ปอทะเล
ปอทะเล ชื่อสามัญ Coast cotton tree, Yellow mallow tree[5]
ปอทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus tilliaceus L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1] และอยู่ในวงศ์ย่อย MALVOIDEAE
สมุนไพรปอทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขมิ้นนางมัทรี ผีหยิก (เลย), บา (จันทบุรี), โพธิ์ทะเล (นนทบุรี), โพทะเล (กรุงเทพฯ), ปอฝ้าย (ภาคกลาง), ปอนา ปอนาน ปอมุก ปอฝ้าย (ภาคใต้), ปอโฮ่งบารู (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น[1],[2],[5]
ลักษณะของปอทะเล
- ต้นปอทะเล จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 3-5 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มแผ่กว้าง แตกกิ่งต่ำ ลำต้นมักคดงอและแตกกิ่งก้านมาก เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาล เปลือกต้นด้านนอกเรียบเกลี้ยงหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ มีช่องระบายอากาศเป็นแนวตามยาวของลำต้น ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีชมพูประขาว มีความเหนียว สามารถลอกออกจากลำต้นได้ง่าย โดยพันธุ์ไม้ชนิดนี้จะมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ส่วนในประเทศสามารถพบได้ทุกภาค โดยมักพบขึ้นตามชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน ตามแม่น้ำลำคลองภายใต้อิทธิพลของน้ำกร่อย หรือตามป่าดิบชื้นใกล้ชายฝั่ง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ไปจนถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร[1],[2],[3],[4]
- ใบปอทะเล ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ โคนใบกว้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมเป็นหางยาว โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเรียบ บ้างว่าหยักแบบถี่ ๆ เนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างหนา ผิวใบด้านบนมีขนบาง ๆ ถึงเกลี้ยง ส่วนท้องใบเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดรูปดาวสีขาว มีเส้นแขนงใบออกจากโคนใบประมาณ 7-9 เส้น และที่เส้นกลางใบอีก 4-6 เส้น ก้านใบเป็นสีแดงยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร และมีหูใบขนาดใหญ่ที่โคนก้านใบ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร และร่วงได้ง่าย[1],[2],[3]
- ดอกปอทะเล ออกเป็นช่อกระจุกสั้นหรือเป็นช่อแขนง โดยจะออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง อาจมีหนึ่งดอกหรือหลายดอก ช่อดอกยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีใบประดับคล้ายหูใบ 1 คู่ จะติดอยู่ที่โคนก้านดอก มีริ้วประดับประมาณ 7-10 กลีบ เชื่อมติดกันประมาณกึ่งหนึ่งของความยาว ส่วนปลายแยกเป็นแฉก มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ อยู่ติดทนทาน กลีบเลี้ยงเป็นสีน้ำตาล ลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายกลีบแหลมและมีขนทั้งสอง ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กว้างหรือไข่กลับ กลีบดอกบางเป็นสีเหลืองเรียงซ้อนเกยทับกัน บริเวณโคนกลีบด้านด้านในเป็นสีม่วงหรือสีแดงเข้ม มีเกสรเป็นแกนยื่นออกมา เมื่อดอกเริ่มบานจะเป็นสีเหลือง และเมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร พอดอกโรยแล้วก็จะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือแดง และสามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี หรือออกในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3],[4]
- ผลปอทะเล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่เกือบกลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เปลือกผลแข็งและมีขนสั้นละเอียดคล้ายขนกำมะหยี่ ผลเมื่อแก่จะแตกเป็น 5 พู อ้าออกและติดอยู่กับต้น ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต เกลี้ยง สามารถออกผลได้เกือบตลอดทั้งปี[1],[2],[3],[4]
สรรพคุณของปอทะล
- ใบสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดหู แก้หูอักเสบและหูเป็นฝี (ใบ)[1]
- ใช้ดอกนำมาต้มกับน้ำนม ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำมาหยอดหูเพื่อรักษาอาการเจ็บในหู (ดอก)[5],[6]
- รากใช้เป็นยาแก้ไข้ รักษาอาการไข้ (ราก)[3],[5]
- ใบอ่อนนำมาตากแห้งใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ (ใบอ่อน)[6]
- เปลือกมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (เปลือก)[3],[5]
- เมือกที่ได้จากการนำเปลือกสดมาแช่กับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร (เปลือก)[3],[5]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาระบายท้อง (ราก)[3],[5] ส่วนใบใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ใบ)[5],[6]
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[3],[5],[6]
- ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประก์ ที่ประเทศมาเลเซียจะใช้เปลือกปอทะเลทำเป็นยาผงเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์[7]
- ใบนำมาบดให้เป็นผงใช้เป็นยาใส่แผลสด แผลเรื้อรัง (ใบ)[3],[5],[6]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของปอทะเล
- ใบปอทะเลมีสารต้านอนุมูลอิสระและมีกิจกรรมต่อต้านเอนไซม์ไทโรซีเนส (Tyrosinase)[7]
- Cyanidin-3-glucoside เป็นแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ชนิดหลักที่พบได้ในดอกปอทะเล[7]
ประโยชน์ของปอทะเล
- ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้[7]
- ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย[3]
- ใยจากเปลือกต้นจะมีความเหนียวและคงทนกว่าปอ สามารถนำมาใช้ทำเชือก ทำกระดาษห่อของ เส้นใยสั้น เมื่อทำแล้วจะได้กระดาษที่มีคุณภาพต่ำ และยังใช้ทำหมันยาเรือได้ด้วย[1],[5],[6]
- เนื้อไม้ของต้นปอทะเลมีความถ่วงเพาะ 0.6 สามารถนำไปใช้ในงานไม้ได้ เช่น การทำเรือ (ชาวพื้นเมืองในฮาวายจะใช้เนื้อไม้มาทำเรือแคนู)[7]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[2],[4] ในแถบเอเชียจะนิยมนำต้นปอทะเลมาทำบอนไซ[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ปอทะเล (Po Thale)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 171.
- พันธุ์ไม้ในป่าชายเลน. “ปอทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th/schoolnet/library/webcontest2003/100team/dlss020/A2/A2.htm. [21 เม.ย. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ปอทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [21 เม.ย. 2014].
- หนังสือพรรณไม้ในป่าชายเลน. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี).
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โพธิ์ทะเล”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 576-577.
- หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 468, วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552. “ปอทะเล สมุนไพรป่าชายเลน”. (ชำนาญ ทองเกียรติกุล).
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ปอทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ปอทะเล. [20 เม.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, J. B. Friday, 翁明毅, Wendy Cutler, KNT GROUP 2, Ahmad Fuad Morad, Carol Tseng, Forest and Kim Starr, CANTIQ UNIQUE, Bhaskar Rao, Jupiter Nielsen)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)