ผักบุ้งร่วม
ผักบุ้งร่วม ชื่อสามัญ Buffalo Spinach
ผักบุ้งร่วม ชื่อวิทยาศาสตร์ Enydra fluctuans Lour. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2]
สมุนไพรผักบุ้งร่วม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักบุ้งปลิง ผักแป๋ง (เชียงใหม่), ผักบุ้งรวม ผักบุ้งร้วม (ไทย), ผักดีเหยียน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), กาล่อ (มาเลย์-ปัตตานี) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของผักบุ้งร่วม
- ต้นผักบุ้งร่วม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นทอดเลื้อยตามพื้นน้ำ ลำต้นเป็นข้อปล้อง ตามข้อจะมีรากไว้สำหรับยึดเกาะ ลำต้นมีลักษณะโค้งแล้วตั้งตรง สูงได้ประมาณ 15-60 เซนติเมตร ภายในลำต้นกลวงและมีขนบาง ๆ ปกคลุมหรือบางทีอาจเกลี้ยง มีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบขึ้นในดินที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขังเล็กน้อย พบได้ทั่วไปในเขตร้อน[1],[2]
- ใบผักบุ้งร่วม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรีหรือรูปขอบขนานแคบ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบตัด ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวสด มีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน[1],[2]
- ดอกผักบุ้งร่วม ออกดอกเป็นกลุ่มหรือเป็นกระจุกค่อนข้างกลม โดยจะออกตามซอกใบหรือบริเวณส่วนยอดของต้น ไม่มีก้านดอก ดอกเป็นสีขาวออกเขียวอ่อน ๆ โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว ส่วนปลายแผ่ออกเป็นรูปรางน้ำสั้น ๆ ปลายจักเป็นฟันเลื่อย ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีใบประดับรูปไข่ 4 อัน ขนาดประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ปลายเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกสั้น[1],[2]
- ผลผักบุ้งร่วม ผลแห้งเป็นสีดำ ผิวผลเกลี้ยง ล้อมรอบไปด้วยริ้วประดับ ผลมีขนาดยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร[1],[2]
สรรพคุณของผักบุ้งร่วม
- ต้นอ่อนมีสรรพคุณเป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร (ทั้งต้น)[1],[2]
- ต้นอ่อนและใบใช้เป็นยาระบาย (ต้นอ่อน, ใบ)[1],[2]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับน้ำดี (ใบ)[1]
- ใบใช้ตำพอกแก้โรคผิวหนัง (ใบ)[1],[2]
- ทั้งต้นนำมาต้มเอาควันรมคนเข้าประโจม ช่วยแก้อาการฟกช้ำ บวมทั้งตัว และเหน็บชา (ทั้งต้น)[1]
ประโยชน์ของผักบุ้งร่วม
- ยอดอ่อนใช้รับประทานได้[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักบุ้งร่วม”. หน้า 495-496.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักบุ้งร่วม”. อ้างอิงใน : หนังสือ พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [18 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by eyeweed, Ryan Phan)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)