มะเดื่อชุมพร
มะเดื่อชุมพร ชื่อสามัญ Cluster fig, Goolar (Gular), Fig
มะเดื่อชุมพร ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus racemosa L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ficus glomerata Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)
มะเดื่อชุมพร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เดื่อเกลี้ยง (ภาคเหนือ), มะเดื่อน้ำ มะเดื่อหอม หมากเดื่อ เดื่อเลี้ยง (ภาคอีสาน), มะเดื่อ มะเดื่อเกลี้ยง มะเดื่อชุมพร เดื่อน้ำ กูแซ (ภาคใต้), มะเดื่อดง, มะเดื่อไทย, มะเดื่ออุทุมพร เป็นต้น
ข้อควรรู้ ! : สาเหตุที่มีชื่อว่า มะเดื่อชุมพร ก็เนื่องมาจากเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดชุมพร และต้นมะเดื่อชุมพรจัดเป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน (มะเดื่อชุมพรกับมะเดื่อฝรั่งเป็นคนละชนิดกันนะครับ !)
ลักษณะของมะเดื่อชุมพร
- ต้นมะเดื่อชุมพร มีถิ่นกำเนิดครอบคลุมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ไล่ตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงประเทศจีน โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ทรงพุ่มกว้าง ใบหนาทึบ ลำต้นสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นเกลี้ยง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทา กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งแก่เป็นสีน้ำตาลเกลี้ยง ส่วนใบจะเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตามกิ่ง ใบเป็นรูปทรงรี หรือรูปหอก โคนใบมนหรือกลม ปลายใบแหลม ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนไม่หลุดร่วงง่าย ขอบใบเรียบ มีเส้นแขนงในใบประมาณ 6-8 คู่ และก้านยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ส่วนดอกมะเดื่อชุมพร จะออกดอกเป็นช่อยาวตามกิ่ง โดยแต่ละช่อก็จะมีดอกย่อยขนาดเล็กเป็นกลุ่ม ดอกช่อจะเกิดภายในฐานรองดอกที่มีรูปร่างคล้ายผล และดอกมีสีขาวอมชมพู ลักษณะของลูกมะเดื่อชุมพร มีลักษณะทรงกลมแป้นหรือรูปไข่ ผลจะเกาะกลุ่มอยู่ตามต้นและตามกิ่ง ห้อยเป็นระย้าสวยงาม โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีแดงม่วง มีรสฝาดอมหวาน สามารถรับประทานได้ ซึ่งดอกและผลนี้จะออกตลอดปี
- มะเดื่อชุมพร ปัจจุบันยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก สาเหตุคงมาจากผลสุกมักจะมีแมลงหวี่อยู่ในผลด้วยเสมอ ทำให้หลาย ๆคนรู้สึกไม่ค่อยดีนัก หรืออาจมองว่ามันสกปรกจนไม่น่ารับประทาน แต่ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับมะเดื่ออย่างมากเพราะเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกและน่าสนใจอยู่มากเลยทีเดียว โดยต้นมะเดื่อกับแมลงหวี่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยมะเดื่ออาศัยให้แมลงหวี่ช่วยผสมเกสรให้ติดเมล็ด ส่วนแมลงหวี่ก็อาศัยมะเดื่อเป็นอาหารและฟักไข่จนเป็นตัว จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องอาศัยกันและกันในการสืบพันธุ์ต่อไป
ประโยชน์ของมะเดื่อชุมพร
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ ถอนพิษไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้หัว ไข้กาฬ หรือไข้พิษทุกชนิด (ราก)
- ช่วยกล่อมเสมหะและโลหิต (ราก)
- ช่วยแก้อาเจียน (เปลือก)
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (ในคาบสมุทรมลายู) (ราก)
- ช่วยแก้ธาตุพิการ (เปลือก)
- ผลดิบช่วยแก้โรคเบาหวาน (ผลดิบ)
- เปลือกต้นใช้รับประทานแก้อาการเสีย ท้องร่วง (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) (เปลือกต้น)
- ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก
- ผลสุกมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ผลสุก)
- ช่วยห้ามเลือดและชะล้างบาดแผล (เปลือกต้น)
- ใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้ประดงเม็ดผื่นคัน (เปลือก)
- ในคาบสมุทรมลายูจะใช้รากต้มกับน้ำ ปรุงเป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตร (ราก)
- ไม้มะเดื่อจัดเป็นไม้มงคลที่สามารถปลูกไว้ในบ้านและยังเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะในสมัยอดีตจะใช้ไม้มะเดื่อทำพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก ใช้ทำเป็นกระบวยตักน้ำเจิมถวาย และใช้ทำหม้อน้ำสำหรับกษัตริย์ทรงใช้ในพระราชพิธี
- ผลสุกสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้หลายชนิด เช่น กระรอก นก หนู ฯลฯ แถมยังเป็นการขยายพันธุ์มะเดื่อชุมพรไปด้วยในตัว เพราะเมล็ดของมะเดื่อจะงอกดีมากขึ้นเพราะมีน้ำย่อยในกระเพาะของสัตว์
- ยางเหนียวใช้ลงพื้นสำหรับปิดทอง
- เนื้อไม้ของต้นมะเดื่อสามารถใช้ทำเป็นแอกไถ หีบใส่ของ ไม้จิ้มฟันได้
- ใบอ่อนใช้นึ่งกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก
- ยอดอ่อนใช้ลวกกินกับน้ำพริก
- ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้
- หัวใต้ดินสามารถนำไปนึ่งรับประทานได้
- ช่อดอกหรือที่คนไทยเรียกว่าผลหรือลูกมะเดื่อ สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้โดยใช้จิ้มกับผัก หรือใช้ทำแกงอย่างแกงส้มก็ได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์มูลนิธิหมอชาวบ้าน, เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
ภาพประกอบ : www.magnoliathailand.com (George)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)