น้ำเต้าต้น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นน้ำเต้าต้น 16 ข้อ ! (น้ำเต้าญี่ปุ่น)

น้ำเต้าต้น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นน้ำเต้าต้น 16 ข้อ ! (น้ำเต้าญี่ปุ่น)

น้ำเต้าต้น

น้ำเต้าต้น ชื่อสามัญ Calabash, Calabash tree, Wild calabash

น้ำเต้าต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Crescentia cujete L. จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรน้ำเต้าต้น มีชื่อเรียกอื่นว่า น้ำเต้าญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ)

ลักษณะของน้ำเต้าต้น

  • ต้นน้ำเต้าต้น หรือ ต้นน้ำเต้าญี่ปุ่น จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 2-10 เมตร กิ่งก้านแผ่ตามแนวราบ รูปทรงของกิ่งมีลีลาอ่อนช้อยสวยงามและรูปทรงไม่ค่อยแน่นอน เป็นต้นไม้ที่ไม่ต้องการการดูแลรักษามาก เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้งได้เป็นอย่างดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และวิธีการปักชำ แต่จะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เนื่องจากจะให้ผลขนาดใหญ่และมีเมล็ดมาก[1],[2],[3],[6] เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้[3],[7]

ต้นน้ำเต้าต้น

น้ําเต้าญี่ปุ่น

ต้นน้ำเต้าญี่ปุ่น

  • ใบน้ำเต้าต้น ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวสดรูปช้อนเรียงสลับ ปลายใบแหลมเล็กน้อย ส่วนโคนใบสอบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ไม่มีก้าน และยังมีใบประดับขนาดเล็กรูปร่างคล้ายใบออกที่โคนใบจำนวน 2 ใบ อยู่ตามข้อกิ่ง โดยใบประดับทั้งสองจะมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.5 เซนติเมตร[1]

ใบน้ำเต้าต้น

  • ดอกน้ำเต้าต้น ดอกเป็นดอกเดี่ยวห้อยลง ลักษณะเป็นรูปปากแตรบานเล็กน้อย ดอกเป็นสีเขียวอมเหลืองและมีลายสีม่วง กลีบของดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อ ที่ปลายดอกแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ดอกมีขนาดยาวประมาณ 2-3 นิ้ว มีเกสรตัวผู้อยู่ 4 ก้าน ขนาดสั้น 2 ก้านและยาวอีก 2 ก้าน และดอกมีกลิ่นเหม็นหืน[1],[3]

ดอกน้ำเต้าญี่ปุ่น

ดอกน้ำเต้าต้น

  • ผลน้ำเต้าต้น ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมโต มีขนาดตั้งแต่ 15-50 เซนติเมตร ผิวเรียบเป็นสีเขียวอ่อน เกลี้ยง และแข็ง ภายในผลมีเนื้อเป็นปุยสีขาวและเมล็ดสีน้ำตาลขนาดเล็ก มีลักษณะแบน ๆ ปลายเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปหัวใจ ขอบเว้า และมีความยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร[1],[7]

ผลน้ำเต้าญี่ปุ่น

ผลน้ำเต้าต้น

สรรพคุณของน้ำเต้าต้น

  1. เนื้อในผลหรือใบสดนำมาตำหรือบดแล้วนำมาพอกจะช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ, เนื้อในผล)[1],[2],[7]
  2. ช่วยแก้โรคหืด (เนื้อในผล)[5]
  3. ช่วยแก้ไข้ (เนื้อในผล)[1],[2],[5],[6],[8]
  4. เนื้อในผลมีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย ช่วยขับเสมหะ (เนื้อในผล)[1],[2],[6]
  5. ช่วยรักษาอาการท้องเสีย ปวดท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
  6. ผลดิบมีรสเปรี้ยว ใช้กินเป็นยาระบาย แต่ถ้ากินมากอาจทำให้ท้องเสียได้ ส่วนเนื้อในผลก็ช่วยระบายท้องด้วยเช่นกัน (ผลดิบ, เนื้อในผล)[1],[5],[6]
  7. เปลือกต้นมีรสฝาด นำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยแก้อาการท้องเดินได้ (เปลือกต้น)[1],[6]
  8. ช่วยแก้อาอาการบิด (เนื้อในผล)[1],[2]
  9. เนื้อในผลเป็นยาขับปัสสาวะ (เนื้อในผล)[1],[2]
  10. แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการอ่อนเพลียของสตรีหลังคลอดบุตร (แก่น)[1]
  11. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างบาดแผล (เปลือกต้น)[1],[5],[6]
  12. ใบช่วยแก้อาการฟกช้ำ เข้าใจว่าใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่มีอาการฟกช้ำ (ใบ)[4],[6]

คำแนะนำ : น้ำเต้าต้นหรือน้ำเต้าญี่ปุ่นเป็นพันธุ์ไม้ที่รับประทานไม่ได้ หากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เป็นพิษต่อร่างกายได้[6]

ประโยชน์ของน้ำเต้าต้น

  • สามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับสวนหรือสนามที่ต้องการความอ่อนหวาน เนื่องจากลักษณะของยอดในแต่ละกิ่งนั้นจะยาวแหลมเรียวและทอดโค้งไปมา อีกทั้งมีผลสีเขียวอ่อนที่ดูสวยงาม ห้อยกระจายอยู่ทั่วไปภายในทรงพุ่ม[2],[7]
  • เมล็ดนำมาทำให้สุกใช้ทำเป็นเครื่องดื่มได้[5]
  • เปลือกผลสามารถนำมาใช้ทำเป็นภาชนะได้[7]
  • ลำต้นแก่ของต้นน้ำเต้าต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งบ้านเรือนได้[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “น้ำเต้าต้น“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [27 ธ.ค. 2013].
  2. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “น้ำเต้าต้น“.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [28 ธ.ค. 2013].
  3. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างน้ำเต้าต้นและตีนเป็ดฝรั่ง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [28 ธ.ค. 2013].
  4. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์.  “น้ำเต้าต้น“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th.  [28 ธ.ค. 2013].
  5. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร.  “น้ำเต้าต้น“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: garden.minpininteraction.com.  [28 ธ.ค. 2013].
  6. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์.  “น้ําเต้าต้น“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.uru.ac.th.  [28 ธ.ค. 2013].
  7. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “น้ำเต้าต้น“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/.  [28 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Andre Benedito, Vietnam Plants & The USA. plants, celcoimbra, Roscoea, Vuon Hoa 04, monika & manfred, Vale da Neblina)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด