โรคมะเร็งตับ
มะเร็งตับ (Liver cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งที่เกิดในผู้ชายไทย และพบมากเป็นอันดับ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งรวมทั้ง 2 เพศ มักพบในคนอายุ 30-70 ปี และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า โรคนี้จัดเป็นโรครุนแรงมาก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้มากที่สุดโรคหนึ่ง เพราะโรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่ค่อยแสดงอาการ ซึ่งผู้ป่วยกว่าจะได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกก็มักจะอยู่ในระยะท้ายของโรคซึ่งไม่มีทางรักษาให้หายได้แล้ว
ชนิดของโรคมะเร็งตับ
มะเร็งตับมีทั้งชนิดที่เกิดจากเนื้อเยื่อของตับเอง เรียกว่า “มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ” และชนิดที่เกิดจากการแพร่กระจายมาจากโรคมะเร็งชนิดอื่น เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านม ฯลฯ ซึ่งเรียกว่า “มะเร็งตับชนิดทุติยภูมิ” แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโรคมะเร็งชนิดที่เกิดจากเนื้อเยื่อของตับเองเท่านั้น ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อย ๆ จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ
- มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma – HCC) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่อยู่ในเนื้อเยื่อตับ ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 75-80% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ สามารถพบได้ในทั่วทุกภาคของประเทศ มักพบในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี (ทั้งที่เป็นพาหะและเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง), ผู้ป่วยตับแข็ง, ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด และผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเซลล์ตับ
- ไวรัสตับอักเสบบีหรือซี สามารถติดต่อได้ทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ และการติดจากแม่ไปยังทารกในครรภ์ เมื่อเชื้อเข้าไปในเลือดแล้ว เชื้อไวรัสจะเข้าไปรวมตัวกันที่ตับทำให้ตับอักเสบ ส่วนจะมีอาการของโรคตับอักเสบหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน คือ บางคนแทบไม่มีอาการเลย พอเป็นแล้วก็หายได้เอง และมีภูมิต้านทานในตัว แต่บางคนพอเป็นแล้วเชื้อก็ไม่หายไปจากตัวและกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังหรือเป็นพาหะติดต่อผู้อื่นได้ พอตับอักเสบนาน ๆ เข้า เป็นระยะเวลา 10-20 ปี ก็จะทำให้เซลล์ตับเป็นพังผืด เหี่ยวลง จนอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งบางเซลล์ในล้าน ๆ เซลล์อาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับได้ แต่ก็มีบางรายที่เหมือนกับประเภทที่ตับอักเสบเรื้อรัง แต่ไม่มีตับแข็ง แล้วกลายเป็นมะเร็งตับได้เช่นกัน (ผู้ป่วยมะเร็งตับมักมีประวัติติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซีมาตั้งแต่เล็ก โดยมักติดมาจากแม่ในขณะตั้งครรภ์ และเมื่อย่างเข้าสู่วัยกลางคนอายุประมาณ 50-60 ปี ก็จะกลายเป็นมะเร็งตับ) ดังนั้น ในระหว่างที่มีการตรวจรักษาไวรัสตับอักเสบหรือโรคตับแข็ง แพทย์ก็มักจะตรวจเช็กเรื่องของมะเร็งตับไปด้วย
- มะเร็งท่อน้ำดีในตับ (Cholangiocarcinoma – CCA) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่บุภายในท่อน้ำดีส่วนที่อยู่ภายในตับ (Biliary tree) ซึ่งพบร่วมกับโรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นชนิดที่พบได้มากรองลงมา คือ ประมาณ 13% ของมะเร็งตับ ในประเทศไทยพบโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้มากทางภาคอีสาน โดยจะพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย และมักพบในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50-60 ปี คนทางภาคอีสานจะคุ้นเคยกับโรคนี้อันเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคพยาธิใบไม้ตับเป็นอย่างดี และเนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการตับโตเป็นสำคัญ จึงนิยมเรียกโรคนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า “โรคตับโต”
- โรคพยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchiasis) จะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งประชาชนบางส่วนนิยมรับประทานปลาดิบ ๆ และปลาร้า
- อื่น ๆ (พบได้น้อย) ได้แก่ มะเร็งตับชนิดเฮปาโตบลาสโตมา (Hepatoblastoma) ที่พบได้ในเด็ก, มะเร็งของหลอดเลือด (Angiosarcoma) พบได้มากในผู้ที่สัมผัสสารไวนิลคลอไรด์ (Vinyl chloride) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น
สาเหตุของโรคมะเร็งตับ
- มะเร็งเซลล์ตับ (HCC) พบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี (ชนิดบีพบได้บ่อยกว่า) ผู้ป่วยตับแข็ง และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด นอกจากนี้ยังพบว่า สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่มักพบปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง (โดยเฉพาะถั่วลิสงบด) พริกแห้ง กระเทียม หัวหอม เต้าเจี้ยว ข้าวโพด ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ แหนม องุ่นแห้ง ปลาตากแห้ง มันสำปะหลัง ธัญพืชเปียกชื้นอื่น ๆ เป็นต้น ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นตัวเสริมให้เกิดมะเร็งเซลล์ตับในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- มะเร็งท่อน้ำดีในตับ (CCA) พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับแบบเรื้อรัง โดยเกิดจากพยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini) ซึ่งเป็นพยาธิที่มีอยู่ในปลาน้ำจืดตามหนองบึง เมื่อคนกินปลาแบบดิบ ๆ หรือปลาดิบ ๆ สุก ๆ ที่มีพยาธิชนิดนี้เข้าไป ตัวอ่อนของพยาธิก็จะเข้าไปเจริญเติบโตและอาศัยอยู่ที่ท่อน้ำดีในตับอย่างถาวร (สามารถอยู่ได้นานถึง 25 ปี) หากปล่อยไว้ไม่รักษาก็จะทำให้เกิดการอักเสบและความผิดปกติของตับ พอนาน ๆ เข้าเซลล์ท่อน้ำดีก็จะกลายพันธุ์เป็นมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า การได้รับสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่พบได้ในอาหารจำพวกโปรตีนหมัก (เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม เป็นต้น), อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว (เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น) และอาหารรมควัน (เช่น ไส้กรอกรมควัน ปลารมควัน) ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้ด้วย
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของการเกิดโรคมะเร็งตับ
- เพศ อายุ และถิ่นที่อยู่อาศัย โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 2-3 เท่า มักพบในคนอายุ 30-70 ปี และพบโรคได้มากขึ้นในคนเหนือและอีสาน (จากมะเร็งท่อน้ำดี)
- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี
- ดื่มแอลกอฮอล์จัด ตับแข็ง (โรคมะเร็งตับมักพบร่วมกับภาวะตับแข็งได้ค่อนข้างบ่อย ประมาณ 90-95% ในบางรายงาน ส่วนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซีที่มีภาวะตับแข็งจะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ประมาณ 5% ต่อปี และผู้ป่วยตับแข็งจากแอลกอฮอล์จะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ประมาณ 1-4% ต่อปี ซึ่งแม้จะหยุดแอลกอฮอล์แล้วความเสี่ยงก็ไม่ได้ลดลง)
- การได้รับสารพิษอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารเป็นประจำ
- โรคทางพันธุกรรมและเมตาบอลิกต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งทำให้เกิดไขมันพอกในตับมาก ๆ และเป็นตับแข็งตามมา
- เป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับจากการรับประทานปลาดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ
- การได้รับสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่พบได้ในอาหารจำพวกโปรตีนหมัก อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว และอาหารรมควัน
- ท่อน้ำดีในตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักพบร่วมกับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง
- การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาฮอร์โมนเพศชาย (ใช้สำหรับรักษาโรคโลหิตจางหรือการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ), ยาคุมกำเนิด, สารไวนิลคลอไรด์ (Vinyl chloride), สารหนู, การสูบบุหรี่ เป็นต้น
อาการของโรคมะเร็งตับ
มะเร็งตับ ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการใด ๆ เลย (ยกเว้นในรายที่เป็นตับแข็งอยู่ก่อนที่จะมีอาการของโรคตับแข็ง) แต่เมื่อก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง จุกเสียดท้องคล้ายอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด (เพราะเคมีน้ำดีในตับบกพร่อง) ในบางรายอาจมีอาการปวดหรือเสียวชายโครงด้านขวาโดยไม่มีอาการอื่น ๆ แสดงชัดเจนก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่เป็นสัปดาห์หรือนานเป็นเดือน โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่ทันได้ใส่ใจ หรือคิดว่าเป็นอาการปวดยอดชายโครงหรืออาหารไม่ย่อยทั่วไป
เมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น รู้สึกแน่นอึดอัดที่บริเวณลิ้นปี่ทั้งวัน มีอาการปวดใต้ชายโครงด้านขวา (ตำแหน่งของตับ) ซึ่งอาจปวดร้าวไปที่ไหล่ขวาหรือใต้สะบักด้านขวา ผู้ป่วยจะเบื่ออาหารมากขึ้น (ไม่รู้สึกอยากอาหาร รับประทานไม่ค่อยได้ เนื่องจากมีน้ำในท้องกดหรือเบียดทับกระเพาะอาหาร) และน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วจนคนใกล้ชิดรู้สึกผิดสังเกต ในบางรายอาจมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม อาจคลำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา (ปกติจะคลำไม่ได้) ท้องบวมหรือเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง หายใจเหนื่อยหอบ (เนื่องจากมีน้ำในท้องดัน กด หรือเบียดทับปอด) และอาจมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย
นอกจากนี้ ในรายที่มีภาวะตับแข็งระยะท้ายร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ส่วนในรายที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดี ซึ่งมักพบในโรคมะเร็งท่อน้ำดี (CCA) ผู้ป่วยจะมีอาการตาและตัวเหลืองจัด คันตามตัว อุจจาระสีซีด
ส่วนโรคพยาธิใบไม้ตับ ในระยะแรกเริ่มอาจจะยังไม่มีอาการแสดง หรือมีเพียงอาการท้องอืดเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย หรือออกร้อนบริเวณชายโครงขวาหรือยอดอก ตรวจอุจจาระพบไข่พยาธิใบไม้ตับ ถ้าไม่ได้รับการรักษา ปล่อยจนเลยวัยกลางคน อาการจะรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการท่อน้ำดีอักเสบแทรกซ้อน ทำให้มีอาการไข้ ดีซ่าน ปวดแถวลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา อาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นติดต่อกันเรื่อยไป ในที่สุดเมื่อมีโรคมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดีแทรกซ้อน ผู้ป่วยก็จะมีอาการของมะเร็งตับในระยะท้าย โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว มีอาการดีซ่าน ท้องมาน (มีน้ำในท้อง)
ระยะของโรคมะเร็งตับ
การแบ่งระยะของโรคมะเร็งตับมีได้หลายแบบ แต่ในภาพรวมจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ เช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้แก่
- ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กและมีเพียงก้อนเดียว
- ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีการลุกลามเข้าสู่หลอดเลือดในตับ และ/หรือมีก้อนมะเร็งหลายก้อน แต่ยังมีขนาดเล็กอยู่
- ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดโตมาก และ/หรือมีการลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ และ/หรือลุกลามเข้าหลอดเลือดดำใหญ่ในท้อง และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ตับ
- ระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายตามกระแสเลือด มักเข้าสู่ตับกลีบอื่น ๆ และปอด แต่อาจเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น สมอง กระดูก หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปจากตับ (เช่น ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องหรือบริเวณไหปลาร้า)
ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งตับ
- มะเร็งตับอาจแพร่กระจายไปทั่วท้องและอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดรุนแรง หายใจลำบาก และเกิดอาการผิดปกติของอวัยวะที่มะเร็งแพร่กระจายเข้าไป เช่น อาการผิดปกติทางสมอง อาการปวดกระดูกสันหลัง เป็นต้น
- อาจมีการแตกของก้อนมะเร็ง (ทำให้มีเลือดออกในช่องท้องซึ่งเป็นอันตรายได้) หรืออาจมีอาการใจหวิวคล้ายเป็นลมจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากตับถูกทำลายจนไม่สามารถผลิตกลูโคสออกมาในกระแสเลือดได้
- ในรายที่มีโรคตับแข็งร่วมด้วย ในระยะท้าย ๆ มักจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด เลือดออกง่าย ภูมิต้านทานต่ำทำให้เป็นโรคติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย และในท้ายที่สุดอาจเกิดภาวะตับวาย (มีอาการซึม เพ้อ ชัก หมดสติ)
การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ
การตรวจหามะเร็งตับสามารถแบ่งออกได้ 2 กรณี คือ ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการใด ๆ แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ เช่น ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซีเรื้อรัง เป็นโรคตับจากสาเหตุต่าง ๆ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ และอีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อสงสัยว่ามีอาการจากโรคมะเร็งตับแล้ว คือ คลำได้ก้อนและตรวจพบค่าเลือดผิดปกติ
- การวินิจฉัยโรคจะเริ่มจากการซักประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน (ประวัติการดื่มสุรา การรับประทานอาหาร ถิ่นที่พักอาศัย) และการตรวจร่างกายและอาการที่แสดงของผู้ป่วย เช่น อาการอ่อนเพลีย รูปร่างผอม ปวดชายโครงขวา ตรวจพบตับโตผิดปกติ คือ คลำได้ก้อนแข็งผิวขรุขระที่บริเวณใต้ชายโครงขวา และอาจพบอาการท้องมาน เท้าบวม 2 ข้าง ดีซ่าน หรือไข้ต่ำ ๆ ส่วนในรายที่มีโรคตับแข็งร่วมด้วยมักตรวจพบฝ่ามือแดง จุดแดงรูปแมงมุมขึ้นที่หน้าอก เป็นต้น
- ส่วนการตรวจวินิจฉัยผู้ที่ยังไม่มีอาการใด ๆ หรือการตรวจคัดกรอง (Screening) แพทย์มักใช้วิธีการตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ทางช่องท้องเพื่อตรวจดูตับเป็นหลัก ร่วมกับการเจาะเลือดตรวจดูระดับสารอัลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha-fetoprotein – AFP) ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งตับจะพบระดับของสารอัลฟาฟีโตโปรตีนในเลือดสูงกว่าปกติ (ในมะเร็งตับสูงได้ถึง 40%) โดยในการตรวจคัดกรองนี้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงตรวจคัดกรองทุก ๆ 6 เดือน
- ส่วนการตรวจในกรณีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งตับแล้ว แพทย์มักจะใช้การตรวจเริ่มต้นด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) และตรวจเลือดดูระดับสารอัลฟาฟีโตโปรตีน (AFP) เหมือนกัน แต่จะมีการตรวจที่ละเอียดเพิ่มเติมด้วยการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือบางครั้งอาจใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้อย่างชัดเจน เช่น บอกขนาด รูปร่าง จำนวน ปริมาณเลือดที่มาเลี้ยง การกัดกินของอวัยวะข้างเคียง การกินเข้าในหลอดเลือดดำ หรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ (เช่น ปอด ต่อมน้ำเหลือง ต่อมหมวกไต กระดูก เป็นต้น) อย่างไรก็ตาม การตรวจที่แน่นอนและเชื่อถือได้ 100% คือ การตรวจชิ้นเนื้อตรงตำแหน่งก้อนเนื้อโดยตรง (Biopsy) เมื่อแพทย์มั่นใจแล้วว่าเป็นโรคมะเร็งตับก็อาจจะมีการตรวจอวัยวะอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะสำคัญอื่น ๆ เช่น การเอกซเรย์ปอด และการสแกนกระดูก (Bone Scan)
นอกจากนี้ยังมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการส่องกล้องตรวจ (Laparoscopy) เข้าไปในช่องท้องเพื่อดูว่ามะเร็งได้แพร่กระจายเข้าท้อง หรือใช้ในการวางแผนก่อนการผ่าตัด และการตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiography) โดยการฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตับ เพื่อใช้ในการวางแผนการผ่าตัด เป็นต้น
การแยกโรค
- ผู้ที่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวม เท้าบวม อาจเกิดจากโรคตับแข็ง ซึ่งผู้ป่วยมักมีประวัติดื่มแอลกอฮอล์จัดมานาน และมักตรวจพบอาการฝ่ามือแดงและมีจุดแดง ๆ ขึ้นที่หน้าอก
- ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียและน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น มะเร็งปอด (มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก), มะเร็งกระเพาะอาหาร (มีอาการปวดท้องคล้ายโรคกระเพาะอาหาร), มะเร็งลำไส้ใหญ่ (มีอาการท้องเดิน ท้องผูก ปวดท้องเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือด) เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคเบาหวาน (มีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย), วัณโรคปอด (มีอาการไข้และไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด), โรคเอดส์ (มีอาการไข้เรื้อรัง ท้องเดินเรื้อรัง), คอพอกเป็นพิษ (มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก คอพอก) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและเพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ต่อไป
วิธีรักษาโรคมะเร็งตับ
แนวทางในการรักษาโรคนี้จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ขนาดและลักษณะของก้อนมะเร็ง ระยะของโรคและการแพร่กระจายของมะเร็ง รวมไปถึงอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย (ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง)
- ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับสูง หรือสงสัยว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งตับ (มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด ตาเหลือง ตัวเหลือง คลำได้ก้อนในท้อง) ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด (ซึ่งอย่างน้อยการวินิจฉัยก็ต้องมาจากการตรวจเลือดที่พบระดับสารอัลฟาฟีโตโปรตีนสูง หรือที่แน่นอนที่สุดก็คือ การตรวจชิ้นเนื้อตรงตำแหน่งก้อนเนื้อโดยตรง ซึ่งจะให้ผลแม่นยำ 100%)
- ถ้าพบว่าเป็นโรคมะเร็งตับก็จะได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ (ควรเป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งในด้านของเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากร โดยเฉพาะอายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร อายุรแพทย์ด้านมะเร็ง ศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดตับ และมีรังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็งตับ)
- ในปัจจุบันตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ สามารถตรวจหามะเร็งตับในระยะแรกเริ่มได้แล้ว โดยการเจาะเลือดตรวจหาสารอัลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha-fetoprotein) ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับสูงทุกราย เช่น ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสชนิดบีหรือซีเรื้อรัง หรือผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสารชนิดนี้ (ในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งตับจะพบระดับของสารอัลฟาฟีโตโปรตีนในเลือดสูง) และตรวจอัลตราซาวนด์เป็นระยะทุก ๆ 3-6 เดือน (โดยทั่วไประยะเวลาที่ก้อนมะเร็งจากที่วัดไม่ได้จนถึงขนาด 2 เซนติเมตรจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แพทย์จึงมักใช้ระยะเวลา 6 เดือนเป็นช่วงเวลาในการตรวจซ้ำ โดยไม่สนว่าผู้มาตรวจจะมีความเสี่ยงมากน้อยหรือไม่) ซึ่งจะช่วยทำให้วินิจฉัยโรคได้เร็วและรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้
- ถ้าพบเป็นมะเร็งตับระยะแรก เช่น การตรวจคัดกรองพบโรคนี้ในกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีอาการ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกหรือปลูกถ่ายตับ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวหรือช่วยให้หายขาดได้
- การผ่าตัด (Surgical resection) เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ไม่เป็นโรคตับแข็ง และมีก้อนมะเร็งขนาดไม่ใหญ่เกินไป ไม่มีการกัดกินหลอดเลือดดำ หรือมะเร็งอยู่เฉพาะที่ตับและไม่มีการกระจายออกไปนอกตับ สำหรับประเทศไทยโอกาสที่จะผ่าตัดก้อนมะเร็งให้ออกหมดได้นั้นมีเพียง 4.5-10.2% เท่านั้น เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการอยู่ระยะลุกลามและไม่สามารถตัดก้อนมะเร็งออกได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาจะดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพการทำงานของตับในส่วนที่ไม่เป็นมะเร็งด้วย โดยพบว่าหากมะเร็งเป็นก้อนเดี่ยวและการทำงานของตับยังดีอยู่ ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปี ได้ถึง 60-70% (การพิจารณาให้การผ่าตัด แพทย์จะไม่เพียงแค่พิจารณาว่าจะผ่าเอาก้อนมะเร็งออกได้สำเร็จหรือไม่เท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการผ่าเอาก้อนมะเร็งนี้ออก เพราะจากการศึกษาในอดีตก็พบว่ามีผู้ป่วยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่มากนักที่ผ่าตัดแล้วจะดีกว่าการรักษาอื่น ๆ จริง นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาในเรื่องของความเสี่ยงของการดมยาสลบ การพักฟื้นหลังผ่าตัด โรคประจำตัวต่าง ๆ ของผู้ป่วย ค่าใช้จ่าย และประสบการณ์หรือฝีมือของศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดด้วย)
- การปลูกถ่ายตับ (Liver transplantation) เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคมะเร็งตับ แต่เป็นวิธีที่ยุ่งยากและต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์พอสมควร โดยวิธีการนี้จะเป็นทางเลือกแรกสำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งเดี่ยวขนาดเล็กกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเมตร หรือในผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็กหลายก้อน (ไม่เกิน 3 ก้อน และแต่ละก้อนมีขนาดเล็กกว่าหรือเท่ากับ 3 เซนติเมตร) และผู้ป่วยต้องมีอายุน้อยกว่า 70 ปี ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 70% โดยมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำต่ำกว่า 15% แต่มีข้อเสียคือ ผู้ที่จะบริจาคตับยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งแพทย์มักจะให้การรักษาในรูปแบบอื่นไปก่อนในระหว่างที่รอตับของผู้บริจาคเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค
- ถ้าตรวจพบมะเร็งตับระยะท้าย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ตรวจพบเมื่อแสดงอาการชัดเจนแล้ว มักจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และโดยเฉลี่ยผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 6-12 เดือน (แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ดี ได้รับกำลังใจ ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ ก็อาจมีชีวิตที่มีคุณภาพ และอยู่ได้ยืนยาวหลายปี) ซึ่งการรักษานั้นจะมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อควบคุมอาการของผู้ป่วยให้ทรงตัวได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธีและอาจต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี เช่น
- การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ (Palliative care) เพื่อลดอันตรายและเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การให้ยาบรรเทาอาการปวด ให้เลือดในรายที่มีเลือดออก การใส่ท่อระบายน้ำดีในรายที่ภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดีเพื่อบรรเทาอาการคันและดีซ่าน เป็นต้น
- การให้ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy) หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ยาต้านมะเร็ง” หรือ “ยาคีโม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เซลล์มะเร็งตายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโต แต่พบว่าผลการรักษาด้วยวิธีนี้ยังให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6 เดือนหลังการรักษา สำหรับยาต้านมะเร็งที่มีบทบาทในการรักษามะเร็งตับในปัจจุบัน ได้แก่ ดอกโซรูบิซิน (Doxorubicin), ไมโทมัยซิน (Mitomycin), ซิสพลาติน (Cisplatin) และฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) ซึ่งจากการศึกษาพบว่ายาที่ให้ผลดีที่สุดในการรักษามะเร็งตับ คือ ดอกโซรูบิซิน (Doxorubicin) และซิสพลาติน (Cisplatin)
- การตัดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณก้อนมะเร็ง (Hepatic devascularization) เป็นการอาศัยหลักการที่ว่ามะเร็งจะได้รับเลือดเกือบทั้งหมดมาจากหลอดเลือดแดง Hepatic ดังนั้นการผูก (Ligation) หรือการอุด (Embolization) โดยการฉีดสาร Embolic เข้าในหลอดเลือดแดง ก็จะทำให้ก้อนมะเร็งนั้นขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงจนกระทั่งเซลล์มะเร็งตายไป เป็นการหยุดการเจริญเติบโตของมะเร็งได้ชั่วคราว ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้วิธีการอุด (Embolization) มากกว่า เนื่องจากมีข้อดี คือ ไม่ต้องผ่าตัดและเป็นการตัดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงก้อนมะเร็งได้อย่างจำเพาะเจาะจงมากกว่า โดยผู้ป่วยที่จะใช้วิธีนี้ได้จะต้องไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็งออกนอกตับและตับยังทำงานได้ดี ไม่มีการอุดตันของหลอดเลือดดำ Portal ไม่ว่าจะเป็นจากก้อนเลือดหรือก้อนมะเร็ง และต้องไม่มีอาการแสดงของตับวายมาก่อนโดยเฉพาะอาการดีซ่านและท้องมาน
- การรักษามะเร็งด้วยเข็มความร้อน (Radiofrequency ablation – RFA) เป็นวิธีที่เหมาะกับก้อนมะเร็งตับที่มีขนาดเล็กกว่า 4-5 เซนติเมตร ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด (อาจเพราะผู้ป่วยมีภาวะตับแข็งหรือภาวะตับอักเสบร่วมด้วย) หรืออาจใช้เป็นการรักษาร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น โดยจะเป็นการสอดเข็มขนาดเล็กเข้าไปในตับโดยให้ปลายเข็มวางอยู่ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง (อาศัยการนำทางด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรืออัลตราซาวนด์) จากนั้นจะส่งพลังงานคลื่นความถี่วิทยุ (Radio frequency) ผ่านเข็มเข้าสู่ก้อนมะเร็ง ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนภายในตัวก้อนมะเร็ง (ความร้อนที่ใช้อาจสูงถึง 50-100 องศาเซลเซียส และใช้เวลาประมาณ 20-40 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนของก้อนมะเร็ง) มีผลให้ก้อนมะเร็งตายลงทันที ซึ่งเปรียบเสมือนการเผาก้อนมะเร็งในตับ ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื้อตับส่วนดีน้อยที่สุด จากรายงานผู้ป่วยในประเทศญี่ปุ่นที่ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งตับกว่า 600 คน พบว่า วิธีการรักษาด้วย RF จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตนานกว่า 1-5 ปี ถึง 95, 86, 78 และ 38% ตามลำดับ ในขณะที่รายงานจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตนานกว่า 5% ถึง 55.4% โดยมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำเพียงแค่ 4.6% ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบ RF กับวิธีการผ่าตัดที่ทำในประเทศเกาหลี พบว่า RF ช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตเท่ากับการผ่าตัด และมีโอกาสเกิดการกระจายของมะเร็งตับเท่า ๆ กัน เป็นต้น
- การฉีดยาต้านมะเร็งและสารอุดตันเข้าหลอดเลือดแดงที่เข้าไปเลี้ยงก้อนมะเร็งให้ยุบลง (Chemoembolization) เป็นการรักษาแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งตับที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ด้วยการให้สารเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านทางหลอดเลือดแดงเข้าไปสู่บริเวณที่มีโรคโดยตรงแล้วอุดกั้นหลอดเลือดนั้นเพื่อไม่ให้เลือดไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง เป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบันเพราะให้ผลเป็นที่น่าพอใจ นอกจากจะช่วยยืดอายุผู้ป่วยได้แล้ว ในบางรายหลังให้การรักษา 1-3 ครั้ง ก้อนมะเร็งก็เล็กลงและสามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกมาได้ด้วย จึงทำให้มีอัตราการรักษาให้หายขาดเพิ่มขึ้น แต่การใช้วิธีนี้จะเหมาะกับมะเร็งก้อนเดี่ยวและอยู่ในกลีบใดกลีบหนึ่งของตับ มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกนอกตับ ผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงของตับวายมาก่อน โดยเฉพาะอาการดีซ่านและท้องมาน และไม่ควรมี portal vein thrombosis เพราะจะทำให้เกิดตับวายได้เร็วขึ้น ส่วนยาต้านมะเร็งที่นิยมนำมาใช้ในวิธีนี้ คือ ดอกโซรูบิซิน (Doxorubicin), ไมโทมัยซิน (Mitomycin) และซิสพลาติน (Cisplatin) โดยการทำ Chemoembolization สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ
- Transarterial chemoembolization (TACE) เป็นการให้ยาต้านมะเร็งผ่านทางสายสวนเข้าสู่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งแล้วด้วย Gel foam โดยยาต้านมะเร็งที่นิยมใช้ คือ ดอกโซรูบิซิน (Doxorubicin) 40-60 มิลลิกรัม หรือไมโทมัยซิน (Mitomycin) 10-30 มิลลิกรัม
- Transarterial oil chemoembolization (TOCE) วิธีการจะเหมือนกับ TACE แต่จะแตกต่างกันตรงที่จะผสมยาต้านมะเร็งกับสารที่เป็นน้ำมัน Lipiodol ขนาดประมาณ 5-10 มิลลิลิตร เพื่อให้สารละลายเป็น Water in oil emulsion ซึ่งวิธีนี้จะมีข้อดีกว่าตรงที่สาร Lipiodol นั้นจะมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถอุดตันหลอดเลือดได้ดีกว่าการใช้ Gel foam อย่างเดียว และยังเป็นตัวสำคัญที่นำยาต้านมะเร็งเข้าไปใน Tumor circulation ได้ดีด้วย (เพราะจับกับตัวยาได้ดี) เมื่อยาเข้าไปในเซลล์แล้ว ยาจะค่อย ๆ แยกตัวออกจาก Lipiodol ซึ่งจะทำให้ฤทธิ์ข้างเคียงของยาน้อยลง
- การฉีดสารกัมมันตภาพรังสี (Selective internal radiation therapy – SIRT หรือ Radioembolization) เป็นการรักษาแบบใหม่ที่เหมาะกับมะเร็งตับที่มีการลุกลามเข้าไปในหลอดเลือดดำของตับ (แต่ตับยังพอใช้ได้อยู่) โดยมีหลักการคล้ายกับ TOCE คือมีการสอดสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงของตับที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง แล้วทำการฉีดสารกัมมันตภาพรังสีที่เรียกว่า “อิตเทรียม” (Yttrium) เข้าไป ซึ่งสารดังกล่าวจะเปล่งรังสีชนิดเบต้าตรงก้อนมะเร็งและออกฤทธิ์ในช่วงไม่กี่ชั่วโมง จากนั้นก็จะสลายตัวไปเองโดยไม่มีการตกค้างอยู่ในร่างกาย แต่การรักษาด้วยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องนำเข้าสารกัมมันตภาพรังสีและอุปกรณ์จากต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาฉีดในผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป อีกทั้งยังมีขั้นตอนในการทำยุ่งยากกว่า TOCE โดยเฉพาะต้องมีการตรวจโดยการฉีดสีดูเส้นเลือดตับและทดสอบว่า สามารถรักษาได้โดยไม่มีผลข้างเคียง เมื่อแพทย์แน่ใจแล้วจึงนัดมาโรงพยาบาลอีกครั้งในสัปดาห์ต่อมาเพื่อทำการรักษา ส่วนผลการรักษาพบว่า ใกล้เคียงกับการรักษาด้วย TOCE แต่สามารถทำได้ในกรณีที่โรคลุกลามเข้าไปในหลอดเลือดดำของตับแล้ว ซึ่งการรักษาแบบ TOCE จะทำไม่ได้ (จากการรักษามะเร็งตับด้วยวิธีนี้พบว่าประมาณ 70% ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้น ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น)
- การฉายรังสี หรือ รังสีรักษา (Radiation therapy) ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
- อิมมูนบำบัด (Immunotherapy) เป็นการให้ยากระตุ้น T cell ซึ่งอาจช่วยในการส่งเสริมให้ร่างกายผู้ป่วยสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ โดยยาที่นำมาใช้ ได้แก่ เลวาไมโซล (Levamisole), วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) แต่จากรายงานไม่พบว่าการรักษาได้ผลที่เด่นชัด ในปัจจุบันจึงไม่ใช้เป็นวิธีการรักษาหลัก นอกจากจะใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ
- ฮอร์โมนบำบัด (Hormone therapy) มีหลายรายงานที่ระบุว่า เอสโตรเจน (Estrogen) มีบทบาทต่อพยาธิกำเนิดในความผิดปกติของ Liver cell proliferation เนื่องจากมีรายงานการตรวจพบ Estrogen receptor ในเนื้อตับมะเร็งตับโดยที่ไม่พบ Progesterone receptor จึงเชื่อว่า Estrogen นั้นจะไปกระตุ้น Estrogen receptor ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแบ่งตัวของเซลล์ แพทย์จึงได้นำหลักการนี้มาใช้ในการรักษามะเร็งตับ โดยการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ไปควบคุมแทน ซึ่งเคยมีรายงานว่า การรักษาได้ผล พบก้อนมะเร็งหดตัว 40% ส่วนผลการรักษาในไทยยังพบว่าไม่มีความแตกต่างกับการรักษาโดยให้ยาต้านมะเร็ง แต่มีผลช่วยในด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับการให้สเตียรอยด์ แต่ดีกว่าตรงที่ไม่มีผลข้างเคียงจากสเตียรอยด์ เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร เกิดการติดเชื้อ เป็นต้น
- การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งโดยผ่านทางผิวหนัง (Percutaneous ethanol injection – PEI) เป็นการรักษาโดยการฉีดเอทานอล (Ethanol) เข้าไปในก้อนมะเร็ง โดยเอทานอลนี้จะทำให้เนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งถูกทำลายเป็นเนื้อตาย นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษามะเร็งก้อนเล็กที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้ เหมาะสำหรับมะเร็งก้อนเดี่ยวที่กระจายอยู่หลายที่ ซึ่งแต่ละที่มีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร และต้องไม่มีการกระจายออกนอกตับ และสภาพการทำงานของตับยังดีอยู่ ผลการรักษาด้วยวิธีนี้พบว่า ผู้ป่วยประมาณ 60-80% มีชีวิตยืนยาวต่อไปหลังจากการรักษาได้นานถึง 3 ปี ซึ่งผลการรักษาจะดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน จำนวนก้อน และสภาพของตับ
- การใช้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาต้านมะเร็งที่มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งอย่างจำเพาะเจาะจง เช่น โซราฟีนิบ (Sorafenib) แต่ยานี้ไม่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ จำเป็นต้องใช้ร่วมกับการผ่าตัด รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด เพื่อช่วยชะลอการลุกลามหรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ยาโซราฟีนิบ (Sorafenib) นี้จะอยู่ในรูปของยาเม็ด ขนาดที่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งตับ คือ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยยานี้ถูกออกแบบมาให้มีโมเลกุลขนาดเล็ก มีผลยับยั้งการแบ่งตัวหรือการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่เพื่อไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง (Angiogenesis) ตัวยามีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย เกิดอันตรกิริยากับยาอื่นได้ค่อนข้างน้อย จึงสามารถใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดตัวอื่นได้ ดังนั้นการใช้ยาโซราฟีนิบจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานได้ เช่น การผ่าตัด แต่ทั้งนี้ยังต้องมีการติดตามผลของยาในระยะยาวต่อไป
- ผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับในระยะท้าย ๆ แม้ว่าจะไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายหรือทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวได้ แต่ผู้ป่วยเองก็ควรได้รับการดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติจะต้องทำใจยอมรับความจริงให้ได้และเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต โดยญาติควรส่งเสริมให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยและสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตในช่วงสุดท้ายของชีวิตให้มีคุณค่าและมีความสุขมากที่สุด
- ทั้งผู้ป่วยและญาติจะต้องตั้งสติให้มั่น อย่าหลงเชื่อและลองวิธีการรักษาอย่างอื่นนอกเหนือจากคำแนะนำของแพทย์ เพราะจะทำให้เป็นการสิ้นเปลืองเงินทองเปล่า ๆ ทางที่ดีถ้าจะทำอะไรควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- สำหรับการดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งชนิดใดก็ตามจะมีหลักปฏิบัติคล้าย ๆ กัน เช่น การดูแลตนเองในเรื่องทั่ว ๆ ไป (โดยเฉพาะในเรื่องของสุขอนามัย), การดูแลตนเองในเรื่องของอาหารการกิน, และการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง ซึ่งจะขอกล่าวถึงอย่างละเอียดในบทความหน้า
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งตับ
ผลข้างเคียงจะขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาและจะมีโอกาสเกิดได้สูงขึ้นเมื่อใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน เมื่อพบโรคนี้ในผู้สูงอายุ เมื่อผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ หรือเมื่อผู้ป่วยมีโรคประจำตัวต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (เช่น โรคภูมิต้านตนเอง)
- การผ่าตัด ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ การสูญเสียตับจนอาจต้องทำการปลูกถ่ายตับ แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ
- การให้ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ภาวะซีด ผมร่วง มีเลือดออกง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- การฉายรังสี ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนังตรงส่วนที่ฉายรังสีและต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี
- การใช้ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่าง ๆ จะสมานติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุทำให้ผนังลำไส้ทะลุ
วิธีป้องกันโรคมะเร็งตับ
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์จัด เพราะอาจทำให้เป็นโรคตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งตับได้
- ผู้ที่เป็นพาหะหรือเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ต้องงดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและตรวจหามะเร็งตับระยะแรกทุก ๆ 6 เดือน เพราะหากตรวจพบแพทย์จะได้ให้การรักษาให้หายขาดได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เช่น ถั่วลิสงบด ข้าวโพด หัวหอม พริกแห้ง กระเทียมที่มีราขึ้น เพราะสารพิษชนิดนี้มีความทนทานต่อความร้อน ไม่ถูกทำลายได้ง่ายแม้จะปรุงอาหารด้วยความร้อนก็ตาม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) เช่น อาหารจำพวกโปรตีนหมัก (เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม เป็นต้น), อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว (เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น) และอาหารรมควัน (เช่น ปลารมควัน) แต่หากจะรับประทานควรทำให้สุกเสียก่อน เพราะสารนี้ถูกทำลายได้ด้วยความร้อน
- ไม่รับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบ ๆ และถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ (แม้ว่าในปัจจุบันจะมียาที่ใช้ฆ่าพยาธิใบไม้ตับอย่างได้ผลแล้วก็ตาม แต่ถ้ายังไม่เลิกการรับประทานปลาแบบดิบ ๆ และถ่ายกลางทุ่ง ก็ยังคงติดโรคพยาธิได้ซ้ำ ๆ เรื่อยไปอยู่ดี) และผู้ที่อยู่ในถิ่นระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับหรือเป็นผู้ที่นิยมรับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบ ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจอุจจาระเพื่อตรวจหาไข่ของพยาธิใบไม้ตับ (ความถี่ในการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์) ถ้าพบว่าเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ควรรีบรักษาให้หายขาด ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาโรคให้หายก่อนที่จะเกิดอาการของท่อน้ำดีอักเสบซึ่งอาจกลายเป็นโรคมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดีได้
- ควรมีมาตรการในการป้องกันสารเคมีต่าง ๆ ทั้งในผู้บริโภคและคนงานมิให้ได้รับสารเคมีเหล่านี้ เช่น สารหนู สารไวนิลคลอไรด์ (Vinyl chloride) เป็นต้น
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิดให้แก่เด็กทุกราย รวมทั้งให้ความแก่ประชาชนถึงวิธีการติดต่อของไวรัสตับอักเสบบีและซี
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงและลดโอกาสการติดเชื้อโรคต่าง ๆ
- รีบไปพบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าว หรือเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับทั้ง 2 ชนิด
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “มะเร็งตับ (Liver cancer)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 522-524.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 283 คอลัมน์: เวชภัณฑ์น่ารู้. “ยาใหม่ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับ Molecular Targeted Therapy in Hepatocellular Carcinoma”. (ผศ.ภก.สุภัสร์ สุบงกช). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [17 ส.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 334 คอลัมน์: สารานุกรมทันโรค. “มะเร็งตับ”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [17 ส.ค. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “มะเร็งตับ (Liver cancer)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: haamor.com. [18 ส.ค. 2016].
- Siamhealth. “โรคมะเร็งตับ liver cancer”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.siamhealth.net. [18 ส.ค. 2016].
- โรงพยาบาลกรุงเทพ. “โรคมะเร็งตับ และการรักษามะเร็งตับ”. (รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkokhospital.com. [19 ส.ค. 2016].
- Love Liver. “การรักษาโรคมะเร็งตับด้วยวิธี RFA (Radiofrequency Ablation)”. (รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.loveliver.net. [19 ส.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)