ฝีเต้านม (Breast abscess) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

ฝีเต้านม (Breast abscess) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

ฝีที่เต้านม

ฝีเต้านมฝีที่เต้านม หรือ เต้านมเป็นฝี (Breast abscess) คือ ภาวะเต้านมอักเสบที่มีก้อนฝีหนองอยู่ภายใน ซึ่งเกิดต่อเนื่องมาจากภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) ที่ไม่ได้รับการรักษา เต้านมอักเสบที่อาการไม่ดีขึ้น หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา

ฝีที่เต้านมเป็นภาวะที่พบได้บ้างเป็นครั้งคราวในผู้หญิงที่ให้นมบุตรในระยะเดือนแรก ๆ (มักเกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 หลังคลอด)

หมายเหตุ : ฝี คือ น้ำหนองที่รวมกันเป็นกลุ่ม หากเกิดที่เต้านม ผิวหนังเหนือบริเวณฝีอาจเปลี่ยนแปลงเป็นคล้ำหรือช้ำเลือดช้ำหนอง

สาเหตุของฝีที่เต้านม

ฝีเต้านมเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ได้แก่ สแตฟีโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus aureus) โดยเชื้อแบคทีเรียนี้จะเข้าไปในเต้านมผ่านทางหัวนมและลานนมที่ปริหรือแตก และทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมา หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมก็จะกลายเป็นฝีหนองตามมา

อาการของฝีที่เต้านม

  • เต้านมข้างที่เป็นฝีจะมีลักษณะบวมแดง ร้อน และเจ็บปวดมาก
  • คลำได้ก้อนที่กดเจ็บมากของเต้านม และสีของผิวหนังเหนือบริเวณที่มีก้อนเปลี่ยนไปจากปกติ
  • ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ใต้รักแร้ข้างเดียวกับเต้านมข้างที่เป็นฝีจะโตและเจ็บร่วมด้วย
  • ถ้าหากปล่อยไว้ไม่รักษา บางครั้งอาจทำให้ฝีแตกและมีหนองไหลออกมาได้

วิธีรักษาฝีที่เต้านม

  1. ควรไปพบแพทย์ทันทีที่เริ่มมีอาการเต้านมอักเสบหรือมีฝีที่เต้านม
  1. หากมีอาการปวดมาก ให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ (Analgesics and Antipyretics) เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ตามความเหมาะสม
  2. ให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดฝี เช่น คล็อกซาซิลลิน (Cloxacillin), ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin), เซฟาเลกซิน (Cephalexin), โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ถ้ารับประทานยาปฏิชีวนะแล้วมีอาการดีขึ้น ให้รับประทานยาปฏิชีวนะนาน 1-2 สัปดาห์ (ระยะเวลาในการให้ยาจะขึ้นอยู่กับขนาดของฝี การหายของแผล และดุลยพินิจของแพทย์)
  3. ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 วันหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งการรักษาจำเป็นต้องได้รับการระบายเอาหนองที่อยู่ในฝีออก โดยการใช้เข็มขนาดใหญ่ (เบอร์ 18) ต่อหลอดฉีดยาแทงผ่านเนื้อดีเข้าไปยังฝีเพื่อเจาะดูดหนองออกสลับกับฉีดล้างน้ำเกลือ (Needle aspiration) หรือผ่าตัดโดยใช้มีดกรีดผิวหนังระบายเอาหนองออก (Incision and Drainage) ควบคู่ไปกับการให้ยาปฏิชีวนะและบรรเทาอาการด้วยการประคบร้อนประคบเย็นไปตามเรื่อง
    • การเจาะดูดเอาหนองออกอาจต้องทำการเจาะดูดออกทุกวันจากมากกว่า 100 ซีซี วันรุ่งขึ้นอีก 50 ซีซี แล้วลดลงเรื่อย ๆ จนต่ำกว่า 10 ซีซี แล้วนัดห่างขึ้นเป็น 3 วัน 5 วัน 7 วัน จนกว่าหนองจะหมด ในกรณีที่ยากต่อการระบุตำแหน่งสามารถใช้การตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อช่วยระบุตำแหน่งของฝีในระหว่างการเจาะดูดได้
    • ข้อดีของการเจาะดูดเอาหนองออกเมื่อเทียบกับการผ่าตัดกรีดระบายหนอง คือ ไม่ทำให้เกิดแผล ซึ่งมักจะใช้เวลานานกว่าจะหาย และทิ้งรอยแผลเป็น แต่หากเจาะแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือฝีมีขนาดใหญ่มากก็จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อให้การระบายหนองสะดวกยิ่งขึ้น (การลงแผลผ่าตัดที่แนะนำมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบตามความเหมาะสม คือ ตามแนวรัศมีจากศูนย์กลาง แนวปานนม หรือใต้เต้านม และหลังผ่าตัดแล้วให้ทำแผลทุกวันจนกว่าจะหายดี)
    • ในแง่ของหลักฐานงานวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิผลของการระบายเอาหนองออกด้วยการใช้เข็มเจาะดูดกับการใช้มีดกรีดผิวหนังระบายหนองออก สรุปได้เพียงว่าทั้งสองวิธีให้ผลไม่ต่างกันหากฝีมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ในกรณีที่ฝีมีขนาดใหญ่ยังไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบ
    • สามารถให้นมลูกได้ในข้างที่เต้านมเป็นฝีที่ระบายเอาหนองออกแล้ว ยกเว้นในกรณีที่มีอาการเจ็บมากหรือการผ่าเป็นแผลขนาดใหญ่ใกล้ลานนม (รบกวนการดูดนมของลูก) หรือการผ่ามีการทำลายท่อน้ำนมมาก แต่อย่างไรก็ตาม ควรบีบน้ำนมหรือปั๊มน้ำนมออกก่อนเพื่อไม่ให้น้ำนมคั่งค้างเท่าที่จะทนได้ และให้ลูกดูดนมจากเต้าข้างที่ปกติอย่างสม่ำเสมอ เมื่อดีขึ้นหรือแผลเริ่มหายก็สามารถกลับมาให้นมข้างนั้นได้อีกครั้ง ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 2-3 วันก็จะดีขึ้น
  4. สำหรับการดูแลตนเองเมื่อเป็นฝีที่เต้านม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
    • ควรหยุดให้ลูกดูดนมข้างที่เป็นฝี แต่ยังให้ดูดข้างที่ปกติต่อไป ส่วนเต้านมข้างที่อักเสบให้ใช้นิ้วรีดเบา ๆ ให้น้ำนมไหลออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมคัด และช่วยให้หายจากอาการอักเสบได้เร็วขึ้น
    • ควรประคบเต้านมด้วยความร้อนทั้งก่อนและในระหว่างที่ให้ลูกดูดนม (ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัดประคบเต้านมประมาณ 3-5 นาทีก่อนให้ลูกดูดนม) เพื่อช่วยลดอาการปวด และช่วยให้น้ำนมไหลดียิ่งขึ้น
    • หลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้วหรือหลังจากปั๊มนมออกหมดแล้ว ให้ประคบเต้านมด้วยความเย็น เพื่อช่วยลดอาการปวดและลดอาการบวมของเต้านม
    • ควรพักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอ
    • ควรใส่ยกทรงที่เหมาะสมไม่รัดรูปและช่วยพยุงเต้านมได้ดีก็จะช่วยลดอาการปวดลงได้
    • มีผลการวิจัยทดลองรักษาด้วยวิธีใหม่ที่สเปน ที่ได้ทำการทดลองเปรียบเทียบกันระหว่างการรับประทานบักเตรีแลคโตบาซิลลัสแบบแคปซูล ซึ่งเป็นบักเตรีที่พบปกติในน้ำนม ร่วมกับการรับประทานยาปฏิชีวนะ พบว่ากลุ่มที่รับประทานบักเตรีแลคโตบาซิลลัสมีการเพิ่มจำนวนของบักเตรีแลคโตบาซิลลัสในน้ำนมได้มากกว่า มีอาการปวดดีขึ้นเร็วกว่า และมีอัตราการกลับมาเป็นเต้านมอักเสบซ้ำต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว ดังนั้น คุณอาจลองหานมเปรี้ยวมาดื่มด้วยก็ไม่เสียหลายนะครับ

วิธีป้องกันฝีที่เต้านม

  1. หมั่นรักษาความสะอาดหัวนมให้ดีด้วยการใช้น้ำต้มสุกกับสบู่ก่อนและหลังให้ลูกดูดนม
  2. ถ้าหัวนมแตก ให้ทาด้วยทิงเจอร์เบนโซอิน (Tincture of benzoin) และควรให้เด็กดูดนมครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ฝีเต้านม (Breast abscess)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 992-993.
  2. ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “เต้านมเป็นฝี (breast abscess)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/.  [05 ธ.ค. 2016].
  3. DrSant บทความสุขภาพ.  “ฝีที่เต้านม จิ้มเข็มดูด จิ้มเข็มดูดลูกเดียว อย่ารีบผ่า”.  (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : visitdrsant.blogspot.com.  [05 ธ.ค. 2016].
  4. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.  “ภาวะเต้านมเป็นฝี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bumrungrad.com.  [05 ธ.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด