ผักโขมหนาม
ผักโขมหนาม ชื่อสามัญ Spiny amaranth, Spiny pigweed
ผักโขมหนาม ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus spinosus L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)
ผักโขมหนาม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักขมหนาม, ผักหมหนาม, ผักขมสวน (ภาคกลาง), ผักโหมหนาม (ภาคใต้), ปะตึ, ปะตี (เขมร), แม่ล้อคู่, กะเหม่อลอมี แม่ล้อกู่ (แม่ฮ่องสอน-กะเหรี่ยง), ด่อเร่น (ปะหล่อง), บะโด่ (ลั้วะ) เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาเขตร้อน[1],[3],[4],[5],[7]
ลักษณะของผักโขมหนาม
- ต้นผักโขมหนาม จัดเป็นพืชล้มลุก มีอายุสั้นประมาณ 2-4 เดือน เมื่อออกดอกติดเมล็ดแล้วจะค่อย ๆ เหี่ยวแห้งตายไปเอง หรือเรียกว่าเป็นพืชที่มีอายุปีเดียว ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงและแตกกิ่งมาก ลำต้นเป็นเหลี่ยมหรือกลม ผิวเรียบ มีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น มีความสูงประมาณ 1 เมตร การเกาะติดของใบบนกิ่งเป็นแบบสลับ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1]
- ใบผักโขมหนาม มีใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกกว้าง มีขนาดกว้างประมาณ 4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ส่วนโคนใบสอบแคบ ลักษณะของขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ส่วนก้านใบยาวประมาณ 7 เซนติเมตร และมีหนามแหลมยาว 2 อันอยู่ที่โคนก้านใบ[1]
- ดอกผักโขมหนาม ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด หรือเป็นช่อแบบกระจุก ออกที่บริเวณปลายกิ่ง ตามซอกใบ ซอกกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเมล็ด ลักษณะของกลีบดอกเป็นเหมือนกาบปลายแหลมสีขาวและเขียวขนาดเล็ก[1]
- ผลผักโขมหนาม ผลเป็นแบบแห้งแล้วแตก เป็นรูปขอบขนาน ปลายแยกเป็น 3 พู โดยจะแตกตามขวางของผล ในผลมีเมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกลม ตรงกลางทั้งสองด้านจะนูน มีขนาดเล็กมากประมาณ 0.05 เซนติเมตร และเมล็ดผักโขมหนามมีสีน้ำตาลเป็นมันเงา[1],[2]
คุณค่าทางโภชนาการของผักโขมหนาม ต่อ 100 กรัม
ในส่วนของใบผักโขมหนามในส่วนที่รับประทานได้จะประกอบไปด้วย เบตาแคโรทีน 4-8 มิลลิกรัม, วิตามินซี 60-120 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 300-400 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 4-9 มิลลิกรัม โดยถือว่าผักโขมหนามเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงสุดชนิดหนึ่ง[5]
สรรพคุณของผักโขมหนาม
- ช่วยลดและต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากผักโขมหนามเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงมาก[5]
- ช่วยแก้ไข้ ระงับความร้อนในร่างกาย (ราก)[6]
- ใช้รักษาเด็กที่ลิ้นเป็นฝ้าละออง มีอาการเบื่ออาหาร (ราก)[6]
- รากช่วยแก้อาการช้ำใน (ราก)[6]
- ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ราก)[5]
- ช่วยแก้อาการแน่นท้อง ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น[2],[3], ราก[6])
- ใช้เป็นยาระบายในเด็ก (ต้น, ใบ, ราก)[3],[5]
- ช่วยรักษาอาการบิดถ่ายเป็นเลือด (ทั้งต้น)[7]
- ทั้งต้นมีฤทธิ์ในการบีบตัวของลำไส้เล็ก (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการตกเลือด ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ทั้งต้น)[2],[3],[5],[6]
- ใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ (ทั้งต้น[2],[3], ราก[5])
- ช่วยแก้หนองใน รักษากามโรค (ราก)[5]
- ช่วยรักษาอาการตกขาวของสตรี (ทั้งต้น)[7]
- ช่วยรักษานิ่วในถุงน้ำดี ด้วยการใช้ต้นสดที่มีสีเขียวจำนวน 200 กรัมต้มกับไส้หมู 1 ท่อน แล้วนำมารับประทาน อาการจะดีขึ้น (ต้นสด)[7]
- รากมีฤทธิ์ช่วยต่อต้านสารพิษที่มาทำลายตับได้ (ราก)[2]
- ทั้งต้นผักโขมหนาม ใช้ผสมกับข้าวโพดทั้งต้น ต้มกับน้ำดื่มแก้บวม (ทั้งต้น)[2]
- ใบผักโขมหนาม ในประเทศอินโดนีเซียใช้ในการพอกแผล (ใบ)[3]
- ใช้แก้ฝี ด้วยการใช้รากผักโขมหนามนำมาเผาไฟพอข้างนอกดำ ใช้จี้ที่หัวฝี ช่วยทำให้ฝีที่แก่แตก (ราก)[2],[6]
- ช่วยแก้ขี้กลาก (ราก)[6]
- ใบนำมาตำใช้พอกปิดแผลที่เป็นหนอง (ใบ)[5]
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (ใบ)[5]
- ช่วยแก้อาการบวมอักเสบต่าง ๆ (ทั้งต้น)[7]
- ช่วยแก้พิษ (ราก)[6]
- ช่วยแก้พิษงู งูกัด (ใบ[5], ทั้งต้น[7])
- ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนัง (ต้น, ใบ, ราก)[3] ใบต้มกับรากใช้อาบช่วยรักษาอาการคันตามผิวหนัง (ใบ, ราก)[5]
- ช่วยขับและส่งเสริมการไหลของน้ำนมของสตรี ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น[2],[3], ราก[5],[6])
ข้อควรรู้ ! : มีรายงานจากประเทศบราซิลว่า ผักโขมหนามมีพิษต่อวัว ควาย และม้า ทำให้สัตว์เลี้ยงดังกล่าวเกิดอาการเบื่ออาหาร เซื่องซึม น้ำหนักตัวลดลง มีอาการท้องเสียและกลิ่นเหม็นมาก บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาในอุจจาระ[2]
ประโยชน์ของผักโขมหนาม
- ผักโขมหนามสามารถใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือจะนำลำต้นไปประกอบอาหารก็ได้ ด้วยการลอกเปลือกและหนามออกให้หมด ส่วนใบ ยอดอ่อน และดอก ใช้นึ่งกิน หรือนำไปคั่ว หรือผัด ยอดอ่อนใช้ทำแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงอ่อม แกงใส่เนื้อหมู ผัดน้ำมัน ฯลฯ ส่วนต้นอ่อนนำไปแกง[3],[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ผักขมหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผักโขมหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ผักโขมหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [13 พ.ย. 2013].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Spiny amaranth, Spiny pigweed”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 พ.ย. 2013].
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. “ผักโขมหนาม สมุนไพรมากคุณค่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [13 พ.ย. 2013].
- รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่อง ผักขม“. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2543. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: dc.oas.psu.ac.th/dcms/files/03180/Chapter4(8-50).pdf. [13 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Prof KMS, mingiweng, dinesh_valke, Navida2010, judymonkey17, Foggy Forest)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)