มะกา
มะกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Bridelia ovata Decne. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]
สมุนไพรมะกา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้องแกบ (เชียงใหม่), ขี้เหล้ามาดกา (ขอนแก่น), ซำซา มะกาต้น (เลย), มัดกา มาดกา (หนองคาย), มาดกา (นครราชสีมา), กอง กองแกบ (ภาคเหนือ), ส่าเหล้า สิวาลา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2]
หมายเหตุ : ข้อมูลจาก The Plant List ระบุว่าสมุนไพรชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
ลักษณะของมะกา
- ต้นมะกา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล พอลำต้นแก่จะแตกเป็นสะเก็ดยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นมาก และมีแสงแดดแบบเต็มวัน พบขึ้นตามป่าโปร่งทั่วทุกภาคของประเทศไทย[1],[2],[6]
- ใบมะกา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบมน โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ตลอดทั้งขอบใบอ่อนและยอดอ่อนเป็นสีแดง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-21 เซนติเมตร แผ่นใบด้านหลังเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นคราบสีขาว เนื้อใบบาง หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบสั้น[1],[2]
- ดอกมะกา ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกเป็นสีเขียวอ่อน มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบดอกแหลม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน เกสรดอกเป็นสีแดง[1],[2]
- ผลมะกา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปไข่[1],[2]
สรรพคุณของมะกา
- แก่นมีรสขม เป็นยาแก้กระษัย (แก่น)[1],[2] ส่วนเปลือกต้นมีรสฝาดขม เป็นยาแก้กระษัย แก้พิษกระษัย (เปลือกต้น)[1],[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้ใบมะกาเป็นยาแก้โรคกระษัย ด้วยการใช้ใบมะกา แก่นขี้เหล็ก เถาคันแดง เหง้าสับปะรด และรากต้นเสาให้ อย่างละเท่ากัน นำมาใส่ในหม้อดินต้มกับน้ำพอสมควร แล้วใส่เกลือทะเล 1 กำมือ ใช้น้ำยารับประทาน (ใบ)[4]
- ช่วยแก้ตานขโมย (ใบ)[7]
- ทั้งห้าส่วนเป็นยาบำรุงโลหิต (ทั้งห้า)[7]
- ช่วยบำรุงธาตุไฟ (ใบ)[7]
- ช่วยฟอกโลหิต (แก่น)[1],[2] ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ (ใบ)[7]
- รากและใบเป็นยาแก้ไข้ (ราก, ใบ)[5] ส่วนใบเป็นยาลดไข้ (ใบ)[7]
- ใบมีรสขมขื่น สรรพคุณเป็นยาถ่ายพิษไข้ ถ่ายพิษตานซางในเด็ก (ใบ)[1],[2]
- ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่ายเสมหะและโลหิต (ใบ)[1],[2]
- ใบที่ตายนำมานึ่งมวนเป็นยาสูบกัดเสมหะ หรือนำมาต้มดื่มเป็นยาขับเสมหะ (ใบ)[2],[5] ส่วนแก่นก็เป็นยาขับเสมหะเช่นกัน (แก่น)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการสะอึก (ใบ)[7]
- เมล็ดทำให้ฟันแน่น (เมล็ด)[5]
- ช่วยชักลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ (ใบ)[1],[2]
- ช่วยขับลม (ใบ, ทั้งห้า)[7]
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ)[7]
- เปลือกต้นใช้กินเป็นยาสมานลำไส้ (เปลือกต้น)[1],[2]
- ใบสดนำมาปิ้งไฟ ใช้เป็นยาระบายอย่างอ่อน (ใบ)[1],[7] ด้วยการใช้ใบแห้งปิ้งไฟให้พอกรอบ 2-5 กรัม นำมาชงกับน้ำเดือด แช่ไว้ประมาณ 15-20 นาที ใช้ดื่มก่อนนอนเป็นยาระบาย (ใบ)[5]
- ช่วยระบายอุจจาระธาตุ (แก่น)[1],[2]
- ช่วยคุมกำเนิด ช่วยขับระดู แก้มุตกิดของสตรี (ใบ)[7]
- ช่วยแก้ไตพิการ (แก่น)[1],[2]
- ช่วยบำรุงน้ำดี (ใบ)[7]
- ช่วยบำรุงน้ำเหลือง ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ใบ)[7]
- เปลือกต้นมีรสฝาด ใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)[6]
- ช่วยแก้เหน็บชา (ใบ)[7]
หมายเหตุ : ใบสดไซ้ท้องทำให้คลื่นเหียน ต้องนำมาปิ้งไฟให้พอกรอบเสียก่อนแล้วจึงนำไปใช้ มักใช้ใบยาต้ม[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะกา
- จากการทดลองฤทธิ์ระบายกับผู้ป่วยท้องผูก ด้วยการใช้ใบแห้งในขนาด 1.5-2 กรัม นำมาชงกับน้ำเดือด แล้วแช่ไว้นาน 10-20 นาที ใช้ดื่มก่อนนอน พบว่าได้ผลดี แต่มีอาการข้างเคียงคือ ปวดท้อง คลื่นไส้[3]
- มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบ[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะกา (Maka)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 213.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะกา”. หน้า 148. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะกา”. หน้า 66.
- งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนวารินชำราบ สพม. เขต 29. “มะกา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany/. [13 พ.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้โรงเรียนบ้านเขาหินซ้อน(พัฒนาการภาคตะวันออก), งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนบ้านเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา. “มะกา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.hinsorn.ac.th/botanyhinsorn/. [13 พ.ค. 2014].
- คมชัดลึกออนไลน์. “มะกา ใบขับเสมหะ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net. [13 พ.ค. 2014].
- การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเขาตายิ้ม อ.เมือง จ.ตราด, สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้ พ.ศ. 2549. “มัดกา, มะกา”. (ชูจิตร อนันตโชค, ทรรศนีย์ พัฒนเสร, วจีรัตน์ บุญญะปฏิภาค). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: forprod.forest.go.th/forprod/chemistry/pdf/1.66.pdf. [13 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.pharmacy.mahidol.ac.th, www.nationaalherbarium.nl, ict2.warin.ac.th/botany/
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)