พริกหยวก
พริกหยวก ชื่อสามัญ Banana Pepper, Paprika, Garden Pepper, Chili Pepper, Chili Plant, Red Pepper, Spanish pepper, Sweet Pepper[1],[2]
พริกหยวก ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum L. (Capsicum annuum var. annuum) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1]
สมุนไพรพริกหยวก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พริกหนุ่ม (พายัพ), พริกตุ้ม พริกตุ้มนาก (ไทย), พริก พริกซ่อม (ทั่วไป) เป็นต้น[1]
ลักษณะของพริกหยวก
- ต้นพริกหยวก เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อน จัดเป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียวหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร ลักษณะลำต้นตั้งตรงและแตกกิ่งก้านมาก โคนต้นเป็นเนื้อไม้แข็ง ส่วนยอดเป็นเนื้อไม้อ่อน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีปลูกทั่วไปในประเทศที่มีอากาศร้อน[1],[2]
- ใบพริกหยวก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-16 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกพริกหยวก ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีขาวนวลเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังหรือรูปปากแตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก (แต่อาจจะมีกลับตั้งแต่ 4-7 กลีบก็ได้) โดยปกติจะมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เท่ากับจำนวนกลีบดอก เกสรนี้จะแตกออกมาจากตรงโคนของกลีบดอก อับเกสรเพศผู้มักมีสีน้ำเงินและแยกตัวเป็นกระเปาะเล็ก ๆ ยาว ๆ ส่วนเกสรเพศเมียจะชูขึ้นเหนือเกสรเพศผู้ ส่วนของยอดเกสรเพศเมียจะมีรูปร่างคล้ายกระบอกหัวมน ๆ ส่วนรังไข่มีพู 3 พู (อาจจะมี 2 หรือ 4 พูก็ได้) และดอกมีลักษณะห้อยลง[1],[2]
- ผลพริกหยวก ผลสดมีหลายรูปร่างและหลายขนาด โดยมากมักเป็นรูปกรวยกว้าง หรือมีลักษณะตั้งแต่แบน ๆ กลมยาว ไปจนถึงพองอ้วน และสั้น ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ผลมีลักษณะเป็นกระเปาะ มีฐานขั้วผลสั้นและหนา ผลอ่อนเป็นสีเขียว เหลือง ครีม หรือสีม่วง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง สีส้ม สีเหลือง หรือสีน้ำตาล โดยปกติแล้วผลอ่อนมักจะชี้ขึ้น ส่วนผลแก่อาจชี้ขึ้นหรือห้อยลงตามแต่สายพันธุ์ที่ปลูก ภายในมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปโล่กลมแบน สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาล (เมล็ดจะเกาะรวมกันอยู่ที่รก (Placenta) ซึ่งจะมีตั้งแต่โคนผลจนถึงปลายผล)[1],[2]
ความเผ็ดของพริกหยวกเกิดจากสารแคปไซซิน (Capsaisin) หรือ Capsacutin ซึ่งอยู่ที่รกตามบริเวณที่มีเมล็ดเกาะอยู่ หากถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังได้[1] ปริมาณของสาร Capsaisin จะแตกต่างกันออกไปตามชนิดและสายพันธุ์ของพริก ซึ่งสามารถเรียงลำดับตามความเผ็ดได้ดังนี้ คือ พริกขี้หนู 18.2 ppm., พริกเหลือง 16.7 ppm., พริกชี้ฟ้า 4.5 ppm., พริกหยวก 3.8 ppm., พริกหวาน 1.6 ppm. (จะเห็นได้ว่าพริกหยวกมีความเผ็ดน้อยกว่าพริกขี้หนูหลายเท่าตัว) และเนื่องจากสาร Capsaisin สามารถละลายในน้ำได้เพียงเล็กน้อย แต่จะละลายได้ดีในไขมัน น้ำมัน และแอลกอฮอล์ ถ้าต้องการลดความเผ็ดของอาหารในปาก ก็ให้รับประทานอาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบหรือดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าดื่มน้ำเปล่า เนื่องจากน้ำเปล่าที่เราดื่มนั้นจะช่วยแค่บรรเทาอาการแสบร้อนได้เท่านั้น แต่ความเผ็ดยังไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เพราะว่าน้ำละลายสารดังกล่าวได้ไม่ดีนั่นเอง[4]
สรรพคุณของพริกหยวก
- สาร Capsaisin ในผลเป็นตัวช่วยทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง จึงช่วยในการบำบัดโรคเบาหวานได้ (ผล)[2]
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (ผล)[2]
- ช่วยบำรุงเลือดลม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
- ผลมีรสเผ็ด (แต่เมล็ดไม่มีรสเผ็ด) เนื่องมาจากสาร Capsaisin ใช้ในปริมาณน้อย ๆ จะมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นน้ำย่อย (ผล)[1]
- ผลมีสรรพคุณช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ผล)[2]
- ช่วยขับปัสสาวะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2],[5]
- ช่วยแก้กามโรม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (ผล)[2]
- ยาดองเหล้าพริก (Tincture of Capsaicin) สามารถนำมาใช้ผสมในขี้ผึ้ง ใช้เป็นยาทาถูนวด และ Plaster ทาภายนอก เป็นยารักษาอาการปวดเมื่อย ไขข้ออักเสบได้ เพราะทำให้บริเวณที่ถูกทาร้อนและมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น (ยาดองเหล้าพริก)[1]
หมายเหตุ : การใช้ผลให้นำมาปรุงเป็นอาหาร[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพริกหยวก
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ acetamide, alanine, aspartic acid, boron, caffeic acid, capsaicin, capsanthin, capsicoside A, B, C, E, cinnamic acid, P-caumaric, galactosamine, vanilloyl, glutaminase trigonelline, zeaxanthin[2]
- พริกหยวกมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ฆ่าพยาธิ สร้างเม็ดเลือดแดง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต รักษาแผลในกระเพาะ และเพิ่มการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร[2],[3],[5]
- เมื่อปี ค.ศ.1980 ได้มีการประชุมสัมมนาในกรุงเทพมหานคร เรื่องผลของสาร Capsaicin ที่ออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้[3]
- เมื่อปี ค.ศ.1982 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการศึกษาทดลองผลการลดไขมันของพริกหยวกในหนู โดยให้อาหารที่ผสมพริกหยวกแก่หนูทดลอง ภายหลังการทดลองพบว่าระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดของหนูลดลง โดยพบว่า lipogenic enzymes ในพริกหยวกช่วยในการลดไขมัน[2]
- เมื่อปี ค.ศ.1996 ที่ประเทศอิตาลี ได้ทดลองใช้สารสกัดจากพริกหยวกกับหนูทดลอง โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังและให้ทางปาก ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้[3]
- เมื่อปี ค.ศ.2003 ที่ประเทศเกาหลี ได้ทดลองใช้สารสกัดจากพริกหยวกในหนูทดลองที่ถูกทำให้อ้วน (ด้วยการให้ 20% ของ corn oil) โดยทดลองให้สารสกัดจากพริกหยวก 10% กับหนูทดลองนาน 4 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าหนูทดลองมีระดับคอเลสเตอรอลและระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง[2]
- เมื่อปี ค.ศ.2004 และ ปี ค.ศ.2001 ที่ประเทศจาเมกา ได้ทดลองกับสุนัข โดยให้สารสกัด Capsaicin จากพริกชนิดต่าง ๆ ผลการทดลองพบว่า สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัขได้[3]
ประโยชน์ของพริกหยวก
- พริกหยวกที่เรานำมาใช้ประกอบอาหารยังประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยคุณค่าทางโภชนาการของพริกหยวก ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 27 กิโลแคลอรี, โปรตีน 1.5 กรัม, ไขมัน 0.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 4.8 กรัม, ใยอาหาร 3.2 กรัม, เบตาแคโรทีน 8.88 ไมโครกรัม, วิตามินบี 1 0.41 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.08 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 1.3 มิลลิกรัม, วิตามินซี 14 มิลลิกรัม, แคลเซียม 11 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.1 กรัม, ฟอสฟอรัส 47 มิลลิกรัม (ข้อมูลจาก : กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)
- ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด อาการไอ ทำให้ระบบการหายใจสะดวกยิ่งขึ้น โดยสารแคปไซซินที่อยู่ในพริกนั้นจะมีคุณสมบัติในการช่วยลดน้ำมูกหรือลดปริมาณของสารที่ขัดขวางระบบการหายใจในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ไซนัส หรือไข้หวัด สารแคปไซซินยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของตัวยาหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีเบต้าแคโรทีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ในบริเวณเนื้อเยื่อบุผนังช่องปาก จมูก ลำคอ และปอด[4]
- พริกเป็นพืชผักที่มีวิตามินซีซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง การบริโภคอาหารที่มีวิตามินซีมาก ๆ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ ได้[4]
- การบริโภคพริกเป็นประจำสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงของการอุดตันของเส้นเลือดที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจล้มเหลวได้ เพราะพริกสามารถช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นได้และช่วยลดความดัน เนื่องจากในพริกมีสารเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีที่ช่วยเพิ่มการยืดตัวของผนังหลอดเลือด ช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง ทำให้ปรับตัวเข้ากับแรงดันในระดับต่าง ๆ ได้ดี[4]
- สาร Capsaicin ในพริกยังช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้างไขมันเลว (LDL) ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพ และในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการสร้างไขมันชนิดดี (HDL) ให้มากยิ่งขึ้น จึงทำให้ปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดต่ำลง จึงเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค[4]
- สาร Capsaicin มีส่วนในการส่งสัญญาณให้ต่อมใต้สมองสร้างสาร endorphin ขึ้น ซึ่งสารชนิดนี้มีคุณสมบัติคล้ายกับมอร์ฟีน คือ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ในขณะเดียวกันยังช่วยสร้างอารมณ์ให้ดีขึ้นได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลการทดลองใหม่ ๆ ที่ระบุว่าสาร Capsaicin สามารถช่วยลดอาการปวดศีรษะและไมเกรนลงได้อีกด้วย[4]
- ในปัจจุบันมีการใช้สาร Capsaicin เป็นส่วนประกอบของขี้ผึ้ง ที่นำมาใช้ทาเพื่อบรรเทาอาการปวดอันเนื่องมาจากผดผื่นและผื่นแดงบริเวณผิวหนัง รวมทั้งอาการปวดที่เกิดจากเส้นเอ็น ข้อต่ออักเสบ โรคเกาต์ เป็นต้น[4]
- นอกจากนี้ยังมีการนำพริกชนิดต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารสัตว์เพื่อทดแทนสารปฏิชีวนะ ใช้ไล่แมลงศัตรูพืช ใช้ป้องกันไม่ให้เพรียงมาเกาะท้องเรือ เป็นต้น[4]
- ประโยชน์ทางด้านอาหารของพริกหยวก พริกหยวกมีรสไม่เผ็ดมาก จึงสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง โดยนิยมเอาผลอ่อนมาทำผัดเปรี้ยวหวาน ผัดพริกหยวกใส่หมูรับประทานกับข้าวร้อน ๆ
โดยคุณค่าทางโภชนาการของพริกหยวก ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 27 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 5.3 กรัม
- น้ำตาล 1.9 กรัม
- ใยอาหาร 3.4 กรัม
- ไขมัน 0.5 กรัม
- โปรตีน 1.7 กรัม
- วิตามินเอ 340 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.1 มิลลิกรัม (9%)
- วิตามินบี 2 0.1 มิลลิกรัม (8%)
- วิตามินบี 3 1.2 มิลลิกรัม (8%)
- วิตามินบี 5 0.3 มิลลิกรัม (6%)
- วิตามินบี 6 0.4 มิลลิกรัม (31%)
- วิตามินบี 9 29 ไมโครกรัม (7%)
- วิตามินซี 82.7 มิลลิกรัม (100%)
- แคลเซียม 14 มิลลิกรัม (1%)
- ธาตุเหล็ก 0.5 มิลลิกรัม (4%)
- แมกนีเซียม 17 มิลลิกรัม (5%)
- ฟอสฟอรัส 32 มิลลิกรัม (5%)
- โพแทสเซียม 256 มิลลิกรัม (5%)
- สังกะสี 0.3 มิลลิกรัม (3%)
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พริกหยวก”. หน้า 544-545.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “พริกหยวก” หน้า 130-131.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “พริกหยวก”. หน้า 114-115.
- สาขาพืชผัก มหาวิทยาลัยแม่โจ้. (ชวนพิศ อรุณรังสิกุล). “พริก : พืชน่าพิศวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.agric-prod.mju.ac.th/web-veg/. [24 ส.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 305 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก. (ดร.พัชราณี ภวัตกุล). “พริกขี้หนู กับปัจจัยเสี่ยง ของโรคหัวใจและหลอดเลือด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [26 ส.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Joseph Skompski)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)