พาราเซตามอล
พาราเซตามอล (Paracetamol) / อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ซีมอล (Cemol), พานาดอล (Panadol), พาราแคพ (Paracap), ซาร่า (Sara), เทมปร้า (Tempra), ไทลินอล (Tylenol) เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในสมอง แบบเดียวกับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) สามารถใช้เป็นยาแก้ปวดลดไข้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ (แต่มีฤทธิ์ลดอาการปวดอย่างจำกัด รักษาได้เพียงอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น) แต่มีฤทธิ์อ่อนมากในการต้านการอักเสบ และไม่มีผลต่อการทำให้เกิดแผลเพ็ปติก (แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น)[1]
ยาพาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย หาซื้อได้ง่าย และเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธี เพราะไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร (จึงสามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือในขณะท้องว่างได้) ไม่ทำให้เลือดออกง่าย และไม่ค่อยทำให้เกิดอาการแพ้ จึงเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นยาแก้ปวดลดไข้สำหรับคนทั่วไปทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นโรคแผลเพ็ปติก ผู้ที่แพ้ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกหรือมีภาวะเลือดออกง่าย และในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 12-19 ปี (แล้วแต่แหล่งอ้างอิง) ที่สงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัส (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คางทูม หัด อีสุกอีใส เป็นต้น เพราะอาจจะทำให้เป็นโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงถึงตายได้)[1],[6]
ตัวอย่างยาพาราเซตามอล
ยาพาราเซตามอล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น บู๊ทส์ พาราเซตามอล (Boots paracetamol), ไบโอเจสิก (Biogesic), คาลปอล (Calpol), ซีมอล (Cemol), ดาก้า (Daga), มาซาพารา (Masapara), มายพารา (Mypara), พานาดอล (Panadol), พาราแคพ/พาราแคป (Paracap), พาราเซต (Paracet), พาราเซตามอล องค์การเภสัชกรรม (Paracetamol GPO), พาราเซตามอล เยาวราช (Paracetamol Jawarad), พารามอล (Paramol), พาแรท (Parat), ซาร่า (Sara), ไพราคอน (Pyracon), เทมปร้า (Tempra), ไทลินอล (Tylenol), ยูนิแคป (Unicap) ฯลฯ
รูปแบบยาพาราเซตามอล
- ยาเม็ด ขนาด 325 และ 500 มิลลิกรัม (นอกจากนี้ยังมียาเม็ดขนาด 650 มิลลิกรัม ทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์ทันทีและชนิดที่ออกฤทธิ์นานด้วย)
- ยาน้ำเชื่อม/ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาด 120, 160, 240 และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
- ยาน้ำเชื่อม/ยาน้ำแขวนตะกอนเข้มข้น ขนาด 100 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร
- ยาหยด ขนาด 60 มิลลิกรัมในน้ำ 0.6 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 150 มิลลิกรัม/หลอด (2 มิลลิลิตร)
สรรพคุณของยาพาราเซตามอล
- ใช้เป็นยาลดไข้ แก้ตัวร้อน (Fever)
- ใช้เป็นยาแก้อาการปวดทุกชนิดในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง (Pain)[1],[4] เช่น ปวดศีรษะ (เช่น ปวดจากความเครียด หรือไมเกรน), ปวดประสาท (Neuralgia), ปวดฟัน, ปวดหลัง, ปวดกล้ามเนื้อ, เคล็ดขัดยอก, ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ, ปวดหลังจากการผ่าตัด, ปวดเนื่องจากโรคข้อเข่าหรือข้อสะโพกเสื่อม, รวมทั้งอาการปวดที่เกิดจากโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น[7],[8] แต่ยานี้ไม่ช่วยลดการอักเสบของร่างกายได้ เช่น การอักเสบจากการถูกกระแทกฟกช้ำ อาการบวมและร้อนแดงเนื่องจากข้ออักเสบ เป็นต้น[3],[5]
- ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[4]
อาการปวดที่ยาพาราเซตามอลใช้ได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล
แม้ยาพาราเซตามอลจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้หลากหลายจนแทบจะครอบจักรวาล แต่ก็ยังมีอาการปวดบางชนิดที่ยาพาราเซตามอลไม่มีผลในการรักษาหรือได้ผลในการรักษาน้อยมาก[6] เช่น
- อาการปวดระดับรุนแรง เช่น อาการปวดจากแผลผ่าตัดใหญ่หรือจากมะเร็ง เป็นต้น โดยวิธีการประเมินความปวดอย่างง่ายคือการให้คะแนนความปวดจาก 0-10 โดยให้เลข 0 แทนความรู้สึกที่ไม่มีอาการปวดแต่อย่างใด และเลข 10 แทนความรู้สึกที่มีอาการปวดมากที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ หากประเมินแล้วตัวเลขอยู่ในช่วง 7-10 นั่นหมายถึงการมีอาการปวดระดับรุนแรง การใช้ยาพาราเซตามอลเพียงขนานเดียวจะไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ แม้ว่าจะใช้เกินขนาดไปเท่าใดก็ตาม ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปวดระดับดังกล่าวจึงไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดที่แนะนำเพื่อหวังผลช่วยลดอาการปวดและควรไปพบแพทย์เพื่อรับยาที่เหมาะสมต่อไป
- อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง การรับประทานยานี้เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ โดยเฉพาะการใช้ยามากกว่า 15 วันต่อเดือน ประมาณ 2-3 เดือนติดกัน จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน (Medication overuse headache) ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะบ่อยครั้ง เช่น ปวดศีรษะจากความเครียดที่มีลักษณะอาการปวดเหมือนศีรษะถูกบีบรัดมากกว่า 15 วันต่อเดือน หรือปวดศีรษะไมเกรนมากกว่าเดือนละ 3-4 ครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนและอาจจำเป็นต้องรับยาอื่นแทนยาพาราเซตามอลเพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะต่อไป
- อาการปวดที่มีลักษณะอาการแบบแปลก ๆ โดยทั่วไปอาการปวดที่ยาพาราเซตามอลมีผลในการรักษาจะเป็นอาการปวดศีรษะแบบทั่วไป ปวดแบบปวดตื้อ ๆ หรือกดเจ็บจากเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบ แต่จะมีอาการปวดบางอย่าง เช่น ปวดแสบปวดร้อน เสียวแปลบเป็นพัก ๆ ปวดเหมือนถูกไฟช็อต ปวดร้าวไปที่บริเวณอื่น หรือปวดเหมือนถูกเข็มเล็ก ๆ ทิ่มแทง ซึ่งอาการปวดแบบนี้อาจบ่งบอกถึงอาการปวดจากการที่เส้นประสาททำงานผิดปกติ ปวดร่วมกับอาการชา ซึ่งยาพาราเซตามอลจะมีผลในการรักษาอาการเหล่านี้ได้น้อยมาก จึงทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเส้นประสาทมักมีอาการเรื้อรังจนอาจต้องใช้ยาพาราเซตามอลเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติต่อตับได้ หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ยาพาราเซตามอลกับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยานี้จัดเป็น Category B ตาม US Pregnancy Category ซึ่งหมายถึง กรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้ 1. มีการศึกษาในสัตว์ทดลองว่าไม่พบความเสี่ยงต่อตัวอ่อน แต่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยชนิดควบคุมในหญิงตั้งครรภ์ หรือ 2. มีการศึกษาในสัตว์ทดลองแล้วพบอันตรายบางประการ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากการศึกษาชนิดควบคุมในหญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสแรก (และไม่พบหลักฐานว่ามีความเสี่ยงในไตรมาสต่อมา) ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้[8]
- สำหรับหญิงให้นมบุตร ยานี้สามารถถูกขับออกทางน้ำนมได้ในปริมาณที่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก (ปริมาณยาในน้ำนมมีความเข้มข้นเพียง 0.1-1.85% ของขนาดยาที่มารดารับประทาน) จากหลักฐานที่มีในปัจจุบันยังไม่พบว่ายานี้มีข้อห้ามใช้ในหญิงให้นมบุตร[8]
กลไกการออกฤทธิ์ของยาพาราเซตามอล
ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่ชัดเจน แต่เชื่อว่ายาพาราเซตามอลออกฤทธิ์โดยการไปยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในระบบประสาทส่วนกลางและเพิ่มระดับกั้นความเจ็บปวด (Pain threshold) นอกจากนี้ยังสามารถเหนี่ยวนำฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้โดยการไปยับยั้งเอนไซม์ไซโคลออกซีเจเนส (Cyclooxygenase) โดยเฉพาะชนิดที่ 2 แต่มีฤทธิ์อ่อน และยับยั้งเอนไซม์ไซโคลออกซีเจเนสแบบผันกลับได้ นอกจากนี้ยังมีกลไกอื่น ๆ ที่สามารถยับยั้งอาการปวด เช่น การกระตุ้นตัวรับแคนนาบินอยด์ชนิดที่ 1 ทางอ้อม เป็นต้น[8]
ส่วนกลไกการลดไข้นั้น ยาพาราเซตามอลจะไปยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในระบบประสาทส่วนกลางและยับยั้งศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายที่ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายขยาย และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด[8]
ก่อนใช้ยาพาราเซตามอล
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาพาราเซตามอล สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยาดังกล่าว เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น และยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาพาราเซตามอลอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนั้นร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ให้มากขึ้น) เช่น
- การใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol), เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน (Warfarin) อาจเสริมฤทธิ์ของการต้านการแข็งของเลือดได้[1]
- การใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับยาต้านไวรัส-เอซีที (AZT) หรือแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticolinergic) อาจลดประสิทธิภาพของยาดังกล่าวได้[1]
- การใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับยากันชัก เช่น บาร์บิทูเรต (Barbiturate), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), เฟนิโทอิน (Phenytoin) หรือยารักษาวัณโรค เช่น ไอโซไนอาซิด (Isoniazid), ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) หรือรับประทานยาพร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาเหล่านี้จะเสริมฤทธิ์กันทำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับและมีความเสี่ยงทำให้การทำงานของตับลดลง[1],[3]
- การใช้ยาพาราเซตามอลในขนาดสูงหรือใช้อย่างต่อเนื่องร่วมกับยาอิมมาตินิบ (Imatinib) สามารถเพิ่มระดับของยาพาราเซตามอลและเพิ่มความเป็นพิษต่อตับได้[8]
- การมีหรือเคยมีความผิดปกติของการทำงานของตับหรือมีประวัติเคยเป็นโรคตับ
- มีภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกส์พีดี (G-6-PD)[8]
- มีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ๆ หรือบ่อย ๆ และ/หรือมีประวัติการเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism)
- อายุหรือวัยของผู้ใช้ยา เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ (ในกรณีที่เป็นเด็กทารกหรือเด็กเล็กควรบอกน้ำหนักตัวให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบด้วย)
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอล
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)[1]
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคไตวายระยะรุนแรง[1] หรือเมื่อมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง[7]
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาพาราเซตามอลในระยะยาวในผู้ป่วยที่ได้รับยาซิโดวูดีน (Zidovudine) เพราะมีรายงานการเกิดพิษต่อตับและภาวะเลือดเม็ดเลือดขาวต่ำ (Neutropenia) แต่หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ให้ติดตามระดับเม็ดเลือดขาวและการทำงานของตับเป็นระยะ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ[8]
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ มีน้ำหนักตัวน้อย ดื่มสุราเป็นประจำหรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคตับหรือในผู้ป่วยที่มีสภาวะตับทำงานผิดปกติ รวมถึงผู้ที่ใช้ยาบางชนิดอยู่ก่อน เช่น ยากันชัก ยารักษาวัณโรค เป็นต้น[1],[8]
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกส์พีดี (G-6-PD) เนื่องจากมีรายงานการเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงสลาย (Hemolysis) ในผู้ป่วยที่ได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด[8]
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีไตเสื่อมขั้นรุนแรง (แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย)[8]
วิธีใช้ยาพาราเซตามอล
- ยาเม็ดรับประทาน (ขนาดเม็ดละ 325 หรือ 500 มิลลิกรัม) และยาน้ำเชื่อมสำหรับเด็ก (ขนาด 120 มิลลิกรัม : 1 ช้อนชาหรือ 5 มิลลิลิตร)
- ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาพาราเซตามอลครั้งละ 325-1,000 มิลลิกรัม และให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง เฉพาะเมื่อมีอาการปวดหรือมีไข้ (สูงสุดไม่เกินครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม และไม่เกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม)[1],[2]
- สำหรับยาเม็ดขนาด 325 มิลลิกรัม ถ้าผู้ใช้มีน้ำหนักตัว 22-33 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด, น้ำหนักตัว 34-44 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 1 ½ เม็ด และถ้ามีน้ำหนักตัว 45 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด[8]
- สำหรับยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม ถ้าผู้ใช้มีน้ำหนักตัว 34-50 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด, น้ำหนักตัว 51-67 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 1 ½ เม็ด และถ้ามีน้ำหนักตัว 68 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด[8]
- สำหรับยาเม็ดขนาด 650 มิลลิกรัม เฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 44 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด
- ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง)[1],[2] หรือให้ตามน้ำหนักตัวหรืออายุ ดังนี้
- เด็กอายุ 0-3 เดือน หรือมีน้ำหนักตัว 2.7-5.3 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 40 มิลลิกรัม (1.7 มิลลิลิตร) และให้ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง)[1],[2]
- เด็กอายุ 4-11 เดือน หรือมีน้ำหนักตัว 5.4-8.1 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 80 มิลลิกรัม (3.4 มิลลิลิตร) และให้ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง)[1],[2]
- เด็กอายุ 12-23 เดือน หรือมีน้ำหนักตัว 8.2-10.8 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 120 มิลลิกรัม (5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา) และให้ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง)[1],[2]
- เด็กอายุ 2-3 ปี หรือมีน้ำหนักตัว 10.9-16.3 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 160 มิลลิกรัม (6.7 มิลลิลิตร) และให้ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง)[1],[2]
- เด็กอายุ 4-5 ปี หรือมีน้ำหนักตัว 16.4-21.7 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 240 มิลลิกรัม (10 มิลลิลิตร หรือ 2 ช้อนชา) และให้ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง)[1],[2]
- เด็กอายุ 6-8 ปี หรือมีน้ำหนักตัว 21.8-27.2 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 320 มิลลิกรัม (หรือรับประทานยาเม็ดขนาด 325 มิลลิกรัม 1 เม็ด) และให้ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง)[1],[2]
- เด็กอายุ 9-10 ปี หรือมีน้ำหนักตัว 27.3-32.6 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัม และให้ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง)[2]
- เด็กอายุ 11-12 ปี หรือมีน้ำหนักตัว 32.7-43.2 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 480 มิลลิกรัม และให้ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง)[2]
- ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาพาราเซตามอลครั้งละ 325-1,000 มิลลิกรัม และให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง เฉพาะเมื่อมีอาการปวดหรือมีไข้ (สูงสุดไม่เกินครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม และไม่เกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม)[1],[2]
- ยาฉีด
- ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง หรือครั้งละ 650 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม และไม่เกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม)[2]
- ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดครั้งละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง หรือครั้งละ 12.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินครั้งละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไม่เกินวันละ 75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม)[2]
- ในเด็กอายุ 1-12 ปี ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดครั้งละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง หรือครั้งละ 12.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินครั้งละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไม่เกินวันละ 75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่สูงสุดไม่เกิน 3,750 มิลลิกรัม)[2]
- ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า การใช้ยาฉีด (ขนาด 150 มิลลิกรัม/หลอด) ในผู้ใหญ่ให้ฉีดเข้ากล้ามครั้งละ ½-1 หลอด ส่วนในเด็กให้ฉีดครั้งละ ¼-½ หลอด โดยควรใช้เฉพาะในรายที่มีอาการอาเจียนและรับประทานยาไม่ได้[1]
หมายเหตุ : ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 10-30 นาทีหลังการรับประทาน และจะมีฤทธิ์ต่อเนื่องไปได้ 4-6 ชั่วโมง[5]
คำแนะนำในการใช้ยาพาราเซตามอล
- แม้ยาพาราเซตามอลจะเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่ก็ไม่ควรใช้ยานี้อย่างพร่ำเพรื่อ (โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง) ผู้ป่วยควรใช้ยานี้เฉพาะเวลาที่มีอาการเท่านั้น ถ้าไม่หายหรืออาการยังไม่ทุเลาลงให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หรือใช้ยาบ่อยกว่าที่แพทย์สั่งให้ใช้ เพราะอาจทำให้เป็นอันตรายต่อตับได้[1],[3],[4]
- ยานี้สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร (อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมของยา) แต่ควรรับประทานเหมือนกันและรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกครั้ง และควรดื่มน้ำตาม 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) หลังรับประทานยา[4],[8]
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ควรใช้ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อมสำหรับเด็ก[7]
- สำหรับยาน้ำและยาน้ำแขวนตะกอน ควรใช้ภาชนะหรือเครื่องตวงที่ให้มากับยาในการตวงปริมาตรยา และไม่ควรผสมยานี้กับนมหรืออาหารสำหรับเด็ก (ยาน้ำแขวนตะกอนควรเขย่าขวดก่อนการใช้แต่ละครั้งเสมอ)[4]
- เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาให้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ในเด็กทารกและเด็กเล็ก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนใช้ยานี้
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่ควรรับประทานยานี้เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม[1]
- ในเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ควรรับประทานยาเกินครั้งละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อครั้ง และขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่ควรเกิน 2,600 มิลลิกรัม[8]
- ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ไม่ควรรับประทานยาเกินครั้งละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง และขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่ควรเกิน 4,000 มิลลิกรัม (ขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ไม่เกิน 8 เม็ด)[8]
- สำหรับเด็กห้ามรับประทานยานี้ติดต่อกันเกิน 3-5 วัน ส่วนในผู้ใหญ่ห้ามรับประทานยานี้ติดต่อกันเกิน 5-10 วัน[4] (หากจำเป็นต้องใช้นานกว่านี้ต้องปรึกษาแพทย์[6])
- ขนาดการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์หรือเภสัชกรได้ อีกทั้งขนาดการใช้ยาพาราเซตามอลก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับโรคต่าง ๆ ของผู้ป่วยด้วย เช่น ถ้าผู้ป่วยมีโรคตับและ/หรือโรคไต แพทย์จะให้ปรับลดขนาดยาที่รับประทานลงเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น[3]
- ในระหว่างการใช้ยาพาราเซตามอลควรงดการสูบบุหรี่ เพราะสารไฮโดรคาร์บอนในบุหรี่อาจลดฤทธิ์ของยาพาราเซตามอลลงได้
- ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาอยู่หลายขนาน ให้ตรวจสอบชื่อสามัญทางยาว่ามีส่วนผสมของยาพาราเซตามอล (Paracetamol) อยู่ในยาแต่ละขนานซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เพราะในปัจจุบันนี้มียาหลายชนิดที่มีส่วนผสมของยาพาราเซตามอลแฝงอยู่ โดยเฉพาะยาสูตรผสมแก้ปวด เช่น นอร์จีสิก (Norgesic), ไทลีนอล วิท โคเดอีน (Tylenol with codeine), อัลตราเซต (Ultracet) เป็นต้น และยาสูตรผสมแก้หวัด เช่น อาปราคัวร์ (Apracur), ดีคอลเจน (Decolgen), ฟาร์โคลด์ (Pharcold), ทิฟฟี่ (Tiffy) เป็นต้น ซึ่งการได้รับยาเหล่านี้ซ้ำซ้อนกันหลายชนิดอาจเป็นเหตุให้ร่างกายได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาดโดยไม่ตั้งใจได้ และหากไม่แน่ใจในขนาดยารวมของพาราเซตามอล ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร[5],[6]
- เมื่อรับประทานยาพาราเซตามอลแล้วมีไข้สูง (อุณหภูมิสูงกว่า 39.5 องศาเซลเซียส) หรือเมื่อมีไข้ต่อเนื่องนานกว่า 3 วัน หรือเมื่อมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ หรืออาการปวดยังไม่ดีขึ้นภายใน 10 วันในผู้ใหญ่ หรือ 5 วันในเด็ก ให้รีบไปพบแพทย์[8] (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลงภายใน 1-2 วันหลังการรับประทานยา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป[3])
- หากรับประทานยาแล้วเกิดอาการเหล่านี้ ต้องหยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น เป็นลมพิษ มีอาการบวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก, หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก, มีผื่นแดง ตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก, มีจ้ำตามผิวหนัง เลือดออกผิดปกติ เหนื่อยง่าย เป็นหวัดได้ง่าย[8]
- หากจำเป็นต้องรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องแล้วเกิดอาการเหล่านี้ ต้องหยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มขึ้น[8]
- ในกรณีที่รับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดมาก ๆ ถ้าพบในระยะ 3-4 ชั่วโมงหลังรับประทานยา ควรรีบทำให้อาเจียนทันที โดยการใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยผนังลำคอ หรือรับประทานยาน้ำเชื่อมไอพีแคก (Syrup of Ipecac) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการอาเจียน[1]
การเก็บรักษายาพาราเซตามอล
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
- ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
- สำหรับยาน้ำเมื่อใช้แล้วควรปิดขวดให้สนิทและเก็บอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (เก็บในตู้เย็น แต่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง) และหลังจากเปิดขวดแล้ว สามารถใช้ยาต่อไปได้ไม่เกิน 3 เดือน (เมื่อยายังไม่เสื่อมสภาพ เช่น มีสีหรือกลิ่นเปลี่ยนไป)
- ให้ทิ้งยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว เช่น มีสีหรือกลิ่นเปลี่ยนไป เม็ดยาแตกหัก เป็นต้น
เมื่อลืมรับประทานยาพาราเซตามอล
- โดยทั่วไปยาพาราเซตามอลจะใช้เฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น หากรับประทานยาไปครั้งหนึ่งแล้วอาการปวดลดลงหรือหายไป ก็ไม่ต้องรับประทานยาครั้งต่อไปอีก (การลืมรับประทานยาจึงไม่เป็นอันตราย) แต่หากยังมีอาการอยู่ก็สามารถรับประทานยานี้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดการใช้ยาครั้งต่อไป
- หากแพทย์สั่งให้ใช้ยานี้เป็นประจำทุก 4-6 ชั่วโมง หากลืมรับประทานยาพาราเซตามอลก็ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ
ผลข้างเคียงของยาพาราเซตามอล
- ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาพาราเซตามอล คือ เป็นพิษต่อตับ ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือใช้มากเกินขนาด (มากกว่า 140 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) เช่น เด็กครั้งละ 1,500-3,000 กรัม ผู้ใหญ่ครั้งละ 7,000-10,000 มิลลิกรัม อาจทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย กลายเป็นโรคตับวายเฉียบพลัน (ผู้ป่วยจะมีอาการดีซ่าน ซึม เพ้อ ชัก ไตวาย ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังรับประทานยาประมาณ 24-48 ชั่วโมง) และทำให้เสียชีวิตได้[1],[3]
- ถ้าใช้ยานี้เกินขนาดมาก ๆ อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน จาก Renal tubular necrosis ได้ และถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้[1]
- อาจทำให้ตับอักเสบจากสารพิษ (Toxic hepatitis) ถ้าใช้ยาในขนาดวันละ 5,000-8,000 มิลลิกรัม ติดต่อกันหลายสัปดาห์ หรือ 3,000-4,000 มิลลิกรัม ติดต่อกันนาน 1 ปี[1]
- ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจพบ คือ ปวดศีรษะ ปวดหรือไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน[4] ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อย (ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที) คือ อาการแพ้ เช่น ผื่นคัน ผื่นลมพิษ บวมตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ใบหน้า ตา ริมฝีปาก คอ มือ แขน น่อง ขา ข้อเท้า หายใจหรือกลืนลำบาก มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ มีไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ ปัสสาวะลำบากหรือมีปริมาณเปลี่ยนแปลง มีเลือดออกหรือมีรอยช้ำอย่างผิดปกติ อ่อนเพลียผิดปกติ ตัวเหลืองตาเหลือง[1],[4],[5]
- ผลข้างเคียงที่อาจพบได้น้อยมาก คือ โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ[1]
การได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด
- ขนาดยาที่อาจเกิดพิษ
- การได้รับยาเกินขนาดชนิดเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่ที่ประทานยาพาราเซตามอลวันละ 10,000-15,000 มิลลิกรัม เป็นเวลา 1-2 วัน อาจทำให้เซลล์ตับและเซลล์ท่อไตถูกทำลาย ในกรณีนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที แม้ว่าจะไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ก็ตาม (ความเสี่ยงในการเป็นพิษต่อตับอาจเพิ่มขึ้นเมื่อรับประทานยานี้มากกว่า 150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 12,000 มิลลิกรัม)[8]
- ในผู้ใหญ่ การรับประทานยาพาราเซตามอลตั้งแต่ 10,000 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือ 5,000 มิลลิกรัมขึ้นไปในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง (เช่น ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มาก ผู้ที่ได้รับยาที่เหนี่ยวนำเอนไซม์ตับ ผู้ที่มีภาวะพร่องกลูต้าไธโอน เช่น ผู้ป่วย HIV ผู้ป่วยทุพโภชนาการ เป็นต้น) อาจทำให้ตับถูกทำลายได้[8]
- ในเด็ก ความเป็นพิษต่อตับจะเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับยาเกินขนาดที่แนะนำ คือ ครั้งละ 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และมากกว่า 5 ครั้งต่อวัน (การได้รับยาเกินขนาดในเด็กมักเกิดจากการคำนวณยาผิด การใช้ความแรงผิด หรือการเพิ่มขนาดของยาด้วยตัวเองเมื่อใช้ยาในขนาดเดิมแล้วไม่ได้ผล)[8]
- อาการแสดงของการได้รับยาเกินขนาดชนิดเฉียบพลัน ความเป็นพิษของยาพาราเซตามอลจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ[8] คือ
- ระยะที่ 1 เกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังรับประทานยา และมักหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง โดยมักแสดงภาวะเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายท้อง และเกิดภาวะเหงื่อท่วม
- ระยะที่ 2 เกิดขึ้นภายใน 24-36 ชั่วโมงหลังรับประทานยา โดยมักแสดงอาการปวดเกร็งท้อง ตับโต มีการเพิ่มขึ้นของบิลิรูบินและเอนไซม์ตับ Prothombin time นานขึ้น และอาจเกิดภาวะปัสสาวะน้อย
- ระยะที่ 3 เกิดขึ้นภายใน 72-96 ชั่วโมงหลังรับประทานยา โดยมักแสดงภาวะเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบาย มีอาการที่แสดงถึงภาวะตับล้มเหลว เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด สมองบวม เลือดออกในสมอง ความดันโลหิตต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ ไตล้มเหลว ติดเชื้อ ดีซ่าน เอนไซม์ตับมักมีค่ามากกว่า 10,000 ยูนิต/ลิตร การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ Encephalopathy และ Cardiomyopathy
- ระยะที่ 4 ผู้ป่วยอาจกลับสู่ภาวะปกติ หรืออาจเกิดตับวายจนเสียชีวิต
- วิธีรักษากรณีที่เกิดพิษแบบเฉียบพลัน
- ผงถ่านกัมมันต์ เพื่อช่วยลดการดูดซึมยาพาราเซตามอลผ่านทางเดินอาหาร เมื่อรับประทานยาเกิน 150 มิลลิกรัมต่อ/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง[8]
- การให้ยาต้านพิษ คือ ยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) ที่มีชื่อทางการค้า เช่น ฟลูมูซิล (Fluimucil) โดยครั้งแรกให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ในขนาด 140 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และในอีก 4 ชั่วโมงต่อมา ให้รับประทานในขนาด 70 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 4 ชั่วโมง รวมทั้งหมด 17 ครั้ง (ยานี้ใน 1 ซองจะมีตัวยา 100 หรือ 200 มิลลิกรัม) จะช่วยป้องกันการเกิดพิษต่อตับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าให้รับประทานภายใน 8-16 ชั่วโมงหลังรับประทานยาพาราเซตามอล (แม้หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้วก็ควรให้ยาต้านพิษนี้อยู่ดี) ส่วนวิธีใช้ให้ผสมยาอะเซทิลซิสเทอีนในน้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลม ในสัดส่วนยา 1 ส่วน : น้ำ 2 ส่วน หรือใช้ยาอะเซทิลซิสเทอีนชนิดฉีดขนาด 150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผสมใน 5% D/W 200 มิลลิลิตร หยดเข้าหลอดเลือดดำใน 15 นาที ครั้งที่ 2 ให้ในขนาด 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผสมใน 5% D/W 500 มิลลิลิตร ในอีก 4 ชั่วโมงต่อมา และครั้งที่ 3 ให้ในขนาด 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผสมใน 5% D/W 1,000 มิลลิลิตร ในอีก 16 ชั่วโมงต่อมา[1]
- การล้างกระเพาะอาหาร มีบางการศึกษาพบว่าวิธีนี้อาจมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่ได้รับยาเกินขนาดภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง[8]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “พาราเซตามอล (Paracetamol/Acetaminophen)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 227-228.
- Drugs.com. “Paracetamol”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [06 พ.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล Analgesics and Paracetamol”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [06 พ.ย. 2016].
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “PARACETAMOL”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [06 พ.ย. 2016].
- Siamhealth. “Acetaminophen (Paracetamol)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [06 พ.ย. 2016].
- ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “พาราเซตามอล (paracetamol) รักษาปวดได้ทุกอย่างจริงหรือ ?”. (ภก.พงศธร มีสวัสดิ์สม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th. [06 พ.ย. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. “พาราเซตามอล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [06 พ.ย. 2016].
- สำนักยา. “ข้อกำหนดในการแสดงฉลาก เอกสารกำกับยา และคำเตือนของยา paracetamol”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : drug.fda.moph.go.th. [06 พ.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)