พุทธรักษา
พุทธรักษา ชื่อสามัญ Indian shot, India short plant, India shoot, Butsarana, Cannas, Canna lily[1],[2],[8]
พุทธรักษา ชื่อวิทยาศาสตร์ Canna indica L. จัดอยู่ในวงศ์ CANNACEAE[1],[4],[6],[8]
สมุนไพรพุทธรักษา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวละวงศ์ (ลำปาง), บัวละวง (ลพบุรี), พุทธศร (พายัพ), พุทธสร (ภาคเหนือ), สาคูหัวข่า สาคูมอญ (ภาคกลาง), ปล้ะย่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กวงอิมเกีย เซียวปาเจีย มุยหยิ่งเจีย (จีน), เหม่ยเหยินเจียว เสี่ยวปาเจียว (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[9]
ลักษณะของพุทธรักษา
- ต้นพุทธรักษา เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แอฟริกา และอเมริกา และภายหลังได้กระจายพันธุ์ออกไปยังเอเชียเขตร้อน โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน มีอายุหลายปี ขึ้นรวมกันเป็นกอและเป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้านสาขา จะมีข้อแต่ค่อนข้างห่างกัน มีความสูงของลำต้นประมาณ 1.5-2.5 เมตร ลำต้นมีความเหนียวและอุ้มน้ำ มีเหง้าหัวสีขาวแตกแขนงอยู่ใต้ดิน (รากมีความเฉลี่ย 11.8 เซนติเมตร มีความยาวรอบรากเฉลี่ย 0.2 เซนติเมตร โดยความยาวของรากจะมีความสัมพันธ์กับขนาดของรากด้วย[6]) ส่วนของลำต้นเทียมบนดินจะเกิดจากใบเรียงซ้อนเป็นลำตรงกลม ทั้งต้นไม่มีขนปกคลุม แต่บางครั้งอาจพบผงเทียนไขปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อและวิธีการเพาะเมล็ด (แต่วิธีที่นิยมใช้และได้ผลดีคือวิธีการแยกหน่อ) ชอบดินเหนียวชุ่มชื้นและมีอินทรียวัตถุสูง หรือที่ระดับน้ำ 10-20 เซนติเมตร ชอบแสงแดดแบบเต็มวันถึงครึ่งวัน พุทธรักษาเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าเมืองไทยหลายชนิด โดยส่วนใหญ่มักจะพบขึ้นตามป่าดงดิบ ป่าดงดิบแล้งในที่ลุ่ม หรือตามลำห้วย[1],[2],[3],[7]
- ใบพุทธรักษา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปรีแกมขอบขนานกว้าง หรือเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบเป็นสีเขียว สีแดง สีเขียวขลิบแดง หรือสีม่วงเข้ม ภายในเป็นสีอมม่วงแดง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 35-60 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เส้นใบคล้ายขนนก กลางใบเป็นเส้นนูนเห็นได้ชัด มีก้านใบยาวเป็นกาบใบหุ้มลำต้นซ้อนสลับกัน[1],[2],[3],[4]
- ดอกพุทธรักษา ดอกจะมีหลายสีด้วยกัน เช่น สีแดง สีแดงอมเหลือง สีส้ม สีเหลือง สีชมพู สีขาว ฯลฯ สามารถออกดอกได้ตลอดปี โดยจะออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอดของลำต้น ก้านช่อดอกยาว ช่อหนึ่งมีความยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยหลายดอก ประมาณ 8-10 ดอก ช่อดอกมีรูปคล้ายทรงกระบอก เมื่อดอกบานจะแตกออกเป็นกลีบ 3 กลีบ ปลายกลีบแหลม ดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-9 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ เป็นสีเขียวอ่อนและมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร หุ้มอยู่บริเวณโคนดอก รูปไข่กลมรี ดอกมีผงเทียนไขปกคลุม มีเกสรเพศผู้เป็นหมันมีลักษณะคล้ายกลีบดอกเป็นสีส้มแดง[1],[3],[4]
- ผลพุทธรักษา ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นพู 3 พู ผลมีขนาดเท่ากับผลมะไฟ ผิวผลขรุขระ เปลือกนอกเป็นสีเขียวและมีขนหรือหนามอ่อน ๆ คล้ายกับลูกละหุ่งหรือลูกเร่ว โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดสีขาวหลายเมล็ด พอแก่เป็นสีน้ำตาล มัน[1],[4]
สรรพคุณของพุทธรักษา
- เมล็ดมีรสเมาเย็น ใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะได้ (เมล็ด)[1] ชาวชวาจะใช้เมล็ดนำมาบดให้เป็นผงใช้พอกบริเวณขมับแก้อาการปวดศีรษะ (เมล็ด)[5]
- ดอกเป็นยาช่วยสงบจิต ทำให้หัวใจสดชื่น (ดอก)[3]
- ดอกใช้เป็นยาขับพิษร้อน ขับน้ำชื้นในร่างกาย (ดอก)[3]
- ช่วยลดความดันโลหิต (ดอก)[3]
- ชาวอินเดียจะใช้เหง้าเป็นยาขับเหงื่อปัสสาวะในอาการไข้และอาการบวมน้ำ (เหง้า)[5]
- เหง้ามีสรรพคุณแก้วัณโรค แก้อาการไอ (เหง้า)[1],[2]
- เหง้าใช้ต้มกินเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด และไอมีเลือด (เหง้า)[1],[2],[3],[5]
- ช่วยแก้อาเจียน (ใบ)[4]
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เหง้าแห้งผสมกับข้าวเหนียว แล้วนำมาตุ๋นกับไก่กิน (เหง้า)[5]
- เหง้ามีรสเย็นฝาดขื่น เป็นยาบำรุงปอด แพทย์ตามชนบทจะใช้เหง้านำมาต้มกินเป็นยาบำรุงปอด (เหง้า)[1],[2],[5]
- ใบช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องเสีย (ใบ)[4]
- ชาวชวาจะใช้น้ำคั้นจากเหง้าเป็นยาแก้อาการท้องร่วง (เหง้า)[5]
- ช่วยแก้โรคบิด บิดเรื้อรัง (เหง้า)[1],[2],[3]
- ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ประจำเดือนมาไม่หยุดของสตรี (เหง้า)[1],[2],[3] ตำรับยาแก้ประจำเดือนมาไม่หยุด ให้ใช้เหง้ากับดอกเข็ม (Ixora Chinensis Lam) นำมาตุ๋นร่วมกับไก่กิน หรือจะใช้เหง้าแห้งผสมกับข้าวเหนียวตุ๋นกับไก่กินก็ได้ (เหง้า)[5]
- ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (เหง้า)[1],[2],[3] ตำรับยาแก้ตกขาว ระบุให้ใช้เหง้าแห้งผสมกับข้าวเหนียวนำมาตุ๋นกับไก่กิน (เหง้า)[5]
- ช่วยแก้โรคตับอักเสบ แก้ตับอักเสบติดเชื้อ ตับอักเสบอย่างเฉียบพลันแบบดีซ่าน มีอาการตัวเหลือง ให้ใช้เหง้าสดนำมาต้มกับน้ำ แบ่งกินวันละ 2 เวลา เช้าและเย็น ติดต่อกัน 20 วัน (เป็น 1 รอบของการรักษา) และในระหว่างการรักษาห้ามกินกุ้ง ปลา ของเผ็ด จิงฉ่าย และน้ำมันพืช ซึ่งจากการรักษาผู้ป่วยจำนวน 52 ราย พบว่าผู้ป่วย 34 ราย หลังจากการรักษาเป็นเวลา 250 วัน มีอาการหายดีเป็นปกติ ส่วนผู้ป่วยอีก 18 ราย หลังจากการรักษาเป็นเวลา 30 วัน พบว่ามีอาการดีขึ้นเล็กน้อย (เหง้า)[1],[2],[3]
- ชาวกัมพูชาจะใช้เหง้าต้มและคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาแก้คุดทะราด และใช้ชะล้างทำความสะอาดบาดแผล (เหง้า)[5]
- ดอกสด นำมาตำให้ละเอียดใช้พอกแผล ห้ามเลือด รักษาบาดแผลสด หรือบาดแผลมีหนอง แก้ฝีหนองได้ (ดอก)[1],[2],[3],[4] บ้างว่าใช้ดอกห้ามเลือดบาดแผลภายนอกให้ใช้ดอกแห้ง 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)[5]
- เหง้าใช้เป็นยาตำพอกรักษาแผลอักเสบบวม ช่วยสมานแผล แก้ฝีหนองปวดบวม แก้ฟกช้ำ (เหง้า)[1],[2],[3]
หมายเหตุ : ดอกและเหง้ามีรสขม ฝาดเล็กน้อย ดอกมีรสจืด ชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับและลำไส้ใหญ่ วิธีการใช้ตาม [3] ถ้าเป็นดอกให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม ถ้าเป็นเหง้าแห้งให้ใช้ครั้งละ 4-10 กรัม หากเป็นเหง้าสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน และใช้ภายนอกให้ใช้ยาสด นำมาตำแล้วพอกแผล[3] ส่วนวิธีการเก็บมาใช้ ลำต้นใต้ดินหรือเหง้าสามารถขุดเก็บได้ตลอดปี นำมาตัดก้านใบและรากฝอยทิ้งแล้วล้างให้สะอาด หั่นเป็นแผ่น ๆ ตากให้แห้งเก็บไว้ใช้ หรือจะใช้สด ๆ เลยก็ได้[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพุทธรักษา
- มีรายงานการใช้เหง้าสดรักษาโรคตับอักเสบแบบเฉียบพลันและมีอาการตัวเหลือง โดยใช้เหง้าสด 60-120 กรัม (ใช้ไม่เกิน 275 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกัน 20 วัน (คิดเป็น 1 รอบของการรักษา) ในระหว่างการรักษาห้ามรับประทานกุ้ง ปลา จิงฉ่าย ของเผ็ด และน้ำมัน โดยจากการรักษาคนไข้ตับอักเสบจำนวน 67 ราย พบว่าหายจำนวน 58 ราย มีอาการดีขึ้น 3 ราย และไม่เห็นผล 2 ราย โดยระยะเวลาการรักษามีตั้งแต่ 20 วันจำนวน 34 ราย, 30วัน จำนวน 18 ราย และรักษานานที่สุด 45-47 วัน จำนวน 6 ราย นอกจากนี้ยังมีการทดลองใช้ต้นพุทธรักษาร่วมกับรากคอเช่าและทิแบเปียง (Lespebesa pilosa (Thunb) Sicb.et zcc) เพื่อทำเป็นยารักษาคนไข้จำนวน 100 ราย และพบว่าหายจำนวน 92 ราย ส่วนอีก 8 ราย แก้ไขได้ในขั้นต้น[2],[5]
ประโยชน์ของพุทธรักษา
- เหง้าสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลายแบบ เช่นเดียวกับเผือกและมัน[6]
- ชาวมาเลเซียจะใช้เหง้าปรุงเป็นอาหาร[5]
- ชาวอินเดียจะใช้ก้านใบผสมกับข้าว พริกไทย และน้ำ นำมาต้มให้เดือดให้วัวกินเป็นยาแก้พิษเนื่องจากไปกินหญ้ามีพิษมา[5]
- ใยจากก้านใบยังสามารถนำมาใช้แทนปอกระเจาได้ในอุตสาหกรรมทำเชือกและถุงเท้า[5]
- ลำต้นใต้ดินหรือเหง้าสามารถนำมาใช้ทำแป้งที่เรียกว่า Canna starch ได้[2]
- ใบพุทธรักษาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น การใช้มุงหลังคา ทำกระทง ทำเชือก[6]
- เมล็ดสามารถนำมาใช้ทำเป็นสร้อยและร้อยเป็นสายประคำได้ โดยการเก็บเมล็ดที่โตเต็มที่แล้ว แต่ก่อนที่ผลจะสุกแกะเปลือกออกนำไปตากแห้ง เมล็ดจะแข็งและเป็นสีม่วงเข้ม แล้วนำมาเจาะรูร้อยเป็นสายประคำได้สวยงามมาก[5] ส่วนชาวสเปนจะนำเมล็ดมาทำลูกปัด[8]
- เครื่องดนตรีที่ชื่อว่าฮอชฮา (Hosha) ของชาวซิมบับเวที่ใช้เขย่านั้น ก็ใช้เมล็ดพุทธรักษาเป็นส่วนประกอบเช่นกัน[8]
- ใบสามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษสา ใช้ห่อของ และให้สีจากธรรมชาติ การสกัดสีจากใบพุทธรักษา มีการนำมาใช้แต่งงานศิลปะ วาดภาพ พิมพ์ภาพ ทั้งใบและกาบใบยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้อีกด้วย[6]
- กาบใบพุทธรักษานำมาตากแดดให้แห้ง สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้หรือของเล่นต่าง ๆ ได้ เช่น ตุ๊กตา ปลาตะเพียน ฯลฯ[6]
- ดอกพุทธรักษาสามารถนำมาสกัดสีทำเป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ แต่จะติดสีไม่มากนักและสีไม่สด และนิยมใช้ตัดดอกปักแจกัน[6]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามริมสวนน้ำ ริมคูน้ำที่โล่งแจ้ง ตามร่องระบายน้ำ ริมถนนทางเดิน หรือปลูกลงในกระถางเพื่อประดับอาคารบ้านเรือนก็ได้
- เนื่องจากดอกพุทธรักษามีความสวยงามและมีหลายพันธุ์หลายสี แต่เมื่อดอกโรยควรตัดพุ่มใบนั้นทิ้งไป การดูแลรักษาก็ค่อนข้างง่าย เพราะสามารถทนทานต่อโรคต่าง ๆ ได้ดี[4],[7]
- ความหมายของดอกพุทธรักษา และความเป็นมงคล ตั้งแต่มีการกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันพ่อแห่งชาติ ก็ได้มีการกำหนดให้ “ดอกพุทธรักษาสีเหลือง” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อ ด้วยเพราะชื่ออันเป็นมงคลของคำว่า “พุทธรักษา” ที่หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครองให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น การมอบดอกพุทธรักษาให้กับพ่อจึงเสมือนหนึ่งการบอกรักและเคารพบูชาพ่อ ซึ่งเป็นผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัว[7] (และดอกพุทธรักษายังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดชุมพรอีกด้วยครับ)
- นอกจากนี้ในด้านของความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยปกป้องคุ้มครองไม่ให้มีเหตุร้ายหรืออันตรายใด ๆ เกิดแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย เพราะพุทธรักษาเป็นพรรณไม้มงคลที่เชื่อกันว่ามีพระเจ้าคุ้มครองรักษาให้มีแต่ความสงบสุข คือเป็นไม้มงคลนามนั่นเอง[7] และการปลูกไม้มงคลชนิดนี้เพื่อเอาคุณควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตกของบ้าน และควรปลูกในวันพุธ[8]
ดอกพุทธรักษา
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “พุทธรักษา (Phut Ta Raksa)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 198.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “พุทธรักษา”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 567-568.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “พุทธรักษา”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 396.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พุทธรักษา” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [07 พ.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 10 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “พุทธรักษา”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [07 พ.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนอุดมศึกษา. “การศึกษาดอกพุทธรักษา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.udomsuksa.ac.th/Latphrao/Knowledge/Botanical/botanic01.asp. [07 พ.ค. 2014].
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “บอกรักพ่อด้วยดอกพุทธรักษา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: home.kku.ac.th/pgorpa/fran.htm. [07 พ.ค. 2014].
- บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่องพุทธรักษา”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [07 พ.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พุทธรักษา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [07 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Reinaldo Aguilar, Maja Dumat, L’herbier en photos, Silas Price, Mazé Parchen, judymonkey17, cpmkutty, sodef_fedos, Altagracia Aristy Sánchez de Brea, ZullyCandle, CANTIQ UNIQUE, Leopoldo Meozzi, Leandro Juvencio)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)