มะเขือม่วง
มะเขือม่วง ชื่อสามัญ Eggplant[1]
มะเขือม่วง ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum melongena L. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1]
สมุนไพรมะเขือม่วง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือกะโกแพง, มะเขือจาน, มะเขือจาวมะพร้าว, มะเขือหำม้า, มะแขว้งคม เป็นต้น[1]
ลักษณะของมะเขือม่วง
- ต้นมะเขือม่วง จัดเป็นพืชล้มลุกหรือไม้พุ่มที่มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ทั่วไปและอาจมีหนามเล็ก ๆ แต่ไม่มากนัก สามารถออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด[1],[2]
- ใบมะเขือม่วง ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกสลับข้างกัน ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลม ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบหยักหรือเป็นคลื่น ท้องใบมีขนหนาสีเทา[1],[2]
- ดอกมะเขือม่วง ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกมีกลีบสีเขียวเลี้ยงหนาแข็งประมาณ 4-5 แฉก โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วง มีลักษณะเป็นรูปดาว และดอกจะบานประมาณ 2-3 วัน[1],[2]
- ผลมะเขือม่วง ผลมีลักษณะกลมรียาวทรงหยดน้ำ ผิวผลเรียบเป็นสีม่วง ขนาดของผลขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ลักษณะของผลอาจจะกลมเป็นรูปไข่หรือกลมยาว โดยมีขนาดยาวตั้งแต่ 4-30 เซนติเมตร สีผลอาจจะมีสีเดียวหรือหลายสี โดยอาจจะมีสีขาว เหลือง เขียว แดงม่วง หรือดำ ส่วนภายในผลจะมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดเล็กและเป็นสีน้ำตาล[1],[2]
หมายเหตุ : มะเขือโดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ มะเขือม่วงเล็ก (ผลทรงยาวป้อม มีความยาวประมาณ 4 นิ้ว ผลเป็นสีม่วงอ่อนปนลายเขียวขาว เนื้อในนุ่ม กินดิบมีรสขมเล็กน้อย เมื่อสุกจะมีรสหวาน นิยมนำมากินเป็นผักสดหรือผักต้มแนมกับน้ำพริกและเครื่องจิ้มต่าง ๆ หรือนำมาหั่นเฉียงเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วชุบแป้งทอด) และ มะเขือม่วงใหญ่ (เป็นมะเขือนำเข้า เนื้อในแน่นและละเอียดกว่ามะเขือม่วงเล็ก ไม่มีเมล็ด และแทบไม่มีรสชาติ คนไทยนิยมกันน้อย โดยส่วนใหญ่จะนำมาทำอาหารประเภทผักหรือหั่นชุบแป้งทอด)[2]
สรรพคุณของมะเขือม่วง
- ดอกสดหรือดอกแห้ง นำมาเผาให้เป็นเถ้า แล้วบดให้ละเอียด ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน (ดอก)[1],[2]
- ผลแห้งมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (ผลแห้ง)[1],[2]
- ลำต้นหรือรากใช้ต้มกินเป็นยาแก้บิด หรือจะนำใบแห้งมาป่นให้เป็นผงใช้เป็นยาแก้โรคบิดก็ได้เช่นกัน (ลำต้น, ราก, ใบแห้ง)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการตกเลือดในลำไส้ (ผลแห้ง)[1],[2]
- ใบแห้งใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะขัด (ใบแห้ง)[1],[2]
- ช่วยรักษาโรคหนองใน (ใบแห้ง)[1],[2]
- ผลสดใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผลอักเสบ ฝีหนอง หรือโรคผิวหนังเรื้อรังและผดผื่นคัน (ผลสด)[1],[2]
- ลำต้นหรือรากนำมาคั้นเอาน้ำใช้ล้างแผลเท้าเปื่อย (ลำต้น, ราก)[1],[2]
- ผลแห้งใช้ทำเป็นยาเม็ดแก้ปวด (ผลแห้ง)[1],[2]
หมายเหตุ : วิธีการใช้ผลตาม [1] ให้นำผลมะเขือม่วงมาปรุงเป็นอาหารรับประทานประมาณวันละ 1-2 ลูก[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะเขือม่วง
- สารสำคัญที่พบในมะเขือม่วง ได้แก่ Flamonoid, กรดฟีโนลิก, ไฟโทสเทอรอล, ไกลโคแอลคาลอยด์, แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ[1]
- จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการดื่มน้ำมะเขือทุกวัน สามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือดและเสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือดได้[1]
ประโยชน์ของมะเขือม่วง
- ในด้านการนำมาประกอบอาหาร ส่วนใหญ่แล้วจะนำผลดิบมาเผารับประทานร่วมกับน้ำพริก หรือฝานเป็นชิ้นชุบแป้งทอดกรอบก็อร่อยดี ส่วนอาหารญี่ปุ่นก็จะมีมะเขือม่วงเป็นส่วนประกอบเกือบทุกเมนู[2]
- มะเขือม่วงอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด โดยคุณค่าทางโภชนาการของมะเขือม่วง ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 24 แคลอรี, โปรตีน 1 กรัม, ไขมัน 0.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 5.7 กรัม, ใยอาหาร 0.8 กรัม, เถ้า 0.6 กรัม, วิตามินเอ 130 หน่วยสากล, วิตามินบี1 10 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.05 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.6 มิลลิกรัม, แคลเซียม 30 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.6 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม, โซเดียม 4 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 223 มิลลิกรัม[2]
- สีม่วงที่เห็นในผลมะเขือม่วง เกิดจากสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้สูงกว่าวิตามินซีหลายเท่า การรับประทานมะเขือม่วงเป็นประจำจึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยเสริมให้ร่างกายต่อต้านเชื้อโรค และช่วยสมานแผลได้ดี[2]
- สารแอนโทไซยานินในมะเขือม่วงมีฤทธิ์ขยายเส้นเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและอัมพาตได้ด้วย การใส่มะเขือม่วงลงไปในอาหารต่าง ๆ จึงเป็นที่ให้คุณค่าทางยาเพิ่มกับคุณค่าทางอาหาร[2]
- มะเขือม่วงเป็นพืชผักเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกได้ง่าย ให้ผลผลิตดี เก็บเกี่ยวได้นาน และปัจจุบันสามารถส่งออกได้[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “มะเขือม่วง”. หน้า 139.
- กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร ส่วนส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร. “การปลูกมะเขือม่วงและมะเขือม่วงญี่ปุ่น”.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dendroaspis2008, Søren Holt, Vilimaka Foliaki, naturgucker.de, www.fotoARION.ch), kruaklaibaan.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)