มะหาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะหาด 38 ข้อ !

มะหาด

มะหาด ชื่อสามัญ Monkey Jack, Monkey Fruit

มะหาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus lacucha Buch.-Ham. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artocarpus ficifolius W.T.Wang, Artocarpus lakoocha Roxb., Artocarpus yunnanensis H.H.Hu)[1],[2],[3],[4],[5] จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1]

สมุนไพรมะหาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปวกหาด (เชียงใหม่), มะหาดใบใหญ่ (ตรัง), หาดขนุน (ภาคเหนือ), ฮัด (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หาด (ทั่วไป-ภาคกลาง), เซยาสู้ (กะเหรี่ยง-กำแพง), กาแย ตาแป ตาแปง (มลายู-นราธิวาส), ขนุนป่า เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ลักษณะของมะหาด

  • ต้นมะหาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ ที่มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ทรงพุ่มกลมหรือแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีดำ สีเทาแกมน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่ผิวเปลือกจะค่อนข้างหยาบ ขรุขระและแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ บริเวณเปลือกของลำต้นมักมีรอยแตกและมียางไหลซึมออกมา แห้งติด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกประเภท (แม้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย) ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปในที่กึ่งโล่งแจ้งตามป่าดงดิบ ปาเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าคืนสภาพ ป่าหินปูน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,800 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ของประเทศไทย[1],[2],[4],[7]

ต้นมะหาด

  • ใบมะหาด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลมเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้ามนหรือแหลมกว้าง และอาจเบี้ยวไม่สมมาตรกัน ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือมีซี่ฟันเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีขนหยาบเล็กน้อย ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย ใบอ่อนมีขนแต่พอแก่ขึ้น ขนเหล่านั้นจะหลุดไปทำให้ใบเรียบเกลี้ยง ใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม เหนียวคล้ายหนัง มีเส้นใบข้างประมาณ 8-20 คู่ จรดกันที่ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนที่ด้านท้องของใบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนแข็งสีเหลืองอยู่หนาแน่น และมีหูใบขนาดเล็กบาง รูปหอกหลุดร่วงง่ายและมีขนปกคลุมหนาแน่น ขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนกิ่งก้านค่อนข้างอ่อน อ้วน และหนาประมาณ 3-6 มิลลิเมตร[1],[2],[4],[5]

ใบมะหาด

  • ดอกมะหาด ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นกลมสีเหลืองหม่นถึงสีชมพูอ่อน โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน แต่อยู่คนละช่อ ช่อดอกเพศผู้กลม ช่อยาวประมาณ 0.8-2 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวตามซอกหรือช่วงล่างของกิ่งก้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมี 2 พู ลึก มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนช่อดอกเพศเมียเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานสีเหลืองอ่อน ออกตามกลีบช่วงบน มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2-2.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ก้านช่อยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[5]

ดอกมะหาด

  • ผลมะหาด ผลเป็นสดและมีเนื้อ เป็นผลรวมสีเหลือง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมค่อนข้างบิดเบี้ยวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 1.2-3.8 เซนติเมตร ผิวผลขรุขระและมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนถึงส้ม เมื่อแก่เป็นสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อผลนุ่มเป็นสีเหลืองถึงสีชมพู ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดมะหาดเป็นรูปขอบขนานหรือเกือบกลม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลทา ขนาดประมาณ 1.2 เซนติเมตร โดยจะติผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[4],[5]

ลูกมะหาด

ผลมะหาด

เมล็ดมะหาด

  • ผงปวกหาด คือ การนำเอาเนื้อไม้หรือแก่นไม้มะหาดที่มีอายุ 5 ขึ้นไป มาสับแล้วนำไปเคี่ยวต้มเอากากออก แล้วเอาผ้ากรองเอาน้ำออก ทำให้แห้งจะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้นำมาต้มเคี่ยวกับน้ำจนเกิดฟอง แล้วช้อนฟองที่ได้รวมกันทำให้แห้งก็จะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน) แล้วนำไปย่างไฟให้เหลือง หลังจากนั้นนำมาบดให้เป็นผง ผงที่ได้เรียกว่า “ผงปวกหาด” มีรสร้อนเมา วิธีการใช้ให้นำเอาผงมาชงกับน้ำเย็นรับประทาน[1],[5]

แก่นมะหาด

ปวกหาด

สรรพคุณของมะหาด

  1. แก่นมะหาดมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย ละลายเลือด กระจายโลหิต (แก่น,ผงปวกหาด)[1],[2],[4],[5],[6]
  2. แก่นมะหาดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคกระษัยไตพิการ กระษัยเสียด กระษัยดาน กระษัยกร่อน กระษัยลมพานไส้ กระษัยทำให้ท้องผูก (แก่น)[6],[7]
  3. ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร (แก่น,ผงปวกหาด)[4],[5]
  4. ช่วยแก่ตานขโมย (แก่นเนื้อไม้)[7]
  5. แก่นมะหาดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ดวงจิตขุ่นมัว ระส่ำระสาย แก้อาการนอนไม่หลับ (แก่น)[6],[7]
  6. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (แก่น,แก่นเนื้อไม้,ผงปวกหาด)[1],[4],[5],[7]
  7. เปลือกต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ หรือจะใช้รากสดหรือแห้ง นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ก็ได้ (เปลือกต้น,ราก)[1],[4],[5] แก่นมีรสร้อน สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ต่าง ๆ (แก่น)[5]
  8. รากมะหาดสดหรือแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้พิษร้อนใน (ราก)[1],[4],[5]
  9. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (แก่น,ผงปวกหาด)[4],[6]
  10. ช่วยแก้เสมหะ (แก่น)[5]
  1. ช่วยแก้หอบหืด (แก่น)[5]
  2. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (แก่น,ผงปวกหาด)[4],[5] ส่วนแก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณแก้จุกแน่น แก้ท้องขึ้นอดเฟ้อ ช่วยขับลม ผายลม (แก่นเนื้อไม้)[7]
  3. ช่วยแก้ฝีในท้อง (แก่น,ผงปวกหาด)[4],[6],[7]
  4. ช่วยแก้ท้องโรพุงโต แก้จุกผามม้ามย้อย (แก่น)[6],[7]
  5. แก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาระบาย แก้ท้องผูกไม่ถ่าย (แก่นเนื้อไม้)[7] ส่วนยางและเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายเช่นกัน (ยาง,เมล็ด)[9]
  6. เปลือกต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วยขับพยาธิ ถ่ายพยาธิ พยาธิตัวตืด หรือจะใช้รากสดหรือแห้ง นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับพยาธิก็ได้ (เปลือกต้น,แก่น,ราก)[1],[2],[4],[5],[6] (แก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือนตัวกลม พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวตืด พยาธิตัวแบน[7])
  7. ตำรายาไทยจะใช้ผงปวกหาดเป็นยาถ่ายพยาธิ พยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน และพยาธิตัวตืด โดยใช้ผงปวกหาดในขนาด 3-5 กรัม นำมาละลายหรือผสมกับน้ำสุกที่เย็นแล้วดื่มตอนเช้ามืดก่อนอาหารเช่า (หรือจะผสมน้ำมะนาวลงไปด้วยก็ได้) หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่ว ให้กินยาถ่าย (ดีเกลือ) ก็จะช่วยขับพยาธิออกมา วิธีนี้ใช้กับเด็กได้ดี แต่เวลาปรุงยาควรใส่ลูกกระวานหรือลูกจันทน์เทศด้วยเพื่อแก้อาการไซร้ท้อง สำหรับเด็กให้ใช้ผงปวกหาดเพียงครึ่งช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผงปวกหาด)[1],[2],[3],[4],[6],[7]
  8. ช่วยขับปัสสาวะกะปริดกะปรอย (แก่น,ผงปวกหาด)[4],[5],[7]
  9. ช่วยขับโลหิต (แก่น,แก่นเนื้อไม้,ผงปวกหาด)[4],[5],[7]
  10. ใบมะหาดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคบวมน้ำ (ใบ)[9]
  11. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (แก่น)[5]
  12. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (เปลือกต้น)[9]
  13. ผงปวกหาด ใช้ละลายน้ำทาแก้ผื่นคัน แก้เคือง (ผงปวกหาด)[1],[2],[3],[4],[6] ส่วนแก่นมีสรรพคุณช่วยแก้ประดวงทุกชนิด (แก่น)[5]
  14. ช่วยแก้อาการปวด (ผงปวกหาด)[4],[6]
  15. แก่นมะหาดมีสรรพคุณเป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ (แก่น,แก่นเนื้อไม้)[1],[2],[5],[6],[7]
  16. รากสดหรือแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้กระษัยในเส้นเอ็น (ราก)[1],[4],[5]
  17. รากเป็นยาบำรุงและมีฤทธิ์บรรเทาการอุดตัน (ข้อมูลไม่ได้ระบุว่าบรรเทาอาการอุดตันอะไร) (ราก)[9]

ข้อควรระวัง : ห้ามกินมะหาดกับน้ำร้อน เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง เกิดอาการไซ้ท้อง หรือเกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรงได้[4] แต่สำหรับบางรายอาจมีอาการแพ้ผงปวกหาด โดยจะมีผื่นคันขึ้นตามตัว หน้าแดง ตาแดง ผิวหนังแดงคัน และมีไข้ร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 1-2 วัน[7]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะหาด

  • แก่นมะหาด พบสารสำคัญในกลุ่มสติลบินอยด์ ได้แก่ 2,4,3′,5′-tetrahydroxystilbene (oxyresveratrol), resveratrol, สารฟลาโวนอยด์ ได้แก่ artocarpin, cycloartocarpin, norartocarpin, norcycloartocarpin ส่วนเปลือกต้นมะหาด พบไตรเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ beta-amyrin acetate, lupeol acetate, tannin ส่วนรากมะหาด พบสติลบินอยด์ ได้แก่ lakoochin A, lakoochin B ส่วนเปลือกรากมะหาด พบฟลาโวนอยด์ เช่น 5,7-dihydroxyflavone-3-O-alpha-L-rhamnoside, galangin-3-O-alpha-L-rhamnoside, kaempferol-3-O-beta-L-xyloside, quercetin-3-O-alpha-L-rhamnoside, ไตรเทอร์ปีนอยด์ lupeol เป็นต้น[5]
  • สาร lakoochin A และ B จากรากมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรค Mycobacterium tuberculosis โดยมีค่า MIC เท่ากับ 12.5 และ 50 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม ตามลำดับ[5]
  • ใบสดเมื่อนำมาใช้เตรียมเป็นสูตรอาหารสำหรับวัวในปริมาณ 5% ร่วมกับอาหารหลักอื่น ๆ พบว่าสามารถช่วยเพิ่มปริมาณของน้ำนมวัวได้ 26.8% และมีปริมาณไขมันในน้ำนมเพิ่มขึ้น 5.7%[5]
  • สารสกัดจากแก่นมะหาด มีฤทธิ์ขับพยาธิใบไม้ในหลอดทดลอง โดยสารที่ออกฤทธิ์เป็นยาถ่ายพยาธิของผงปวกหาดคือสาร 2, 4, ‘,5’-tetrahydroxystilbene (oxyresveratrol) ซึ่งจากการศึกษาไม่พบความเป็นพิษ[3],[5]
  • ผงปวกหาดในขนาด 5 กรัม เมื่อนำมาผสมกับน้ำดื่ม และให้ยาถ่ายตาม โดยทดลองกับผู้ป่วยจำนวน 39 ราย จากการตรวจอุจจาระของคนไข้ พบส่วนหัวของพยาธิ และพบส่วนปล้องพยาธิ พบว่าเป็นพยาธิตัวตืดวัวควายและพยาธิตืดหมู คิดเป็นการรักษาหายอัตราร้อยละ 81[6]
  • ผงปวกหาดในขนาด 5 กรัม เมื่อนำมาผสมกับสารอื่น ๆ ที่ใช้เป็นยาถ่ายและสารแต่งรสชาติ แล้วนำมาให้คนไข้ที่เป็นพยาธิตัวติดวัวควายจำนวน 25 ราย หลังการรับประทาน ตรวจพบส่วนของพยาธิในอุจจาระ และการติดตามผลต่อมาไม่พบปล่องหรือไข่พยาธิในอุจจาระอีก[6]
  • สาร oxyresveratrol ที่แยกได้จากแก่นมะหาดมีฤทธิ์ปานกลางในการยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัส 3 ชนิด ในหลอดทดลอง ได้แก่ เชื้อเริมทั้งสองชนิด (HSV1, HSV2) และเชื้อ HIV[5]
  • สารสกัดจากแก่นมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ร้อยละ 92 ที่ความเข้มข้น 3 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร โดยสาร oxyresveratrol จะมีผลช่วยลดความเข้มข้นของเม็ดสีเมลานินในผิวหนังได้ โดยการไปยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส จึงทำให้ผิวขาว[5]
  • จากการศึกษาทางพิษวิทยา พบว่าบางรายมีอาการแพ้ผงปวกหาด โดยจะมีอาการผื่นคันที่หน้า ตาแดง ผิวหนังแดงคัน และอาจมีไข้ร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเองใน 1-2 วัน ส่วนรายงานจากกองวิจัยทางการแพทย์ รายงานว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน[6]
  • สารสกัดมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ในหลอดทดลอง และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานินในอาสาสมัคร โดยพบว่า ค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ของสารสกัดมะหาด และสาร oxyresveratrol มีค่าเท่ากับ 0.76 และ 0.83 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรตามลำดับ และผลการยับยั้งการสร้างเมลานินในอาสาสมัคร โดยใช้สารสกัดมะหาดที่มีความเข้มข้น 0.25% w/v ในสารละลาย propylene glycol โดยทำเปรียบเทียบกับสารที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเมลานินเช่นกัน ได้แก่ kojic acid ที่ความเข้มข้น 3% w/v และ licorice เข้มข้น 0.25% w/v ในสารละลายเดียวกัน โดยให้อาสาสมัครทาสารสกัดบริเวณต้นแขนข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างให้ใช้สารละลาย propylene glycol เพื่อใช้เป็นตัวเปรียบเทียบปริมาณของเมลานินที่ลดลง ผลการทดลองพบว่าสารสกัดมะหาดสามารถช่วยทำให้ผิวขาวขึ้นได้เมื่อทาติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ในขณะที่ kojic acid (กรดโคจิก) และ licorice (สารสกัดจากชะเอม) จะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 6 และ 10 สัปดาห์ ตามลำดับ จึงจะเห็นความแตกต่างของสีผิว ส่วนเครื่องสำอางที่เป็นโลชั่นชนิดไขมันในน้ำจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารสกัดมะหาดในการทำให้ผิวขาวได้ดียิ่งขึ้น เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์[10]

ประโยชน์ของมะหาด

  1. ผลมะหาดสุก ใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยว[5]
  2. ชาวม้งจะใช้ใบมะหาดอ่อนนำมานุ่งเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกรับประทาน[9]
  3. เปลือกต้นมะหาดมีรสฝาด สามารถนำมาเคี้ยวกับหมากแทนสีเสียดได้[5]
  4. ที่ประเทศเนปาลจะใช้ใบมะหาดเป็นอาหารสัตว์ เพื่อช่วยเพิ่มการขับน้ำนมของสัตว์เลี้ยง[5]
  5. ในประเทศอินเดียและเนปาลจะใช้เปลือกต้นมะหาด นำมาต้มกับน้ำทารักษาสิว[5]
  6. ชาวกะเหรี่ยงจะใช้ใบมะหาดแทนการใช้กระดาษทราย[9]
  7. ใยจากเปลือกต้นมะหาด สามารถนำมาใช้ทำเชือกได้[8]
  8. รากมะหาด สามารถนำมาสกัดเป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีเหลือง[8]
  9. เนื้อไม้มะหาดเป็นสีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน เสี้ยนสน เนื้อไม้หยาบ แข็ง มีความเหนียวและทนทานมาก สามารถเลื่อยกบไสตบแต่งได้ง่าย ปลวกและมอดไม่ชอบทำลาย นิยมใช้ทำเสา สร้างบ้าน ทำสะพาน ทำหมอนรองรางรถไฟ ด้ามเครื่องมือทางการเกษตร[8],[9]
  10. ในด้านประโยชน์ทางด้านนิเวศน์ ต้นมะหาดสามารถปลูกเป็นไม้เพื่อให้ร่มเงา ความร่มรื่นได้ และยังช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี[8]
  11. ในปัจจุบันมีการนำสารสกัดมะหาดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ครีมทาผิวหรือ “ครีมมะหาด“, “โลชั่นมะหาด“, “เซรั่มมะหาด” เนื่องจากสารสกัดจากแก่นมะหาดนั้นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานิน จึงทำให้ผิวขาวขึ้นได้ แต่การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดมะหาดเพื่อให้ผิวขาว นอกจากจะต้องพิจารณาถึงความเข้มข้นของสาสกัดเป็นหลักแล้ว รูปแบบของผลิตภัณฑ์ก็มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของสารสกัดมะหาดเช่นกัน[10]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “มะหาด”.  หน้า 60.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “มะหาด (Mahat)”.  หน้า 240.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะหาด”.  หน้า 57.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “มะหาด”.  หน้า 643-645.
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะหาด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [30 ก.ค. 2014].
  6. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ปวกหาด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [30 ก.ค. 2014].
  7. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “มะหาด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [30 ก.ค. 2014].
  8. ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “มะหาด”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [30 ก.ค. 2014].
  9. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “หาด, มะหาด”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [30 ก.ค. 2014].
  10. ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  (ดร.จุฑามาศ เจียรนัยกุลวานิช).  “จริงหรือไม่? มะหาดทำให้ขาวขึ้นได้”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [30 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by machabuca, Cerlin Ng, acroporablue, Chow Khoon Yeo), pg.pharm.su.ac.th, www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด