ผักเบี้ยใหญ่ สรรพคุณและประโยชน์ของผักเบี้ยใหญ่ 30 ข้อ !

ผักเบี้ยใหญ่

ผักเบี้ยใหญ่ ชื่อสามัญ Purslane, Common purslane, Common garden purslane, Pigweed purslane[1],[2],[3]

ผักเบี้ยใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Portulaca oleracea L. จัดอยู่ในวงศ์ผักเบี้ย (PORTULACACEAE)[1]

สมุนไพรผักเบี้ยใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักตาโค้ง (นครราชสีมา), ผักอีหลู ตะก้ง (อุบลราชธานี), ผักเบี้ยดอกเหลือง (ภาคกลาง), ผักอีหลู (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), แบขี่เกี่ยง ตือบ้อฉ่าย (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[3],[5]

ลักษณะของผักเบี้ยใหญ่

  • ต้นผักเบี้ยใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย กระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน เป็นพืชที่มีอายุเพียงปีเดียว ลำต้นเตี้ยเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน บางครั้งปลายตั้งชูขึ้นได้สูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไป ลำต้นอวบน้ำเป็นสีเขียวอมแดง ก้านกลม จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขึ้นได้เองโดยไม่ต้องทำการเพาะปลูก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ มักขึ้นบริเวณชายฝั่งริมน้ำที่โล่ง ดินทราย ที่ชื้นแฉะ ที่รกร้างทั่วไป หรือพบขึ้นเป็นวัชพืชตามริมถนน ข้างทางเดิน[1],[2],[3],[4],[5]

ต้นผักเบี้ยใหญ่

  • ใบผักเบี้ยใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปลิ่ม รูปไข่กลับ หรือคล้ายรูปช้อนหรือรูปลิ้นปลายใบมนมีรอยเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบเรียวเล็กลงจนไปติดกับลำต้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบหนา ผิวใบเรียบเป็นมัน ด้านหลังใบเป็นสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบเป็นสีแดงเข้ม ก้านใบสั้น[1],[4],[5]

ใบผักเบี้ยใหญ่

  • ดอกผักเบี้ยใหญ่ ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือบางทีก็ออกเป็นช่อ แต่จะไม่มีก้านดอก ดอกมี 2 เพศ อยู่ในดอกเดียวกัน ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองสด โดยทั่วไปมักออกเป็นกลุ่มประมาณ 3-5 ดอก กลีบเลี้ยงดอกมี 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กซ้อนกันเป็นคู่ ๆ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองสด แต่ละกลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับหรือหัวใจคว่ำลง ปลายกลีบดอกมีรอยเว้าเข้า ก้านสั้นมีขนหรือเยื่อบาง ๆ รอบโคนดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 8-12 อัน รังไข่มี 1 ห้อง ลักษณะเป็นรูปรีป้อม ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ปลายเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 6 แฉก[1],[4],[5]

ดอกผักเบี้ยใหญ่

  • ผลผักเบี้ยใหญ่ ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมหรือรูปรี เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลแล้วแตกออก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมหรือรูปไต สีดำหรือสีเทาดำเป็นเงา บนเปลือกเมล็ดมีจุดกระ[4],[5]

ผลผักเบี้ยใหญ่

สรรพคุณของผักเบี้ยใหญ่

  1. ชาวยุโรปได้เข้าใจกันว่าผักเบี้ยใหญ่นี้มีรสเย็นและช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)[1]
  2. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)[2]
  3. น้ำคั้นของต้นมีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต (น้ำคั้นของต้น)[2]
  4. ใช้แก้เด็กหัวล้าน ด้วยการใช้ยานี้นำมาเคี่ยวให้ข้น ใช้เป็นยาทาหรือเอาไปผิงกับไฟให้แห้ง บดให้เป็นผงผสมกับไขหมูทาบริเวณที่เป็น (ต้น)[5]
  5. ทั้งต้นใช้กินเป็นผักสด มีประโยชน์ต่อฟันมาก โดยน้ำคั้นที่ได้จากต้นเมื่อนำมาผสมกับน้ำมันกุหลาบ จะใช้อมเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้เหงือกบวม และช่วยทำให้ฟันทนได้ (ทั้งต้น)[1]
  1. ช่วยแก้อาการปวดหู ปวดฟัน (น้ำคั้นของต้น)[2]
  2. ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน (ทั้งต้น)[5]
  3. สมุนไพรชนิดนี้มีรสเปรี้ยวเย็น ใช้เป็นยาแก้ร้อน ดับพิษ (ทั้งต้น)[5]
  4. ใช้แก้เด็กเป็นไข้สูง ด้วยการใช้ต้นสดตำพอกวันละ 2 ครั้ง (เข้าใจว่าตำพอกบริเวณศีรษะ) (ต้น)[5]
  5. ใช้แก้เด็กไอกรน ด้วยการใช้ยานี้ปรุง 50% โดยใช้ยานี้สด 250 กรัม ใส่น้ำ 1.5 ลิตร แล้วต้มให้เหลือ 100 ซี.ซี. แล้วแบ่งกิน 3 วัน วันละ 4 ครั้ง โดยทั่วไปแล้วหลังจาก 3 วันจะเห็นผล เด็กจะมีอาการไอลดลงและมีอาการดีขึ้น (ต้น)[5]
  6. น้ำคั้นจากใบสดใช้ผสมกับน้ำผึ้งและน้ำตาล ใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการกระหายน้ำ แก้ไอแห้ง (ใบ)[1] ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้เมล็ดเป็นยาแก้กระหายน้ำและแก้อาการไอ (เมล็ด)[2]
  7. ช่วยกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมามาก (น้ำคั้นของต้น)[2]
  8. ใช้เป็นยาแก้บิดถ่ายเป็นเลือด ให้ใช้ต้นสด 550 กรัม ล้างน้ำให้สะอาด แล้วเอาไปนึ่งประมาณ 3-4 นาที ตำคั้นเอาน้ำมาประมาณ 150 ซี.ซี. ใช้รับประทานครั้งละ 50 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้ง หรือจะใช้ยานี้สด 1 กำมือ ผสมปลายข้าว 3 ถ้วย นำมาต้มเป็นข้าวต้มเละ ๆ รับประทานแบบจืด ๆ ตอนท้องว่างก็ได้ (ต้น)[5]
  9. ใช้ป้องกันบิด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 550 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน 1 เวลา ในระยะที่มีโรคบิดระบาดติดต่อกัน 10 วัน (ต้น)[5]
  10. ใช้แก้เด็กท้องร่วง ด้วยการใช้ยานี้สด 250-500 กรัม นำมาต้มกับน้ำใส่น้ำตาลพอประมาณ แล้วนำมาให้เด็กกินเรื่อย ๆ จนหมดใน 1 วัน โดยให้กินติดต่อกัน 2-3 วัน หรืออาจจะใช้ต้นสดนำมาล้างให้สะอาดผิงไฟให้แห้ง แล้วบดให้เป็นผงกินครั้งละ 3 กรัม กับน้ำอุ่นก็ได้ วันละ 3 ครั้ง (ต้น)[5]
  11. ช่วยหล่อลื่นลำไส้ (ทั้งต้น)[5]
  12. เมล็ดใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (เมล็ด)[2]
  13. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ บางท้องถิ่นจะนำเมล็ดมาตำแล้วต้มกับเหล้าไวน์ ให้เด็กรับประทานเป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)[1],[2]
  14. น้ำคั้นจากใบสดผสมกับน้ำผึ้งและน้ำตาล ใช้ปรุงเป็นยารับประทานแก้ขัดเบา (ใบ)[1] ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้เมล็ดเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา (เมล็ด)[2]
  15. ใช้เป็นยาแก้หนองใน ปัสสาวะขัด ด้วยการรับประทานน้ำคั้นที่ได้จากต้น (ต้น)[5]
  16. ช่วยรักษาริดสีดวงทวารแตกเลือดออก (ทั้งต้น)[5] แก้ริดสีดวงทวารปวดบวม ด้วยการใช้ใบสดผสมกับส้มกบ (Oxalis Thunb.) อย่างละเท่ากัน ต้มเอาไอร้อน พอน้ำอุ่นก็ใช้ชะล้างวันละ 2 ครั้ง (ใบ)[5]
  17. ใช้แก้ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ด้วยการใช้ต้นนี้ 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด เอาน้ำประมาณ 30 ซี.ซี. ผสมกับน้ำเย็นจนเป็น 100 ซี.ซี. ใส่น้ำตาลพอประมาณ ใช้รับประทานครั้งละ 100 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้ง (ต้น)[5]
  18. ใบใช้ตำพอกทาแก้ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อักเสบบวม ไฟลามทุ่ง (ใบ)[2]
  19. ช่วยแก้บวมและรักษาแผลเน่าเปื่อยเป็นหนองเรื้อรัง ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำคั้นเอาน้ำมาต้ม เมื่อเย็นแล้วนำมาใช้ทาหรือใช้ยานี้นำมานึ่งแล้วตำพอกบริเวณที่เป็น (ต้น)[5]
  20. ใช้รักษาฝีประคำร้อย ด้วยการใช้ยานี้ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เผาให้เป็นถ่าน บดให้เป็นผงผสมกับไขหมู แล้วชะล้างบาดแผลให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง แล้วเอายานี้มาพอกวันละ 3 ครั้ง (ต้น)[5]
  21. ใช้รักษาแผลจากแมลงกัดต่อย ด้วยการใช้น้ำคั้นจากต้นนำมาทาบริเวณที่ถูกกัด (ต้น)[5]
  22. ใช้แก้แผลกลาย มีก้อนเนื้องอก เลือดออกเรื่อย ๆ และแผลลามไปเรื่อย ๆ ด้วยการใช้ต้นนี้ประมาณ 500 กรัม นำมาเผาให้เป็นถ่าน บดเป็นผงผสมกับไขหมูทาบริเวณที่เป็น (ต้น)[5]
  23. เนื่องจากพืชชนิดนี้จะมีสารที่เป็นเมือกอยู่ภายในต้น ใช้ทาภายนอกเป็นยาแก้อาการอักเสบและแผลต่าง ๆ ได้ (ใบ)[1]

การเก็บมาใช้ : ให้เก็บในระยะที่ใบและต้นเจริญงอกงามดีและกำลังออกดอก เช่น ในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว และให้เก็บในวันที่ไม่มีฝน โดยตัดมาทั้งต้น ล้างน้ำให้สะอาด ลวกน้ำร้อนแล้วรีบเอาขึ้นมาแช่ในน้ำเย็น เอาขึ้นมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำไปตากแห้งบนเสื่อเก็บเอาไว้ใช้ หรือนำมานึ่งแล้วใช้ได้เลย หรือจะใช้สดเลยก็ได้[5]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ให้นำใบผักเบี้ยใหญ่ตากแห้ง 1 กำมือ นำมาชงกับน้ำร้อนดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น[2] ส่วนการใช้ตาม [5] ให้ใช้ต้นแห้งประมาณ 10-15 กรัม ถ้าสดให้ใช้ 60-120 กรัม นำมาต้มเอาน้ำหรือคั้นเอาน้ำกิน ส่วนการนำมาใช้ภายนอก ให้นำมาผิงไฟให้แห้งแล้วบดให้เป็นผงผสมกับน้ำทา หรือจะต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นก็ได้[5]

ข้อห้ามใช้ : สำหรับคนธาตุอ่อนท้องเสียได้ง่ายและสตรีมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้ และห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้ร่วมกับกระดองตะพาบน้ำ[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักเบี้ยใหญ่

  • สารสำคัญที่พบในผักเบี้ยใหญ่ ได้แก่ แคลเซียม โพแทสเซียม โซเดียม สารสกัดด้วยน้ำ หรือ ether มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ gram-negative bacteria พบว่ามี noradrenaline, dopamine และ dopa ในพืชนี้พบ bioflavonoid liquiritin มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลินของกระต่ายที่เป็นเบาหวาน มีวิตามินซีสูงในพืชที่ยังอ่อน นอกจากนี้ยังพบ alanine, amyrin, compesterol, lauric acid, quercetin, serine, sitosterol, tocopherol, vitamin A[2]
  • ในต้นผักเบี้ยใหญ่พบสารที่เป็นเมือก (mucilage)[1]
  • เมื่อใช้สารสกัดเอทานอล 10% ของส่วนที่อยู่เหนือดินของผักเบี้ยใหญ่กับหนูขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว โดยฉีดเข้าทางช่องท้อง พบว่าจะแสดงฤทธิ์ระงับปวดและอักเสบ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทดลองที่ใช้ diclofenac sodium แต่เมื่อให้ทางปากจะไม่แสดงฤทธิ์ดังกล่าว[6]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมื่อให้วัวกินใบผักเบี้ยใหญ่ ขนาด 48 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบอาการเป็นพิษแต่อย่างใด[2]

ข้อมูลทางคลินิกของผักเบี้ยใหญ่

  • เมื่อปี ค.ศ.1985 ได้มีการทดลองใช้สารสกัดผักเบี้ยใหญ่ในกระต่ายทดลอง ผลการทดลองพบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของกระต่ายที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน โดยสาร Alloxan ได้[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1995 ที่ประเทศอียิปต์ ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากผักเบี้ยใหญ่ในหนูทดลอง ผลการทดลองพบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้[2]
  • จากการใช้ป้องกันบิดจากเชื้อแบคทีเรีย ด้วยการใช้ใบและต้นสดของผักเบี้ยใหญ่ที่ล้างสะอาดแล้วนำมาหั่นให้เป็นฝอย 500 กรัม ใส่น้ำ 1500 ซี.ซี. แล้วต้มให้เหลือ 500 ซี.ซี. เสร็จแล้วรินใส่หม้อให้ผู้ใหญ่กินครั้งละ 70 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 2-7 วัน ส่วนเด็กให้กินเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ โดยใช้ยานี้นำไปต้มหรือผสมข้าวต้ม ใช้กินวันเว้นวัน ใช้กินป้องกันบิดก็ให้กินติดต่อกัน 10 วัน จากการสำรวจในระยะที่โรคบิดระบาด พบว่าคนที่เป็นบิดจะหายได้ง่ายหรือไม่ก็มีอาการไม่รุนแรง[5]
  • จากการใช้แก้บิด ลำไส้อักเสบ ใช้แก้บิดที่เพิ่งเริ่มเป็นได้ผลหาย 50% ขึ้นไป ส่วนในบิดเรื้อรังจะแก้ได้ประมาณ 60% ยานี้กินมากไปก็ไม่มีพิษร้ายแรงอะไร ถือว่ามีความปลอดภัยสูงมาก เพราะเคยมีรายงานว่ามีคนไข้รายหนึ่งได้กินยาปรุงนี้ 100% มีอาการเป็นผื่นคัน ฉะนั้นควรใช้หญ้าสด 500 กรัม ถ้าแห้งให้ลดปริมาณลงมาครึ่งหนึ่ง ในการรักษาส่วนมากจะใช้ยาปรุง 50% ของยาแห้ง โดยใช้ยานี้แบบแห้งหนัก 125 กรัม ใส่น้ำ 1.5 ลิตร แล้วต้มให้เหลือ 500 ซี.ซี. ใช้แบ่งกินครั้งละ 50-100 ซี.ซี. หรือใช้ยาปรุง 100% ของยาสด ด้วยการนำยานี้สดประมาณ 500 กรัม ใส่น้ำ 1.5 ลิตร แล้วต้มให้เหลือ 500 ซี.ซี. ใช้แบ่งกินครั้งละ 40-70 ซี.ซี. วันละ 3-4 ครั้ง ถ้าเป็นเด็กให้ลดลงตามส่วน กินติดต่อกัน 7-10 วัน เป็น 1 รอบการรักษา พวกเป็นบิดเรื้อรังติดต่อกัน 4 อาทิตย์ ก็ไม่มีอาการพิษอะไร สำหรับพวกที่เป็นเรื้อรังมานานก็ให้ใช้น้ำคั้นต้มนี้สวนเข้าไปในลำไส้ครั้งละ 200 ซี.ซี. วันละ 1 ครั้ง[5]
  • จากการใช้แก้พยาธิปากขอ พบว่าผู้ใหญ่ที่ใช้ยานี้สดในขนาด 150-170 กรัม เมื่อเอาน้ำมาผสมกับน้ำส้มสายชู 50 ซี.ซี. และอาจใส่น้ำตาลทรายพอประมาณลงไปผสม ใช้กินก่อนอาหารวันละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน เป็น 1 รอบการรักษา ถ้ากินในรอบต่อไปให้เว้นห่างกันประมาณ 10-14 วัน จากการรักษาคนไข้จำนวน 192 ราย ที่กินยานี้ 1-3 รอบ เมื่อเอาอุจจาระมาตรวจดูไข่ของพยาธิ ไข่พยาธิจะฝ่อไปประมาณ 80% โดยยานี้อาจนำมาทำเป็นยาเม็ดหรือแบบอีมัลชั่นเข้ม 50% แต่ในการรักษายาเม็ดจะได้ผลดีกว่าอีมัลชั่นและดีกว่าแบบยาต้ม[5]
  • การใช้ทำให้มดลูกหดตัว จากคนไข้จำนวน 500 ราย ใช้ยาสกัดนี้ (ใน 1 ซี.ซี. คิดเทียบเท่ากับยานี้สด 1.6-3.2 กรัม) ฉีดแทนสารสกัดจากเออกอท (Claviceps purpurea (Fr.) Tulasne) พบว่าจะทำให้มดลูกคลายตัวแล้วหดตัวตามมา ใช้กับสตรีที่ตกเลือดหลังคลอด ใช้ฉีดเข้าไปที่มดลูกทั้งสองข้างและที่ปากมดลูกด้วย[5]
  • จากการใช้รักษาไส้ติ่งอักเสบชนิดเฉียบพลัน ด้วยการใช้ต้นแห้งกับโพกงเอ็ง (Taraxacum mongolicom Hand-Mazz) อย่างละ 60 กรัม หรือใช้ต้นสดที่เพิ่มปริมาณอีกเท่าตัว ต้มกับน้ำ 2 ครั้ง แล้วต้มจนเหลือน้ำ 200 ซี.ซี. ให้กินตอนเช้าและกลางวันครั้งละ 100 ซี.ซี. จากการรักษาคนไข้จำนวน 31 ราย พบว่ารักษาหายจำนวน 30 ราย ส่วนอีก 1 รายที่ไม่ได้ผลและต้องใช้การผ่าตัดช่วย โดยส่วนมากจะหายภายใน 3-8 วัน อาการไข้และจำนวนเม็ดเลือดขาวเป็นปกติ อาการปวดท้องและปวดเจ็บเมื่อกระโดดแรง ๆ ความตึงแน่นของบริเวณหน้าท้องและอาการเมื่อกดแล้วเจ็บก็หายไปด้วย หรืออีกวิธีให้เอาต้นตำให้แหลก เอาผ้าพันแผลห่อคั้นเอาน้ำออกมาประมาณ 30 ซี.ซี. ใส่น้ำตาลทรายผสมกับน้ำสุกจนครบ 100 ซี.ซี. แล้วกินให้หมดวันละ 3 ครั้งก็ได้เช่นกัน[5]
  • จากการใช้รักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบ โดยใช้ทั้งต้นหนัก 180 กรัม นำมาล้างให้สะอาด แล้วตากให้แห้งบดให้เป็นผงละเอียด ใส่ลงไปในน้ำมันหมูที่เจียวร้อน 240 กรัม แล้วใช้ตะหลิวคนจนควันขาวขึ้น ยกกระทะลงใส่น้ำผึ้งลงไป 240 กรัม คนจนข้นเสร็จแล้วรอให้เย็นจะได้เป็นครีมเหนียว ๆ ก่อนนำมาใช้เอาน้ำซาวข้าวล้างแผลให้สะอาดก่อน แล้วเอาครีมนี้ทาบริเวณที่เป็นแผล ใช้ผ้าพันให้แน่น 2 วันเปลี่ยนยาทีหนึ่ง ให้ติดต่อกันจนกว่าจะหายอย่าให้ขาดตอน และในระหว่างการรักษาห้ามรับประทานปลาที่ไม่มีเกล็ด ตะพาบน้ำ และห้ามร่วมเพศ นอกจากนี้ยาที่ได้ยังใช้รักษาส่วนอื่น ๆ ที่เป็นก้อนเป็นหนองอักเสบได้เหมือนกัน โดยใช้กินครั้งละ 3-10 กรัม วันละ 3 ครั้ง จากการรักษาคนไข้จำนวน 118 ราย แบ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบ 42 ราย, วัณโรคปอด 31 ราย ส่วนที่เหลืออักเสบเป็นก้อนตามที่ต่าง ๆ เช่น ลำไส้ ไต กระดูก อีก 45 ราย ได้รับผลการรักษาไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีคนที่ใช้ต้นสดล้างน้ำสะอาดคั้นเอาน้ำมาเคี่ยวให้ข้น ใช้เป็นยาแก้แผลเป็นหนองได้ โดยทั่วไปจะชะล้างแผลให้สะอาดก่อนแล้วใช้ยาที่ทาแล้วเอาผ้าพันไว้ และให้เปลี่ยนยาเรื่อย ๆ จนกว่าแผลจะหาย[5]
  • จากการใช้รักษาแผลเป็นหนอง ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 120-180 กรัม ที่นำมาล้างให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียดใส่น้ำ 1-1.5 ลิตร ต้มพอเดือดแล้วยกลงจนน้ำร้อนประมาณ 40 องศาเซลเซียส ใช้ผ้าขนหนูชุบวางบนแผลวันละ 2-4 ครั้ง หรือเอาผ้าพันแผลพับ 4-6 ครั้ง ชุบยานี้ให้ชุ่มวางไว้บนแผลวันละ 2-4 ครั้ง โดยครั้งหนึ่งให้พันไว้ประมาณ 20-60 นาที นอกจากนั้นอาจใช้ต้นตำให้แหลกใช้พอกแผลพันเอาไว้ เปลี่ยนยาวันละ 4-6 ครั้งก็ได้ สำหรับการชะล้างหรือตำพอกนี้จะเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคผิวหนังที่มีน้ำเหลืองหรือโรคติดเชื้อภายนอก เช่น แผลอักเสบบวมเจ็บ แผลถูกผึ้งต่อย แผลมีน้ำเหลืองในช่วงฤดูร้อน เด็กเป็นกลากน้ำนม เป็นต้น และการชะล้างยังใช้กับแผลมีน้ำเหลืองและเท้าเน่าเปื่อยที่เป็นติดต่อกันได้อีกด้วย โดยวิธีการพอกที่ใช้กับแผลเน่าเปื่อยที่หนังหลุดออก เช่น แผลที่เกิดจากความชื้น แผลลอก เด็กเป็นผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้นหรือโรคผิวหนังอักเสบชนิดติดต่อได้ โรคเหล่านี้นอกจากจะใช้ยานี้ภายนอกแล้วยังกินร่วมด้วย โดยทั่วไปแล้วภายใน 1-2 อาทิตย์จะหาย ส่วนพวกแผลถลอก ผิวหนังเน่าเปื่อยหลุดลอก ถ้าใช้ยานี้พอกเพียง 3-4 วัน ผิวหนังก็จะเจริญขึ้นมาใหม่[5]

ประโยชน์ของผักเบี้ยใหญ่

  1. ผักเบี้ยใหญ่มีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นผักสด ผักสลัดได้ หรือนำมาต้ม ลวก รับประทานร่วมกับน้ำพริก ใช้ใส่ในแกงจืด ซึ่งจะออกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ชาวยุโรปจึงนำมาดองใส่เกลือและน้ำส้ม เพื่อเก็บเอาไว้รับประทานในช่วงฤดูหนาวหรือยามขาดแคลน โดยคุณค่าทางโภชนาการของผักเบี้ยใหญ่ ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วยโปรตีน 2.2 กรัม, ไขมัน 0.3 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 7.9 กรัม, ใยอาหาร 1.1 กรัม, น้ำ 87.5%, แคลเซียม 115 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.4 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม, วิตามินเอ 2,200 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.06 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.14 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.8 มิลลิกรัม, วิตามินซี 21 มิลลิกรัม[1],[3]
  2. ในทวีปยุโรปบางประเทศจะปลูกต้นผักเบี้ยใหญ่เป็นไม้ประดับ[1]

ข้อควรระวัง : การรับประทานผักชนิดนี้ในปริมาณมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการเป็นพิษทั้งในคนและสัตว์ โดยการเป็นพิษนี้จะเกิดจาก Oxalic acid ที่มีอยู่ในผักเบี้ยใหญ่[2]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ผักเบี้ยใหญ่”.  หน้า 498-499.
  2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ผักเบี้ยใหญ่”.  หน้า 104.
  3. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักเบี้ยใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [17 พ.ย. 2014].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ผักเบี้ยใหญ่”.  อ้างอิงใน : หนังสือ พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [17 พ.ย. 2014].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 2 คอลัมน์ : สมุนไพรน่ารู้.  (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ).  “ผักเบี้ยใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [17 พ.ย. 2014].
  6. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ระงับปวดและอักเสบของผักเบี้ยใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.   [17 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Karl Hauser, Scamperdale, the weed one, k_listman, naturgucker.de)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด