ปรงป่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นปรงป่า 4 ข้อ ! (ปรงเหลี่ยม)

ปรงป่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นปรงป่า 4 ข้อ ! (ปรงเหลี่ยม)

ปรงป่า

ปรงป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Cycas siamensis Miq. จัดอยู่ในวงศ์ปรง (CYCADACEAE)[1]

สมุนไพรปรงป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผง (ภาคอีสาน), ตาลปัตรฤาษี, ผักกูดบก, มะพร้าวเต่า, ปรงเหลี่ยม, โกโล่โคดึ, ตาซูจืดดึ เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของปรงป่า

  • ต้นปรงป่า จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 3 เมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อสั้น ๆ สีเทาดำ รูปทรงทรงกระบอก ตรงโคนต้นจะป่องเล็กน้อย มีหัวใต้ดินแบนแผ่ออก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ลาว พม่า เวียดนาม และจีนตอนใต้ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคยกเว้นทางภาคใต้ พบขึ้นหนาแน่นในป่าเบญจพรรณแล้งและป่าเต็งรังทั่วไปที่มีไฟไหม้เป็นประจำ ที่ความสูงประมาณ 20-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2]

ต้นปรงป่า

  • ใบปรงป่า ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียนแน่นที่ปลายยอด ใบสีเขียวเป็นมัน ยาวประมาณ 60-90 เซนติเมตร ใบย่อยยาวมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ มีจำนวน 50-70 คู่ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7.5-20 เซนติเมตร ปลายใบแข็งเป็นหนาม เส้นกลางใบนูนเห็นชัดเจนทั้งสองด้าน ก้านใบยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีหนามที่สัน[1],[2]

ใบปรงป่า

  • ดอกปรงป่า ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อแน่น ลักษณะเป็นรูปโคมยาวแกมขอบขนาน มีขนาดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร กาบดอกเป็นแผ่นแข็งรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 17 เซนติเมตร ด้านนอกเป็นรูปสามเหลี่ยม มีรยางค์แหลมที่ปลายตั้งขึ้น ส่วนดอกเพศเมียแผ่เป็นแผ่นคล้ายกาบ ขอบจักลึกคล้ายหนาม มีขนาดยาวประมาณ 10-10.5 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น ตอนล่างมีไข่อ่อนติดอยู่ 1 คู่ ข้างละ 1 ใบ[1],[2]

ดอกปรงป่า

  • ผลปรงป่า ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน สีน้ำตาล ผิวผลเกลี้ยง มีขนาดยาวประมาณ 4 เซนติเมตร[1],[2]

ผลปรงป่า

สรรพคุณของปรงป่า

  • ผลแก่สุก นำมาทำให้สุก ทำเป็นแป้งใช้ปรุงเป็นยาแก้ไขข้อเสื่อม เป็นยาบำรุงไขข้อ (ผลแก่สุก)[1]

ข้อควรระวัง : ผลสุกสด ๆ และยอดใบอ่อน ไม่ควรนำมารับประทาน เพราะจะทำให้อาเจียน หัวใจสั่น อันตรายต่อสุขภาพมาก[1]

ประโยชน์ของปรงป่า

  • เมล็ดมีแป้งที่ใช้รับประทานได้[2]
  • รากมีปมเป็นกิ่งแผ่ฝอยจึงช่วยจับไนโตรเจนในดินได้ดี[2]
  • นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “ปรงป่า”.  หน้า 107.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ปรงป่า”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [28 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : plant.opat.ac.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด