ผ่าเสี้ยน
ผ่าเสี้ยน ชื่อสามัญ Indochinese Milla, Kyetyo[2]
ผ่าเสี้ยน ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex canescens Kurz จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]
สมุนไพรผ่าเสี้ยน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ไผ่เสี้ยน (แพร่), ซังอา (อัตรดิตถ์), จงอาง โจงอางต้น สะคางต้น (เลย), แปะ (นครราชสีมา), พะหวัง (กำแพงเพชร), หมากเล็กหมากน้อย (กาญจนบุรี), มะกระ สามใบ (จันทบุรี), ขี้เห็น สวองหยวก (สระบุรี), สมอตีนเป็ด (ประจวบคีรีขันธ์), กำจัง (พัทลุง), จัง (นครศรีธรรมราช), คำปอน คำปาน ซ้อเสี้ยน ผ่าเสี้ยน (ภาคเหนือ), สมอกานน (ภาคตะวันตกเฉียงใต้), กานนหลัว ข้องแลง (ภาคใต้) เป็นต้น[1]
ลักษณะของผ่าเสี้ยน
- ต้นผ่าเสี้ยน จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-25 เมตร แตกกิ่งก้านมาก กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม เปลือกนอกเป็นสีน้ำตาล แตกแบบรอยไถ ร่องเอียง ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีเหลืองอ่อน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตัดกิ่งปักชำ พบขึ้นในป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และตามป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงไม่เกิน 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล ทั่วประเทศของประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่อินเดียและพม่า[1],[2]
- ใบผ่าเสี้ยน ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อยประมาณ 3 หรือ 5 ใบ ใบย่อยใบยอดมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยอื่น ๆ ส่วนใบย่อยด้านข้างมีขนาดเล็กลดหลั่นกันไป โดยใบที่อยู่ติดก้านใบจะมีขนาดเล็กที่สุด ก้านใบร่วมมีขนาดยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่ หรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร แผ่นบางและนิ่ม มีขนทั้งสองด้าน ใบอ่อนมีขนมาก ส่วนใบแก่หลังใบจะมีขนเพียงเล็กน้อย ท้องใบมีขนอ่อนนุ่มมาก โดยเฉพาะตรงเส้นกลางใบและเส้นใบ เส้นแขนงใบย่อยมีประมาณ 6-14 คู่ ก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.4-2.5 เซนติเมตร โดยก้านใบย่อยส่วนปลายยอดจะยาวกว่าก้านใบย่อยด้านข้าง ผลัดใบในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2]
- ดอกผ่าเสี้ยน ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงหรือช่อแบบเชิงลดประกอบ ออกเรียงตัวเป็นวงรอบของก้านดอก โดยจะออกบริเวณปลายกิ่งและซอกใบที่ร่วงไปแล้ว กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกจะแยกออกเป็น 2 ฝา ฝาบนมี 2 กลีบ ส่วนฝาล่างมี 3 กลีบ โคนกลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน แต่ปลายกลีบเป็นสีม่วงครามอ่อน ด้านนอกมีขน กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายกลีบหยักเล็กน้อยเป็นแฉก 5 แฉก สีน้ำตาล ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[1],[2]
- ผลผ่าเสี้ยน ผลเป็นผลสดเมล็ดเดี่ยวหรือผลสดมีเนื้อหลายเมล็ด แต่ละผลมีเนื้อ 1-4 เมล็ด ผลมีลักษณะกลม มีขนาดประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือสีเหลือง เมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลดำจนถึงสีดำ ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2]
สรรพคุณของผ่าเสี้ยน
- รากผ่าเสี้ยน มีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)[3]
- ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นเป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)[3]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตานขโมย (โรคพยาธิในเด็ก มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ซูบซีด ท้องเดิน พุงโร ก้นป่อง) (เปลือกต้น)[3]
- เปลือกต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกต้น, ราก)[3]
- ใช้เป็นยาแก้บิด แก้เด็กถ่ายเป็นฟอง (เปลือกต้น)[3]
- ต้นผ่าเสี้ยนใช้ผสมกับขี้เหล็กบ้าน ขี้เหล็กแดง และขี้เหล็กขี้กลาก เป็นยาแก้โรคติดเชื้อ เช่น ซิฟิลิส โกโนเรีย[1]
ประโยชน์ของผ่าเสี้ยน
- เนื้อไม้ผ่าเสี้ยนมีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำที่อยู่อาศัย ทำเครื่องเรือน โต๊ะขนาดเล็ก เครื่องจักสาน เครื่องมือใช้สอย เครื่องมือทางการเกษตร และใช้ทำฟืน[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ผ่าเสี้ยน”. หน้า 138.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ผ่าเสี้ยน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [14 พ.ย. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “ลักษณะต้นผ่าเสี้ยน”. อ้างอิงใน : หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [14 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Qing-long Wang), www.thaikasetsart.com, www.biogang.net (by wawaza)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)