พญาไร้ใบ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพญาไร้ใบ 16 ข้อ !

พญาไร้ใบ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพญาไร้ใบ 16 ข้อ !

พญาไร้ใบ

พญาไร้ใบ ชื่อสามัญ Milk bush[3], Indian tree spurge[4]

พญาไร้ใบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia tirucalli L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]

สมุนไพรพญาไร้ใบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เคียะจีน พญาร้อยใบ (เชียงใหม่), เคียะเทียน (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1]

หมายเหตุ : ต้นพญาไร้ใบที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกับพญาไร้ใบ (ชนิดที่ไม่มีใบเลยจริง ๆ) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarcostemma acidum (Roxb.) Voigt มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เถาหูด้าน เอื้องเถา เถาวัลย์ยอดด้วน เป็นต้น โดยคุณสามารถอ่านบทความของพรรณไม้ชนิดนี้ได้ที่บทความเรื่อง “เถาวัลย์ด้วน” และยังเป็นคนละชนิดกับกล้วยไม้ที่มีชื่อว่า “เอื้องพญาไร้ใบ” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Chiloschista lunifera (Rchb.f.) J.J.Sm.) อีกด้วย

ลักษณะของพญาไร้ใบ

  • ต้นพญาไร้ใบ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 4-7 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ดูคล้ายกับปะการัง เปลือกลำต้นแก่เป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีหนาม ส่วนกิ่งอ่อนเป็นรูปทรงกระบอกเป็นสีเขียวเรียบเกลี้ยง อวบน้ำ เมื่อหักหรือกรีดดูจะมีน้ำยางสีขาวข้นออกมาจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตัดชำ ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี และมีแสงแดดตลอดวัน มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ โดยจะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[4]

ต้นพญาไร้ใบ

ยางพญาไร้ใบ

  • ใบพญาไร้ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบมีขนาดมาก ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน โดยมีขนาดกว้างประมาณ 0.2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย[1]

ใบพญาไร้ใบ

  • ดอกพญาไร้ใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีเขียว ดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ไม่มีกลีบดอก และอยู่ในช่อเดียวกัน มีแต่กลีบรองดอกสีขาว กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ[1]

ดอกพญาไร้ใบ

  • ผลพญาไร้ใบ ผลเป็นผลแห้งจะแตกและอ้าออก[1]

ผลพญาไร้ใบ

สรรพคุณของพญาไร้ใบ

  1. รากมีรสเฝื่อน ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ธาตุพิการ (ราก)[1],[2]
  2. รากนำมาต้มกับน้ำมะพร้าวใช้ทาแก้อาการปวดท้อง (ราก)[1],[2]
  3. ต้นใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้กระเพาะอักเสบ (ต้น)[1]
  4. รากใช้สกัดเป็นเป็นยาระบายได้ (ราก)[1],[2]
  5. ใบและรากมีรสเฝื่อน ใช้ตำพอกแก้ริดสีดวงทวาร (ใบและราก)[1],[2] และใช้ต้นนำมาตำพอกริดสีดวง (ต้น)[1]
  1. น้ำยางจากต้นใช้รักษาโรคผิวหนัง (น้ำยางจากต้น)[1],[2] ส่วนเนื้อไม้ใช้ผสมเป็นยาสำหรับรักษาโรคผิวหนัง โรคเรื้อน กรณีที่มือและเข่าอ่อนเปลี้ยหลังการคลอดบุตรของสตรี (เนื้อไม้)[2]
  2. ต้นใช้ตำพอกเป็นยาแก้รังแค (ต้น)[1]
  3. ต้นใช้เป็นยาพอกแผล (ต้น)[1]
  4. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้น้ำยางจากต้นมาแต้มกัดหูด (ใช้น้ำยางจากกิ่งที่หักมาใหม่ ๆ มาหยดลงบริเวณที่เป็นหูด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น) (น้ำยางจากต้น)[1],[3]
  5. ต้นมีรสเฝื่อน ใช้ต้มแช่รักษาอาการบาดเจ็บ (ต้น)[1]
  6. ต้นใช้ตำพอกเป็นยาแก้ปวดบวม (ต้น)[1]
  7. ต้นใช้ตำทาแก้อาการปวดกระดูก กระดูกเดาะ (ต้น)[1]
  8. ใช้น้ำยางจากต้นนำมาถูผิวหนังบริเวณที่กระดูกแตกหัก เชื่อว่าจะช่วยเชื่อมกระดูกได้ (น้ำยางจากต้น)[1],[2]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรพญาไร้ใบ

  • ยางจากต้นพญาไร้ใบมีพิษ เมื่อสัมผัสกับน้ำยางสีขาวจากต้นจะทำให้ผิวหนังอักเสบ บวมเป็นผื่นแดง ทำให้เกิดอาการคัน และเป็นอันตรายเมื่อเข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้[1],[2],[3]
  • ในน้ำยางมีสาร 4-deoxyphorbol และอนุพันธ์ ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองอย่างแรงและยังเป็นสารร่วมก่อมะเร็ง จึงควรระมัดระวังในการนำมาใช้[3]

การรักษาพิษของพญาไร้ใบ

  • พิษระคายเคืองต่อผิวหนัง น้ำยางสีขาวจากต้นมีสารพิษชื่อว่า Phorbol derivative หากสัมผัสจะมีอาการปวด ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง บวมพองเป็นตุ่มน้ำ ถ้าเข้าตาจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบและตาบอดชั่วคราว[5]
    • วิธีการรักษา
      1. ให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์
      2. ทาด้วยครีมสเตียรอยด์
      3. ทานยาแก้แพ้ (เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlopheniramine) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร)
      4. ประคบด้วยน้ำเย็นจัดบริเวณที่มีอาการประมาณ 30 นาที
      5. ถ้ายางเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วหยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว[5]
  • พิษระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ มีอาการอาเจียน และถ่ายท้องอย่างรุนแรง ม่านตาหด หากได้รับมากอาจทำให้สั่นและเสียชีวิตได้[5]
    • วิธีการรักษา
      1. ให้รีบทำให้อาเจียนแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง
      2. ดื่มน้ำนมหรือไข่ขาว เพื่อช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้
      3. ดื่มน้ำเกลือผงละลายน้ำ หรือให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด เพื่อช่วยชดเชยน้ำที่เสียไป
      4. ต้องรับประทานอาหารอ่อน ๆ จนกว่าอาการจะทุเลา[5]

ประโยชน์ของพญาไร้ใบ

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตกแต่งสวน
  • น้ำยางสีขาวมีพิษ จึงใช้ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ เช่น เพลี้ยอ่อน มอดแป้ง แมลงวันทอง หนอนกระทู้ผัก และช่วยป้องกันแมลงในโรงเก็บ และยังสามารถช่วยยับยั้งการฟักไข่ของด้วงถั่วเขียวได้อีกด้วย[4]
  • นอกจากนี้ยังใช้เป็นสมุนไพรป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าวได้อีกด้วย โดยให้เตรียมพญาไร้ใบ 3 กิโลกรัม, น้ำ 10 ลิตร, กากน้ำตาล 0.5 ลิตร นำส่วนผสมทุกอย่างมาหมักรวมกัน ปิดถังหมักทิ้งไว้ในร่ม 1 เดือน ส่วนวิธีการใช้ให้ปล่อยไปตามน้ำหรือเทราดตามข้างนาจำนวน 1 ลิตร ต่อไร่ (หรืออาจมากกว่านั้น) ก็จะช่วยกำจัดหอยเชอรี่ได้โดยไม่มีผลกระทบหรือเป็นอันตรายใด ๆ ต่อต้นข้าวเลย[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “พญาไร้ใบ (Phaya Rai Bai)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 189.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “พญาไร้ใบ”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 139.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พญาไร้ใบ Milk Bush”.  หน้า 109.
  4. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “พญาไร้ใบ”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [30 เม.ย. 2014].
  5. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “พญาไร้ใบ”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.  [30 เม.ย. 2014].
  6. ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร เครือข่ายสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จังหวัดสระบุรี.  (ข้อมูลจาก : คุณบุญลือ เต้าแก้ว).

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by titanium22, Shang-Han Chang, Jeff Hamm, David Midgley)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด