พระจันทร์ครึ่งซีก สรรพคุณของต้นพระจันทร์ครึ่งซีก 29 ข้อ !

พระจันทร์ครึ่งซีก สรรพคุณของต้นพระจันทร์ครึ่งซีก 29 ข้อ !

พระจันทร์ครึ่งซีก

พระจันทร์ครึ่งซีก ชื่อสามัญ Chinese lobelia[7]

พระจันทร์ครึ่งซีก ชื่อวิทยาศาสตร์ Lobelia chinensis Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lobelia caespitosa Blume, Lobelia campanuloides Thunb., Lobelia radicans Thunb.) จัดอยู่ในวงศ์พระจันทร์ครึ่งซีก (CAMPANULACEAE)[1],[2],[3],[4],[7],

สมุนไพรพระจันทร์ครึ่งซีก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวครึ่งซีก (ชัยนาท), ผักขี้ส้ม (สกลนคร), ปั้วใบไน้ (จีน), ปัวปีไน้ ปั้วปีไน้ (จีนแต้จิ๋ว), ป้านเปียนเหลียม ป้านเปียนเหลียน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4],[7]

ลักษณะของพระจันทร์ครึ่งซีก

  • ต้นพระจันทร์ครึ่งซีก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กคล้ายหญ้า อายุหลายปี ลำต้นมักทอดเลื้อยไปตามพื้นผิวดิน ชูส่วนยอดขึ้น ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 5-20 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวหรือสีแดงอมเขียว ผิวเรียบเป็นมัน มีลักษณะเรียวเล็กและมีข้อ ถ้าหักลำต้นจะมีน้ำยางขาวขุ่นเหมือนน้ำนมไหลซึมออกมา รากใต้ดินมีขนาดเล็กกลมสีเหลืองอ่อน ภายในเป็นสีขาว ตามข้อของลำต้นจะมีใบ หรือกิ่งออกสลับกัน และมีรากฝอยแตกออกมาตามข้อ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกต้นปักชำ พบทั่วไปในประเทศจีน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายแบบห่าง ๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยมักขึ้นตามที่โล่งที่ชื้นแฉะ ที่ระดับความสูงประมาณ 100-300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[3],[4],[7]

ต้นพระจันทร์ครึ่งซีก

  • ใบพระจันทร์ครึ่งซีก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก รูปขอบขนาน รูปแถบ หรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบตัด กลม หรือมน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยมนตื้น ๆ แบบห่าง ๆ เกือบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ก้านใบสั้นมากหรือไม่มีก้านใบ[1],[3],[7]

รูปพระจันทร์ครึ่งซีก

  • ดอกพระจันทร์ครึ่งซีก ออกดอกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาวประมาณ 1.2-3.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีม่วงอ่อนหรือสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปรียาว ปลายกลีบดอกแหลม เรียงกันเป็นครึ่งวงกลม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด แต่หลอดดอกแยกผ่าออก ทำให้กลีบดอกเรียงตัวกันอยู่เพียงด้านเดียว หลอดดอกด้านนอกมีขนสีขาว กลีบเลี้ยงสีเขียวอมม่วงมี 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน มีขนเล็กน้อย และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน ก้านชูเกสรเพศเมียสั้น ปลายแยกเป็น 2 แฉก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 2 ห้อง เมื่อดอกบานกลีบดอกจะแยกไปทางเดียวดูคล้ายเป็นดอกบัวครึ่งซีก โดยดอกนั้นจะบานในช่วงฤดูร้อน[1],[3],[4]

ดอกพระจันทร์ครึ่งซีก

ดอกบัวครึ่งซีก

  • ผลพระจันทร์ครึ่งซีก ผลพบได้ในบริเวณดอก มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ผลเมื่อแห้งและแตกออกได้ ภายในมีเมล็ดมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีแบน[1],[4]

สรรพคุณของพระจันทร์ครึ่งซีก

  1. ทั้งต้นมีรสเผ็ด ขม ชุ่มเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษพิษไข้ (ทั้งต้น)[4]
  2. ใช้เป็นยาลดไข้ แก้ไข้ มาลาเรีย แก้อาการไอ (ทั้งต้น)[5],[7]
  3. ใช้แก้อาการคัดจมูกหรือโรคภูมิแพ้ เนื่องจากการใช้ยาเข้ารากระย่อม (Rauvolfia Serpentina Benth) (ทั้งต้น)[5]
  4. ทั้งต้นสดใช้ตำผสมกับเหล้าเล็กน้อยรับประทานเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ไอเป็นเลือด (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5]
  5. ทั้งต้นใช้ตำแล้วนำมาอมแก้อาการเจ็บคอ (ทั้งต้น)[1]
  6. ใช้รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้ละเอียดปั้นเป็นก้อนเท่าไข่ไก่ แล้วใส่ในถ้วยเติมเหล้าลงไปประมาณ 90 มิลลิลิตร ผสมให้เข้ากัน คั้นเอาแต่น้ำ แล้วนำมาแบ่งอมครั้งละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10-20 นาที แล้วบ้วนทิ้ง (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
  7. ใช้รักษาตาแดง ด้วยการใช้ต้นสดพอประมาณ นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วตำให้ละเอียด ใช้พอกบนหนังตา แล้วเอาผ้าก๊อซปิด ให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[3],[5]
  1. ช่วยรักษาโรคออกตามไรฟัน (ทั้งต้น)[7]
  2. ทั้งต้นมีรสเย็นสุขุม ใช้รับประทานเป็นยาบำรุงปอด แก้วัณโรค แก้หืด หอบหืด แก้ปอดพิการ ปอดอักเสบ แก้พิษ แก้ไอเพราะปอดร้อน หรือไอร้อนในปอด (ทั้งต้น)[1],[2],[4],[5]
  3. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการแน่นหน้าอก เจ็บสีข้าง บวมช้ำ (ทั้งต้น)[1]
  4. ใช้รักษาเต้านมอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
  5. ใช้แก้อาการท้องเสีย ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)[3],[5]
  6. ใช้เป็นยาแก้บิด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำเติมน้ำตาลแดง (น้ำตาลอ้อย) รับประทานเป็นยา (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
  7. ช่วยแก้อาการถ่ายกะปริบกะปรอย (ทั้งต้น)[4]
  8. ใช้เป็นยาถ่าย ยาฆ่าพยาธิ (ทั้งต้น)[7]
  9. ช่วยรักษาไส้ติ่งอักเสบ (ทั้งต้น)[4]
  10. ทั้งต้นใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1],[4],[7]
  11. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้บวมน้ำ แก้พุงโลในตับบวมน้ำ แก้ไตอักเสบบวมน้ำ (ทั้งต้น)[4]
  12. ใช้รักษาดีซ่าน บวมน้ำ ขัดเบา ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม ผสมกับรากหญ้าคา (Imperata cylindrica Beauv.) อีก 30 กรัม นำมาต้มใส่น้ำตาลทราย ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ทั้งต้น)[3],[5]
  13. ใช้รักษาอาการบวมน้ำเนื่องจากไตอักเสบ แก้ท้องมานเนื่องจากพยาธิใบไม้ในโลหิต ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)[3],[5]
  14. ใช้แก้พยาธิใบไม้ในตับ ด้วยการใช้ยาแห้ง 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 วัน ก็จะมีอาการดีขึ้น (ทั้งต้น)[4]
  15. ทั้งต้นใช้ตำพอกเป็นยาห้ามเลือด (ทั้งต้น)[7]
  16. ทั้งต้นใช้ตำพอกแก้ฝีตะมอย ฝีหนอง ดับพิษ แก้บวม (ทั้งต้น)[1],[4]
  17. ใช้รักษาแผลเปื่อย บาดแผล ผิวหนังอักเสบ ฝี กลากเกลื้อน ผื่นคัน ด้วยการใช้ต้นสดพอประมาณ ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ตำให้แหลก ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[3],[5]
  18. ช่วยแก้พิษงู ด้วยการใช้ต้นพระจันทร์ครึ่งซีกประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับน้ำประมาณครึ่งชั่วโมง แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง และใช้ต้นสดตำพอแหลก ใช้พอกแผลที่ถูกงูกัด โดยให้เปลี่ยนยาพอกวันละ 2 ครั้ง หรือใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเหล้ารับประทานและพอกแผลที่ถูกงูกัด จากการรักษาด้วยวิธีนี้ พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายดีในเวลา 1-2 วัน บางส่วนหายหลังจากการรักษาประมาณ 3-5 วัน (ทั้งต้น)[1],[4],[7]
  19. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้อาการฟกช้ำ (ทั้งต้น)[4]
  20. ใช้รักษาอาการเคล็ดขัดยอกบวมเจ็บ แก้อักเสบ โรคไขข้อ ข้ออักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 180 มิลลิลิตร โดยต้มให้เหลือ 90 มิลลิลิตร แล้วกรองเอาน้ำเก็บไว้ ส่วนกากเกลือที่เหลือให้นำไปต้มอีกครั้งในอัตราส่วนเดิม แล้วนำน้ำกรองครั้ง 2 มารวมกับครั้งแรก แล้วเคี่ยวให้เหลือ 60 มิลลิลิตร เสร็จแล้วเทใส่ขวดเก็บไว้ใช้ ก่อนนำมาใช้ให้เอาสำลีชุบน้ำยา แล้วนำมาปิดตรงบริเวณที่มีอาการปวดบวม (ทั้งต้น)[3],[5],[7]
  21. ใช้เข้ายาแก้มะเร็งกระเพาะอาหารหรือที่ทวารหนัก (ทั้งต้น)[5]

ขนาดและวิธีการใช้ : การเก็บยามาใช้ให้เก็บทั้งต้นในช่วงฤดูร้อนในขณะดอกกำลังบาน[3] ส่วนวิธีการใช้ตาม [4] ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน ส่วนภายนอกให้ใช้ได้ตามต้องการตามความเหมาะสม[4] และควรใช้ยาต้มที่สดใหม่ ไม่ควรทิ้งยาต้มไว้เกิน 4 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เพราะจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้ง่าย หรืออาจจะเตรียมเป็นยาเม็ดหรือขี้ผึ้งไว้ใช้ก็ได้ แต่ผลการรักษาจะด้อยกว่ายาต้ม[5]

ข้อห้ามใช้ : สำหรับผู้ที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และมีอุจจาระหยาบเหลว หรือทางจีนเรียกว่า “ม้ามพร่อง” ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[3],[5]

อาการเป็นพิษและวิธีการรักษา : หากใช้เกินขนาดจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเดิน ถ้ามีอาการมากจะทำให้ความดันโลหิตต่ำ หายใจขัด หัวใจทำงานลดลง ซึม และอาจถึงตายได้ สำหรับวิธีแก้พิษเบื้องต้น ให้ใช้ยาฝาดสมาน ที่มี tannic acid เช่น ดื่มน้ำชาที่ชงแก่ ๆ หรือกินผงถ่านพิเศษ (activated charcoal) หรือใช้สวนทำให้อาเจียน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพระจันทร์ครึ่งซีก

  • ทั้งต้นพบสาร Alkaloid หลายชนิด สารที่สำคัญ คือ สาร Lobeline, Lobelanine, Isobelanine, Lobelandine และยังพบสาร Amino acid, Flavonoid, Saponin เป็นต้น[4]
  • จากการศึกษาฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนโลหิต ด้วยการใช้สารละลายที่ได้จากการแช่ต้นพระจันทร์ครึ่งซีกในน้ำ นำมาฉีดเข้าหลอดเลือดดำของสุนัขที่ถูกวางยาสลบ พบว่าความดันโลหิตของสุนัขจะลดลงเป็นเวลานาน แต่ถ้าใช้อัลคาลอยด์ราดิคานิน (radicanin) ในขนาดเท่ากัน นำมาฉีดเข้าหลอดเลือดดำของสุนัข จะพบว่ามีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอย่างเดียว แต่ไม่มีผลในการลดความดันโลหิต[3],[4]
  • จากการศึกษาฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ด้วยการฉีดน้ำยาที่สกัดเข้าหลอดเลือดดำของสุนัขที่ถูกวางยาสลบ พบว่าจะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ความดันโลหิตลดลงด้วย แต่ถ้ากรอกเข้าทางลำไส้เล็กส่วนต้น จะมีฤทธิ์เฉพาะในการขับปัสสาวะ แต่ไม่ทำให้ความดันโลหิตลดลง และต้องใช้ในปริมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าจึงจะมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ปริมาณของอัลคาลอยด์จากต้นพระจันทร์ครึ่งซีก ถ้าให้ในขนาดเท่ากับปริมาณที่ได้จากการทำเป็นน้ำยาสกัดข้างต้น แล้วนำมาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ จะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะเท่ากัน นอกจากปริมาณของปัสสาวะจะเพิ่มขึ้นแล้ว ปริมาณของคลอไรด์ที่ถูกขับออกมาในปัสสาวะก็เพิ่มสูงกว่าปกติด้วย โดยฤทธิ์ในการขับปัสสาวะนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้าเกี่ยวข้องด้วย ที่นอกเหนือจากที่มีผลโดยตรงต่อไต ได้แก่ ต้นที่เก็บได้หลังการออกดอกจะมีฤทธิ์กว่าก่อนออกดอก, การต้มด้วยน้ำเดือด ๆ หรือใช้ความร้อนสูง เช่น การอบที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะทำให้ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะถูกทำลายหมด, ถ้านำมาแช่ในน้ำที่มีอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48 ชั่วโมง สารละลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีรสเปรี้ยว ไม่มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ, ภายหลังการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานาน ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะจะค่อย ๆ ลดลง เป็นต้น แต่สำหรับคนปกติแล้ว ถ้ากินยาต้มนี้จะมีผลทำให้ขับปัสสาวะ และเมื่อตรวจดูจะพบว่ามีสารคลอไรด์หรือสารโซเดียมในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น[3],[4],[6]
  • เมื่อฉีดสารละลายที่ได้จากการต้มเข้าช่องท้องของหนูขาวทดลอง พบว่าจะทำให้ระยะเวลาที่เลือดแข็งตัวลดลง ใช้เป็นยาห้ามเลือดได้ และสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้อีกด้วย[3],[4]
  • เมื่อนำสารสกัดที่ได้จากพระจันทร์ครึ่งซีกมาฉีดเข้าสุนัขทดลองที่ได้รับพิษงู พบว่าสามารถยับยั้งพิษงูได้อย่างมีประสิทธิภาพ[4]
  • สารสกัดจากพระจันทร์ครึ่งซีก มีฤทธิ์ต่อต้านและยับยั้งเชื้อไทฟอยด์, เชื้อบิด, เชื้อในลำไส้ใหญ่ และเชื้อ Staphelo coccus[4]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า ปริมาณของสารละลายที่ให้โดยการกรอกเข้าไปในกระเพาะอาหารหนูขาว แล้วทำให้หนูทดลองตายได้ครึ่งหนึ่ง คือ 75.1 ± 13.1 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว ส่วนปริมาณของสารละลายที่ฉีดเข้าทางหลอดเลือดของหนูถีบจักรทดลอง แล้วทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง คือ 6.10 ± 0.26 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว[6]
  • เมื่อฉีดสารละลายเข้าทางช่องท้องของหนูขาวทดลองในปริมาณ 0.1-1.0 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว วันละครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าน้ำหนักตัวของหนูทดลอง ตลอดจนปริมาณตะกอนต่าง ๆ และอัลบูมิน (albumin) ในปัสสาวะไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบาย จากการตรวจสอบทางพยาธิวิทยาของอวัยวะต่าง ๆ ของหนูทดลอง พบว่าส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง มีเพียงแค่ไตบางส่วนของหนูทดลองที่มีอาการบวมเล็กน้อย[6]
  • จากการศึกษาผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อพวกพยาธิใบไม้ระยะท้าย ที่มีอาการตับแข็งและท้องมาน (โดยใช้ร่วมกับยาที่มีพลวง จำพวก antimony potassium tartrate ที่มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิใบไม้) พบว่าจะมีฤทธิ์แตกต่างกันออกไป แต่จะมีฤทธิ์ที่เหมือนกันคือ มีการขับปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกับผู้ป่วยจำนวนมาก แต่มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ปัสสาวะเป็นปกติ ในบางรายอาจมีอาการถ่ายท้อง ส่วนระยะเวลาการออกฤทธิ์ขับปัสสาวะไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นผลภายใน 1-5 วัน และในช่วงที่รักษาด้วยยานี้ก็พบว่า อาการท้องมานลดลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น การทำงานของตับดีขึ้น การไหลเวียนของโลหิตก็ดีขึ้น โดยใช้ต้นพระจันทร์ครึ่งซีกแห้งประมาณ 15-20 กรัม เติมน้ำลงไป 300 มิลลิลิตร ใช้ไฟอ่อน ๆ แล้วต้มให้เหลือ 30 มิลลิลิตร เติมน้ำตาลลงไป แบ่งรับประทานวันละ 3-4 ครั้ง ทำการรักษาช่วงละ 15-20 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น และให้รับประทานต่อไปเรื่อย ๆ จนอาการท้องมานหายไป รวมทั้งควรรับประทานอาหารเสริมจำพวกโปรตีนที่มีไขมันและเกลือเล็กน้อยหรือไม่มีเกลือ จากการรักษากับผู้ป่วยจำนวน 100 ราย พบว่าได้ผล 69 ราย[3],[5]

ประโยชน์ของพระจันทร์ครึ่งซีก

  • ทั้งต้นใช้ผสมทำเป็นยานัตถุ์ดีมาก[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “พระจันทร์ครึ่งซีก (Phra Chan Khrueng Sik)”.  หน้า 190.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พระจันทร์ครึ่งซีก”.  หน้า 133.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “พระจันทร์ครึ่งซีก”.  หน้า 533-535.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “พระจันทร์ครึ่งซีก”.  หน้า 366.
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 37 คอลัมน์ : อื่น ๆ.  (ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล).  “พระจันทร์ครึ่งซีก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [10 พ.ย. 2014].
  6. ไทยเกษตรศาสตร์.  “พระจันทร์ครึ่งซีกสมุนไพร”.  อ้างอิงใน : จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, รพีพล  ภโววาท, วิทิต  วัณนาวิบูล, สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [10 พ.ย. 2014].
  7. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พระจันทร์ครึ่งซีก”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [10 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kai Yan, Joseph Wong, Kar Wah Tam, 翁明毅, Alan Yip, Roy Wong)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด