มหาหิงคุ์
มหาหิงคุ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Ferula assa-foetida L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1]
สมุนไพรมหาหิงคุ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หินแมงค์ (เชียงใหม่), อาเหว้ย (จีนกลาง) เป็นต้น[1]
ลักษณะของมหาหิงคุ์
- มหาหิงคุ์ คือ ชันน้ำมันหรือยางที่ได้มาจากหัวรากใต้ดินหรือลำต้นของพืชในตระกูล Ferula เป็นสีเหลืองอมสีน้ำตาลและมีกลิ่นฉุน[1]
- ต้นมหาหิงคุ์ (Ferula assa-foetida L.) จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2 เมตร มีหัวอยู่ใต้ดินและมีรากขนาดใหญ่ ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ผิวลำต้นแตกเป็นร่อง ๆ ที่โคนต้นจะมีใบแทงขึ้นมาจากรากใต้ดิน[1]
- ใบมหาหิงคุ์ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 3-4 คู่ แต่ช่วงบนของลำต้นของใบจะเป็น 1-2 คู่ ใบหนาและร่วงได้ง่าย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปกลมรีหรือรูปไข่รียาว เป็นสีเขียวอมเทา ขอบใบมีฟันเลื่อยเล็ก ส่วนก้านใบยาวประมาณ 50 เซนติเมตร[1]
- ดอกมหาหิงคุ์ ออกดอกเป็นช่อคล้ายซี่ร่ม ช่อหนึ่งมีก้านดอกย่อยประมาณ 20-30 ก้านเล็ก ในแต่ละก้านจะแยกออกจากกัน ดอกเพศเมียเป็นสีเหลือง ส่วนดอกเพศผู้เป็นสีขาว มีกลีบ 5 กลีบและจะอยู่ต่างช่อกัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน มีรังไข่ 2 อัน และมีขนปกคลุม[1]
- ผลมหาหิงคุ์ ผลเป็นผลคู่แบบแบน ลักษณะเป็นรูปไข่ยาวรี[1]
สรรพคุณของมหาหิงคุ์
- ยางจากรากหรือลำต้นมีรสเผ็ดขม กลิ่นฉุน เป็นยาอุ่น ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ลำไส้ ตับ และม้าม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย[1]
- ช่วยขับเสมหะ[1]
- ใช้เป็นยาขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาหารไม่ย่อย[1] ตามตำรับยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยระบุให้ใช้มหาหิงคุ์ 10 กรัม, พริกไทย 10 กรัม, โกฐกระดูก 20 กรัม, ลูกหมาก 20 กรัม นำมาบดให้เป็นผงทำเป็นยาเม็ดลูกกลอน เม็ดละ 3 กรัม ใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 10 เม็ด[1]
- ตำรับยาแก้ท้องแข็งแน่นจับกันเป็นก้อน ให้ใช้มหาหิงคุ์ 20 กรัม, ขมิ้นอ้อย 60 กรัม, ซำเล้ง 100 กรัม, โกฐเขมาขาว 100 กรัม, แปะไก้จี้ 120 กรัม นำมาคั่วแล้วบดเป็นผง ทำเป็นยาเม็ด ใช้รับประทานครั้งละ 60 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น[1]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ปวดกระเพาะ แก้บิด[1]
- ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ[1]
- ใช้ผสมกับแอลกอฮอล์ ใช้เป็นยาทาภายนอก แก้ปวด แก้บวม[1]
- คุณสมบัติทางยาอื่น ๆ ได้แก่ เป็นยาระบาย ยากล่อมประสาท แก้อาการนอนไม่หลับ ถ่ายพยาธิ ฆ่าเชื้อ (ข้อมูลอ้างอิงจาก http://on.fb.me/RFJ9Tf)
- ส่วนข้อมูลอื่น ๆ ระบุว่าในอดีตจะใช้มหาหิงคุ์ผสมกับแอลกอฮอล์แล้วนำมาทาท้องเด็ก จะช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ บางส่วนของน้ำมันหอมระเหยจากมหาหิงคุ์มีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าแมลงได้ ส่วนยางจากรากช่วยบำรุงธาตุ แก้อาการทางประสาทชนิดฮิสทีเรีย ใช้เป็นยาขับลม ชำระเสมหะและลม แก้ลมที่มีอาการให้เสียดแทง แก้อาการเกร็ง ช่วยย่อยอาหาร ขับประจำเดือนของสตรี แก้ปวด แก้อาการชักกระตุก ใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้กลาก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย และกลิ่นของมหาหิงคุ์ยังใช้ในการรักษาโรคหวัดและอาการไอได้ด้วย[3]
หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [1] ให้ใช้ครั้งละ 1-1.5 กรัม นำมาเข้ากับตำรับยาหรือผสมแอลกอฮอล์ใช้เป็นยาทาภายนอก แก้ปวด แก้บวม ขับลม ใช้ทาแก้ปวดท้อง หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ๆ[1]
การออกฤทธิ์ของมหาหิงคุ์
ปกติแล้วเราจะนำมหาหิงคุ์มาชุบสำลี (หรือจะใช้มหาหิงคุ์ชนิดที่เป็นลูกกลิ้ง) แล้วนำมาทาที่หน้าท้อง ฝ่าเท้า และศีรษะของเด็กทารก หรือใช้รับประทานเป็นยาแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ โดยสารที่ออกฤทธิ์บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ทั้งแบบทาและแบบรับประทาน) เป็นสารจากกลุ่มเดียวกัน คือ สารในกลุ่มน้ำมันหอมระเหย ซึ่งการรับประทานนั้นกลไกการออกฤทธิ์จะเป็นแบบ Local ที่ทางเดินอาหาร โดยเป็น Antispasmodic และกระตุ้นให้เกิดการขับลม
ส่วนในกรณีที่ใช้ทาภายนอกนั้นจะใช้กับเด็กทารกเท่านั้น เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์ Stimulant ด้วย การนำมาทาบริเวณท้องของเด็กคงอาศัยผลจากที่ผนังหน้าท้องของเด็กทารกบางพอที่ผลของการเป็น Stimulant จะสามารถไปกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ได้ แต่การนำไปใช้ทาบริเวณฝ่าเท้าหรือหน้าผากก็สุดจะคาดเดา แต่ที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คงเป็นฤทธิ์ทำให้สงบของมหาหิงคุ์ที่ช่วยทำให้เด็กไม่โยเย (อนุชิต พลับรู้การ)[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมหาหิงคุ์
- สารที่พบได้แก่ Latex 40-64%, ยาง 25%, น้ำมันระเหย 10-17% ในน้ำมันหอมระเหยพบสารที่ให้กลิ่นฉุนจำพวก Asafetida เช่น Sec-butyl, Propenyl, Diauldo ส่วนในยางพบสาร Ferulic acid และยังพบสาร Farnesiferol เป็นต้น[1]
- สาร Asafetida เป็นสารที่ให้กลิ่นฉุนและรสขม เมื่อเข้าไปในกระเพาะลำไส้ในร่างกายจะถูกดูดซึมโดยไม่พบอาการเป็นพิษ อีกทั้งยังมีผลในการยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ จึงสามารถใช้เป็นยาแก้ท้องเสียได้ และยังสามารถช่วยลดอาการอักเสบในลำไส้ได้อีกด้วย[1]
- น้ำมันระเหยของมหาหิงคุ์มีฤทธิ์กระตุ้นหลอดลมให้มีการบีบตัว จึงช่วยขับเสมหะได้[1]
- สารสกัดที่ได้จากมหาหิงคุ์มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคในหลอดทดลองได้ และยังมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวกลมกับพยาธิใบไม้ในตับได้อีกด้วย[1]
- เมื่อนำน้ำที่ต้มกับมหาหิงคุ์ในความเข้มข้น 1:1,000 มาทดลองกับมดลูกที่อยู่นอกตัวของหนูทดลอง พบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกบีบตัวอย่างแรง แต่ถ้าเป็นสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะไม่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นมดลูกให้เกิดการบีบตัว[1]
ข้อควรระวังในการใช้มหาหิงคุ์
- ผู้ที่ม้ามหรือกระเพาะหย่อน รวมถึงสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน[1]
- การใช้มหาหิงคุ์เป็นยาทาภายนอก เมื่อนำไปใช้กับเด็กทารกบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการแพ้เป็นผื่นคันได้ และไม่ควรรับประทานเพราะอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นผื่นคัน และบวมที่ริมฝีปากได้[3]
- มหาหิงค์ุ กินได้ไหม? มหาหิงคุ์ในอดีตมักนิยมใช้เข้าตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ สามารถรับประทานได้ โดยขนาดที่ใช้รับประทานสำหรับผู้ใหญ่ คือ 0.3-1 กรัม แต่ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์มหาหิงค์ที่มีจำหน่ายทั่วไปจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และใช้เป็นยาทาภายนอกเป็นหลัก จึงไม่ควรนำมารับประทาน
ตำรับยาเบ็ญจะอำมฤตย์
บทความโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย) ลำดับชั้นที่ 6 ในสายราชสกุลแพทย์ “ทินกร” (อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://on.fb.me/1gtOvqD)
ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์จัดให้มหาหิงคุ์อยู่ในตำรับยา “เบ็ญจะอำมฤตย์” อันประกอบไปด้วยตัวยา 9 อย่าง ได้แก่ มหาหิงคุ์ 1 สลึง, ยาดำบริสุทธิ์ 1 สลึง, รงทอง 2 สลึง, มะกรูด 3 ผล แล้วเอามหาหิงคุ์ ยาดำ และรงทอง ใส่ในมะกรูดสิ่งละผล เอามูลโคพอกสุมไฟแกลบให้สุก ต่อมาให้เตรียมขิงแห้ง 1 สลึง, ดีปลี 1 สลึง, พริกไทย 1 สลึง, รากทนดี 2 สลึง, ดีเกลือ 4 บาท (ดีเกลือไทยเท่านั้น) แล้วเอาตัวยาทั้งห้านี้มาผสมกับมะกรูดที่สุมไว้ ทำให้เป็นจุณละลายน้ำส้มมะขามเปียก ใช้รับประทานหนัก 1 สลึง จะช่วยฟอกอุจจาระอันลามกให้สิ้นโทษ ชำระลำไส้อันเป็นเมือกมัน (กรีสังในบุพโพและโลหิตนั้น รวมขับเมือกกรีสังในลำไส้) และปะระเมหะทั้งปวง (เสมหะที่แข็งตัวอย่างยิ่ง อันเกิดแต่อาโปบุพโพ-โลหิต)[2]
จากตำรับยาดังกล่าวจะประกอบไปด้วย เครื่องยาหลัก (มหาหิงคุ์ ยาดำ และรงทอง มีสรรพคุณถ่ายลม ถ่ายเสมหะและโลหิตที่เป็นพิษ ช่วยกัดฟอกเสมหะและโลหิต และช่วยถ่ายน้ำเหลือง), เครื่องยาช่วย (รากทนดีและดีเกลือไทย มีสรรพคุณช่วยถ่ายเสมหะ ขับเมือกมันในลำไส้ และช่วยถ่ายน้ำเหลืองเสีย) และเครื่องยาประกอบ (ขิงแห้ง ดีปลี และพริกไทย มีสรรพคุณขับเสมหะ แก้เสมหะเฟือง ช่วยเจริญอากาศธาตุ แก้ปถวีธาตุ)[2]
หมายเหตุ : การสะตุเครื่องยาเมาเบื่อในตำรับยานี้ เราจะใช้มะกรูด มูลโค แกลบข้าว และกำเดาจากแกลบข้าว จึงจะสะตุยาให้ได้ฤทธิ์เครื่องยาที่เหมาะสมกับตำรับยานี้ และห้ามปรุงยาโดยใช้วิธีอื่น ต้องทำตามที่ระบุไว้ในตำรับยาเท่านั้นจึงจะสำเร็จสรรพคุณตามตำรับยา ส่วนการทำให้เป็นจุณ หมายถึง การทำให้ละเอียดเหมือนผงแป้ง และจะต้องใช้น้ำส้มมะขามเปียกเป็นกระสายยาเป็นเครื่องเชื่อมประสานปั้นเป็นลูกกลอน แล้วต้องได้น้ำหนัก 1 สลึงพอดี และตำรับยานี้มีสรรพคุณเป็นยารุเป็นหลัก (หมายถึงกรีสังอันเกิดแต่น้ำเหลืองและเลือดที่เป็นพิษนั้น และเป็นปลายเหตุที่เกิด ไม่ใช่ต้นเหตุ) แพทย์จะต้องวางด้วยความระมัดระวัง ต้องพิจารณากำลังโรคและกำลังกายของผู้ป่วยด้วย[2]
คำแนะนำ : ตำรับยานี้เป็นเพียงการนำเสนอเป็นวิทยาทานซึ่งเป็นกรรมวิธีทางเภสัชกรรมที่ถือปฏิบัติกันตามมาในอดีต ผู้นำไปใช้ต้องมีความรู้จริง รู้ชัด รู้แจ้ง อย่าเพียงแต่อ่านรู้เรื่องแล้วนำไปใช้ทำ เพราะผู้ป่วยบางรายยังไม่แสดงอาการของโรคที่ชัดเจน หากนำไปใช้โดยขาดองค์ความรู้ก็รังแต่จะเกิดโทษ[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “มหาหิงคุ์”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 418.
- บทความโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย) ลำดับชั้นที่ 6 ในสายราชสกุลแพทย์ “ทินกร”. “ตำรับยาเบ็ญจะอำมฤตย์”.
- รักสุขภาพ. “เจาะลึกสมุนไพรในตำรับยาต้านมะเร็ง ตอนที่ 1”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:www.raksukkapap.com. [12 พ.ค. 2014].
- Evans, W.C. Trease and Evans’ Pharmacognosy 14th ed. WB Saunders Co. Ltd.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by pawan soni), www.gotoknow.org (by กานดา), www.henriettes-herb.com, davesgarden.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)