พลับพลึงตีนเป็ด
พลับพลึงตีนเป็ด ชื่อสามัญ Spider lily, Giant lily
พลับพลึงตีนเป็ด ชื่อวิทยาศาสตร์ Hymenocallis littoralis (Jacq.) Salisb. จัดอยู่ในวงศ์พลับพลึง (AMARYLLIDACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรพลับพลึงตีนเป็ด มีชื่อเรียกอื่นว่า “พลับพลึง กทม.”[3]
ลักษณะของพลับพลึงตีนเป็ด
- ต้นพลับพลึงตีนเป็ด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 0.5 เมตร ลำต้นมีหัวอยู่ใต้ดิน หัวมีลักษณะเป็นกลีบ ๆ เรียงเวียนเป็นวงซ้อนอัดกันแน่นเป็นลำต้นเทียม เติบโตเป็นช่อชู ส่วนของใบขึ้นมาอยู่เหนือดินและแตกเป็นกอ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกกอและวิธีการเพาะเมล็ด สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทั่ว ๆ ไป ชอบความชื้นสูง ชอบแสงแดดเต็มวันและแสงแดดแบบรำไร สามารถทนแล้งและทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี หากต้องการให้ออกดอกมากให้ปลูกกลางแจ้ง แต่ถ้าต้องการให้มีใบสวยงามให้ปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดรำไร[1],[2],[4]
- ใบพลับพลึงตีนเป็ด ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับถี่รอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวมนถึงแหลมทู่ โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 100-120 เซนติเมตร ปลายใบอ่อนโค้งลง แผ่นใบหนาสีเขียวเป็นมัน[1]
- ดอกพลับพลึงตีนเป็ด ออกดอกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่มที่กลางต้น แต่ละช่อมีดอกอยู่ประมาณ 4-8 ดอก ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ก้านช่อดอกแข็งและค่อนข้างแบน มีความยาวประมาณ 30-45เซนติเมตร (บ้างว่าประมาณ 50 เซนติเมตร) ดอกย่อยจะเกิดแบบเดี่ยว ๆ บนปลายก้านของดอกย่อย ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปเรียวยาว ส่วนกลีบดอก โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแยกเป็นแฉก 6 แฉก มีส่วนที่ยื่นออกมาเป็นรูปแถบเรียวเล็ก เมื่อดอกบานเต็มที่แล้วจะมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร (บ้างว่าประมาณ 15-20 เซนติเมตร) สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงฤดูฝน[1],[2]
- ผลพลับพลึงตีนเป็ด ผลเป็นแบบแห้งแตก (Capsule) ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลมสีดำ[1],[4]
สรรพคุณของพลับพลึงตีนเป็ด
- หัว ใบ และราก เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้อาเจียนและมีอาการท้องเดิน (หัว, ใบ, ราก)[2]
- หัวใช้เป็นยาขับเสมหะ (หัว)[2]
- หัวมีรสขม ในประเทศอินเดียใช้เป็นยาระบาย (หัว)[2]
- ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี (หัว)[2]
- ใบนำมาย่างกับไฟ ใช้พันแก้อาการฟกช้ำ บวม เคล็ดขัดยอกได้ (ใบ)[2]
- ใช้อยู่ไฟหลังคลอดสำหรับสตรี (ใบ)[2]
- ใบมีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่มีชื่อว่า “Lycorine” ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสที่ทำให้เป็นโรคโปลิโอและโรคหัด (ใบ)[5]
- มีข้อมูลเบื้องต้นรับรองว่า พลับพลึงตีนเป็ดมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ HIV[2]
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ : พลับพลึงตีนเป็ดเป็นพืชมีพิษ มีลักษณะของลำต้นคล้ายกับพลังพลึงขาวมาก จึงอาจทำให้สับสนได้[6]
ประโยชน์พลับพลึงตีนเป็ด
- เนื่องจากดอกพลับพลึงตีนเป็ดมีกลิ่นหอม จึงนิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวน ริมน้ำตก ลำธาร ตามริมถนนหนทาง ริมทะเล สามารถทนน้ำขังแฉะได้ หรือจะปลูกไว้ในอาคารก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังเป็นพืชที่สามารถทนอยู่ในดินแฉะที่ไม่ค่อยมีการระบายน้ำ หรือแม้แต่ในดินที่แห้งแล้ง จึงนิยมปลูกกันทั่วไปในภาคกลางเพราะเป็นพืชที่ทนทานและไม่ต้องการบำรุงรักษามากนัก[1],[4]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พลับพลึงตีนเป็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [22 ม.ค. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พลับพลึงตีนเป็ด”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th . [22 ม.ค. 2014].
- สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล. “พลับพลึงตีนเป็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.il.mahidol.ac.th. [22 ม.ค. 2014].
- โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์. “พลับพลึงตีนเป็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th. [22 ม.ค. 2014].
- วิทยาลัยการอาชีพชุมแพ. “พลับพลึง, พลับพลึงตีนเป็ดกรุงเทพมหานคร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chumphae.ac.th. [22 ม.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “พลับพลึงตีนเป็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [22 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by thtungdl, JVButler, 阿橋花譜 KHQ Flowers, paulsgarden ☺, Neha.Vindhya, dracophylla)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)