ผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ผงเกลือแร่

ผงเกลือแร่ / ผงน้ำตาลเกลือแร่ / ผงละลายเกลือแร่ / เกลือแร่ชนิดผงละลายน้ำ / น้ำเกลือแห้ง / สารละลายเกลือแร่โออาร์เอส / โอ.อาร์.เอส. / ผงโออาร์เอส (Oral rehydration salt – ORS) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ผงเกลือแร่องค์การเภสัชกรรม (ORS GPO), ผงเกลือแร่ออรีด้า (Oreda R.O.) เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่นำมาใช้เป็นยารักษาภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ในผู้ป่วยท้องเสียหรืออาเจียนมากจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งกุญแจสำคัญของการใช้ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสก็คือ ผู้ป่วยยังต้องมีสติและสามารถจิบดื่มสารน้ำได้และระบบของการดูดซึมในลำไส้ยังทำงานได้ดี จึงจะสนับสนุนให้โออาร์เอสสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยังมีผลิตภัณฑ์อีกกลุ่มที่มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันมาก คือ เครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดผงหรือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่ (Sports drink) เช่น สปอนเซอร์ เอ็มสปอร์ต เกเตอเรด ฯลฯ ที่เป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ซึ่งจะเป็นคนละกลุ่มกันกับ ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอส (ORS) ที่กำลังกล่าวถึงในบทความนี้ โดยหากจะกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสก็คือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีไว้สำหรับใช้ทดแทนน้ำและเกลือแร่ในผู้ป่วยท้องเสียหรืออาเจียนมาก และใช้ป้องกันภาวะช็อกเนื่องจากร่างกายขาดน้ำ ซึ่งจะมีเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายในสัดส่วนที่เป็นมาตรฐานและดูดซึมได้ดี ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่ก็จัดเป็นอาหารในหมวดเครื่องดื่ม มีสัดส่วนของเกลือแร่และน้ำตาลไม่เท่ากับโออาร์เอส และใช้ชดเชยน้ำและเกลือแร่หลังการออกกำลังกายเท่านั้น

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานของแต่ละประเทศ ด้วยโออาร์เอสสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิต โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ๆ จากสาเหตุโรคท้องร่วงหรือท้องเสียทั่วโลกได้เป็นจำนวนมาก ส่วนในประเทศไทยได้บรรจุโออาร์เอสลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประชาชนทั่วไปจึงควรมีผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสไว้เป็นยาประจำบ้าน เมื่อมีอาการท้องเสียจะได้หยิบมาใช้เพื่อช่วยประทังอาการมิให้เกิดภาวะช็อกก่อนที่จะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

ตัวอย่างของผงเกลือแร่

ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอส (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น ผงน้ำตาลเกลือแร่ โอ.อาร์.เอส. องค์การเภสัชกรรม หรือ ผงเกลือแร่องค์การเภสัชกรรม (ORS GPO), เบบิ-ไลท์ (Babi-Lyte), บู๊ทส์ โออาร์เอส (Boots ORS), มิเนอรา อาร์.โอ. (Minera R.O.), ออรีด้า อาร์.โอ. หรือ ผงเกลือแร่ออรีด้า (Oreda R.O.), โอริส (Oris), ออสรา อาร์.โอ. (Osra R.O.), รีก้า โออาร์เอส (Reka ORS), ซี โออาร์เอส (SEA ORS), วีวา โออาร์เอส (Weewa ORS) ฯลฯ

รูปแบบของผงเกลือแร่

  • ชนิดใส่ซองสำเร็จรูป (รูปแบบชนิดผงเพื่อละลายน้ำ) เช่น ผงน้ำตาลเกลือแร่ โอ.อาร์.เอส. องค์การเภสัชกรรม (ORS GPO) ใน 1 ซอง (ขนาด 6.975 กรัม ใช้สำหรับผสมน้ำ 250 มิลลิลิตร) ประกอบไปด้วยกลูโคส (Glucose) 5 กรัม, โซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) 0.875 กรัม, ไตรโซเดียมซิเทรตไดไฮเดรต (Trisodium citrate dihydrate) 0.725 กรัม และโพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) 0.375 กรัม
  • น้ำเกลือผสมเอง ให้ใช้เกลือป่น ½ ช้อนชา (บางสูตรใช้ 1 ช้อนชา) และน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ (25-30 กรัม) นำมาผสมในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 750 มิลลิลิตร (ขนาด 1 ขวดน้ำปลากลม หรือขวดแม่โขงกลม หรือ 3 แก้วขนาด 250 มิลลิลิตร) หรือหากละลายยาก สามารถใช้น้ำอุ่นพอประมาณได้ แต่ไม่ควรใช้น้ำร้อนจัด เพียงเท่านี้ก็สามารถนำมาใช้ดื่มเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ได้แล้ว

ผงโออาร์เอส
IMAGE SOURCE : drugwithme.blogspot.com, www.seapharm.co.th, www.th.boots.com, webiz.co.th

ผงเกลือแร่
IMAGE SOURCE : Medthai.com

สรรพคุณของผงเกลือแร่

  • ใช้ดื่มเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ในร่างกายที่สูญเสียไปจากอาการท้องเสียเฉียบพลัน* (อุจจาระร่วง ท้องร่วง ท้องเดิน ถ่ายท้อง) หรืออาเจียนมากจากสาเหตุต่าง ๆ หรือใช้ในรายที่เสียเหงื่อมากก็ได้
  • ใช้ป้องกันภาวะช็อกเนื่องจากร่างกายขาดน้ำ** เช่น ไข้เลือดออก บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกขนาดใหญ่ที่เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำจากทางบาดแผล
  • ใช้แก้อาการกระหายน้ำ

* ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสไม่สามารถทำให้หยุดถ่าย หรือบรรเทาอาการท้องเสีย หรือช่วยให้หายเร็วขึ้นได้ แต่จะช่วยไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่จนอ่อนเพลีย หมดแรงหรือเป็นอันตรายได้ เช่น ภาวะช็อกจากการขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก (ในปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่ช่วยให้อาการท้องเสียหรือท้องร่วงที่ถ่ายเป็นน้ำหายเร็วขึ้นได้ รวมทั้งยาปฏิชีวนะ ยกเว้นแต่ว่าท้องเสียหรือท้องร่วงนั้นเกิดจากแบคทีเรียซึ่งทำให้ถ่ายเป็นมูกปนเลือดและมีไข้ ไม่ใช่ถ่ายเป็นน้ำ ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ให้รักษาอาการขาดน้ำและเกลือแร่ในเบื้องต้น แล้วพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป)

** สภาวะเกลือแร่ปกติในร่างกายจะมีโซเดียม (Na) อยู่ระหว่าง 135-145 mEq/L และโพแทสเซียม (K) อยู่ระหว่าง 3.5-4.8 mEq/L ซึ่งการจะทราบปริมาณเกลือแร่ในร่างกายนี้ได้จะต้องทำการวัดระดับโดยการเจาะเลือด แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถสังเกตอาการของตนเองได้ว่าอยู่ในภาวะปกติหรือไม่ โดยถ้าหากร่างกายมีภาวะขาดน้ำหรือเกลือแร่ จะสามารถสังเกตได้จากอาการผิดปกติ เช่น กระหายน้ำ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อ่อนแรง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว หรือถ้าขาดในปริมาณมาก ๆ ก็อาจเกิดกล้ามเนื้อกระตุก สับสน และชักได้ เป็นต้น

กลไกการออกฤทธิ์ของผงเกลือแร่

ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการไปชดเชยเกลือโซเดียมและเกลือโพแทสเซียมที่สูญเสียไปกับอาการท้องเสียให้กับร่างกาย และค่อย ๆ สร้างสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ อีกทั้งยังมีน้ำตาลกลูโคสที่ช่วยให้พลังงานกับร่างกาย ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลัง และค่อย ๆ ฟื้นสภาพร่างกายให้มีแรง จากกลไกดังกล่าวผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสจึงช่วยป้องกันมิให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกอันเนื่องมาจากการขาดน้ำและเกลือแร่

ก่อนใช้ผงเกลือแร่

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงผงเกลือแร่หรือโออาร์เอส สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะผงเกลือแร่อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาผงเกลือแร่

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติการแพ้ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอส (Oral rehydration salt)
  • ห้ามใช้กับผู้ที่อยู่ในภาวะอาเจียนอย่างรุนแรง ผู้ป่วยที่ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง (Severe de hydration) และผู้ป่วยที่ไตทำงานผิดปกติ
  • ห้ามใช้ผงเกลือแร่ที่หมดอายุ
  • ควรระมัดระวังในการใช้ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสในผู้ป่วยโรคเกาต์ โรคตับ โรคหัวใจ ผู้ที่มีอาการบวม ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

วิธีใช้ผงเกลือแร่

  • ผงเกลือแร่ชนิดใส่ซองสำเร็จรูป ให้ละลายผงเกลือแร่สำเร็จรูปในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วตามปริมาตรที่ระบุไว้บนฉลาก ยกตัวอย่างเช่น ผงเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรมในซองขนาด 6.975 กรัม ให้นำมาละลายในน้ำ 250 มิลลิลิตร, ผงเกลือแร่ออรีด้าในซองขนาด 3.3 กรัม ให้นำมาละลายในน้ำ 150 มิลลิลิตร ก็จะได้ความเข้มข้นของเกลือแร่ที่เหมาะสม เป็นต้น โดยผงเกลือแร่ที่ละลายแล้ว ถ้าอยู่ในอุณหภูมิห้องควรดื่มให้หมดภายใน 12 ชั่วโมง (หรือภายใน 24 ชั่วโมงถ้าเก็บในตู้เย็น) หากดื่มไม่หมดให้ทิ้งไป และเมื่ออาการท้องเสียหรืออาการอ่อนเพลียจากการท้องเสียดีขึ้นแล้ว ก็สามารถหยุดรับประทานได้
    1. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต ให้ดื่มกินต่างน้ำบ่อย ๆ ครั้งละ ½ – 1 แก้ว (1 แก้ว = 250 มิลลิลิตร) ประมาณวันละ 6-9 แก้ว หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับอาการ ถ้าถ่ายบ่อยให้ดื่มน้ำบ่อยครั้งขึ้น ถ้าอาเจียนด้วยให้ดื่มทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง โดยให้ดื่มแทนน้ำตามปริมาณอุจจาระและปัสสาวะที่ถ่ายออกไป หรือดื่มจนกว่าปัสสาวะจะออกมากและใส หรือจนกว่าอาการท้องเสียจะทุเลาและดีขึ้น (ในเด็กโตควรเริ่มให้อาหารใน 4 ชั่วโมงหลังจากดื่มสารละลายผงเกลือแร่แล้ว เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม เพราะจะช่วยให้ลำไส้ได้อาหารและฟื้นตัวเร็วขึ้น ยกเว้นในผู้ป่วยที่อาเจียน ก็ควรรอให้อาการดีขึ้นก่อน)
    2. สำหรับเด็กเล็ก ควรเน้นแก้ไขภาวะขาดน้ำในช่วง 4-6 ชั่วโมงแรกหลังจากเด็กมีอาการท้องเสีย ด้วยการให้สารละลายผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสที่ผสมแล้วดังกล่าว โดยให้เด็กจิบดื่มแทนน้ำทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง เพื่อให้ทางเดินอาหารของเด็กดูดซึมได้ทัน ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กดื่มรวดเดียวจนหมด เพราะอาจทำให้ท้องเสียมากขึ้นได้ และต้องไม่ลืมที่จะให้ในปริมาณที่มากพอกับที่เด็กถ่ายออกไป พร้อมกับให้นมหรืออาหารแก่เด็กตามปกติ เช่น ให้นมแม่ตามปกติ แต่ให้สลับกับการป้อนสารละลายผงเกลือแร่ หรือถ้าเป็นนมผสม ให้ผสมตามปกติ แต่ลดปริมาณนมลงครึ่งหนึ่งต่อมื้อ ส่วนปริมาณที่ให้นั้นจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการท้องเสีย ดังนี้
      • ภาวะขาดน้ำน้อย เด็กจะมีอาการปัสสาวะน้อยลงและมีอาการกระหายน้ำร่วมด้วย ในกรณีนี้สามารถแก้ไขโดยการให้สารละลายผงเกลือแร่ที่ผสมไว้ในปริมาณ 10 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง โดยให้ดื่มต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น
      • ภาวะขาดน้ำปานกลาง เด็กจะมีอาการปัสสาวะน้อย กระหายน้ำ เซื่องซึม กระพุ้งแก้มแห้ง ในกรณีนี้สามารถแก้ไขโดยการให้สารละลายผงเกลือแร่ที่ผสมไว้ในปริมาณ 15-20 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง และสามารถให้รับประทานได้มากเท่าที่เด็กต้องการ
      • ภาวะขาดน้ำมาก เด็กจะมีอาการปัสสาวะน้อย กระหายน้ำ เซื่องซึม กระพุ้งแก้มแห้ง หายใจหอบและถี่ ง่วงนอนมาก การแก้ไขจำเป็นต้องให้สารละลายที่ผสมไว้ทางปากให้เร็วและมากที่สุดพร้อมกับรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลฉุกเฉินทันทีเพื่อให้ได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ (Intravenous fluid)
    3. สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน ขนาดการใช้ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสควรต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ให้การรักษา
  • น้ำเกลือผสมเอง ให้ใช้เกลือป่น ½ และน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ (25-30 กรัม) นำมาผสมในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 750 มิลลิลิตร (ขนาด 1 ขวดน้ำปลากลม หรือขวดแม่โขงกลม หรือ 3 แก้วขนาด 250 มิลลิลิตร) หรือหากละลายยาก สามารถใช้น้ำอุ่นพอประมาณได้ แต่ไม่ควรใช้น้ำร้อนจัด ส่วนขนาดและวิธีใช้ก็เช่นเดียวกับผงเกลือแร่ชนิดซองสำเร็จรูป

ในขณะที่ท้องเสีย บ่อยครั้งที่เราจะได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรว่าควรจิบดื่มแทนน้ำบ่อย ๆ ซึ่งการจิบทีละน้อยนี้จะช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำและเกลือแร่เพื่อไปชดเชยส่วนที่สูญเสียได้ดีกว่าการดื่มรวดเดียวหมดแก้ว เนื่องจากในช่วงที่มีอาการท้องเสียลำไส้มักจะดูดซึมน้ำและอาหารได้น้อยลง หากเราดื่มทีเดียวหมดแก้ว ลำไส้ก็จะไม่สามารถดูดซึมได้ทัน น้ำตาลและเกลือแร่ที่มีความเข้มข้นก็จะทำหน้าที่ดึงน้ำออกมาสู่ทางเดินอาหารเพื่อช่วยในการเจือจาง เป็นเหตุทำให้มีอาการท้องเสียหรืออาเจียนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดผงสำหรับผู้ออกกำลังกายมาใช้แทนผงเกลือแร่หรือโออาร์เอส ซึ่งจะมีปริมาณน้ำตาลมากกว่าหลายเท่าตัว (น้ำตาลที่สูงเกินในเครื่องดื่มเหล่านี้จะยิ่งทำให้อาการท้องเสียแย่ลง เพราะจะดูดน้ำและเกลือแร่ออกจากผนังลำไส้เข้าไปปนกับอุจจาระ แทนที่จะช่วยดูดซึมน้ำและเกลือแร่กลับคืน) และมีปริมาณเกลือแร่ที่น้อยกว่า (ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่เกิดจากท้องเสีย) เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ปริมาณน้ำตาลที่มากขึ้นจะไปเพิ่มพลังงานให้แก่ผู้ออกกำลังกาย แต่กระนั้นก็อาจเข้มข้นเกินไปสำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสียได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการท้องเสียจึงควรใช้ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสสำหรับอาการท้องเสียเท่านั้น เพราะมีส่วนประกอบของน้ำตาลและเกลือแร่ในปริมาณที่เป็นมาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกได้ระบุไว้

คำแนะนำในการใช้ผงเกลือแร่

  • สำหรับผงเกลือแร่สำเร็จรูป อย่าใช้ละลายในน้ำร้อน ควรละลายในน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เมื่อละลายใช้แล้ว หากทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง ยาจะบูด จึงไม่ควรใช้
  • เมื่อละลายผงเกลือแร่ใช้แล้ว ควรดื่มให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง หากดื่มไม่หมดให้ทิ้งไปแล้วละลายซองใหม่
  • ขนาดและวิธีใช้ดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ผู้ป่วยควรใช้ผงเกลือแร่นี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์ ไม่ควรใช้ในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • การรับประทานผงเกลือแร่มากเกินไปจะมีโอกาสทำให้น้ำตาลและเกลือแร่ในร่างกายสูงกว่าปกติ หรือทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรดได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานแต่พอดี เมื่ออาการท้องเสียหรืออาการอ่อนเพลียจากการท้องเสียดีขึ้นก็ให้หยุดรับประทาน
  • ห้ามใช้ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสเป็นยาบำรุงหรือแก้อาการอ่อนเพลียอย่างพร่ำเพรื่อ โดยที่ร่างกายไม่ได้เป็นอะไร เพราะอาจจะทำให้ตัวบวมได้ (ร่างกายจะบวมน้ำเพราะเกลือเป็นตัวอมน้ำ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีอาการบวมอยู่ก่อน และอาจทำให้ความดันโลหิตขึ้นสูงในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่ก่อน เนื่องจากได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไป
  • การดื่มน้ำสไปรท์ใส่เกลือแทนการใช้ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสเป็นวิธีที่ไม่แนะนำสำหรับการดื่มเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ เนื่องจากในน้ำอัดลมจะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าผงเกลือแร่ แถมยังมีการอัดก๊าซเข้าไปด้วย หากดื่มเข้าไปก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือทำให้อาการท้องเสียแย่ลงกว่าเดิมได้ และยังต้องระมัดระวังในผู้ป่วยโรคเบาหวานและเด็กเล็ก
  • ถ้าผู้ป่วยยังมีอาการอาเจียนมาก เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป หรือหมดสติ ควรนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

การเก็บรักษาผงเกลือแร่

  • ควรเก็บผงเกลือแร่ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บผงเกลือแร่ที่อุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น)
  • ให้ทิ้งผงเกลือแร่ที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานผงเกลือแร่

หากลืมรับประทานผงเกลือแร่ ให้รับประทานในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานมื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของผงเกลือแร่

  • ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงประเภทที่แสดงอาการได้ยาวนาน คือ หลอดอาหารอักเสบ เกิดภาวะแพ้แสงแดดในบริเวณหน้าอก และผิวหนังอักเสบ
  • ผลข้างเคียงในระดับที่ต้องทำหัตถการเพื่อช่วยชีวิตที่อาจพบได้ คือ มีภาวะเกลือโพแทสเซียมและเกลือโซเดียมในร่างกายสูงกว่าปกติ (อาการที่พบ เช่น อ่อนเพลีย กระหายน้ำ ปากแห้ง กระสับกระส่าย วิงเวียน อาเจียน หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง), เกิดภาวะกดการทำงานของไขกระดูก (มีเม็ดเลือดต่ำ), เกิดภาวะแพ้อย่างรุนแรงชนิดที่เรียกว่า Neutropenic fever (มีไข้จากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งมักเกิดจากร่างกายติดเชื้อ) ซึ่งหากพบผลข้างเคียงในลักษณะดังกล่าวจะต้องหยุดการใช้ผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสและรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
  • ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ ผมร่วง คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากการรับประทานผงเกลือแร่หรือโออาร์เอสเกินขนาด คือ อาเจียนอย่างรุนแรง ท้องเสีย เกิดภาวะอักเสบในเยื่อบุทางเดินอาหาร มีภาวะเกลือโพแทสเซียมและเกลือโซเดียมในร่างกายสูงกว่าปกติ เกิดภาวะกดการทำงานของไขกระดูก เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS/Oral rehydration salts)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 306.
  2. หาหมอดอทคอม.  “โออาร์เอส (ORS: Oral rehydration salt) หรือ ผงละลายเกลือแร่ (Electrolyte powder packet)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [18 ต.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “วิธีกินผงละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ในเด็ก (Oral rehydration salt/ORS in children)”.  (ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [18 ต.ค. 2016].
  4. ThaiRx.  “Oreda ORS Powder”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thairx.com.  [18 ต.ค. 2016].
  5. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กินสไปร์ทใส่เกลือแทนผงเกลือแร่ เพื่อบรรเทาอาการท้องเสียได้หรือไม่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [18 ต.ค. 2016].
  6. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 62 คอลัมน์ : อื่น ๆ.  “การใช้เกลือแร่ชนิดผงละลายน้ำ”.  (เภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [18 ต.ค. 2016].
  7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  “น้ำเกลือชนิดกิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [18 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด