ผักบุ้งรั้ว สรรพคุณและประโยชน์ของผักบุ้งรั้ว 10 ข้อ !

ผักบุ้งรั้ว

ผักบุ้งรั้ว ชื่อสามัญ Railway Creeper[1]

ผักบุ้งรั้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea cairica (L.) Sweet (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Convolvulus cairicus L., Ipomoea palmata Forssk.) จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)[1]

สมุนไพรผักบุ้งรั้ว มีชื่ออื่น ๆ ว่า ผักบุ้งฝรั่ง (กรุงเทพฯ), โหงวเหยียวเล้ง (จีนแต้จิ๋ว), อู่จ่าวหลง อู๋จว่าหลง อู๋จว่าจินหลง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของผักบุ้งรั้ว

  • ต้นผักบุ้งรั้ว จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยหรือไม้เถาล้มลุก มีเง้า ลำต้นสามารถเลื้อยไปได้ยาวและไกลประมาณ 5 เมตร ลำต้นเป็นปล้อง ๆ สีเขียวหรือสีเขียวอมเทา ตามลำต้นจะมีตุ่มเล็ก ๆ ติดอยู่ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขึ้นได้ในดินทุกชนิด มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักพบขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างทั่วไป จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร[1],[2],[3]

ต้นผักบุ้งรั้ว

  • ใบผักบุ้งรั้ว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อของต้น ลักษณะของใบคล้ายรูปฝ่ามือ แยกออกเป็น 5 แฉก แฉกลึกถึงโคน แฉกกลางมีขนาดใหญ่กว่า แต่ละแฉกมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปแกมใบหอก ปลายใบแต่ละแฉกมีลักษณะแหลม ขอบใบเรียบ มีขนาดยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนทั้งหน้าใบและหลังใบ ใบที่โคนมักแยกออกเป็นแฉก ก้านใบยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร ก้านใบมีตุ่มเล็ก ๆ[1],[2],[3]

ใบผักบุ้งรั้ว

  • ดอกผักบุ้งรั้ว ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและออกดอกเป็นช่อตามซอกใบหรือยอดต้น มีดอกประมาณ 1-3 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ลักษณะของดอกเป็นรูปแตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีลักษณะติดทน ขยายในผล ขนาดไม่เท่ากัน ยาวประมาณ 0.4-0.9 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปแตรหรือรูปลำโพง มีขนาดยาวประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีม่วง สีม่วงอ่อน สีม่วงแดง สีชมพู หรือสีขาวอมเขียว แต่ใจกลางดอกจะมีสีเข้มกว่า กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ขนาดยาวไม่เท่ากัน อับเรณูไม่บิดงอ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปเส้นด้าย อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ยอดเกสรมี 2 พู[1],[2],[3]

ดอกผักบุ้งรั้ว

รูปผักบุ้งรั้ว

  • ผลผักบุ้งรั้ว พบผลได้ในดอก เมื่อดอกร่วงโรยไปก็จะติดผล ผลเป็นแบบแคปซูล มีลักษณะกลม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลเมื่อแก่จะแห้งและแตกออก ภายในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมและสั้น ด้านหนึ่งเป็นแง่ง เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอมเทาหรือสีดำ มีขนาดเส้นประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมล็ดมีขนนุ่มสีขาวหนาแน่น ขอบมีขนยาว[1],[2],[3]

ผลผักบุ้งรั้ว

รูปผลผักบุ้งรั้ว

เมล็ดผักบุ้งรั้ว

สรรพคุณของผักบุ้งรั้ว

  1. ทั้งต้นมีรสหว่านชุ่ม ขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ ไต และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย (ทั้งต้น)
  2. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ แก้ไอร้อนในปอด (ทั้งต้น)[1],[2]
  1. ในประเทศอินเดียจะใช้เมล็ดนำมาปรุงเป็นยาถ่าย (เมล็ด)[1],[2]
  2. ทั้งต้นใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา ปัสสาวะกะปริบกะปรอย (ทั้งต้น)[1],[2]
  3. ตำรับยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้นิ่วที่ถ่ายปัสสาวะออกมาเป็นเลือด ระบุให้ใช้ต้นสดประมาณ 30-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อย แล้วนำน้ำที่ได้มาดื่ม (ทั้งต้น)[1],[2]
  4. ใบใช้ตำพอกหรือทาแก้ผดผื่นคัน (ใบ)[1]
  5. ตำรับยาแก้ฝีบวม ฝีหนองภายนอก หรือผดผื่นคัน ให้ใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[1],[2]
  6. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำ (เมล็ด)[2]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม ส่วนต้นสดให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ถ้านำมาใช้ภายนอกให้ใช้ต้นสดตำพอกบริเวณที่เป็น ส่วนของเมล็ดให้ใช้ครั้งละ 5-8 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[2]

ข้อควรระวัง : ใบและรากผักบุ้งรั้วจะมีสารพิษอยู่ ซึ่งเป็นสารไซยาไนด์ มีความเป็นพิษต่อระบบหายใจ แต่จะถูกทำลายได้ด้วยความร้อน การนำมาใช้จึงต้องระมัดระวัง[1] มีข้อมูลระบุว่าต้น ราก และใบ มีสารพิษ ส่วนเถาหากนำมารับประทานจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ต้องนำมาต้มหรือคั่วให้เกรียมก่อนจึงจะหมดพิษ[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักบุ้งรั้ว

  • ใบและรากผักบุ้งรั้วมีสาร cyanogenetic glycoside ผสมอยู่เล็กน้อย ส่วนเมล็ดมีสารจำพวก muricatin A, muricatin B, fatty acid (arachidic, bebenic, oleic, palmitic, linolenic acid, linoleic, stearic), β-Sitosterol[1],[2]
  • จากการทดลองฉีดสาร muricatin A ที่สกัดได้จากเมล็ดผักบุ้งรั้ว เข้าไปในหลอดเลือดของสุนัขในขนาดประมาณ 5-10 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งจะไม่มีผลต่อความดันโลหิต แต่ถ้าใช้ในขนาดมากหรือประมาณ 20-40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลงชั่วคราว[1],[2]
  • เมื่อนำสาร muricatin A มาใช้ทดลองกับหนู โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 0.5 กรัม พบว่าจะมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย[1],[2]

ประโยชน์ของผักบุ้งรั้ว

  • ใบบางท้องถิ่นจะนำผักบุ้งรั้วมาใช้ปรุงเป็นอาหาร ส่วนในฮาวายจะนำรากมาบริโภคเป็นอาหาร แม้ว่ามันจะมีรสขมก็ตาม[1]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ซึ่งความน่าสนใจของไม้เถาชนิดนี้คือ เป็นไม้เถาขนาดเล็ก มีเถายาวสามารถเลื้อยพาดพันไปบนรั้ว สิ่งก่อสร้าง แผ่นใบเป็นสีเขียวสด ลักษณะเป็นรูปฝ่ามือดูเด่นชัดและสวยงาม ให้ดอกตลอดทั้งปี ดอกมีสีม่วงสวยสดใส ออกดอกดกและทนทานพอสมควรกว่าดอกจะร่วงโรย
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ผักบุ้งรั้ว”.  หน้า 496-497.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ผักบุ้งรั้ว”.  หน้า 348.
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ผักบุ้งรั้ว”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [18 พ.ย. 2014].
  4. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี.  “ผักบุ้งรั้ว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.skn.ac.th.  [18 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, naturgucker.de, Nelindah, -murilo-), lucidcentral.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด