ปอกระเจา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นปอกระเจา 20 ข้อ !

ปอกระเจา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นปอกระเจา 20 ข้อ !

ปอกระเจา

ปอกระเจา ชื่อสามัญ Jute, Nalta Jute, Tossa Jute, White Jute, Jew’s Mallow[1]

ปอกระเจา ชื่อวิทยาศาสตร์ Corchorus capsularis L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1] และอยู่ในวงศ์ย่อย GREWIOIDEAE

สมุนไพรปอกระเจา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอเส้ง เส้ง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), กาเจา กระเจา ปอกระเจา ประกระเจาฝักกลม (ภาคกลาง), ปอ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของปอกระเจา

  • ต้นปอกระเจา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุได้ 1 ปี มีความสูงได้ประมาณ 1 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอ่อนหรือแดงเข้ม แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่ม เป็นไม้เนื้ออ่อน มีระบบรากเป็นแบบรากแก้ว ที่ประกอบไปด้วยรากแก้วและรากแขนง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย จีน ญี่ปุ่น พม่า เวียดนาม มลายูภาคใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี อ่างทอง กรุงเทพฯ พังงา พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามบริเวณที่ชื้นแฉะ ทนทานน้ำท่วมได้ดี[1],[2],[3]

ต้นปอกระเจา

  • ใบปอกระเจา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบอ่อนบาง ที่โคนใบมีเส้นเล็ก ๆ สีแดงอยู่ 2 เส้น[1],[2]

ใบปอกระเจา

  • ดอกปอกระเจา ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกประมาณ 2-3 ดอก โดยจะออกบริเวณระหว่างซอกใบกับกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองมีขนาดเล็ก ออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[2],[3]

ดอกปอกระเจา

  • ผลปอกระเจา เป็นผลแบบแคปซูล ลักษณะของผลเป็นรูปค่อนข้างกลม เป็นพู 5 พู ผิวผลขรุขระ ไม่เรียบเกลี้ยง ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อผลแก่เต็มที่ผลจะอ้าหรือแตกออกเป็นซีก ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาลอยู่เป็นจำนวนมาก เมล็ดเป็นรูปไข่มี 4-5 เหลี่ยม ด้านหนึ่งค่อนข้างเว้า มีสีน้ำตาล[1],[2]

ปอกระเจาฝักกลม

หมายเหตุ : ปอกระเจาที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ ประกระเจาฝักกลม (Corchorus capsularis L.) ที่มีถิ่นกำเนิดในอินโด-พม่า และปอกระเจาฝักยาว (Corchorus olitorius L.) ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา[4]

สรรพคุณของปอกระเจา

  1. ใบมีสรรพคุณเป็นยาบำรุง ช่วยบำรุงธาตุ และช่วยเจริญอาหาร (กระตุ้นให้อยากอาหาร) ด้วยการใช้ใบแห้งนำมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วนำมาชงหรือนำมาละลายในน้ำกิน (ใบ)[1],[5] บ้างใช้ยาชงจากใบปอกระเจาผสมกับลูกผักชีและเทียนเยาวพาณี เป็นยาธาตุและยาบำรุง (ใบ)[6]
  2. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และความดันโลหิต ด้วยการใช้ใบปอกระเจามาลวกกับน้ำร้อน นำมาผัดกับกระเทียม พริกไทย รับประทานกับข้าวต้มหรือข้าวสวย หรือใช้ใบที่ตากจนแห้งแล้วประมาณ 1 กำมือ ชงกับน้ำร้อน (แช่นาน 5-10 นาที) นำมาดื่มแทนน้ำทั้งวัน (ใบ)[2]
  3. ใบมีรสขมเล็กน้อย ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ร้อนใน ทำให้เลือดเย็น แก้อาการเจ็บคอ (ใบ)[7]
  4. ใช้เป็นยาแก้ไข้ ด้วยการใช้ใบแห้งนำมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วนำมาชงกับน้ำกิน (ใบ)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า เปลือกและผลก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน (เปลือก, ผล)[6]
  1. ในประเทศมาเลเซียจะใช้ใบนำมาต้มชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ไอ (ใบ)[3]
  2. ผลมีฤทธิ์เหมือนกับตัวยาในดิจิตาลิส นำมาต้มเอาน้ำกินจะมีสรรพคุณเป็นยากระตุ้นหัวใจ ส่วนรากก็มีสรรพคุณกระตุ้นหัวใจเช่นกัน (ราก, ผล)[1] (แต่ในที่นี้ไม่แนะนำให้ใช้ผลของปอกระเจาในการรักษาโรคหัวใจ เนื่องจากโรคหัวใจมีหลายประเภท ท่านจึงควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาจะดีกว่ามารักษาด้วยตนเอง)[5]
  3. รากและผลนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้โรคท้องเดิน (รากและผล)[1]
  4. เมล็ดนำมาบดผสมกับขิงและน้ำผึ้งให้ละเอียด ใช้รับประทานเป็นยาแก้ท้องร่วง (เมล็ด)[1]
  5. ใบนำมาบดผสมกับขมิ้น ใช้รับประทานเป็นยาช่วยรักษาโรคบิด หรืออาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อบิดที่ไม่รุนแรง (ใบ)[1],[3],[5] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า เปลือกก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้บิดเช่นกัน (เปลือก)[6]
  6. ใบแห้งที่บดเป็นผงละเอียดใช้ชงกับน้ำกินเป็นยาระบาย (ใบ)[1],[5] ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาระบายเช่นกัน (เมล็ด)[5]
  7. ช่วยแก้อุจจาระเป็นเลือด (ใบ)[7]
  8. ใช้เป็นยาขับลม ขับปัสสาวะ ด้วยการใช้ใบแห้งที่บดเป็นผงละเอียดแล้ว นำมาชงกับน้ำกิน (ใบ)[1],[5]
  9. ช่วยแก้โรคหนองใน (ใบ)[5]
  10. ในเบงกอลจะใช้ใบแห้งชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ตับพิการ (ใบ)[6]
  11. ใบใช้ตำพอกรักษาแผล (ใบ)[3]
  12. ใบมีสรรพคุณเป็นยาระงับพิษ ใช้เป็นยาพอกแก้พิษ แก้บวม ทาแก้ผิวหน้าแดงบวม แก้พิษปลาปักเป้า (ใบ)[5],[7]
  13. นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ผลไม้สุกใช้ลดอาการอักเสบ ใช้ในโรคหายใจไม่สะดวก (ผลสุก)[6]

ข้อควรระวัง : เมล็ดมีสารออกฤทธิ์คล้ายยาดิจิตาลิสซึ่งกระตุ้นหัวใจ จึงไม่แนะนำให้รับประทานเมล็ด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้[1],[5] ส่วนสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน[7]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของปอกระเจา

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ agglutinin, lympho, campesterol, capsin, capsugenin, capsugenin-30-O-β-glucopyranoside, cardenolides, corchoroside A, Corchorus capsularis triterpene glucoside, corchoside B, corchoside C, corosin, corosolic acid, daucostent, erysimoside, helveticoside, hexadecanoic acid ethyl ester, linoleic acid, oleic acid, olitoriside, olitoriside, palmitic acid, polysaccharide, β-sitosterol, stigmasterol, strophanthidin, ursolic acid[2]
  • สมุนไพรปอกระเจามีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านเชื้อรา ฆ่าแมลง[2]
  • เมื่อปี พ.ศ.2530 ที่ประเทศไทย ในการประชุมสัมมนาในกรุงเทพฯ ได้มีรายงานผลการทดลอง ฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของสมุนไพรปอกระเจา[2]

ประโยชน์ของปอกระเจา

  1. ใบนำมาทำให้สุกใช้รับประทาน[3] ใบปอกระเจา 100 กรัม จะประกอบไปด้วยวิตามินบี 3 1.6 มิลลิกรัม, วิตามินซี 164 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีน และวิตามินสูง[5]
  2. เมล็ดมีสารพิษ corchorin (strophanthidin) มีความเป็นพิษต่อสุนัข จึงมีการนำเมล็ดไปใช้เป็นยาเบื่อสุนัข[1],[3],[5]
  3. เส้นใยจากเปลือกต้นเมื่อลอกออกมาแล้วจะเรียกว่า “ปอ” สามารถนำไปใช้ทอกระสอบเพื่อใส่ผลิตผลทางการเกษตรได้ เช่น ข้าวสาร ข้าวโพด น้ำตาล หรือนำมาใช้ทอเป็นผ้า พรม ทำเยื่อกระดาษ ทำเชือก เป็นต้น นอกจากนี้ลำต้นและแกนปอยังสามารถนำไปผลิตเป็นเยื่อกระดาษ ตลอดจนไม้เนื้อเบาได้ดีอีกด้วย แต่ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของตลาดและการแข่งขันกับพืชชนิดอื่น[3],[4]

รูปปอกระเจา

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ปอกระเจา”.  หน้า 452-453.
  2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ปอกระเจา”.  หน้า 102.
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ปอกระเจาฝักกลม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [27 พ.ย. 2014].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.  “ปอกระเจา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.kanchanapisek.or.th/kp14/project_dev/project_area/Ratburi/index.php.  [27 พ.ย. 2014].
  5. เดอะแดนดอทคอม.  “ใบปอ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.the-than.com.  [27 พ.ย. 2014].
  6. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ปอกระเจามีสรรพคุณดังนี้”.  อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [27 พ.ย. 2014].
  7. สงขลาพอร์ทัล.  (เวสท์สงขลา).  “ปอกระเจา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.songkhlaportal.com.  [27 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Phuong Tran, Nibedita)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด