thyroidectomy) เหมือนการผ่าตัดแบบแรก แต่แพทย์จะตามตัดเนื้อไทรอยด์ของอีกข้างหนึ่งเกือบหมด และเหลือเฉพาะด้านหลังซึ่งใกล้กับเส้นประสาทกล่องเสียงและต่อมพาราไทรอย์ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทกล่องเสียงและต่อมพาราไทรอยด์
      3. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด (Total thyroidectomy) เป็นการผ่าตัดที่แพทย์นิยมทำมากที่สุด เพราะมีข้อดีกว่าวิธีอื่นตรงที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำต่ำ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาทกล่องเสียงซึ่งจะทำให้เสียงแหบอย่างถาวร และต่อมพาราไทรอยด์อาจถูกตัดออกไปด้วยโดยไม่ตั้งใจได้ ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาการควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกายและต้องตามแก้ด้วยการกินแคลเซียมและวิตามินดีไปตลอดชีวิต และภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนไปตลอดชีวิต (ในระยะแรกหลังการผ่าตัดได้ต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมดได้ 1 เดือน แพทย์จะให้ผู้ป่วยหยุดกินยาฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อให้ร่างกายเกิดภาวะไฮโปไทรอยด์ก่อน จากนั้นจะให้ผู้ป่วยกินแร่รังสีไอโอดีนในขนาดที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยเพื่อให้เซลล์มะเร็งจับเอาไอโอดีนนี้ไว้ แล้วจึงสแกนดูทั่วร่างกายว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปส่วนใดหรือไม่ หากพบว่ามีมะเร็งอยู่ที่ไหนก็ตามแพทย์จะให้กินแร่รังสีไอโอดีนในขนาดเพื่อการรักษาเพื่อให้ไปทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่ให้หมด แล้วจะจำกัดไม่ให้ยาฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะไฮโปไทรอยด์ต่อไปอีก 6 เดือน เพื่อจะสแกนดูอีกครั้งว่ามะเร็งหมดไปหรือนัง เมื่อจบการรักษาแล้วผู้ป่วยจะต้องกินยาฮอร์โมนไปตลอดชีวิต)

        ผ่าตัดมะเร็งไทรอยด์
        IMAGE SOURCE : www.drugs.com

    • การกินแร่รังสีไอโอดีน (Radioiodine Therapy) แร่รังสีไอโอดีนนี้เป็นสารกัมมันตรังสีที่ได้รับจากการเตรียมให้อยู่ในรูปของสารน้ำหรือในรูปของแคปซูล เพื่อให้กินได้ง่าย ซึ่งในการรักษาด้วยการกินแร่รังสีไอโอดีนนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินเพียง 1 ครั้งหรือมากกว่า 1 ครั้งตามความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์ โดยแร่รังสีไอโอดีนที่ผู้ป่วยกินเข้าไปจะไปช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจมีหลงเหลืออยู่จากการที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมดทั้งที่บริเวณลำคอและเนื้อเยื่อใกล้เคียง นอกจากนั้นยังช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด กระดูก เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้ด้วย
    • การให้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ ภายหลังการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ทั้ง 2 ข้างออกไปแล้วร่างกายจะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้อีก เมื่อครบการรักษาแล้วแพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาฮอร์โมนไทรอยด์อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพราะยาฮอร์โมนไทรอยด์ที่ผู้ป่วยได้รับนอกจากจะช่วยชดเชยไทรอยด์ฮอร์โมนให้กับร่างกายได้แล้ว ยังช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งไทรอยด์ไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งจับกินแร่รังสีไอโอดีนไม่ให้ย้อนกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วย เนื่องจากยาฮอร์โมนไทรอยด์จะมีผลชะลอหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดนี้ได้
  2. การดูแลตนเองเมื่อเป็นมะเร็งไทรอยด์ เนื่องจากการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งไทรอยด์จะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไปอย่างละเอียดในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง
  3. ผลการรักษามะเร็งไทรอยด์ ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งและระยะของโรค ถ้าเป็นชนิดแพพิลารี (Papillary) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ เมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ก็มักจะหายขาดหรือมีชีวิตได้ยืนยาว คือ มีโอกาสหายได้สูงถึงประมาณ 90-100% ยิ่งในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยด้วยแล้ว โอกาสหายและมีความยืนยาวของชีวิตเท่าคนปกติก็มีเกือบ 100% อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคนอกจากขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งและระยะของโรคแล้ว ยังขึ้นอยู่กับอายุด้วย ถ้าอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ความรุนแรงของโรคจะสูงกว่า และถ้าเป็นเพศชายความรุนแรงของโรคจะสูงกว่าเพศหญิง
  4. ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งไทรอยด์ ผลข้างเคียงจากการรักษาในแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไป และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลาย ๆ วิธีร่วมกัน
    • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น แผลผ่าตัดมีเลือดออก เกิดการอักเสบติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด มีอาการเสียงแหบจากเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียงซึ่งอยู่ในบริเวณที่ทำการผ่าตัดได้รับบาดเจ็บในขณะผ่าตัด การมีภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์จากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไปหมดแล้ว และการมีภาวะแคลเซียมในร่างกายลดลงเมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไปด้วย
    • ผลข้างเคียงจากการกินแร่รังสีไอโอดีน ผลข้างเคียงที่พบได้ในระยะเฉียบพลัน (1-7 วันหลังได้รับแร่รังสี) เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ลำคอบวม ต่อมน้ำลายอักเสบ เป็นต้น ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวจากการได้รับแร่รังสีในปริมาณสูงหลายครั้ง เช่น มีการกดการทำงานของไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดต่ำ การมีพังผืดที่ปอด เป็นต้น
    • ผลข้างเคียงจากรังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีบริเวณต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยได้รับการฉายรังสี เช่น เมื่อฉายรังสีบริเวณต่อมไทรอยด์ ผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นกับผิวหนังและกับช่องคอส่วนที่ได้รับรังสี
    • ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด เช่น อาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง การทำงานของตับผิดปกติ เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ

การป้องกันมะเร็งไทรอยด์

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งไทรอยด์ แต่มีคำแนะนำว่าที่อาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ

  1. การหลีกเลี่ยงสาเหตุต่าง ๆ ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อสาเหตุ
  2. รับประทานอาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล เกลือแกง น้ำปลา อาหารหรือขนมขบเคี้ยวรสเค็ม ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่รับประทานน้อยหรือมากจนเกินไป
  3. ถ้าพบคอพอก (คอโต) ที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เสียงแหบ หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอโตร่วมด้วย ควรสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ และควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

การตรวจคัดกรองมะเร็งไทรอยด์

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไทรอยด์ให้พบได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นจึงควรสังเกตและคลำลำคอของตนเองว่ามีก้อนเนื้อผิดปกติหรือคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอหรือไม่ หากพบว่ามีความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “มะเร็งไทรอยด์ (Thyroid cancer)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 813-814.
  2. สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย.  “โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thastro.org.  [14 พ.ค. 2017].
  3. หาหมอดอทคอม.  “มะเร็งไทรอยด์ (Thyroid cancer)”.  (พญ.ชลศณีย์ คล้ายทอง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [15 พ.ค. 2017].
  4. DrSant บทความสุขภาพ.  “นักรังสีการแพทย์เป็นมะเร็งไทรอยด์”.  (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : visitdrsant.blogspot.com.  [16 พ.ค. 2017].
  5. Siamhealth.  “โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [17 พ.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด