พลับพลา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพลับพลา 12 ข้อ ! (ขี้เถ้า, ไม้ลาย)

พลับพลา

พลับพลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Microcos tomentosa Sm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Grewia paniculata Roxb. ex DC.) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย GREWIOIDEAE[1],[2],[3],[4]

สมุนไพรพลับพลา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หลาย (แม่ฮ่องสอน), กะปกกะปู (พิษณุโลก), สากกะเบือละว้า (สุโขทัย), คอมขน (ชัยภูมิ), มลาย (ชลบุรี, จันทบุรี, ตราด), พลาขาว (ชุมพร), พลาลาย (ตรัง), พลา (ยะลา,ปัตตานี, ระนอง), พลับพลา ขี้เถ้า (ภาคกลาง), กอม กะปกกะปู คอม พลา ลาย สากกะเบือดง สากกะเบือละว้า หมากหอม (ภาคเหนือ), คอมเกลี้ยง พลองส้ม (ภาคตะวันออก), ก้อมส้ม คอมส้ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หมากหอม (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), น้ำลายควาย พลาขาว พลาลาย (ภาคใต้), มลาย (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), จือมือแก (มลายู-ภาคใต้), ปะตัดหูเปี้ยว (เมี่ยน), เกลี้ยง, ก่อออม, กะผล้า, ขนาน, ข้าวจี่, จุกขวด, ม่วงก้อม, มะก้อม, มะคอม, ม้าลาย, ไม้ลาย, ลอมคอม เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5]

ลักษณะของพลับพลา

  • ต้นพลับพลา จัดเป็นไม้ยืนต้นหรือเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 15 ต้น ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาและแตกล่อนเป็นสะเก็ดบาง ๆ เปลือกด้านในเป็นสีชมพูและมีเส้นใยเรียงตัวเป็นชั้น ที่กิ่งอ่อนและก้านใบจะมีขนลักษณะเป็นรูปดาวอยู่หนาแน่น โดยต้นพลับพลามักจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบผสม และป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-300 เมตร บ้างก็ว่า 100-600 เมตร[1],[4] มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม ไทย ลาว พม่า มาเลเซีย กัมพูชา จีน ไปจนถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์[2],[4]

ต้นพลับพลา

ไม้ลาย

  • ใบพลับพลา ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปวงรีแกมรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบสอบมนหรือกลม ส่วนปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักแบบฟันเลื่อยและไม่เป็นระเบียบที่ปลายใบส่วนกลางและโคนใบ ขอบเรียบ ปลายใบมีติ่งแหลมสั้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6.5-19 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวหม่น แผ่นใบมีลักษณะคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายกับแผ่นหนัง และมีขนรูปดาวขึ้นอยู่ทั้งสองด้าน โดยด้านล่างจะมีขนขึ้นหนาแน่นกว่า และใบมีเส้นแขนงใบอยู่ข้างละประมาณ 4-9 เส้น มี 3 เส้นออกจากโคนใบ โดยเส้นใบย่อยจะคล้ายกับขั้นบันได มองเห็นได้ชัดเจนที่ด้านล่าง ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 6-12 มิลลิเมตรและมีขนขึ้นหนาแน่น[1]

ใบพลับพลา

  • ดอกพลับพลา ออกดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง มีความยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ลักษณะของดอกตูมกลม มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีเหลือง ส่วนก้านและแกนช่อดอกมีขนอยู่หนาแน่น ส่วนใบประดับเป็นรูปแถบหรือเป็นรูปใบหอก มีความยาวได้ถึง 1 เซนติเมตรและมีขนอยู่หนาแน่น ส่วนก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบแยกออกจากกันเป็นอิสระ ลักษณะคล้ายรูปช้อน มีความกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร และมีขนอยู่ทั้งสองด้าน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบแยกออกจากกันเป็นอิสระ ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก มีความกว้างประมาณ 0.5-1.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร และมีขนสั้น ๆ อยู่ทั้งสองด้าน ที่โคนกลีบด้านในมีต่อมลักษณะเป็นรูปรี ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณู โคนมีขน ปลายเกลี้ยง ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปวงกลม กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนอยู่หนาแน่นมี 2-4 ช่อง โดยในแต่ละช่องมีออวุลอยู่ 2 เม็ด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม[1]

ลักษณะพลับพลา

ดอกไม้ลาย

ดอกพลับพลา

  • ผลพลับพลา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแกมรูปไข่กลับ ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ผลผนังชั้นในแข็ง ผนังของผลลักษณะคล้ายแผ่นหนัง มีขน ผลเมื่อแก่เป็นสีเขียว ส่วนผลสุกเป็นสีม่วงดำ ภายในผลมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด โดยจะออกผลในช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนตุลาคม[1]

ผลพลับพลา

สรรพคุณของพลับพลา

  1. แก่นช่วยแก้หืด ด้วยการใช้แก่นพลับพลาผสมกับแก่นโมกหลวง แก่นจำปา ลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ลำต้นสบู่ขาว ลำต้นพลองเหมือด และลำต้นคำรอก นำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยแก้หืดได้ หรือจะใช้เนื้อไม้หรือแก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มเลยก็แก้หืดได้เช่นกัน (แก่น, เนื้อไม้)[1],[6]
  2. เปลือกใช้ผสมปรุงเป็นยาบำรุงโลหิตสตรี (เปลือก)[1]
  3. ช่วยกระจายโลหิต (ผลแก่)[1]
  4. ลำต้นใช้เป็นยาประกอบรักษาโรคลำไส้ (ลำต้น)[3]
  5. ผลแก่มีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นยาระบาย (ผลแก่)[1]
  6. เปลือกต้นใช้ทำลายพิษของต้นยางน่องได้ (เปลือก)[5]

ประโยชน์ของพลับพลา

  1. ผลสุกใช้รับประทานได้[1],[3],[6]
  2. ผลเป็นอาหารโปรดของกระรอก มูสัง รวมไปถึงนกบางชนิด หากสังเกตให้ดีจะพบกระจอกได้มากหากพื้นที่นั้นมีการปลูกต้นพลับพลา[6]
  3. เปลือกให้เส้นใย สามารถนำมาใช้ทำเชือกแบบหยาบ ๆ ได้[1]
  4. ผลดิบใช้เป็นของเล่นเด็กที่เรียกว่า “บั้งโผ๊ะ” หรือ “ฉับโผง” โดยนำมาใช้ทำเป็นกระสุนยิงจากกระบอกไม้ไผ่[3]
  5. ไม้พลับพลาเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ง่ายแม้เป็นไม้สด คนใต้สมัยก่อนจึงนิยมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาศพ และใช้ในการอยู่ไฟของสตรีคลอดบุตรใหม่ ๆ[6] ส่วนน้ำมันยางจากเปลือกก็สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย[1]
  6. เนื้อไม้มีความทนทานสูงจึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือใช้ทำเครื่องเรือน[4],[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พลับพลา“. [ ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [20 ธ.ค. 2013].
  2. ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “พลับพลา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/.  [20 ธ.ค. 2013].
  3. ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “พลับพลา, ลอมคอม“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/.  [20 ธ.ค. 2013].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “พลับพลา“.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [20 ธ.ค. 2013].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “Microcos tomentosa Sm.“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [20 ธ.ค. 2013].
  6. ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “พลับพลา ไม้ผลท้องทุ่งเด็กใต้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: share.psu.ac.th/blog/khk-473473/.  [20 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด