น้ำใจใคร่
น้ำใจใคร่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Olax psittacorum (Lam.) Vahl จัดอยู่ในวงศ์น้ำใจใคร่ (OLACACEAE)[1],[2]
สมุนไพรน้ำใจใคร่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เคือขนตาช้าง (ศรีสะเกษ), ควยเซียก (นครราชสีมา), อีทก เยี่ยวงัว (อุบลราชธานี), กระดอกอก (สุพรรณบุรี), กระทอกม้า (ราชบุรี), น้ำใจใคร่ (ราชบุรี, กาญจนบุรี), กะหลันถอก (กาญจนบุรี), หญ้าถลกบาตร (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์), ส้อท่อ (ทุ่งสง-นครศรีธรรมราช), กระทอก ชักกระทอก (ประจวบคีรีขันธ์), ควยถอก (ชุมพร), กะเดาะ กระเดาะ (สงขลา), ผักรูด (สุราษฎร์ธานี), เจาะเทาะ (พัทลุง, สงขลา), เสาะเทาะ (สงขลาตอนใน เช่น หาดใหญ่ คลองหอยโข่ง), นางจุม นางชม (ภาคเหนือ), กะทกรก กระทกรก (ภาคกลาง), ลูกไข่แลน (ภาคใต้บางแห่ง), กระเด๊าะ อาจิง (มลายู-นราธิวาส), อังนก, สอกทอก, จากกรด, ผักเยี่ยวงัว เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5],[6]
ลักษณะของน้ำใจใคร่
- ต้นน้ำใจใคร่ จัดเป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 2-5 เมตร มีกิ่งก้านมาก เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเข้มหรือสีขาวอมน้ำตาล แตกเป็นแนวยาวห่าง ๆ กัน กิ่งมักห้อยลง ตามกิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุม มักมีหนามแข็งเล็ก ๆ ทั่วไป ส่วนกิ่งแก่เกือบเกลี้ยง มีหนามโค้ง ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาวนวล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามดินปลวก มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน ชวา คาบสมุทรมลายู และอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยเฉพาะในจังหวัดสระบุรี จันทบุรี พิษณุโลก ลำพูน และจังหวัดเชียงใหม่ โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าชายหาด ป่าละเมาะ ที่รกร้าง และป่าดิบเขาทั่วไป ที่ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 300 เมตร[1],[2],[3],[4],[6]
- ใบน้ำใจใคร่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเล็กน้อย สองข้างไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า หลังใบและท้องใบมีขนนุ่ม ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนขึ้นประปราย เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 5-8 เส้น เมื่ออ่อนจะมีขนสั้นนุ่มตามเส้นกลางใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และมีขนสั่นนุ่ม[1],[2],[3]
- ดอกน้ำใจใคร่ ออกดอกเป็นช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบ มี 1-3 ช่อ ต่อซอกใบ ดอกมีกลิ่นหอม มีขนสั้นหนาแน่น ดอกย่อยเป็นสีขาวมีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปแถบแกมรูปขอบขนาน เกลี้ยง มีขนาดกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร กลีบดอก 2 ใน 3 กลีบ มักจะมีแฉกย่อยที่ปลาย ทำให้ดูคล้ายว่ามีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายดอกแหลม แยกออกเป็นแฉก 5-6 แฉก ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยสีเขียว มี 5 กลีบ ปลายตัด ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านชูดอกสั้น เกสรเพศผู้มี 3 อัน อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเป็นรูปไข่แคบ ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 3 แฉก ไม่ชัดเจน มีใบประดับที่โคนก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.5-3.5 เซนติเมตร และใบประดับย่อยร่วงได้ง่าย ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ปลายมน มีสันตามยาว และมีขนสั้นนุ่ม ส่วนก้านดอกเกลี้ยงยาวประมาณ 1-5 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[3]
- ผลน้ำใจใคร่ ผลเป็นแบบผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่เกินครึ่งผล หรือประมาณ 2 ใน 3 ส่วน ส่วนปลายผลมีสีเข้มครอบเหมือนหมวกและมียอดเกสรเพศเมียที่ติดคงทน จะหลุดร่วงไปเมื่อผลแก่จัด ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยเมล็ดมีลักษณะกลม[1],[3]
สรรพคุณของน้ำใจใคร่
- เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาชูกำลังหรือบำรุงกำลัง (เปลือกต้น)[2],[3]
- เนื้อไม้มีรสฝาดเฝื่อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาคุมธาตุ ถอนพิษยาเมาเบื่อทั้งปวง (เนื้อไม้)[2],[3],[6]
- ใบนำมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาเบื่อ (ใบ)[6]
- รากมีรสสุขุม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้เด็กตัวร้อน ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน (ราก, เปลือกต้น)[2],[3],[4],[6]
- ใบมีรสฝาดเมา นำมาตำให้ละเอียด เอากากสุมศีรษะแก้อาการปวดศีรษะ ไข้หวัดคัดจมูก (ใบ)[2],[3],[6]
- เนื้อของผลใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง (เนื้อผล)[5]
- เมล็ดมีรสฝาดร้อน นำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำสับปะรด รมควันให้อุ่นใช้เป็นยาทาท้องเด็ก แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยทำให้ขับผายลม (เมล็ด)[2],[6]
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิ (ราก)[2],[3] ส่วนอีกตำราระบุว่า ให้ใช้ใบนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิ (ใบ)[6]
- เนื้อไม้นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กามโรค (เนื้อไม้)[2] ส่วนอีกตำราระบุว่า ให้ใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กามโรค (ราก)[6]
- ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคไตพิการ (โรคที่เกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขุ่น แดง หรือเหลือง มีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้) (ต้น)[1],[3]
- เนื้อไม้ใช้ฝนทารักษาบาดแผล (เนื้อไม้)[2],[3],[6]
- เปลือกต้นนำมาต้มรมหรือทารักษาแผลเน่าเปื่อย ทำให้แผลแห้ง (เปลือกต้น)[2],[3],[6]
- เนื้อไม้นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (เนื้อไม้)[3]
ประโยชน์ของน้ำใจใคร่
- ยอดอ่อนและใบอ่อน (ใบเพสะลาด) มีรสหวานมันและฝาดเล็กน้อย ใช้เป็นผักแกงส้ม แกงเลียง หรือใช้เป็นผักแนม (ผักเหนาะ) จิ้มกับน้ำพริกรับประทาน[5] ส่วนผลสุกก็ใช้รับประทานได้เช่นกัน[3]
- ลักษณะของผลน้ำใจใคร่นี้ ชาวบ้านจะใช้เป็นตัวตรวจสอบด้วยว่าปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีจะมีมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ ถ้าปีไหนผลน้ำใจใคร่มีกลีบเลี้ยงหุ้มมากจนเกือบมิดผล นั่นแสดงว่าปีนั้นน้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้ากลีบเลี้ยงหุ้มผลสั้นหรือมีน้อย ผลโผล่ออกมามาก ก็แสดงว่าปีนั้นฝนจะตกน้อย[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “น้ำใจใคร่ (Nam Chai Khrai)”. หน้า 156.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “น้ำใจใคร่”. หน้า 126.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “น้ำใจใคร่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [01 ธ.ค. 2014].
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “น้ำใจใคร่”. อ้างอิงใน : หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. (ราชบัณฑิตยสถาน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [01 ธ.ค. 2014].
- เดอะแดนดอทคอม. “น้ำใจใคร่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.the-than.com. [01 ธ.ค. 2014].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กะทกรก”. หน้า 49-50.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by thammavong viengsamone, Dinesh Valke), photobucket.com (by jayah9), www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)