มะหาด
มะหาด ชื่อสามัญ Monkey Jack, Monkey Fruit
มะหาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus lacucha Buch.-Ham. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artocarpus ficifolius W.T.Wang, Artocarpus lakoocha Roxb., Artocarpus yunnanensis H.H.Hu)[1],[2],[3],[4],[5] จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1]
สมุนไพรมะหาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปวกหาด (เชียงใหม่), มะหาดใบใหญ่ (ตรัง), หาดขนุน (ภาคเหนือ), ฮัด (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หาด (ทั่วไป-ภาคกลาง), เซยาสู้ (กะเหรี่ยง-กำแพง), กาแย ตาแป ตาแปง (มลายู-นราธิวาส), ขนุนป่า เป็นต้น[1],[2],[3],[4]
ลักษณะของมะหาด
- ต้นมะหาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ ที่มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ทรงพุ่มกลมหรือแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีดำ สีเทาแกมน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่ผิวเปลือกจะค่อนข้างหยาบ ขรุขระและแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ บริเวณเปลือกของลำต้นมักมีรอยแตกและมียางไหลซึมออกมา แห้งติด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกประเภท (แม้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย) ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปในที่กึ่งโล่งแจ้งตามป่าดงดิบ ปาเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าคืนสภาพ ป่าหินปูน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,800 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ของประเทศไทย[1],[2],[4],[7]
- ใบมะหาด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลมเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้ามนหรือแหลมกว้าง และอาจเบี้ยวไม่สมมาตรกัน ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือมีซี่ฟันเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีขนหยาบเล็กน้อย ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย ใบอ่อนมีขนแต่พอแก่ขึ้น ขนเหล่านั้นจะหลุดไปทำให้ใบเรียบเกลี้ยง ใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม เหนียวคล้ายหนัง มีเส้นใบข้างประมาณ 8-20 คู่ จรดกันที่ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนที่ด้านท้องของใบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนแข็งสีเหลืองอยู่หนาแน่น และมีหูใบขนาดเล็กบาง รูปหอกหลุดร่วงง่ายและมีขนปกคลุมหนาแน่น ขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนกิ่งก้านค่อนข้างอ่อน อ้วน และหนาประมาณ 3-6 มิลลิเมตร[1],[2],[4],[5]
- ดอกมะหาด ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นกลมสีเหลืองหม่นถึงสีชมพูอ่อน โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน แต่อยู่คนละช่อ ช่อดอกเพศผู้กลม ช่อยาวประมาณ 0.8-2 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวตามซอกหรือช่วงล่างของกิ่งก้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมี 2 พู ลึก มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนช่อดอกเพศเมียเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานสีเหลืองอ่อน ออกตามกลีบช่วงบน มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2-2.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ก้านช่อยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[5]
- ผลมะหาด ผลเป็นสดและมีเนื้อ เป็นผลรวมสีเหลือง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมค่อนข้างบิดเบี้ยวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 1.2-3.8 เซนติเมตร ผิวผลขรุขระและมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนถึงส้ม เมื่อแก่เป็นสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อผลนุ่มเป็นสีเหลืองถึงสีชมพู ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดมะหาดเป็นรูปขอบขนานหรือเกือบกลม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลทา ขนาดประมาณ 1.2 เซนติเมตร โดยจะติผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[4],[5]
- ผงปวกหาด คือ การนำเอาเนื้อไม้หรือแก่นไม้มะหาดที่มีอายุ 5 ขึ้นไป มาสับแล้วนำไปเคี่ยวต้มเอากากออก แล้วเอาผ้ากรองเอาน้ำออก ทำให้แห้งจะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้นำมาต้มเคี่ยวกับน้ำจนเกิดฟอง แล้วช้อนฟองที่ได้รวมกันทำให้แห้งก็จะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน) แล้วนำไปย่างไฟให้เหลือง หลังจากนั้นนำมาบดให้เป็นผง ผงที่ได้เรียกว่า “ผงปวกหาด” มีรสร้อนเมา วิธีการใช้ให้นำเอาผงมาชงกับน้ำเย็นรับประทาน[1],[5]
สรรพคุณของมะหาด
- แก่นมะหาดมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย ละลายเลือด กระจายโลหิต (แก่น,ผงปวกหาด)[1],[2],[4],[5],[6]
- แก่นมะหาดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคกระษัยไตพิการ กระษัยเสียด กระษัยดาน กระษัยกร่อน กระษัยลมพานไส้ กระษัยทำให้ท้องผูก (แก่น)[6],[7]
- ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร (แก่น,ผงปวกหาด)[4],[5]
- ช่วยแก่ตานขโมย (แก่นเนื้อไม้)[7]
- แก่นมะหาดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ดวงจิตขุ่นมัว ระส่ำระสาย แก้อาการนอนไม่หลับ (แก่น)[6],[7]
- แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (แก่น,แก่นเนื้อไม้,ผงปวกหาด)[1],[4],[5],[7]
- เปลือกต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ หรือจะใช้รากสดหรือแห้ง นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ก็ได้ (เปลือกต้น,ราก)[1],[4],[5] แก่นมีรสร้อน สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ต่าง ๆ (แก่น)[5]
- รากมะหาดสดหรือแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้พิษร้อนใน (ราก)[1],[4],[5]
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (แก่น,ผงปวกหาด)[4],[6]
- ช่วยแก้เสมหะ (แก่น)[5]
- ช่วยแก้หอบหืด (แก่น)[5]
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (แก่น,ผงปวกหาด)[4],[5] ส่วนแก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณแก้จุกแน่น แก้ท้องขึ้นอดเฟ้อ ช่วยขับลม ผายลม (แก่นเนื้อไม้)[7]
- ช่วยแก้ฝีในท้อง (แก่น,ผงปวกหาด)[4],[6],[7]
- ช่วยแก้ท้องโรพุงโต แก้จุกผามม้ามย้อย (แก่น)[6],[7]
- แก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาระบาย แก้ท้องผูกไม่ถ่าย (แก่นเนื้อไม้)[7] ส่วนยางและเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายเช่นกัน (ยาง,เมล็ด)[9]
- เปลือกต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วยขับพยาธิ ถ่ายพยาธิ พยาธิตัวตืด หรือจะใช้รากสดหรือแห้ง นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับพยาธิก็ได้ (เปลือกต้น,แก่น,ราก)[1],[2],[4],[5],[6] (แก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือนตัวกลม พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวตืด พยาธิตัวแบน[7])
- ตำรายาไทยจะใช้ผงปวกหาดเป็นยาถ่ายพยาธิ พยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน และพยาธิตัวตืด โดยใช้ผงปวกหาดในขนาด 3-5 กรัม นำมาละลายหรือผสมกับน้ำสุกที่เย็นแล้วดื่มตอนเช้ามืดก่อนอาหารเช่า (หรือจะผสมน้ำมะนาวลงไปด้วยก็ได้) หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่ว ให้กินยาถ่าย (ดีเกลือ) ก็จะช่วยขับพยาธิออกมา วิธีนี้ใช้กับเด็กได้ดี แต่เวลาปรุงยาควรใส่ลูกกระวานหรือลูกจันทน์เทศด้วยเพื่อแก้อาการไซร้ท้อง สำหรับเด็กให้ใช้ผงปวกหาดเพียงครึ่งช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผงปวกหาด)[1],[2],[3],[4],[6],[7]
- ช่วยขับปัสสาวะกะปริดกะปรอย (แก่น,ผงปวกหาด)[4],[5],[7]
- ช่วยขับโลหิต (แก่น,แก่นเนื้อไม้,ผงปวกหาด)[4],[5],[7]
- ใบมะหาดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคบวมน้ำ (ใบ)[9]
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (แก่น)[5]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (เปลือกต้น)[9]
- ผงปวกหาด ใช้ละลายน้ำทาแก้ผื่นคัน แก้เคือง (ผงปวกหาด)[1],[2],[3],[4],[6] ส่วนแก่นมีสรรพคุณช่วยแก้ประดวงทุกชนิด (แก่น)[5]
- ช่วยแก้อาการปวด (ผงปวกหาด)[4],[6]
- แก่นมะหาดมีสรรพคุณเป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ (แก่น,แก่นเนื้อไม้)[1],[2],[5],[6],[7]
- รากสดหรือแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้กระษัยในเส้นเอ็น (ราก)[1],[4],[5]
- รากเป็นยาบำรุงและมีฤทธิ์บรรเทาการอุดตัน (ข้อมูลไม่ได้ระบุว่าบรรเทาอาการอุดตันอะไร) (ราก)[9]
ข้อควรระวัง : ห้ามกินมะหาดกับน้ำร้อน เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง เกิดอาการไซ้ท้อง หรือเกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรงได้[4] แต่สำหรับบางรายอาจมีอาการแพ้ผงปวกหาด โดยจะมีผื่นคันขึ้นตามตัว หน้าแดง ตาแดง ผิวหนังแดงคัน และมีไข้ร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 1-2 วัน[7]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะหาด
- แก่นมะหาด พบสารสำคัญในกลุ่มสติลบินอยด์ ได้แก่ 2,4,3′,5′-tetrahydroxystilbene (oxyresveratrol), resveratrol, สารฟลาโวนอยด์ ได้แก่ artocarpin, cycloartocarpin, norartocarpin, norcycloartocarpin ส่วนเปลือกต้นมะหาด พบไตรเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ beta-amyrin acetate, lupeol acetate, tannin ส่วนรากมะหาด พบสติลบินอยด์ ได้แก่ lakoochin A, lakoochin B ส่วนเปลือกรากมะหาด พบฟลาโวนอยด์ เช่น 5,7-dihydroxyflavone-3-O-alpha-L-rhamnoside, galangin-3-O-alpha-L-rhamnoside, kaempferol-3-O-beta-L-xyloside, quercetin-3-O-alpha-L-rhamnoside, ไตรเทอร์ปีนอยด์ lupeol เป็นต้น[5]
- สาร lakoochin A และ B จากรากมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรค Mycobacterium tuberculosis โดยมีค่า MIC เท่ากับ 12.5 และ 50 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม ตามลำดับ[5]
- ใบสดเมื่อนำมาใช้เตรียมเป็นสูตรอาหารสำหรับวัวในปริมาณ 5% ร่วมกับอาหารหลักอื่น ๆ พบว่าสามารถช่วยเพิ่มปริมาณของน้ำนมวัวได้ 26.8% และมีปริมาณไขมันในน้ำนมเพิ่มขึ้น 5.7%[5]
- สารสกัดจากแก่นมะหาด มีฤทธิ์ขับพยาธิใบไม้ในหลอดทดลอง โดยสารที่ออกฤทธิ์เป็นยาถ่ายพยาธิของผงปวกหาดคือสาร 2, 4, ‘,5’-tetrahydroxystilbene (oxyresveratrol) ซึ่งจากการศึกษาไม่พบความเป็นพิษ[3],[5]
- ผงปวกหาดในขนาด 5 กรัม เมื่อนำมาผสมกับน้ำดื่ม และให้ยาถ่ายตาม โดยทดลองกับผู้ป่วยจำนวน 39 ราย จากการตรวจอุจจาระของคนไข้ พบส่วนหัวของพยาธิ และพบส่วนปล้องพยาธิ พบว่าเป็นพยาธิตัวตืดวัวควายและพยาธิตืดหมู คิดเป็นการรักษาหายอัตราร้อยละ 81[6]
- ผงปวกหาดในขนาด 5 กรัม เมื่อนำมาผสมกับสารอื่น ๆ ที่ใช้เป็นยาถ่ายและสารแต่งรสชาติ แล้วนำมาให้คนไข้ที่เป็นพยาธิตัวติดวัวควายจำนวน 25 ราย หลังการรับประทาน ตรวจพบส่วนของพยาธิในอุจจาระ และการติดตามผลต่อมาไม่พบปล่องหรือไข่พยาธิในอุจจาระอีก[6]
- สาร oxyresveratrol ที่แยกได้จากแก่นมะหาดมีฤทธิ์ปานกลางในการยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัส 3 ชนิด ในหลอดทดลอง ได้แก่ เชื้อเริมทั้งสองชนิด (HSV1, HSV2) และเชื้อ HIV[5]
- สารสกัดจากแก่นมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ร้อยละ 92 ที่ความเข้มข้น 3 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร โดยสาร oxyresveratrol จะมีผลช่วยลดความเข้มข้นของเม็ดสีเมลานินในผิวหนังได้ โดยการไปยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส จึงทำให้ผิวขาว[5]
- จากการศึกษาทางพิษวิทยา พบว่าบางรายมีอาการแพ้ผงปวกหาด โดยจะมีอาการผื่นคันที่หน้า ตาแดง ผิวหนังแดงคัน และอาจมีไข้ร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเองใน 1-2 วัน ส่วนรายงานจากกองวิจัยทางการแพทย์ รายงานว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน[6]
- สารสกัดมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ในหลอดทดลอง และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานินในอาสาสมัคร โดยพบว่า ค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ของสารสกัดมะหาด และสาร oxyresveratrol มีค่าเท่ากับ 0.76 และ 0.83 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรตามลำดับ และผลการยับยั้งการสร้างเมลานินในอาสาสมัคร โดยใช้สารสกัดมะหาดที่มีความเข้มข้น 0.25% w/v ในสารละลาย propylene glycol โดยทำเปรียบเทียบกับสารที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเมลานินเช่นกัน ได้แก่ kojic acid ที่ความเข้มข้น 3% w/v และ licorice เข้มข้น 0.25% w/v ในสารละลายเดียวกัน โดยให้อาสาสมัครทาสารสกัดบริเวณต้นแขนข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างให้ใช้สารละลาย propylene glycol เพื่อใช้เป็นตัวเปรียบเทียบปริมาณของเมลานินที่ลดลง ผลการทดลองพบว่าสารสกัดมะหาดสามารถช่วยทำให้ผิวขาวขึ้นได้เมื่อทาติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ในขณะที่ kojic acid (กรดโคจิก) และ licorice (สารสกัดจากชะเอม) จะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 6 และ 10 สัปดาห์ ตามลำดับ จึงจะเห็นความแตกต่างของสีผิว ส่วนเครื่องสำอางที่เป็นโลชั่นชนิดไขมันในน้ำจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารสกัดมะหาดในการทำให้ผิวขาวได้ดียิ่งขึ้น เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์[10]
ประโยชน์ของมะหาด
- ผลมะหาดสุก ใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยว[5]
- ชาวม้งจะใช้ใบมะหาดอ่อนนำมานุ่งเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกรับประทาน[9]
- เปลือกต้นมะหาดมีรสฝาด สามารถนำมาเคี้ยวกับหมากแทนสีเสียดได้[5]
- ที่ประเทศเนปาลจะใช้ใบมะหาดเป็นอาหารสัตว์ เพื่อช่วยเพิ่มการขับน้ำนมของสัตว์เลี้ยง[5]
- ในประเทศอินเดียและเนปาลจะใช้เปลือกต้นมะหาด นำมาต้มกับน้ำทารักษาสิว[5]
- ชาวกะเหรี่ยงจะใช้ใบมะหาดแทนการใช้กระดาษทราย[9]
- ใยจากเปลือกต้นมะหาด สามารถนำมาใช้ทำเชือกได้[8]
- รากมะหาด สามารถนำมาสกัดเป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีเหลือง[8]
- เนื้อไม้มะหาดเป็นสีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน เสี้ยนสน เนื้อไม้หยาบ แข็ง มีความเหนียวและทนทานมาก สามารถเลื่อยกบไสตบแต่งได้ง่าย ปลวกและมอดไม่ชอบทำลาย นิยมใช้ทำเสา สร้างบ้าน ทำสะพาน ทำหมอนรองรางรถไฟ ด้ามเครื่องมือทางการเกษตร[8],[9]
- ในด้านประโยชน์ทางด้านนิเวศน์ ต้นมะหาดสามารถปลูกเป็นไม้เพื่อให้ร่มเงา ความร่มรื่นได้ และยังช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี[8]
- ในปัจจุบันมีการนำสารสกัดมะหาดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ครีมทาผิวหรือ “ครีมมะหาด“, “โลชั่นมะหาด“, “เซรั่มมะหาด” เนื่องจากสารสกัดจากแก่นมะหาดนั้นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานิน จึงทำให้ผิวขาวขึ้นได้ แต่การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดมะหาดเพื่อให้ผิวขาว นอกจากจะต้องพิจารณาถึงความเข้มข้นของสาสกัดเป็นหลักแล้ว รูปแบบของผลิตภัณฑ์ก็มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของสารสกัดมะหาดเช่นกัน[10]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “มะหาด”. หน้า 60.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “มะหาด (Mahat)”. หน้า 240.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะหาด”. หน้า 57.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “มะหาด”. หน้า 643-645.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะหาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [30 ก.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ปวกหาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [30 ก.ค. 2014].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “มะหาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [30 ก.ค. 2014].
- ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “มะหาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [30 ก.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หาด, มะหาด”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [30 ก.ค. 2014].
- ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ดร.จุฑามาศ เจียรนัยกุลวานิช). “จริงหรือไม่? มะหาดทำให้ขาวขึ้นได้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [30 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by machabuca, Cerlin Ng, acroporablue, Chow Khoon Yeo), pg.pharm.su.ac.th, www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)