บัวผัน บัวเผื่อน สรรพคุณและประโยชน์ของดอกบัวเผื่อน 13 ข้อ !

บัวผัน บัวเผื่อน สรรพคุณและประโยชน์ของดอกบัวเผื่อน 13 ข้อ !

บัวเผื่อน

บัวเผื่อน ชื่อสามัญ Water lily

บัวเผื่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphaea nouchali Burm.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nymphaea stellata Willd.) จัดอยู่ในวงศ์บัวสาย (NYMPHAEACEAE)

สมุนไพรบัวเผื่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น นิโลบล (กรุงเทพฯ), ป้านสังก่อน (เชียงใหม่), ปาลีโป๊ะ (มลายู นราธิวาส), บัวผัน บัวขาบ (ภาคกลาง), บัวแบ้ เป็นต้น

บางครั้งนักวิทยาศาสตร์จะแบ่งแยกระหว่างบัวเผื่อนและบัวผันออกจากกันเป็น 2 ชนิด แต่บางครั้งก็บอกว่าเป็นชนิดเดียวกันแต่เป็นคนละสายพันธุ์ โดยบัวเผื่อนจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea stellata Wild. (สาเหตุที่เรียกว่าบัวเผื่อนนั้นมาจากสีของดอกเผื่อนระหว่างสีขาวครามและชมพูอ่อน) ส่วนบัวผัน จะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea Cyanea Roxb. (บัวผันมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น นิลุบล นิลอุบล บัวนิล) ซึ่งสรรพคุณทางยาก็น่าจะเหมือนกัน

ลักษณะของบัวเผื่อน

  • ต้นบัวเผื่อน เป็นพันธุ์ไม้น้ำคล้ายบัวสาย เป็นพืชที่มีอายุหลายปี มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน ส่วนใบและดอกจะขึ้นอยู่บนผิวน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยการใช้หน่อหรือเหง้า และใช้เมล็ด พบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยสามารถพบได้ตามหนองน้ำ บึงคลอง ริมแม่น้ำที่มีกระแสน้ำอ่อน และขอบพรุ
  • ใบบัวเผื่อน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นกลุ่ม แผ่นใบลอยอยู่บนผิวน้ำ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบทู่ถึงกลมมน ส่วนโคนเว้าลึก ขอบใบเรียงถึงหยักตื้น ๆ ใบมีความกว้างประมาณ 8-18 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียว ท้องใบสีเขียวอ่อนจนถึงสีม่วงจาง ผิวใบเกลี้ยง มีเส้นใบราว 10-15 เส้น แยกจากจุดเชื่อมกับก้านใบ ส่วนก้านใบมีความสั้นยาวไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำเป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีความยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร
  • ดอกบัวเผื่อน ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขึ้นอยู่เหนือน้ำ ดอกมีสีขาวแกมชมพูถึงสีอ่อนคราม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ถ้าดอกมีสีขาวแกมเหลือง ปลายกลีบดอกเป็นสีครามอ่อน แล้วเผื่อนเป็นสีขาวหรือปลายกลีบเป็นสีชมพูเมื่อใกล้โรย แต่ละดอกจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร มีกลีบดอกซ้อนกัน 2-3 ชั้น ปลายกลีบแหลม มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก รังไข่มีช่องประมาณ 10-20 ช่อง ฝังตัวแน่นอยู่ใต้แผ่นรองรับ ส่วนเกสรตัวเมียเป็นรูปถ้วย มีก้านดอกคล้ายกับก้านใบและมีความยาวไล่เลี่ยกัน สามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี และดอกจะบานตอนช่วงสายและจะหุบตอนช่วงบ่าย ส่วนผลจะจมอยู่ใต้น้ำหลังจากการผสมเกสรแล้ว
  • ดอกบัวเผื่อน มีกลีบดอกสีขาว ปลายกลีบดอกเป็นสีครามอ่อน แล้วเผื่อนเป็นสีขาวหรือเป็นสีชมพูเมื่อใกล้โรย

ดอกบัวเผื่อน
ดอกบัวเผื่อน

  • ดอกบัวผัน ดอกเป็นสีชมพู

ดอกบัวผัน
ดอกบัวผัน

  • ดอกบัวนิล ดอกจะเป็นสีม่วงเข้ม

ดอกบัวนิล
ดอกบัวนิล

  • ดอกบัวขาบ ดอกจะมีสีฟ้าคราม

ดอกบัวขาบ
ดอกบัวขาบ

สรรพคุณของบัวเผื่อน

  1. ช่วยบำรุงกำลัง (ดอก, เมล็ด, หัว)
  2. เมล็ดใช้คั่วช่วยบำรุงร่างกาย (เมล็ด, หัว)
  3. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เมล็ด, หัว)
  4. ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก, เมล็ด, หัว)
  5. ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน (ดอก)
  1. ช่วยบำรุงครรภ์ (ดอก, หัว)
  2. ในตำราสมุนไพรไทย บัวเผื่อนถูกจัดให้อยู่ในตำรับยา “พิกัดบัวพิเศษ” ซึ่งประกอบไปด้วย บัวเผื่อน, บัวขม, บัวหลวงแดง, บัวหลวงขาว, บัวสัตตบงกชแดง, และบัวสัตตบงกชขาว ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้อันเกิดเพื่อธาตุทั้ง 4 ช่วยขับเสมหะ แก้ไข้ตัวร้อน อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ลม ช่วยบำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น และช่วยบำรุงครรภ์ (ดอก)
  3. ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ดอกบัวเผื่อนเป็นส่วนประกอบในตำรับยากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือตำรับยา “ยาหอมเทพจิตร” โดยมีดอกบัวเผื่อนเป็นส่วนประกอบร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ลมกองละเอียด หรืออาการหน้ามืดตาลาย แก้อาการสวิงสวาย (อาการใจหวิว วิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม), แก้อาการใจสั่น, และช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ทำให้สุขใจ สบายใจ ช่วยคลายเครียด ทำให้มีอารมณ์แจ่มใส (ดอก)
  4. สาร Nymphagol จากดอกบัวเผื่อน มีฤทธิ์ในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยเพิ่มระดับอินซูลินในหนูทดลองได้ (ดอก)
  5. สารสกัดจากดอกบัวเผื่อน มีฤทธิ์ช่วยปกป้องตับหนูจากการถูกทำลายด้วยสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (ดอก)

สมุนไพรบัวเผื่อน

ประโยชน์ของบัวเผื่อน

  1. เนื่องจากดอกบัวเผื่อนและดอกบัวผันมีดอกที่สวยงาม จึงมีการปลูกไว้ตัดดอกเพื่อขาย
  2. นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับไว้ในอ่างหรือสระน้ำเพื่อความสวยงาม โดยสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แถมยังปลูกเลี้ยงดูแลง่าย และมีความทนทานต่อสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี
  3. ก้านดอกสามารถใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือใช้จิ้มกินกับน้ำพริก หรือนำไปประกอบอาหาร เช่น ผัดสายบัวกับหมูหรือกุ้ง ต้มสายบัวกับปลาทู เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, พรรณไม้น้ำในประเทศไทย (สุชาดา ศรีเพ็ญ), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)

ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.pantip (by zeda), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด