ผักปลอดสารพิษ
ผักปลอดสาร หรือ ผักปลอดสารพิษ (Pesticide residue free) หมายถึง ผลผลิตของพืชผักที่ไม่มีสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ หรือมีตกค้างอยู่แต่ไม่เกินระดับมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ (ประกาศฉบับที่ 163 พ.ศ.2538 เรื่อง “อาหารที่มีสารพิษตกค้าง“)
ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า “ผักปลอดสารพิษ” หมายถึง ผักที่มีกระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ (เช่น ธาตุอาหาร ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโต ปุ๋ยอินทรีย์ต่าง ๆ) เพียงแต่สารเคมีสังเคราะห์ดังกล่าวจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวสารเคมีสังเคราะห์เหล่านี้จะไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ (เนื่องจากเป็นกลุ่มของปุ๋ยเคมี จุลธาตุค่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในใบพืชอยู่แล้ว) ส่วนคำว่า “ผักปลอดสาร” จะหมายถึง ผักที่มีกระบวนการผลิตที่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลงในช่วงที่มีแมลงศัตรูพืชระบาด เพียงแต่จะต้องมีการกำหนดใช้อย่างเข้มงวด ต้องรู้ว่าควรฉีดยาฆ่าแมลงช่วงไหนและช่วงไหนไม่ควรฉีด ซึ่งตามหลักการก็คือจะต้องเว้นระยะเวลาการเก็บเกี่ยวหลังจากฉีดยาฆ่าแมลงไปแล้ว แต่ทั้งนี้ผลผลิตที่ได้จะต้องไม่มีสารพิษตกค้างหรือมีไม่เกินมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณะสุขได้กำหนดไว้ (บางแห่งใช้ยาฆ่าแมลง บางแห่งก็ไม่ใช้ครับ)
สรุปแล้วก็คือ ผักปลอดสาร หรือ ผักปลอดสารพิษ มันก็คือ ผักที่ปลอดสารพิษในช่วงตอนเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ไม่ได้ปลอดการใช้สารเคมีในช่วงระหว่างการเพาะปลูก ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็ควรจะเป็นผักทั่วไปที่เราหาซื้อมาบริโภคกันตามท้องตลอดทั่วไปใช่ไหมครับ แต่โลกในความเป็นจริงมันไม่ได้สวยงามขนาดนั้นไงครับ เพราะในปัจจุบันผักที่วางขายส่วนมากก็จะมีสารพิษเกินค่ามาตรฐานอยู่ เพราะบางแห่งก่อนเก็บเกี่ยวเขายังต้องฉีดยาฆ่าแมลงกันอยู่เลยครับ ตัวอย่างผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานก็เช่น ผักคะน้า มะเขือพวง พริกสด ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ แตงกวา ต้นหอม ผักชี หัวไชเท้า เป็นต้น
สารพิษตกค้าง หมายถึง สารเคมีที่ใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์ หรือกลุ่มอนุพันธ์ของสารเคมีดังกล่าว อันได้แก่ สารในกระบวนการเปลี่ยนแปลง (conversion products), สารที่เกิดจากปฏิกิริยา (reaction products), สารในกระบวนการสร้างและสลาย (metabolites) หรือสิ่งปลอมปนที่มีความเป็นพิษซึ่งปนเปื้อนหรือตกค้างในอาหาร
หมายเหตุ : ผักปลอดสาร เป็นคนละประเภทกับผักออแกนิก (การปลูกผักที่มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก คือจะไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ เลยในระหว่างการเพาะปลูกจนกระทั่งการเก็บเกี่ยว) และผักไฮโดรโปนิกส์ (การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน หรือเป็นการปลูกพืชในน้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่)
ประโยชน์ของผักปลอดสารพิษ
- ทำให้ได้ผักที่มีคุณภาพ ไม่มีสารพิษตกค้าง เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
- การบริโภคผักที่ปลอดสารพิษในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำจะช่วยทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี มีความแข็งแรง ไม่เจ็บได้ง่าย ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ช่วยทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น หากเกษตรกรไม่มีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
- ช่วยลดปริมาณการนำเข้าสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชจากต่างประเทศ
- ช่วยลดต้นทุนการผลิตจองเกษตรกรในด้านค่าใช้ต่าง ๆ เช่น มีค่าใช้จ่ายในซื้อสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ลดลง
- เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการปลูกผักปลอดสารพิษ เนื่องจากได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น (ประมาณ 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผักทั่วไป)
- ช่วยลดปริมาณของสารเคมีซึ่งเป็นพิษที่จะปนเปื้อนเข้าในดิน ในอากาศ และในน้ำ จึงเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดมลพิษของสิ่งแวดล้อมไปได้อีกทางหนึ่ง
- การบริโภคปลอดสารพิษนอกจากจะช่วยทำให้ชีวิตปลอดภัยแล้ว ยังน้อมนำสู่วิถีชีวิตที่พอเพียง ทั้งในแง่ของผู้ค้าเอง หากรู้จักพอเพียง ไม่โลภ ก็จะไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค
คำแนะนำในการบริโภคผักปลอดสารพิษ
แม้ว่าผักปลอดสารพิษจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับคนชอบรับประทานผักและมีความปลอดภัย แต่หากผู้บริโภคยังไม่มั่นใจก่อนนำบริโภคก็นำผักมาให้ล้างให้สะอาดอย่างถูกวิธีเสียก่อน ซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี เช่น ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อกนาน 2 นาที, หรือการแช่ในน้ำสะอาดประมาณ 5-10 นาที แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด, หรือแช่ในน้ำปูนใส น้ำด่างทับทิม น้ำซาวข้าว น้ำส้มสายชูหรือเกลือป่น หรือน้ำยาล้างผัก ประมาณ 10 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้บริโภคควรจะเลือกรับประทานผักให้เหมาะสมกับฤดูกาล เช่น ถ้าเป็นฤดูฝน ผักคะน้าที่เห็นขายในตามท้องตลาดส่วนใหญ่จะปนเปื้อนสารเคมี ก็ให้หันมาบริโภคผักกวางตุ้งแทน เป็นต้น หรือเลี่ยงการบริโภคผักที่อยู่นอกฤดูกาล เช่น ในฤดูฝนเป็นไปไม่ได้ที่ผักกะหล่ำจะออก ถ้ามีขายก็แสดงว่าต้องมีการใช้สารเคมีอย่างดุเดือด เป็นต้น
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)