พริกขี้หนู สรรพคุณและประโยชน์ของพริกขี้หนูสวน 44 ข้อ !

พริกขี้หนู

พริกขี้หนู ชื่อสามัญ Bird pepper, Chili pepper, Cayenne Pepper, Tabasco pepper[1],[2]

พริกขี้หนู ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Capsicum frutescens L., Capsicum frutescens var. frutescens, Capsicum minimum Mill.) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1]

พริกขี้หนู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พริกแด้ พริกแต้ พริกนก พริกแจว พริกน้ำเมี่ยง (ภาคเหนือ), หมักเพ็ด (ภาคอีสาน), พริก พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า (ภาคกลาง), ดีปลีขี้นก พริกขี้นก (ภาคใต้), พริกมะต่อม (เชียงใหม่), ปะแกว (นครราชสีมา), มะระตี้ (สุรินทร์), ดีปลี (ปัตตานี), ครี (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), ลัวเจียะ (จีนแต้จิ๋ว), ล่าเจียว (จีนกลาง), มือซาซีซู, มือส่าโพ เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของพริกขี้หนู

  • ต้นพริกขี้หนู มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาเขตร้อน โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีอายุประมาณ 1-3 ปี แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนเหนียว ดินร่วนระบายน้ำดี ในที่ร่มรำไรหรือกลางแจ้ง ไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง มักขึ้นร่วมกับวัชพืชชนิดอื่น ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค[1],[3],[4],[5]

ต้นพริกขี้หนู

  • ใบพริกขี้หนู ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปกลมรี หรือรูปวงรี ปลายใบแหลม โคนใบเฉียงหรือสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียวมันวาว ก้านใบยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร[1],[2],[4],[5]

ใบพริกขี้หนู

  • ดอกพริกขี้หนู ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก มีกลีบดอกประมาณ 5-7 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาว สีเหลืองอ่อนอมเขียว หรือสีเขียวอ่อน เกสรเพศผู้จะมีอยู่ประมาณ 5 อัน โดยจะขึ้นสลับกับกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียจะมีอยู่เพียง 1 อัน (อีกข้อมูลระบุว่า เกสรเพศเมียมี 2 อัน) และมีรังไข่ประมาณ 2-3 ห้อง[1],[3],[4]

ดอกพริกขี้หนู

  • ผลพริกขี้หนู ผลมีลักษณะยาวรี ปลายผลแหลม ออกในลักษณะหัวลิ่มลง (แต่โดยปกติแล้วผลอ่อนมักชี้ขึ้น เมื่อแก่แล้วจะชี้ลง) ผลมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงหรือเป็นสีแดงปนสีน้ำตาล ลักษณะของผลมีผิวลื่น ภายในผลกลวงและมีแกนกลาง รอบ ๆ แกนจะมีเมล็ดเป็นสีเหลืองเกาะอยู่มาก เมล็ดมีลักษณะแบนเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนและมีรสเผ็ด เมล็ดมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร[1],[3],[4],[5],[9]

รูปพริกขี้หนู

ผลพริกขี้หนู

เมล็ดพริกขี้หนู

สรรพคุณของพริกขี้หนู

  1. ผลมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นทำให้เจริญอาหาร และช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ผล)[1],[2],[4] ส่วนยอดพริกและใบอ่อนพริกมีรสเผ็ด ช่วยเจริญอาหาร เพิ่มน้ำลาย และช่วยขับลม (ใบ)[8]
  2. ต้นนำมาสุมให้เป็นถ่านใช้ชงกับน้ำเป็นยาแก้กระษัย (ต้น)[6]
  3. ผลใช้เป็นยาแก้ตานซางซึ่งเป็นโรคที่มักพบได้ในเด็ก โดยมีอาการซูบซีด พุงโร ก้นปอด สันนิษฐานว่าเกิดจากโรคพยาธิในลำไส้ (ผล)[2]
  4. ผลสุกนำมาปรุงเป็นอาหาร จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากมีสาร capsaicin (ผล)[1]
  5. ช่วยเร่งการสันดาปและเร่งเมตาบอลิซึม ช่วยใช้แคลอรีให้หมดไป จึงทำให้น้ำหนักลด และช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และไขมันเลว (LDL) ในสัตว์ทดลองได้ เนื่องจากสาร Capsaicin จะช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้างไขมันเลว (LDL) ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการสร้างไขมันดี (HDL) ทำให้ปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดต่ำลง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ (ผล)[8],[10]
  1. พริกสามารถช่วยลดความโลหิตได้ เพราะทำให้หลอดเลือดอ่อนตัวและช่วยทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ด้วยดี (ผล)[9]
  2. รากพริกขี้หนูมีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต (ราก)[3]
  3. พริกมีสรรพคุณช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยสลายลิ่มเลือด (ผล)[8]
  4. การรับประทานพริกเป็นประจำจะช่วยลดการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวหรือจากการเสียชีวิตจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน เพราะช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดความดัน เนื่องจากสารจำพวกเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีจะช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง เพิ่มการยืดหดตัวของผนังหลอดเลือด ทำให้ปรับเข้ากับแรงดันในระดับต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น (ผล)[10]
  5. ช่วยทำให้อารมณ์แจ่มใส โดยสาร Capsaicin ที่มีอยู่ในพริกขี้หนูจะช่วยส่งสัญญาณให้ต่อมใต้สมองสร้างสาร Endorphin ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกับมอร์ฟีน คือ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และทำให้อารมณ์แจ่มใส (ผล)[10]
  6. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ปวดศีรษะเนื่องมาจากไข้หวัดหรือตัวร้อน ด้วยการใช้ใบพริกขี้หนูสด ๆ นำมาตำผสมกับดินสอพอง แล้วนำมาใช้ปิดบริเวณขมับ (ใบ)[6],[11]
  7. ตำรายาไทยจะใช้ผลซึ่งมีรสเผ็ดร้อนเป็นยาแก้ไข้หวัด ลดน้ำมูก บรรเทาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ ทำให้การหายใจสะดวกสบายยิ่งขึ้น (ผล)[2],[10] ส่วนใบมีสรรพคุณช่วยแก้หวัด (ใบ)[11]
  8. ช่วยสลายเมือกในปอด ทำให้ทางเดินหายใจโล่ง ช่วยป้องกันหลอดลมอักเสบและถุงลมโป่งพอง สาร Capsaicin ที่มีอยู่ในพริกขี้หนูจะช่วยลดน้ำมูกหรือสิ่งกีดขวางต่อระบบการหายใจอันเนื่องมาจากเป็นไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัส (ผล)[8],[9],[10]
  9. ช่วยรักษาอาการอาเจียน (ผล)[3]
  10. ใช้แก้อาการเจ็บคอ เสียงแหบ ด้วยการใช้น้ำต้มหรือยาชงพริกขี้หนู ที่เตรียมโดยการใช้พริกขี้หนูป่น 1 หยิบมือ เติมน้ำเดือดลง 1 แก้ว ทิ้งไว้ให้พออุ่น แล้วนำมาใช้กลั้วคอ (ผล)[6]
  11. รากใช้ฝนกับมะนาวแทรกเกลือ ใช้เป็นยากวาดคอ (ราก)[11]
  12. ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยและช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น (ผล)[1],[4],[5]
  13. ช่วยรักษาโรคบิด (ผล)[3]
  14. ต้นนำมาสุมให้เป็นถ่านใช้แช่กับน้ำเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น)[6]
  15. ใช้ขับน้ำคาวปลาของสตรี ด้วยการใช้ผงพริกขี้หนู 1 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมกับน้ำส้มสายชู 1 ถ้วยชา ใช้กินครั้งละ 1/2-1 ถ้วยชา โดยให้กินครั้งเดียว ส่วนครั้งต่อไปให้ใช้เหล้าแทนน้ำส้มสายชู ใช้กินวันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยขับน้ำคาวปลาให้ตกได้ แต่ถ้าน้ำคาวปลาไม่ตกในสตรีคลอดบุตร จะทำให้มีอาการหน้ามืด จุกแน่นในท้องในอก รู้สึกอึดอัด กัดกรามแน่น ใจคอหงุดหงิด หนาวสั่น หูดับ เป็นลมหลับไป หากแก้ไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ สำหรับผงถ่านนั้นได้จากการนำพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือ ใส่ลงในกระทะตั้งไฟจนควันขึ้น จุดไม้ขีดแหย่ลงไป แล้วพริกขี้หนูจะติดไฟ ทิ้งไว้สักพักพริกขี้หนูจะไหม้ดำเป็นถ่านหมด แล้วจึงตักออกมาจากกระทะใส่จาน หากะลาหรือถ้วยมาครอบพริกเผาเอาไว้จนไฟดับหมด เสร็จแล้วให้นำมาบดให้ละเอียด ก็จะได้ผงถ่านพริกขี้หนูตามต้องการ (ห้ามกินยานี้ก่อนการคลอดบุตร เพราะทำให้คลอดลูกไม่ออก และอาจทำให้ถึงตายได้) (ผล)[6]
  16. ใบมีสรรพคุณช่วยแก้อาการคัน (ใบ)[1]
  17. ช่วยป้องกันการเป็นผื่นแดงเนื่องจากแพ้อากาศเย็น (ผล)[9]
  18. ใช้รักษาแผลสดและแผลเปื่อย ด้วยการใช้ใบพริกขี้หนู นำมาตำพอกรักษาแผลสดและแผลเปื่อย แต่อย่าใช้ปิดแผลมากจนเกินไป เพราะทำให้ร้อน (ใบ)[6]
  19. ผลมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคหิด กลากเกลื้อน (ผล)[3]
  20. พริกขี้หนูมีสารต้านแบคทีเรียและอนุมูลอิสระ (ผล)[8]
  21. หากมดคันไฟกัด ให้ใช้ใบหรือดอกพริกขี้หนู นำมาถูบริเวณที่ถูกกัด (ใบ, ดอก)[6]
  22. ใช้เป็นยาแก้พิษตะขาบและแมงป่องกัด ด้วยการใช้ผลพริกขี้หนูแห้ง นำมาตำให้เป็นผงละลายกับน้ำมะนาว ใช้ทาบริเวณที่กัด อาการเจ็บปวดจะหายไป (ผล)[6]
  23. ใช้รักษาอาการบวม ฟกช้ำดำเขียว ปวดตามข้อ เคล็ดขัดยอก ช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ด้วยการใช้พริกขี้หนูแก่สีแดงตากแห้ง แล้วนำมาบดให้เป็นผงละเอียด เทลงในวาสลินที่เคี่ยวจนเหนียว กวนให้เข้ากัน แล้วนำไปเคี่ยวอีกจนได้กลิ่นพริก ใช้เป็นยาทาถูเพื่อรักษาอาการเคล็ด ฟกช้ำดำเขียว และอาการปวดตามข้อ โดยให้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 1-2 ครั้ง (ผล)[3],[4] ส่วนการนำมาใช้เป็นยาแก้บวมอีกวิธี จากข้อมูลระบุให้ใช้ใบพริกขี้หนูนำมาบดผสมกับน้ำมะนาว ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่มีอาการบวม (ใบ)[6]
  24. ใช้รักษาอาการปวดตามเอวและน่อง ด้วยการใช้ผงพริกขี้หนูและวาสลิน หรือผงพริก วาสลิน และแป้งหมี่ เติมเหล้าเหลืองพอประมาณ แล้วคนให้เข้ากันจนเป็นครีม ก่อนนำมาใช้ให้ทาลงบนกระดาษแก้วปิดบริเวณที่ปวด แล้วใช้ปลาสเตอร์ปิดโดยรอบ หลังจากนั้นจะมีอาการทำให้เหงื่อออก ทำให้การเคลื่อนไหวคล่องแคล่วขึ้น และจะรู้สึกหายปวด เนื่องจากบริเวณที่พอกยาจะมีความรู้สึกร้อน การไหลเวียนของโลหิตเพิ่มขึ้น (ผล)[3]
  25. ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามตัว ขับลมชื้นตามร่างกาย ด้วยนำผลพริกขี้หนูแห้งมาแช่ในแอลกอฮอล์ 90% ในปริมาณ 1,000 ซีซี นาน 2 สัปดาห์ แล้วใช้สำลีชุบน้ำยาทาบริเวณที่เป็น (ผล)[4]
  26. ใช้เป็นยาช่วยลดอาการปวดบวมอันเนื่องจากลมชื้นหรือจากความเย็นจัด ด้วยการใช้ผงพริกขี้หนูแห้งนำมาทำเป็นขี้ผึ้งหรือสารละลายแอลกอฮอล์ แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวด (ผล)[3],[4]
  27. ผลมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคเกาต์ ใช้ภายนอกเป็นยาทาถูนวดเพื่อช่วยลดอาการไขข้ออักเสบ ลดอาการปวดบวม (ผล)[1],[3],[8]
  28. ส่วนต้นหรือรากพริกขี้หนูมีสรรพคุณเป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ แก้ปวดเมื่อยตามตัว แก้ปวดบวม (ต้น, ราก)[3],[6]
  29. สารสกัดจากพริกใช้เป็นยาทาถูนวดรักษาอาการตะคริวได้ เพราะพริกจะช่วยทำให้บริเวณผิวที่ทามีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น และกระตุ้นทำให้บริเวณที่ทารู้สึกร้อน (ผล)[8],[9]
  30. ใช้แก้เท้าแตก ด้วยการใช้พริกขี้หนูทั้งต้นและปูนขาว อย่างละพอสมควร เอาไปต้ม แล้วเอาน้ำที่ได้มาแช่เท้าที่แตก ถ้าไม่หายก็ให้เอาต้นสลัดไดและรากหนอนตายหยากใส่ลงไปด้วย (ทั้งต้น)[6]
  31. แก้ปลาดุกยัก ด้วยการใช้พริกขี้หนูสด ขยี้ตรงที่ปลาดุกแทงจะหายปวด เมื่อขยี้แล้วจะรู้สึกเย็น ไม่บวมและไม่ฟกช้ำด้วย (ผล)[6]
  32. ช่วยกระตุ้นให้ผมงอก (ผล)[9]

หมายเหตุ : ในพืชวงศ์เดียวกันยังมีพริกอีกหลายชนิด ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามรูปร่างลักษณะและขนาดเล็กน้อย เช่น พริกชี้ฟ้า แต่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพริกขี้หนู

  • สารสำคัญที่พบในพริกขี้หนู ได้แก่ acetic acid; alanine,phenyl; ascorbic acid; butyric acid; butyric acid,iso: ; caffeic acid; caproic acid; capsaicin; chlorogenic acid; ferulic acid; hexanoic acid; lauric acid; protein; novivamide; valeric acid; vanillyl amine; zucapsaicin[1]
  • พริกขี้หนู มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลในระบบทางเดินอาหาร ช่วยทำให้เจริญอาหาร และต้านเชื้อราและไวรัส[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.1982 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากพริกขี้หนู โดยผลการทดลองพบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2001 และปี ค.ศ.2004 ที่ประเทศจาเมกา ได้ทำการทดลองในสุนัข โดยพบว่าสารสกัดจากพริกขี้หนูสามารถยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหารและเพิ่มการหลั่งของอินซูลิน จึงสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้[1]
  • จากการศึกษาผลการลดระดับน้ำตาลในเลือดกับหญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 10 ราย ซึ่งทำการทดลองโดยการเปรียบเทียบระดับน้ำตาลในเลือด โดยวันแรกให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม เพียงอย่างเดียว แล้วเจาะเลือด ณ เวลาก่อนกินและหลังกินที่เวลา 15, 30 และ 60 นาที หลังจากนั้นอีกวันให้ดื่มน้ำตาลกลูโคสเช่นเดียวกับวันแรก แต่กินร่วมกับพริกและทำการเจาะเลือด ณ เวลาเช่นเดิม แล้วนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกัน จากการทดลองพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดหลังการดื่มน้ำตาลพร้อมพริก 30 นาที จะต่ำกว่าน้ำตาลในเลือดในวันแรกที่ไม่ได้กินพริกประมาณร้อยละ 20 จึงน่าจะสรุปได้ว่าพริกอาจมีผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ภายใน 30 นาที[10]
  • สาร Capsaicin สามารถยับยั้งการดูดซึมไขมันและลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในหนูทดลองได้ จากการศึกษาโดยให้หนูทดลองกินอาหารที่มีไขมันสูง เพื่อทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น และเมื่อให้หนูกินพริกและ Capsaicin เข้าไป พบว่าระดับไขมันในเลือดลดลง ส่วนอีกการศึกษาที่ทำการศึกษาในคนที่มีไขมันในเลือดสูง โดยทำการแบ่งกลุ่มให้กินพริกขี้หนู 5 กรัม ร่วมกับอาหารปกติ เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ หลังการทดลองพบว่ากลุ่มที่ไม่กินพริกมีระดับไขมันคอเลสเตอรอลทั้งหมด ไขมันเลว และไขมันดีสูงขึ้น แต่ในกลุ่มที่กินพริกมีระดับไขมันทั้งหมดและไขมันเลวไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไขมันดีสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ระบุว่า สาร Capsaicin สามารถลดการสร้างไขมันในร่างกายได้อีกด้วย[10]
  • จากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น พบว่าการกินพริก 10 กรัม ทำให้เพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย โดยจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 30 นาที นั่นอาจเป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมเราจึงรู้สึกเผ็ดร้อนหลังการกินพริกเข้าไป[10]
  • สาร Capsaicin สามารถลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดได้ ถ้าหากเกล็ดเลือดจับกลุ่มกันง่ายหรือมีมากกว่าปกติ จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้มากขึ้น เพราะเลือดจะจับตัวกันเป็นก้อนแล้วไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งจากการศึกษาในคนได้พบว่าเมื่อกินพริกขี้หนูสด 5 กรัมที่สับละเอียดพร้อมกับน้ำ 1 แก้ว แล้ววัดค่าการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดหลังกินทันทีจนถึงหนึ่งชั่วโมง พบว่าจะมีการยืดระยะเวลาของการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดออกไปภายใน 30 นาทีหลังกินพริก และจากการศึกษาในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ก็พบว่า การจับกลุ่มของเกล็ดเลือดมีการยืดระยะเวลาออกไปเช่นกัน[10]
  • สาร Capsaicin มีผลต่อการละลายลิ่มเลือด (หากลิ่มเลือดไปอุดกั้นในหลอดหัวใจ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น และหากไปอุดกั้นหลอดเลือดที่สมอง ก็อาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้) จากการทดลองโดยให้นักศึกษาแพทย์กินพริกขี้หนูวันละ 2 ช้อนโต๊ะพร้อมกับก๋วยเตี๋ยว พบว่าจะทำให้มีการละลายลิ่มเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทันทีหลังกิน นอกจากนี้ยังพบว่า ไฟบริโนเจน (เป็นตัวสำคัญในกระบวนการหยุดเลือด หากมีมากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ) ในเลือดของคนไทยยังมีปริมาณต่ำกว่าชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และปริมาณของเอนไซม์ตัวหนึ่งในกระบวนการละลายลิ่มเลือดที่มีชื่อว่า tissue plasminogen activator หรือ TPA (ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจะมีจำนวน TPA มากกว่าคนปกติ) เมื่อทำการศึกษาโดยให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 12 ราย กินพริกขี้หนูสด 5 กรัม แล้วทำการเจาะเลือดเพื่อวัดเอนไซม์ TPA ผลการทำลองพบว่าปริมาณ TPA ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายใน 30 นาทีหลังกิน จึงสรุปได้ว่า พริกขี้หนูน่าจะมีผลต่อการละลายลิ่มเลือดได้[10]
  • เมื่อนำสารสกัดจากพริกขี้หนูมาฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง จะมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้หนูทดลองเดินเซเล็กน้อยและชักตายได้ แต่เมื่อฉีดเข้าทางหลอดเลือดจะมีฤทธิ์กระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกทั่วไป และมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูขาวทดลอง[3]
  • สาร Capsaicin ที่สกัดได้จากพริกขี้หนู สามารถกระตุ้นหัวใจห้องบนของหนูตะเภาได้ แต่เมื่อทดลองฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำของสุนัขและแมว กลับพบว่าทำให้ความดันโลหิตและหัวใจเต้นช้าลง หายใจติดขัด โดยอาการพวกนี้จะหายไปเมื่อตัดเส้นประสาทเวกัสออก ส่วนสาร Capsaicin จะเพิ่มความดันโลหิตของแมวที่ถูกตัดหัวออก ถ้าฉีดเข้าในหลอดเลือดดำของแมวทดลองที่ถูกวางยาสลบ ความดันโลหิตในปอดจะสูงขึ้น แต่เมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจโดยตรง จะทำให้หลอดเลือดนั้นหดตัว และฤทธิ์ของสาร Capsaicin ต่อหัวใจห้องบนของหนูตะเภานั้นจะเพิ่มทั้งความแรงและความเร็วในการเต้น[3]
  • หลังการรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยพริกขี้หนูแก่สีแดงเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ก็พบว่าสารในกลุ่มคอร์ติโซนในพลาสมาจะเพิ่มขึ้น และปริมาณที่ขับออกมาทางปัสสาวะก็เพิ่มขึ้นด้วย[3]
  • สาร Capsaicin มีฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร โดยช่วยทำให้เจริญอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น และพริกขี้หนูยังสามารถช่วยกระตุ้นทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารสุนัขเพิ่มขึ้น และน้ำที่สกัดได้จากพริกขี้หนูยังมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้เล็กส่วนปลาย ilieum ของหนูตะเภาที่เกิดจากอะเซทิลโมลีนและฮีสตามีนได้ ส่วน Capsaicin จะเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็กส่วนปลาย ileum ของหนูตะเภา แต่ถ้าใช้สารชนิดนี้ซ้ำอีกครั้งในขนาดเท่ากัน จะมีผลน้อยมากหรือไม่มีผล[3]
  • สารสกัดจากพริกเมื่อนำมาใช้ทาลงบนผิวหนังจะทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นเกิดการขยายตัว และการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น หากใช้มากเกินไปจะทำให้ระคายเคืองต่อผิว ผิวหนังเป็นแผลพุพองและแสบร้อนได้[3],[4]
  • สาร Capsaicin ที่สกัดได้จากพริกขี้หนู มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Bacillis cereus และสามารถฆ่าเชื้อ Bacillus subtilis ได้ แต่จะไม่มีผลต่อเชื้อ Bacillus aureus และ Bacillus coli[3],[4]
  • สารสกัดจากพริกขี้หนู โดยวิธีการต้มด้วยน้ำ มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง[3],[4]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อทำการฉีดสาร Capsaicin ในปริมาณสูงเข้าทางใต้ผิวหนัง จะทำให้เกิดการสะสม และเป็นพิษถึงตายได้ โดยปริมาณที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง เมื่อฉีดเข้าหน้าท้องของหนูขาวที่เพิ่งหย่านมหรือในหนูขาวตัวโตเต็มวัยและหนูถีบจักรอยู่ในช่วง 6.5-13.2 มิลลิกรัม ต่อ น้ำหนักตัว แต่ถ้าให้กินพบว่าพิษจะลดลงกว่าการฉีดถึง 25 เท่า ซึ่งอาจเป็นเพราะการกินนั้นร่างกายสามารถดูดซึมได้น้อยกว่าการฉีด[7]

ประโยชน์ของพริกขี้หนู

  1. พริกเป็นพืชผักสวนครัวที่คนไทยจะขาดกันเสียมิได้ เพราะนิยมนำมาใช้ในการปรุงรสชาติอาหาร โดยผลแรกผลิสามารถนำใช้ผสมกับผักแกงเลียงช่วยชูรส ส่วนผลกลางแก่นำมาใช้ใส่แกงคั่วส้ม ก็จะได้อาหารที่มีรสเปรี้ยวอ่อน ๆ (เนื่องจากมีวิตามินซี) มีรสเผ็ดและมีกลิ่นฉุนเผ็ดร้อน หรือนำมาใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารที่ช่วยชูรส ใช้ใส่ในน้ำพริก ยำ ทำเป็นน้ำปลาดอง และใช้เป็นส่วนผสมในอาหารอีกเมนู[3]
  2. ยอดและใบอ่อน มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เนื่องจากมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ และวิตามินบีอยู่มาก จึงช่วยในการบำรุงประสาทและบำรุงกระดูก[6] อีกทั้งยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้อีกหลายเมนู เช่น แกงเลียง แกงอ่อม ทอดกับไข่ ส่วนเมล็ดอ่อนหรือแก่นำไปปรุงรสเผ็ดในอาหาร เช่น ต้ม ลาบ น้ำพริก เป็นต้น[5]
  3. นอกจากเราจะใช้พริกขี้หนูในการประกอบอาหารต่าง ๆ แล้ว ยังประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ หลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา โดยคุณค่าทางโภชนาการของพริกขี้หนู ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 76 กิโลแคลอรี, น้ำ 82 กรัม, โปรตีน 3.4 กรัม, ไขมัน 1.4 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 12.4 กรัม, ใยอาหาร 5.2 กรัม, วิตามินเอ 2,417 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.29 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.11 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 1.5 มิลลิกรัม, วิตามินซี 44 มิลลิกรัม, แคลเซียม 4 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม (ข้อมูลจาก : กองโภชนาการ กรมอนามัย)[5],[10]
  4. การรับประทานพริกเป็นประจำ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดลมอักเสบได้[9]
  5. การรับประทานพริกเป็นประจำยังช่วยจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้ เนื่องจากเป็นพืชที่มีวิตามินซีสูง การได้รับวิตามินซีมาก ๆ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องจากวิตามินซีจะไปช่วยยับยั้งการสร้างสารไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่สามารถหยุดการแพร่กระจายของเซลล์ร้ายได้ นอกจากนี้ วิตามินซียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จะก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ และสารเบต้าแคโรทีนในพริกขี้หนูยังช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดและมะเร็งในช่องปาก ช่วยลดอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์ และช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง[9],[10]
  6. มนุษย์มีการใช้พริกเพื่อบรรเทาอาการปวดมานานแล้ว ในปัจจุบันจึงได้มีการนำพริกขี้หนูมาใช้เป็นส่วนผสมในยาขี้ผึ้งทาถูนวด เพื่อใช้แก้อาการปวดเมื่อยบวม บรรเทาอาการปวดอันเนื่องมาจากผดผื่นคัน ผื่นแดง อาการปวดที่เกิดจากเส้น ปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด โรคเกาต์ และช่วยลดอาการอักเสบ โดยสารที่ออกฤทธิ์คือสาร “แคปไซซิน” (Capsaicin) และยังนำมาใช้เป็นส่วนผสมในยาธาตุ ยาแก้ปวดท้อง เพราะสารสกัดจากพริกจะช่วยกระตุ้นการหลั่งเอนไซม์บางชนิดที่ทำให้กระเพาะอาหารเกิดการบีบตัวและคลายตัว ช่วยในการย่อย แก้กระเพาะเย็น ทำให้อบอุ่น[2],[9],[10]
  7. พริกกับการป้องกัน เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว มีสเปรย์ป้องกันตัวยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งมีพริกเป็นส่วนประกอบสำคัญ เมื่อฉีดเข้าตาโดยตรงอาจจะทำให้มองไม่เห็นประมาณ 2-3 นาที[10]

ข้อควรระวังในการรับประทานพริกขี้หนู

  • ผู้ที่มีอาการกระเพาะหรือลำไส้อักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และผู้ที่เป็นวัณโรคหรือริดสีดวงทวาร ไม่ควรรับประทานพริกขี้หนู[4]
  • หากเผลอรับประทานพริกหรือเด็กรับประทานพริกที่เผ็ดมากอย่างพริกขี้หนูเข้าไป ก็ให้ดื่มนมตาม เพราะในน้ำนมจะมีสาร Casein ที่ช่วยทำลายความเผ็ดลงได้[8]
  • การรับประทานพริกมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการแสบท้อง ทำให้หน้าเป็นสิวได้ และถ้าถูกพริกหรือจับพริกก็จะทำให้ผิวหนังเกิดอาการแสบร้อนได้[9]
  • สำหรับผู้ที่ไม่รับประทานเผ็ดเลย แล้วมารับประทาน อาจทำให้ชักตาตั้งได้[9]

หมายเหตุ : พริกขี้หนูสวน จะมีขนาดเล็กกว่า พริกขี้หนูธรรมดา มีความเผ็ดและความหอมมากกว่าพริกขี้หนูธรรมดา นิยมนำมาทำน้ำพริกกะปิ กับแหนม สาคู ข้าวขาหมู ฯลฯ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “พริกขี้หนู”.  หน้า 113-114.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พริกขี้หนู Cayenne Pepper”.  หน้า 72.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “พริกขี้หนู”.  หน้า 535-538.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “พริก”.  หน้า 368.
  5. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “พริกขี้หนู”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [26 ส.ค. 2014].
  6. สารศิลปยาไทย ฉบับที่ ๑๘, สมาคมผู้ประกอบโรคศิลปแผนไทย (เชียงใหม่).  “พริกขี้หนู”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.oocities.org/thaimedicinecm/.  [26 ส.ค. 2014].
  7. ไทยเกษตรศาสตร์.  “พริกขี้หนู สรรพคุณทางยา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [26 ส.ค. 2014].
  8. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “ไผ่และพริก”.  บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th.  [26 ส.ค. 2014].
  9. หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 452, วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2552.  “เจาะตลาด”.  (ประสิทธิ์ศิลป์ ชัยยะวัฒนะโยธิน).
  10. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 305 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก.  (ดร.พัชราณี ภวัตกุล).  “พริกขี้หนู กับปัจจัยเสี่ยง ของโรคหัวใจและหลอดเลือด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [26 ส.ค. 2014].
  11. หนังสืออาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี.  (จำลองลักษณ์ หุ้นชิ้น, จิรนาฏ วีรชัยพิเชษฐ์กุล, รุ่งทิพย์ พรหมทรัพย์, อภิสิทธิ์ ประสงค์สุข).  “พริกขี้หนู”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by ing123, zai zainal, dessamaldita, fadzli manaf, Barry Hammel, Joaquín Ramírez, 3Point141)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด