ฝี
ฝี (Abscess, Boils หรือ Furuncles) คือ เนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อจนก่อให้เกิดต่อมบวมขึ้นกลัดหนองข้างใน (เป็นการอักเสบของต่อมไขมันและที่ขุมขนของผิวหนัง) สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะและการผ่าฝีเพื่อให้หนองไหลออกมา ซึ่งเมื่อมีฝีเกิดขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
ฝี เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำก็อาจเป็นฝีได้บ่อย ฝีส่วนใหญ่มักขึ้นเพียงหัวเดียว แต่ในบางรายอาจขึ้นหลาย ๆ หัวติดกันเรียกว่า “ฝีฝักบัว” (Carbuncles) แต่ถ้าเกิดฝีขึ้นที่บริเวณทวารหนักจะเรียกว่า “ฝีรอบทวารหนัก” (Perianal abscess) ส่วนขนาดของฝีมีได้แตกต่างกันไปตั้งแต่ขนาดเล็กเป็นมิลลิเมตรไปจนถึงขนาดใหญ่หลายเซนติเมตร โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเนื้อเยื่อหรืออวัยวะทั่วร่างกาย เช่น ผิวหนัง ตับ ไต ปอด และสมอง
สาเหตุการเกิดฝี
โดยทั่วไปฝีเกิดจากเชื้อโรคได้หลายชนิด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และอะมีบา แต่ส่วนใหญ่แล้วฝีมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) นอกจากนี้ยังอาจเกิดได้จากสิ่งแปลกปลอมภายนอกอื่น ๆ เช่น เศษวัสดุ กระสุน หรือการถูกเข็มทิ่ม ฯลฯ และฝีอาจติดต่อได้โดยการสัมผัสถูกผู้ป่วยโดยตรง
ผู้ที่มีโอกาสเป็นฝีได้บ่อย ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน เพราะภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะเป็นตัวสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค, ผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ เพราะยาประเภทนี้จะไปกดระบบภูมิคุ้มกันที่คอยต่อต้านเชื้อโรค, ผู้ที่มีปัญหาด้านโภชนาการ เช่น ขาดสารอาหาร โลหิตจาง เป็นความผิดปกติที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ จึงทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าปกติ เป็นต้น
ลักษณะของฝี
ฝีเป็นกลุ่มหนองซึ่งเป็นซากของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (Neutrophil) ที่ตายแล้วและสะสมอยู่ภายในโพรงของเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นกระบวนการของการติดเชื้อ การเกิดฝีนี้เป็นกระบวนการตอบสนองของเนื้อเยื่อในร่างกายต่อเชื้อโรคเพื่อกำจัดการแพร่กระจายไม่ให้แพร่ไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยจุลชีพก่อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายจะมีการทำลายเซลล์ในตำแหน่งนั้น ๆ ทำให้เกิดการหลั่งสารพิษไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเลือดขาวจำนวนมากเข้ามาในบริเวณที่เชื้อโรคบุกรุกและเกิดการไหลเวียนของเลือดในบริเวณนั้นมากขึ้น
โครงสร้างของฝีภายนอกนั้นจะประกอบไปด้วยผนังหรือแคปซูลล้อมรอบ ซึ่งเกิดจากเซลล์ปกติข้างเคียงที่มาล้อมเพื่อกำจัดไม่ให้หนองติดต่อไปยังส่วนอื่น ๆ แต่ผนังที่ล้อมรอบโพรงหนองอยู่นั้นอาจทำให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถเข้าไปกำจัดเชื้อแบคทีเรียหรือจุลชีพที่ก่อโรคในหนองนั้นได้
ฝีมีความแตกต่างจากหนองขัง (Empyema) ในแง่ที่ว่าหนองขังเป็นกลุ่มของหนองในโพรงที่มีมาก่อนอยู่แล้ว แต่ฝีเป็นโพรงหนองที่สร้างขึ้นมาภายหลังการติดเชื้อ
อาการของฝี
มักจะขึ้นเป็นตุ่มหรือเป็นก้อนนูน บวม แดง ร้อน และปวด กดถูกเจ็บ มีผมหรือขนอยู่ตรงกลาง เมื่อขึ้นใหม่ ๆ จะมีลักษณะแข็ง และตุ่มนี้จะขยายโตขึ้นและเจ็บมาก ต่อมาจะค่อย ๆ นุ่มลงและกลัดหนอง บางครั้งเมื่อฝีเป่งมาก ๆ อาจแตกเองได้ (หลังฝีขึ้นไม่กี่วัน หรือประมาณ 1-2 สัปดาห์) แล้วอาการเจ็บปวดจะทุเลาลงไป
ในบางครั้งอาจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงอักเสบด้วย เช่น ถ้าเป็นที่ข้อมือ อาจมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ถ้าเป็นที่ฝ่าเท้าก็อาจมีอาการไข่ดัน (ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ) บวมและปวด เป็นต้น
ในรายที่เป็นฝีเพียงหัวเดียว อาการทั่วไปมักเป็นปกติ เมื่อหายแล้วมักกลายเป็นแผลเป็น ส่วนในรายที่เป็นฝีฝักบัว (ขึ้นหลายหัวติด ๆ กัน) อาจมีอาการไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของฝี
- เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นฝีที่ไต (Perinephric abscess), โลหิตเป็นพิษ (Bacteremia), กระดูกอักเสบเป็นหนอง (Osteomyelitis)
- ถ้าเป็นฝีตรงบริเวณกลาง ๆ ของใบหน้า เช่น กลางสันจมูก หรือริมฝีปากด้านบน แล้วบีบแรง ๆ เชื้ออาจแพร่กระจายเข้าสมองเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีรักษาฝี
- ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัด ๆ (ความอุ่นในขนาดที่พอทนได้ ไม่ร้อนจัด) ประคบวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10-15 นาที เพื่อช่วยเร่งให้ฝีแตกเร็วขึ้น (การรักษาต้องทำให้ฝีแตกและแห้งจึงจะหาย ส่วนความร้อนจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดมาที่ฝีมากขึ้น จึงทำให้มีเซลล์เม็ดเลือดขาวมาสู้กับเชื้อฝีได้มากขึ้นด้วย)
- ให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol)
- แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) หรือไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) นานประมาณ 5-7 วัน (ชนิดของยาปฏิชีวนะจะขึ้นกับความรุนแรงของรอยโรค ดังนั้นจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา)
- ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานวันละ 12.5-25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ทั้งหมดนี้ให้รับประทานก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน นานประมาณ 5-10 วัน
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นยาที่ใช้แทนไดคล็อกซาซิลลิน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานวันละ 30-50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้ควรให้หลังอาหารและก่อนนอน โดยทั่วไปควรให้นาน 5-10 วัน
- โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ให้รับประทานในขนาด 375 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ทุก 8 ชั่วโมง หรือขนาด 625 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ส่วนในเด็กอายุ 6-12 ปี ให้ใช้ในขนาด 457 มิลลิกรัม/ช้อนชา รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง และในเด็กอายุ 1-6 ปี ให้ใช้ในขนาด 156 มิลลิกรัม/ช้อนชา ครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง ทุก 8 ชั่วโมง หรือใช้ในขนาด 228 มิลลิกรัม/ช้อนชา ครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง
- ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง นาน 7-14 วัน
- ถ้าฝีสุก (ฝีมีลักษณะนุ่มเต็มที่แล้ว) ควรไปพบแพทย์เพื่อใช้เข็มเจาะดูดหรือผ่าระบายเอาหนองออก พร้อมกับใส่ผ้าเป็นหมุดระบายหนอง เพื่อช่วยชะล้างแผลและเปลี่ยนหมุดทุกวันจนกระทั่งแผลตื้น
- คำแนะนำในการดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่อเป็นฝี
- ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการรับประทานยาปฏิชีวนะที่ต้องรับประทานให้ครบ ไม่ควรหยุดยาเองแม้ฝีจะยุบหมดแล้วก็ตาม
- อย่าบีบหัวฝีหรือเจาะหนองออกเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าฝีขึ้นตรงกลางใบหน้า เพราะจะทำให้เชื้อลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ
- รักษาหรือควบคุมโรคประจำตัวต่าง ๆ ให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขอนามัยของผิวหนังตามปกติ (ใช้สบู่ทำความสะอาดเมื่ออาบน้ำ อาจใช้สบู่อ่อนที่มีส่วนผสมยาฆ่าเชื้อ) ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายหรือไปยังคนใกล้ชิด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน เน้นการรับประทานผลไม้จำพวกเบอร์รี่ อาหารที่มีกระเทียมเป็นส่วนประกอบ (เพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย) และดื่มน้ำให้ได้วันละ 8-10 แก้ว ส่วนอาหารที่ควรงด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว อาหารที่ผ่านการแปรรูป และอาหารที่ก่อให้เกิดความเครียดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ (เช่น น้ำตาลขัดขาว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
- ควรทำแผลเมื่อหนองแตกวันละ 2-3 ครั้ง โดยใช้อุปกรณ์ทำแผลที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค
- ในรายที่เป็นฝีบ่อย ๆ อาจมีภูมิคุ้มกันต่ำ เนื่องจากขาดสารอาหาร โลหิตจาง เป็นโรคเบาหวาน เอดส์ หรือรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ในกรณีนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดและรับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ
- ในกรณีที่เป็นฝีรอบทวารหนัก ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อผ่าระบายเอาหนองออก
- ผู้ป่วยที่เป็นเมลิออยโดซิส (Melioidosis) อาจแสดงอาการของการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ เช่น มีตุ่มนูน ตุ่มหนอง ฝี แผลเรื้อรัง แผลอักเสบ เป็นต้น ถ้าให้การรักษาแล้วไม่ได้ผลหรือสงสัยว่าเป็นโรคนี้ เช่น พบในคนอีสานที่เป็นโรคเบาหวาน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
- สมุนไพรรักษาฝี ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด (จากฐานข้อมูลสมุนไพรภายในเว็บไซต์เมดไทย) ที่สำคัญ ได้แก่
- ขมิ้นชัน (Curcuma longa L.) ใช้เหง้าขมิ้นแก่สดนำมาฝนกับน้ำต้มสุก หรือจะใช้ผงขมิ้นชันทาบริเวณที่เป็นฝีก็ได้
- ขมิ้นอ้อย (Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe) ใช้เหง้าขมิ้นอ้อยสด, ต้นและเมล็ดของเหงือกปลาหมอ อย่างละเท่ากันมากน้อยตามต้องการ นำมาตำรวมกันจนละเอียดแล้วใช้พอกบริเวณที่เป็นเช้าเย็น
- คว่ำตายหงายเป็น (Bryophyllum pinnatum (Lam.) Oken) ใช้รากและใบสดรวมกัน 60 กรัม นำมาตำให้พอแหลกคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้ง ใช้รับประทาน ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี
- โคกกระออม (Cardiospermum halicacabum L.) ใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเกลือเล็กน้อย แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี
- จักรนารายณ์ (Gynura divaricata (L.) DC.) ใช้ใบสดนำมาตำให้แหลกแล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นหรือจะใช้ใบสดนำมาตำผสมกับเหล้าแล้วนำมาใช้พอกก็ได้เช่นกัน
- เจตมูลเพลิงแดง (Plumbago indica L.) ให้ใช้ต้นสด 20 กรัม นำมาตำให้แหลกผสมกับเกลือเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นฝีจนเริ่มรู้สึกว่าร้อนแล้วให้เอาออก (เพื่อไม่ให้ผิวหนังเกิดพุพอง)
- ชุมเห็ดเทศ (Senna alata (L.) Roxb.) ใช้ใบตำพอกเพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็ว และใช้ใบรวมก้านสด 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำพอท่วม เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 แล้วนำมาใช้ชะล้างฝีที่แตกแล้วหรือแผลพุพอง วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
- ดอกดินแดง (Aeginetia indica L.) ใช้ดอกสดมาตำผสมกับน้ำมันงาเล็กน้อย แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี
- โด่ไม่รู้ล้ม (Elephantopus scaber L.) ใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเกลือเล็กน้อยและละลายน้ำส้มสายชูพอข้น ๆ แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี
- ต้อยติ่ง (Ruellia tuberosa L.) ให้นำฝักแก่สีน้ำตาลแดงนำมาแกะเอาเมล็ดออก ใช้ประมาณ 1 หยิบมือ วางลงบนฝ่ามือแล้วหยดน้ำให้พอแฉะ เมล็ดเล็กแบนจะพองออกจับกันเหนียว แผ่ออกบาง ๆ ให้ใหญ่เท่าขนาดของฝี แล้วนำมาใช้แปะลงบนฝี คอยเติมน้ำให้ยาเปียกอยู่เสมอ และเปลี่ยนยาทุกเช้าและเย็น ซึ่งจะช่วยดูดหนองและลดการอักเสบของฝีได้
- ตาลเดี่ยว (Spathoglottis affinis de Vriese) ใช้หัวนำมาตำผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาทาแก้ฝี
- ทองหลางใบมน (Erythrina suberosa Roxb.) ใช้เปลือกต้นตำผสมกับข้าวเป็นยาพอกฝีแก้ปวดแสบปวดร้อน
- เทียนกิ่ง (Lawsonia inermis L.) น้ำต้มจากใบสดหรือใบแห้ง นำมาใช้น้ำชะล้างหรือทารักษาโรคผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ และรักษาฝีได้
- เทียนบ้าน (Impatiens balsamina L.) ใช้ส่วนของต้น (ไม่รวมราก) 1 ต้น นำมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณหัวฝี หรือจะใช้เฉพาะใบสดประมาณ 5-10 ใบ ที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาตำให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่เป็นวันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย หรือจะใช้กากที่ตำได้จากลำต้นนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็นฝีก็ได้ แต่เวลาที่ตำควรสวมถุงมือหรือถุงพลาสติกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้สีติดมือ
- เท้ายายม่อม (Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze) ใช้แป้งเท้ายายม่อมนำมานวดกับน้ำอุ่นให้พอเป็นยางเหนียว ๆ แล้วใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นฝี
- นุ่น (Ceiba pentandra (L.) Gaertn.) นำใบมาเผาไฟผสมกับขมิ้นอ้อยและข้าวสุกใช้เป็นยาพอกฝีให้แตกหนอง
- บวบหอม (Luffa cylindrica (L.) M.Roem.) ให้ใช้ดอกสดผสมกับฮั่วเถ่าเช่าสด นำไปตำใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นฝี
- บัวบก (Centella asiatica (L.) Urb.) ให้ใช้ทั้งต้นสด 1 กำมือ ที่ล้างให้สะอาดแล้ว นำตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำนำมาชโลมบริเวณที่เป็นหรือจะใช้กากพอกบริเวณที่เป็นฝีด้วยก็ได้ โดยให้ทำวันละ 3 ครั้งจนกว่าจะหาย
- บานเย็น (Mirabilis jalapa L.) ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปกับอุ่นไฟให้ร้อนพอทนได้ นำมาใช้พอกรักษาฝี แผลมีหนองต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้หนองออกมา
- ผักกาดส้ม (Rumex crispus L.) รากนำมาทุบห่อผ้าทำเป็นลูกประคบฝี หากฝีแตกแล้ว ให้ใช้รากฝนกับน้ำทาบริเวณที่เป็น
- ผักขมใบแดง (Amaranthus caudatus L.) ใช้ใบ 3 ใบ นำมาตำผสมกับใบมันเทศ 3 ใบ ใช้เป็นยาพอกรักษาฝี
- ผักโขมหนาม (Amaranthus spinosus L.) นำรากมาเผาไฟพอข้างนอกดำ ใช้จี้ที่หัวฝี จะช่วยทำให้ฝีที่แก่แตกออก
- ผักบุ้งทะเล (Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br.) ใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลก ผสมกับน้ำตาลทรายแดงหรือน้ำผึ้ง แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี
- ผักเป็ดน้ำ (Alternanthera philoxeroides (Mart.) Griseb.) ใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับน้ำผึ้งแล้วทาบริเวณที่เป็นฝี
- พระจันทร์ครึ่งซีก (Lobelia chinensis Lour.) ใช้ต้นสดพอประมาณ ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ตำให้แหลก ใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี
- เพกา (Oroxylum indicum (L.) Kurz) ใช้เปลือกต้นนำมาฝนแล้วทารอบ ๆ บริเวณที่เป็นฝี
- ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees) ใช้ใบค่อนข้างแก่ประมาณ 1 กำมือ และเกลือ 3 เม็ด นำมาตำผสมรวมกันในครกจนละเอียด แล้วใช้สุราครึ่งถ้วยชา น้ำครึ่งช้อนชา ใส่รวมลงไปคนให้เข้ากันแล้วเทกินค่อนถ้วยชา ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกแผลฝี แล้วใช้ผ้าสะอาดพักไว้ (ตอนพอกเสร็จใหม่ ๆ อาจจะรู้สึกปวดบ้างเล็กน้อย)
- ไฟเดือนห้า (Asclepias curassavica L.) ใช้เมล็ดประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน และใช้รากสดตำพอกบริเวณที่เป็นฝี
- มังคุด (Garcinia × mangostana L.) ใช้เปลือกผลแห้งนำมาย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใส ใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี
- ราชดัด (Brucea javanica (L.) Merr.) ใบใช้ตำกับปูนพอกแก้ฝี
- ราชพฤกษ์ (Cassia fistula L.) ใช้เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทารักษาฝี
- ลูกใต้ใบ (Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn.) ใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเหล้า แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี
- เล็บเหยี่ยว (Ziziphus oenopolia (L.) Mill.) รากนำมาฝนกับน้ำใช้เป็นยาทาแก้ฝี
- ว่านเพชรหึง (Grammatophyllum speciosum Blume) ใช้ลำต้นฝนกับน้ำซาวข้าวนำมาพอกทารักษาฝี
- ว่านมหากาฬ (Gynura pseudochina (L.) DC.) ต้นสดนำมาตำให้พอแหลก หรือใช้ใบสดนำมาโขลกผสมกับเหล้าใช้เป็นยาพอกฝี ส่วนอีกวิธีให้ใช้หัวนำมาตำพอกหรือฝนกับน้ำปูนใส ใช้ทารักษาฝีวันละ 3-4 ครั้ง
- ว่านแร้งคอดำ (Crinum latifolium L.) หัวนำมาทุบเผาไฟ ใช้ทาเป็นยารักษาฝี
- ว่านหางจระเข้ (Aloe vera (L.) Burm.f.) ใช้วุ้นจากใบนำมาแปะบริเวณฝีให้มิดชิดและใช้ผ้าปิดไว้ หยอดน้ำเมือกลงตรงแผลให้ชุ่มอยู่เสมอ และให้เปลี่ยนยาวันละ 3 ครั้ง
- สาบแร้งสาบกา (Ageratum conyzoides (L.) L.) ใช้ใบสดนำมาผสมกับน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย แล้วตำพอกบริเวณที่เป็นฝี
- เสลดพังพอนตัวเมีย (Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau) ใช้ใบนำมาโขลกผสมกับเกลือและเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี เปลี่ยนยาทุกเช้าและเย็น
- แสยก (Euphorbia tithymaloides L.) ให้ใช้ต้นแสยกสด, โถวหงู่ฉิก, หน่ำจั่วเต็ก อย่างละเท่า ๆ กัน นำมาตำรวมกันใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี
- โสมไทย (Talinum paniculatum (Jacq.) Gaertn.) ใช้ใบสดกับน้ำตาลทรายแดง นำมาตำผสมกันให้ละเอียดจนเข้ากัน ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นฝี
- หนุมานนั่งแท่น (Jatropha podagrica Hook.) ใช้น้ำยางจากเป็นยาทารักษาฝี
- หญ้าขัดใบยาว (Sida acuta Burm.f.) นำใบมาอังกับไฟให้พอสุก แล้วทาด้วยน้ำมันงาใช้แปะบริเวณที่เป็นฝีหรือหนอง จะช่วยทำให้ฝีหัวแก่เร็วหรือช่วยกลัดหนองเร็วขึ้น
- สมุนไพรที่นำมาใช้ตำพอกบริเวณที่เป็นฝี ได้แก่ เหง้าและรากกระชาย (Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.), ใบกระดึงช้างเผือก (Trichosanthes tricuspidata Lour.), รากกระถินเทศ (Acacia farnesiana (L.) Willd.), ใบกระสัง (Peperomia pellucida (L.) Kunth), ใบกรุงเขมา (Cissampelos pareira L.), ต้นแก้วลืมวาง (Dianthus chinensis L.), ใบขอบชะนาง (Gonostegia pentandra (Roxb.) Miq.), ใบหรือรากข้าวสารป่า (Pavetta tomentosa Roxb. ex Sm.), ใบหรือรากเข็มป่า (Pavetta indica L.), ใบคนทีเขมา (Vitex negundo L.), ยอดคัดเค้า (Oxyceros horridus Lour.), ใบเครือพูเงิน (Argyreia mollis (Burm. f.) Choisy), ใบฆ้องสามย่าน (Kalanchoe laciniata (L.) DC.), ใบเจตมูลเพลิงขาว (Plumbago zeylanica L.), ใบชุมเห็ดไทย (Senna tora (L.) Roxb.), ผลชะมดต้น (Abelmoschus moschatus Medik.), ใบตีนตุ๊กแก (Tridax procumbens (L.) L.), ถั่วเขียวดิบหรือต้มสุก (Vigna radiata (L.) R.Wilczek), ใบทองกวาว (Butea monosperma (Lam.) Taub.), ใบทองหลางป่า (Erythrina subumbrans (Hassk.) Merr.), ต้นโทงเทง (Physalis angulata var. angulata), รากเนียมอ้ม (Chloranthus spicatus (Thunb.) Makino), ต้นบานไม่รู้โรย (Gomphrena globosa L.), ใบของต้นใบระบาด (Argyreia nervosa (Burm. f.) Bojer), ใบอ่อนประดู่ (Pterocarpus indicus Willd.), ผลปอกระสา (Broussonetia papyrifera (L.) L’Hér. ex Vent.), ใบและก้านผกากรอง (Lantana camara L.), ใบผักขมหิน (Boerhavia diffusa L.), ใบผักเชียงดา (Gymnema inodorum (Lour.) Decne.), ทั้งต้นหรือใบผักเสี้ยน (Cleome gynandra L.), ต้นผักบุ้งรั้ว (Ipomoea cairica (L.) Sweet), ดอกพุทธรักษา (Canna indica L.), ต้นแพงพวยน้ำ (Ludwigia adscendens (L.) H.Hara), ต้นพันงูเขียว (Stachytarpheta jamaicensis (L.) Vahl), ใบมะเขือขื่น (Solanum aculeatissimum Jacq. ), ใบมะเขือดง (Solanum erianthum D. Don), ใบมะเขือเปราะ (Solanum virginianum L.), ใบมะเขือพวง (Solanum torvum Sw.), ผลมะเขือม่วง (Solanum melongena L.), ขั้วผลมะเขือยาว (Solanum melongena L.), ดอกหรือใบมะลิ (Jasminum sambac (L.) Aiton), ใบมันเทศ (Ipomoea batatas (L.) Lam.), ใบไมยราบยักษ์ (Mimosa pigra L.), ใบละหุ่ง (Ricinus communis L.), ใบลำโพงดอกขาว (Datura metel L.), ใบลำโพงกาสลัก (Datura metel L.), ใบว่านเขียวหมื่นปี (Dieffenbachia seguine (Jacq.) Schott ), หัวว่านคันทมาลา (Curcuma Sp.), ใบสบู่แดง (Jatropha gossypifolia L.), ใบสร้อยทองทราย (Polycarpaea corymbosa (L.) Lam.), ใบส้มเช้า (Euphorbia neriifolia L.), เปลือกส้มโอ (Citrus maxima (Burm.) Merr.), ใบสะเดาอินเดีย (Azadirachta indica A.Juss.), ใบสะแอะ (Capparis zeylanica L.), ลำต้นหรือเหง้าหญ้ากกดอกขาว (Kyllinga brevifolia Rottb.), ใบหญ้างวงช้าง (Heliotropium indicum L.), ใบ ราก หรือเมล็ดหมี่ (Litsea glutinosa (Lour.) C.B.Rob.), ทั้งต้นหนาดดอย (Laggera pterodonta (DC.) Sch.Bip. ex Oliv.), ต้นอัคคีทวาร (Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb.) ฯลฯ
วิธีป้องกันการเกิดฝี
- รักษาความสะอาดของผิวหนังอยู่เสมอ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และอาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเป็นปกติ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่เป็นประจำ หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ
- รักษาหรือควบคุมโรคเรื้อรัง โรคประจำตัวให้ได้ดี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ฝีฝักบัว (Carbuncle) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคฝีฝักบัว 7 วิธี !!
- ฝีคัณฑสูตร อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคฝีคัณฑสูตร 10 วิธี !!
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “ยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะ (Antimicrobial drugs/Antibiotics)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 236.
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ฝี (Abscess/Boils/Furuncles)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 986-987.
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ฝี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org. [13 ส.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)