บิซาโคดิล (Bisacodyl) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

บิซาโคดิล (Bisacodyl) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

บิซาโคดิล

บิซาโคดิล หรือ ไบซาโคดิล (Bisacodyl) คือ ยาระบายเพื่อรักษาอาการท้องผูกที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ผนังลำไส้ใหญ่บีบตัว ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวจนทำให้เกิดการขับถ่ายในที่สุด

ตัวอย่างยาบิซาโคดิล

ยาบิซาโคดิล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น บิซาโคดิล จีพีโอ (Bisacodyl GPO), บิซาโคดิล โค้ท (Bisacodyl Coated), บิซาคอด เอนเทอริค โค้ท (Bisacodyl Enteric Coated), ไบโคแลกซ์ (Bicolax), ไบโซแลกซ์ (Bisolax), ชินตาแลกซ์ (CHINTA–LAX), คอนแลกซ์ (CONLAX), อีมัลแลกซ์ บิซาโคดิล (Emulax Bisacodyl), ฟีนอแลกซ์ (Fenolax), ดัลโคแลกซ์ (Dulcolax), ดัลโคแลกซ์ เอนเทอริค โค้ท (Dulcolax Enteric Coated), เจนโคแลกซ์ (Gencolax), กาโดแลกซ์ (Kadolax), แลกซ์โคดิล (Laxcodyl), วาโคแลกซ์ (Vacolax), เวอราโคเลท (Veracolate) ฯลฯ

ยาบิซาโคดิลมีจำหน่ายอย่างแพร่หลายในร้านขายยา คลินิก และโรงพยาบาล มีรูปแบบการใช้ยาที่ง่ายและสะดวกจึงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป โดยยี่ห้อที่นิยมใช้กันในประเทศไทย คือ บิซาโคดิล จีพีโอ (Bisacodyl GPO) ซึ่งเป็นขององค์การเภสัชกรรม, ดัลโคแลกซ์ (Dulcolax), และชินตาแลกซ์ (CHINTA–LAX)

ดัลโคแลกซ์
IMAGE SOURCE : www.betterchemist.com

ดัลโคแลกซ์สรรพคุณ
IMAGE SOURCE : www.drugs.com

ดัลโคแลกซ์กินกี่เม็ด
IMAGE SOURCE : www.kmtth.org.tw

ดัลโคแลกซ์เหน็บ
IMAGE SOURCE : www.mountainside-medical.com, www.phoenixmed2u.com

รูปแบบยาบิซาโคดิล

  • ยาเม็ด / ยาเม็ดเคลือบน้ำตาล ขนาด 5 มิลลิกรัม (แตกตัวในลำไส้ใหญ่)
  • ยาเหน็บทวารชนิดที่มีตัวยา 10 มิลลิกรัม และชนิดที่มีตัวยา 5 มิลลิกรัม (สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ)

สรรพคุณของยาบิซาโคดิล

ยานี้ใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษาอาการท้องผูก หรือใช้เป็นยาระบายเพื่อทำความสะอาดลำไส้สำหรับเตรียมการผ่าตัดหรือส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วย

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบิซาโคดิล

ยาบิซาโคดิลจะออกฤทธิ์กระตุ้นให้ผนังลำไส้ใหญ่มีการบีบตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวจนทำให้เกิดการขับถ่ายในที่สุด

ก่อนใช้ยาบิซาโคดิล

สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยาบิซาโคดิล มีดังนี้

  • การแพ้ยาบิซาโคดิล ประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด อาหาร หรือสารอื่น ๆ และอาการที่แพ้ เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • รวมถึงประวัติการแพ้ยา อาหาร หรือสารอื่น ๆ และอาการจากการแพ้ เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาแต่ละชนิดอาจส่งผลทำให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาบิซาโคดิลกับยาอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ก่อนแล้วได้
  • มีความผิดปกติหรือเคยมีประวัติความผิดปกติเกี่ยวกับระบบขับถ่ายในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ปวดท้อง, ท้องผูกเรื้อรัง, เคลื่อนไส้อาเจียน, ลำไส้อุดตัน, ไส้ติ่งอักเสบ, มีแผลหรือรอยแยกที่บริเวณทวารหนัก, ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง เป็นต้น
  • มีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายตัวสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาบิซาโคดิล

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาบิซาโคดิล
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องรุนแรง, ท้องผูกรุนแรง, ลำไส้อุดตัน, ลำไส้อักเสบ, ไส้ติ่งอักเสบ, กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือทวารหนักมีเลือดออก รวมถึงผู้ที่กำลังมีการผ่าตัดช่องท้อง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่ขาดน้ำ (เช่น ผู้ที่ได้รับยาขับปัสสาวะ)
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับยาลดกรด (Antacids) เช่น อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide), แมกนีเซียมคาร์บอเนต (Magnesium carbonate) ฯลฯ เพราะจะทำให้ยาบิซาโคดิลแตกตัวในกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดการระคายเคือง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และในหญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสแรก

วิธีใช้ยาบิซาโคดิล

  1. ยาเม็ด : ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-3 เม็ด ส่วนในเด็กให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ก่อนนอน แล้วดื่มน้ำตาม 1 แก้ว โดยยาจะออกฤทธิ์ทำให้รู้สึกอยากถ่ายอุจจาระหลังจากรับประทานยาไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง
    • ให้กลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหัก บด หรือเคี้ยวยานี้ และไม่ควรรับประทานยานี้ร่วมกับยาลดกรด ยาขับปัสสาวะ นม หรือผลิตภัณฑ์ของนม
    • ห้ามรับประทานยานี้เกินวันละ 1 ครั้ง และห้ามรับประทานยาติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์
    • ยานี้มีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันไปตามลักษณะอาการป่วย เพศ และอายุ ดังนั้น เพื่อความถูกต้องและเหมาะสมจึงควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายขนาดรับประทานในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในผู้ใหญ่จะใช้ไม่เกิน 2 เม็ด หรือ 10 มิลลิกรัม/ต่อวัน ส่วนในเด็กนั้นขนาดที่รับประทานควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์
    • ควรใช้ยานี้ตามวิธีที่ระบุไว้บนฉลากอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ และหากมีข้อสงสัยในการใช้ยาควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจก่อนใช้ยาเสมอ
  1. ยาเหน็บทวาร : ให้เหน็บยาครั้งละ 1 เม็ด เวลาที่ต้องการจะถ่ายอุจจาระ ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วหลังการเหน็บประมาณ 15-60 นาที จึงนิยมเหน็บยานี้ในตอนเช้า
    • โดยทั่วไปยาเหน็บทวารหนักนี้จะต้องใช้เหน็บก่อนที่ต้องการจะถ่ายอุจจาระประมาณ 15-60 นาที หรือให้ใช้ยานี้ตามวิธีที่ระบุไว้บนฉลากอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ และหากมีข้อสงสัยในการใช้ยา ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจก่อนใช้ยาเสมอ
    • ควรล้างมือให้สะอาด แล้วแกะเม็ดยาออกจากห่อกระดาษ นอนในท่าตะแคง โดยให้งอขาบนขึ้นจนหัวเข่าชิดหน้าอกมากที่สุดและขาล่างให้เหยียดตรงไว้ หรือให้ยืนตรงแล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นโดยให้เท้าเหยียบเก้าอี้ แล้วเอามืออ้อมขาไปด้านหลังแล้วสอดยาเหน็บเข้าไปในทวารหนัก (ให้เอาด้านที่มีปลายแหลมกว่าเข้าไปก่อนและใช้นิ่วดันยาเข้าไปอย่างช้า ๆ และเบา ๆ โดยให้พยายามสอดยาให้ลึกเพื่อไม่ให้แท่งยาหลุดออกจากทวารหนัก)
    • หากยาเหน็บนิ่ม ให้นำไปแช่ในตู้เย็นก่อนแกะยาออกจากห่อ หรืออาจแช่ในตู้เย็นก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้แท่งยาแข็งตัวและสอดได้ง่ายขึ้น
    • เมื่อเหน็บยาแล้วให้นอนอยู่ในท่าเดิมประมาณ 15-20 นาที แล้วจึงค่อยลุกไปถ่ายอุจจาระ (ควรกลั้นอุจจาระเอาไว้แม้ว่าหลังเหน็บยาไปแล้วจะรู้สึกอยากถ่ายแล้วก็ตาม เพราะหากลุกไปถ่ายทันทีจะทำให้ยาหลุดออกมาก่อนที่จะละลายและออกฤทธิ์ได้เต็มที่)

คำแนะนำในการใช้ยาบิซาโคดิล

  • ขนาดยาและระยะเวลาการใช้ยาที่ระบุไว้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น จึงไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ ซึ่งการใช้ยาที่เหมาะสมจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ
  • ห้ามหัก บด หรือเคี้ยวยานี้ และไม่ควรรับประทานยานี้หลังจากรับประทานยาลดกรดหรือดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์ของนมภายใน 1 ชั่วโมง เพราะความเป็นด่างของนมและยาลดกรดจะทำให้เปลือกที่เคลือบยาไว้แตก ซึ่งยาอาจแตกตัวอยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะและปวดมวนท้องได้
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ เพราะจะเป็นการเสริมฤทธิ์การสูญเสียเกลือแร่ของร่างกาย ทำให้ปากแห้ง กระหายน้ำ ร่างกายอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่มีแรง เป็นตะคริว ปัสสาวะลดลง ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ
  • ห้ามรับประทานยานี้เกินวันละ 1 ครั้ง และห้ามรับประทานยาติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ เพราะจะทำให้เซลล์ประสาทที่ลำไส้ทำงานลดลง พอหยุดใช้ยาแล้วจะทำให้ท้องผูก ลำไส้ไม่มีการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ ทำให้ผู้ป่วยต้องพึ่งยาระบายตลอดไป นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดตะคริวได้ด้วย เพราะร่างกายสูญเสียแร่โพแทสเซียม แคลเซียม
  • ยานี้ถ้าใช้ในขนาดมาก อาจทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์รุนแรงดังที่กล่าวมา เช่น ถ่ายท้องรุนแรงจนเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่
  • หากพบเลือดออกทางทวารหนัก หรือสภาวะการขับถ่ายยังไม่กลับคืนสู่ปกติภายใน 2 สัปดาห์หลังจากหยุดยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

การเก็บรักษายาบิซาโคดิล

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • สำหรับยาเม็ดสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด (ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และควรเก็บในที่แห้ง (ไม่เก็บในบริเวณที่เปียกหรือชื้น เช่น ในห้องน้ำ)
  • สำหรับยาเหน็บทวารควรเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็ง
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยาบิซาโคดิล

โดยทั่วไปยานี้จะใช้เฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น การลืมใช้ยาจึงไม่ทำให้เกิดอันตราย และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาในการใช้ครั้งต่อไป แต่หากฉลากยาระบุให้รับประทานยานี้อย่างสม่ำเสมอ ถ้าลืมรับประทานยาก็ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเวลาที่ลืมใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ก็ให้รับประทานยามื้อต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาบิซาโคดิล

  • อาการอันไม่พึงประสงค์ทั่วไป คือ ท้องเสียเล็กน้อย รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ปวดเกร็งช่องท้อง
  • อาการอันไม่พึงประสงค์รุนแรง คือ ท้องเสียรุนแรง เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ (เช่น ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้ง กระหายน้ำมาก) เหงื่อและปัสสาวะออกน้อย รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ วิงเวียน หน้ามืดเป็นลม บางรายอาจทำให้มีเลือดออกทางทวารหนัก
  • ถ้าเหน็บยาบ่อย อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณที่สอดยาหรือทำให้ทวารหนักเกิดการอักเสบได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ไบซาโคดิล (Bisacodyl)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 282.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “ดัลโคแล็กซ์ (ชนิดเม็ด)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [10 ก.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “บิซาโคดิล (Bisacodyl)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [10 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด