มะเร็งช่องปาก (Oral cancer) อาการ สาเหตุ การรักษามะเร็งในช่องปาก 5 วิธี !

มะเร็งช่องปาก (Oral cancer) อาการ สาเหตุ การรักษามะเร็งในช่องปาก 5 วิธี !

มะเร็งช่องปาก

มะเร็งช่องปาก หรือมะเร็งในช่องปาก (ภาษาอังกฤษ: Oral cancer) คือ ก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็งที่เกิดขึ้นในบริเวณช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้นไก่ เพดานปากทั้งเพดานอ่อนและเพดานแข็ง พื้นปากใต้ลิ้น ต่อมทอนซิล กระดูกขากรรไกร และส่วนบนของลำคอ (อวัยวะที่พบเป็นมะเร็งได้บ่อย คือ ลิ้น และพื้นปากใต้ลิ้น)

มะเร็งช่องปากเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง (พบได้ประมาณ 1.45-5.6% ของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย และเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่ติด 1 ใน 10 ของทั้งผู้ชายและผู้หญิง) โดยพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า (อาจเป็นเพราะผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า เช่น การชอบสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และการละเลยไปตรวจสุขภาพร่างกาย แต่ผู้หญิงที่มีพฤติกรรมเดียวกันกับผู้ชาย จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งในช่องปากได้สูงกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า) และมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และพบได้น้อยลงหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว แต่ในปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุมีมากขึ้นจึงอาจพบมะเร็งในช่องปากในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นได้

ชนิดของมะเร็งช่องปาก

มะเร็งช่องปากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมะเร็งศีรษะและลำคอ ซึ่งประมาณ 90-95% ของมะเร็งช่องปากจะเป็นชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma) สำหรับชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งชนิดอะดีโน (Adenocarcinoma) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะพบได้น้อยมาก ๆ ดังนั้น ในบทความนี้จึงกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งช่องปากชนิดสะความัสเซลล์เท่านั้น

สาเหตุของมะเร็งช่องปาก

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก แต่จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากที่สุดคือ การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จัด ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบและจำนวนปีที่สูบ ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ก็เช่นกันยิ่งดื่มมากโอกาสเสี่ยงก็มีมากขึ้น (ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์จะมีโอกาสเป็นมะเร็งช่องปากได้สูงกว่าคนปกติสูงถึงประมาณ 15 เท่า และประมาณ 90% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งช่องปากจะมีประวัติการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานาน ส่วนผู้ป่วยมะเร็งช่องปากที่ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์นั้นพบได้น้อยมาก)
นอกจากนี้ยังอาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น

  • การถูกแสงแดดเป็นเวลานาน มีส่วนทำให้เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งของริมฝีปาก เพราะประมาณ 30% ของผู้ป่วยมะเร็งริมฝีปากจะมีประวัติสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน
  • การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจัดเกินไปอยู่เป็นประจำ เพราะความร้อนที่มาจากอาหาร (รวมถึงควันบุหรี่ และแอลกอฮอล์) จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุในช่องปาก เมื่อถูกระคายเคืองอยู่เป็นประจำจะทำให้เนื้อเยื่อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและอาจทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ (ผู้ที่รับประทานอาหารร้อนจัดและดื่มแอลกอฮอล์จะมีโอกาสเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า)
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papillomavirus – HPV) ชนิด 16 และ 18 ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก จากการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (Oral sex)
  • การมีสุขภาพในช่องปากไม่ดี เช่น ฟันผุเรื้อรัง รวมถึงการระคายเคืองเรื้อรังจากฟันเก ฟันหัก ฟันบิ่น ขอบฟันที่คม ซึ่งไปบาดเนื้อเยื่อในช่องปากทำให้เกิดแผลเรื้อรังเป็นเวลานาน
  • การใส่ฟันปลอมที่หลวม ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง และอาจกักสารก่อมะเร็งต่าง ๆ เช่น สารเคมีในบุหรี่ แอลกอฮอล์ ทำให้สัมผัสกับเยื่อบุภายในช่องปากนานขึ้น
  • การกินหรือเคี้ยวหมาก พลู ยาฉุน ยาเส้น การใช้ยานัตถุ์ เนื่องจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีสารก่อมะเร็งเจือปนอยู่
  • การใช้ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • การบริโภคผักและผลไม้น้อย
  • เคยได้รับรังสีเอกซ์
  • เคยเป็นโรคมะเร็งในบริเวณศีรษะและลำคอมาก่อน

สาเหตุมะเร็งช่องปาก
IMAGE SOURCE : sacramentodentistry.com

อาการของมะเร็งช่องปาก

อาการแสดงมีได้หลายลักษณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะและตำแหน่งของโรค ได้แก่

  • มีฝ้าขาว (Leukiplakia) หรือฝ้าแดง (Erythroplakia) ในเยื่อบุในช่องปากและ/หรือลิ้น
  • มีแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ และรักษาไม่หายเป็นเวลานานเกิน 2-3 สัปดาห์
  • มีตุ่มหรือก้อนในช่องปากที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมักจะไม่มีอาการเจ็บปวด
  • รู้สึกเจ็บหรือมีความลำบากในการกลืนอาหาร การเคี้ยวอาหาร หรือการพูด เนื่องจากก้อนเนื้องอกหรือจากการเจ็บจากแผลมะเร็ง
  • มีอาการฟันโยก หรือฟันหลุด หรือใส่ฟันปลอมที่เคยใช้ไม่ได้ เนื่องจากมีก้อนเนื้องอกเกิดขึ้นบริเวณเหงือก เพดานปาก และพื้นปาก
  • มีเลือดออกผิดปกติในช่องปากจากแผลมะเร็ง
  • มีอาการเสียงแหบเรื้อรังนานเกิน 3 สัปดาห์
  • มีอาการชาบริเวณปากหรือใบหน้า
  • มีก้อนที่ลำคอเกิดขึ้น กดไม่เจ็บ ซึ่งก็คือ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตจากโรคมะเร็งที่ลุกลาม
  • หากโรคมะเร็งช่องปากแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อาจทำให้มีอาการตามอวัยวะนั้น ๆ ที่โรคแพร่กระจายไปเกิดขึ้นได้ เช่น เมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูก อาจทำให้มีอาการปวดตามกระดูกในส่วนที่มะเร็งแพร่กระจายไป

อนึ่ง ความรุนแรงของโรคมะเร็งช่องปากจะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ได้แก่

  • ระยะของโรค ถ้าเป็นโรคระยะที่ 1-2 จะมีความรุนแรงน้อยกว่าระยะที่ 3-4
  • อายุของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมักจะทนต่อการรักษาได้ดีกว่าผู้ป่วนที่มีอายุมากและมีผลการรักษาที่ดีกว่า
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ก็จะสามารถทนต่อการรักษาได้ดีกว่าและมีผลการรักษาที่ดีกว่า
  • โรคร่วมของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เพราะโรคเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการรักษาและเพิ่มผลข้างเคียงจากการรักษาให้สูงขึ้นกว่าคนปกติที่ไม่มีโรคร่วมได้

มะเร็งในช่องปากอาการ
IMAGE SOURCE : www.mayoclinic.org, wikipedia.com (by Welleschik), www.brightonimplantclinic.co.uk, www.medicalnewstoday.com

อาการมะเร็งช่องปาก
IMAGE SOURCE : mouth-tongue-gum-throat-cancer.com, www.entusa.com, www.intechopen.com

ระยะของมะเร็งช่องปาก

โรคมะเร็งช่องปากแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ คือ

  • ระยะที่ 1 ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดโตน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 2 ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 เซนติเมตร แต่ยังมีขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 3 ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 4 เซนติเมตร และ/หรือมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ 1 ต่อมซึ่งมีขนาดโตไม่เกิน 3 เซนติเมตร และเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวของลำคอ
  • ระยะที่ 4 ก้อนหรือแผลมะเร็งมีการลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ และ/หรืออวัยวะข้าง และ/หรือมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ 1 ต่อม แต่มีขนาดโตมากกว่า 3 เซนติเมตร และ/มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 1 ต่อม และ/หรือมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอทั้ง 2 ข้าง และ/หรือมีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย คือ ปอด ตับ และกระดูก

อนึ่ง โรคมะเร็งในช่องปากจะมีการแพร่กระจายได้ 3 ทาง คือ ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอซึ่งพบได้บ่อย และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งพบได้บ่อย และมักจะเกิดขึ้นในรายที่มากแล้ว โดยมะเร็งที่เกิดขึ้นที่ด้านหน้าของช่องปากมักจะเติบโตและแพร่กระจายได้ช้ากว่ามะเร็งที่เกิดขึ้นที่ด้านหลัง เช่น มะเร็งริมฝีปากจะเติบโตได้ช้ากว่ามะเร็งโคนลิ้น

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งช่องปาก

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งช่องปากได้จากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย (โดยเฉพาะในช่องปากที่อาจพบก้อนเนื้อหรือแผลในช่องปาก และการคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอ) ส่วนการวินิจฉัยที่แน่นอน คือ การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) ที่ตัดจากรอยโรคที่สงสัยเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

นอกจากนี้แพทย์จะทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อประเมินความรุนแรงหรือระยะของโรค เช่น การตรวจเลือด (เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา เช่น ดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ ดูการทำงานของไขกระดูก ตับ ไต ดูระดับเกลือแร่), การตรวจปัสสาวะ (เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา), การเอกซเรย์ปอด (เพื่อดูความผิดปกติในช่องอก ปอด หัวใจ และดูการแพร่กระจายของโรคไปที่ปอด), การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณศีรษะและลำคอ (เพื่อประเมินการลุกลามและการแพร่กระจายของโรคไปที่บริเวณอื่น ๆ ในช่องปากและต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือไม่), การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง (เพื่อดูว่าโรคแพร่กระจายไปที่ตับหรือไม่), การสแกนกระดูก (เพื่อดูว่าโรคแพร่กระจายไปที่กระดูกหรือไม่) เป็นต้น

การตรวจมะเร็งช่องปากด้วยตนเอง

สำหรับวิธีการตรวจให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ หากพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ของช่องปาก เช่น ฝ้าขาว ฝ้าแดง หรือเป็นแผลในช่องปากที่รักษาไม่หายใน 2-3 สัปดาห์ หรือคลำได้ก้อนในช่องปากหรือข้างคอ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

  • A. ดึงริมฝีปากบนขึ้น ตรวจดูเยื่อบุด้านในส่วนบนและเหงือกด้านนอก
  • B. ยกริมฝีปากบนขึ้น ตรวจดูริมฝีปากบน
  • C. ยกริมฝีปากด้านข้าง ตรวจดูที่กระพุ้งแก้มและเหงือกด้านใน
  • D. ดึงริมฝีปากล่างลง ตรวจดูเยื่อบุด้านในส่วนล่างและเหงือกด้านนอก
  • E. แหงนหน้า ตรวจดูเพดานแข็ง
  • F. อ้าปากและใช้ไม้กดลิ้น ตรวจดูต่อมทอนซิล เพดานอ่อน และลิ้นไก่
  • G. ยกลิ้นขึ้น ตรวจดูลิ้นด้านล่างและพื้นปากใต้ลิ้น
  • H. แลบลิ้นแล้วใช้ผ้าก๊อซรองนิ้วมือจับดึงลิ้นออกมา ตรวจดูลิ้นและด้านข้างของลิ้น

การตรวจมะเร็งช่องปาก
IMAGE SOURCE : www.stallerdental.com

การรักษามะเร็งช่องปาก

วิธีการรักษามะเร็งช่องปากโดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์มักให้การรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการฉายรังสี หรือใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และตำแหน่งของมะเร็ง รวมทั้งระยะของโรค นอกจากนี้อาจมีการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย เช่น การให้ก่อนผ่าตัดหรือการฉายรังสีในกรณีที่มะเร็งมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในระยะแพร่กระจาย

  1. การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักของโรคมะเร็งช่องปาก มักใช้รักษาโรคในระยะที่ 1-3 โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกและเนื้อเยื่อปกติรอบ ๆ ก้อนเนื้องอกออก และอาจทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอออกด้วย สำหรับรอยโรคที่มีขนาดเล็ก แพทย์อาจทำการผ่าตัดออกได้โดยไม่ทำให้เกิดการผิดรูปของใบหน้า แต่สำหรับรอยโรคในบางตำแหน่ง เช่น ริมฝีปาก การใช้รังสีรักษาจะให้ผลการรักษาที่ดีเทียบเท่ากับการผ่าตัด แต่จะมีข้อดีกว่าตรงที่ยังช่วยรักษาโครงสร้างและการทำงานปกติไว้ได้ และในบางกรณีเมื่อผ่าตัดรักษาแล้ว อาจต้องผ่าตัดเสริมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง ภายหลังการผ่าตัดแล้วหากมีข้อบ่งชี้ แพทย์อาจให้การรักษาต่อเนื่องด้วยการใช้รังสีรักษา และ/หรือการให้ยาเคมีบำบัด (ในมะเร็งช่องปากระยะแรกที่ยังไม่พบการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ สามารถใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัดเพียงวิธีเดียวได้ แต่การรักษาร่วมกับรังสีรักษาจะให้ประสิทธิภาพดีกว่าการใช้เพียงวิธีเดียว)
  2. การใช้รังสีรักษา เป็นการใช้รังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะที่และ/หรือต่อมน้ำเหลืองที่คอ สามารถช่วยรักษาสมรรถนะการเคี้ยว การกลืน และการออกเสียงให้เป็นปกติ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งช่องปากให้สูงขึ้นได้ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยระยะกลางและระยะสุดท้าย โดยจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การฉายรังสี และการฝังแร่ (การเลือกวิธีรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่งของก้อนเนื้องอก และการรักษาที่ได้รับร่วมกัน) ซึ่งแพทย์อาจใช้รังสีรักษาเพียงวิธีเดียว หรือใช้ร่วมกับการผ่าตัด และ/หรือการให้ยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลยพินิจของแพทย์
  3. การให้ยาเคมีบำบัด เป็นการให้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย โดยการรักษาอาจใช้ร่วมกับการผ่าตัดและ/หรือรังสีรักษาเพื่อลดขนาดก้อนที่ใหญ่มากก่อนเริ่มการรักษา หรืออาจให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวในรายที่มีการแพร่กระจายของโรคเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว เช่น ปอด หรือตับ (ด้วยส่วนใหญ่มะเร็งที่เกิดขึ้นในช่องปากเป็นชนิดสะความัสเซลล์ซึ่งจะมีความไวต่อยาเคมีบำบัดค่อนข้างต่ำ การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวจึงมีน้อยมาก แพทย์จึงมักนำมาใช้ร่วมกับการผ่าตัดและรังสีรักษาเป็นวิธีเสริมในการรักษามากกว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา)
  4. การให้ยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา และยายังมีราคาแพงมากเกินกว่าป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้

การดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก

ผู้ป่วยที่มีความลำบากในการอ้าปาก การแปรงฟัน และการขับของเหลวจากต่อม ควรฝึกยืดช่องปาก ทำความสะอาดช่องปากบ่อย ๆ และอาจใช้น้ำว่านหางจระเข้เพื่อช่วยเพิ่มการขับของเหลวจากต่อมไม่ให้ปากแห้ง ส่วนในเรื่องของอาหารนั้น ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด แต่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรงและทนต่อการรักษาได้ดี ส่วนการดูแลตนเองในเรื่องอื่น ๆ จะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไปอย่างละเอียดในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง

ผลการรักษามะเร็งช่องปาก

ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็ง ส่วนใหญ่การรักษามักจะได้ผลดีและทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ในระยะแรกหรือยังเป็นไม่มากก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งโดยทั่วไปภายหลังการรักษาในโรคระยะที่ 1-2 ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 60-80%, ในโรคระยะที่ 3 มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 50-60% และในโรคระยะที่ 4 กลุ่มที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ จะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 0-30% แต่ถ้ามีการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้วจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ลดลงอย่างมากเหลือเพียงประมาณ 0-5%

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งช่องปาก

ผลข้างเคียงจากการรักษาในแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไป และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลาย ๆ วิธีร่วมกัน และ/หรือเมื่อผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และมีโรคเรื้อรังประจำตัว

  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น อาการปวด การมีเลือดออกจากแผลผ่าตัด การติดเชื้อ การสูญเสียเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ผ่าตัด การบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง และภายหลังการผ่าตัดอาจต้องใช้เวลาสักระยะเพื่อให้แผลหายดี ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย
  • ผลข้างเคียงจากรังสีรักษา คือ เจ็บปาก เจ็บคอ, ปากแห้ง คอแห้ง (ซึ่งอาจเป็นได้ถาวรหรือค่อย ๆ ดีขึ้นอย่างช้า ๆ), เสียงแหบ, การรับรสลดลง (มักจะค่อย ๆ ดีขึ้นอย่างช้า ๆ หลังจบการรักษา), เกิดเป็นพังผืดของกล้ามเนื้อบริเวณคอ (อาจป้องกันได้ด้วยการนวดคออย่างถูกวิธีในช่วงแรกหลังจบการรักษา), กรามติดจากการเป็นพังผืดของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการอ้าปาก เคี้ยว และกลืน (อาจป้องกันได้ด้วยการอ้าปากบริเวณบ่อย ๆ หลังจบการรักษา), เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณที่ได้รับรังสี (เช่น มีอาการแดง ลอก เป็นแผล หรือมีสีคล้ำขึ้น), เกิดการติดเชื้อภายในช่องปาก, แผลในช่องปากหายยาก (โดยเฉพาะจากการทำฟันก่อนรับการรักษาด้วยรังสี ผู้ป่วยที่มีปัญเรื่องฟันจึงควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาให้หายเสียก่อน) เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด เช่น อาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง ไขกระดูกทำงานต่ำลง ทำให้มีภาวะซีด มีเลือดออกง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ง่ายจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น

การป้องกันมะเร็งช่องปาก

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งช่องปาก แต่มีข้อแนะนำที่อาจช่วยลดโอกาสต่อการเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ

  1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ดังที่กล่าวไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จัด (ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งช่องปากจะลดลงอย่างรวดเร็วถ้าเลิกสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ และความเสี่ยงจะเท่ากับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังจากเลิกไปแล้วเกิน 10 ปี)
  2. รักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้ดี โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเมื่อตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน (ครั้งละ 3-5 นาที) และควรใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งก่อนแปรงฟันตอนเข้านอน รวมถึงควรบ้วนปากหลังรับประทานอาหารทันทีและทุกครั้ง
  3. ในรายที่มีฟันเก ฟันบิ่น ขอบฟันคม หรือฟันปลอมหลวม ควรแก้ไขอย่าปล่อยให้ครูดถูกเยื่อบุในช่องปาก
  4. ถ้ามีฟันปลอม ควรถอดออกมาล้างให้สะอาดหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง (โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นตะขอ) ส่วนเวลาเข้านอนก็ควรถอดฟันปลอมออกด้วยทุกครั้ง
  5. รับประทานผักใบเขียวและผลไม้สดให้มาก ๆ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินเอ ซี และอีสูง
  6. เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจดูช่องปากของตนเองเป็นประจำ (เช่น ในขณะแปรงฟัน) และควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก ๆ 6-12 เดือน หรือบ่อยตามที่ทันตพแพทย์แนะนำ หรือทุกครั้งที่พบความผิดปกติในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง ถ้าพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ของช่องปาก เช่น ฝ้าขาว ฝ้าแดง หรือเป็นแผลในช่องปากที่รักษาไม่หายใน 2-3 สัปดาห์ หรือคลำได้ก้อนในช่องปากหรือข้างคอ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากพบเป็นมะเร็งช่องปากในระยะเริ่มต้นก็จะสามารถรักษาให้หายได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “มะเร็งช่องปาก (Oral cancer)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 561-563.
  2. สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.  “มะเร็งช่องปาก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net.  [22 เม.ย. 2017].
  3. หาหมอดอทคอม.  “มะเร็งช่องปาก (Oral cancer)”.  (พญ.ชลศณีย์ คล้ายทอง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [23 เม.ย. 2017].
  4. โรงพยาบาลทันตกรรม คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “รอยโรคก่อนเกิดมะเร็งในช่องปาก และมะเร็งในช่องปาก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.info.dent.nu.ac.th/dentalHospital/.  [24 เม.ย. 2017].
  5. โรงพยาบาลมะเร็งสมัยใหม่กว่างโจว.  “มะเร็งช่องปาก”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.moderncancerthai.com.  [25 เม.ย. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด