น้ำมันปลา
น้ำมันปลา หรือ ฟิชออยล์ (Fish Oil) คือ น้ำมันที่สกัดมาจากส่วนของเนื้อปลา หนัง หัว และหางของปลาทะเลน้ำลึก (โดยเฉพาะปลาในเขตหนาว ถ้าปลาทะเลทั่วไปจะได้สารสำคัญน้อยกว่าปลาทะเลที่อยู่ในกระแสน้ำเย็น)
ในน้ำมันปลานี้จะมีกรดไขมันอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่สำคัญและมีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ คือ กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 และกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-6 แต่กลุ่มที่สำคัญที่สุดคือกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 เนื่องจากมีกรดสำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ EPA (Eicosapentaenoic Acid) และ DHA (Docosahexaenoic Acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ และจำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น
สำหรับแหล่งอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่สำคัญและเราคุ้นเคยดีก็คือ “ปลา” ครับ โดยเฉพาะปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแอนโชวี่ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาบะ ปลาเฮอร์ริ่ง ปลาแมคเคอเรลปลาไวท์ฟิช ปลาบลูฟิช ปลาชอคฟิช ปลานิลทะเล ปลาดุกทะเล ฯลฯ รวมไปถึงหอยกาบ หอยนางรม หอยพัด กุ้ง ปลาหมึก และนอกจากปลาแล้วยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 สูงอื่น ๆ อีกด้วย ได้แก่ วอลนัท ถั่วแระ ถั่วเหลือง เมล็ดแฟล็กซีด เมล็ดเจีย น้ำมันคาโนลา สาหร่ายสไปรูลิน่า ผลิตภัณฑ์จากนม และยังพบมีอยู่จำนวนไม่มากนักในผักเขียวสีเข้ม
ประโยชน์ของน้ำมันปลา
เนื่องจากน้ำมันปลามีไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ในทางการแพทย์จึงเชื่อว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลากหลายด้าน และสำหรับประโยชน์ที่มีหลักฐานตามงานวิจัยในปัจจุบันนั้นมีดังนี้
- EPA ช่วยลดระดับไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) ไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นไขมันตัวร้ายที่หากมีการสะสมมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งการรับประทานน้ำมันปลาจะมีประโยชน์ต่อทั้งสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรคที่ต้องการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากไขมันในเลือดสูง และผู้ที่เป็นโรคแล้ว
- จากผลวิจัยทางการแพทย์ระบุไว้ว่า น้ำมันปลาสามารถช่วยลดไขมันตัวร้ายดังกล่าวได้ 20-50% ที่สำคัญ คือ ค่อนข้างปลอดภัยและสามารถใช้ร่วมกับยาในการลดระดับไขมันในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงได้ (การทานร่วมกับยาที่ได้รับอยู่ปกติจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการลดไขมันดีขึ้น แต่คุณควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อน)
- การรับประทานน้ำมันปลาสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL) ในผู้ที่มีปัญหาระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติได้ (แต่บางงานวิจัยก็ไม่พบว่าน้ำมันปลามีสรรพคุณดังกล่าวทั้งการเพิ่มระดับระดับ HDL และลดระดับ LDL)
- EPA ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคทางระบบหลอดเลือด หัวใจและสมอง เพราะ EPA ในน้ำมันปลาจะไปช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบหลอดเลือดและหัวใจ ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ยับยั้งการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือดและลดไขมันในเลือด ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น ลดการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ จึงช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง ทางการแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดรับประทานน้ำมันปลาเป็นประจำ
- โรคหัวใจ การรับประทานปลาจะช่วยให้หัวใจมีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ส่วนผู้ที่เป็นโรคหัวใจเองก็สามารถลดความเสี่ยงต่าง ๆ จากโรคของตนได้ แต่สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลานั้นยังคงไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้
- หัวใจล้มเหลว การบริโภคน้ำมันปลาในปริมาณมากทั้งจากอาหารและจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- ป้องกันการอุดตันซ้ำหลังการผ่าตัดขยายหลอดเลือด มีงานวิจัยที่พบว่าน้ำมันปลาสามารถลดอัตราการอุดตันซ้ำของหลอดเลือดได้มากถึง 45% เมื่อรับประทานก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 3 สัปดาห์และหลังจากผ่าตัด 1 เดือน
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass surgery) น้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันไม่ให้ทางเบี่ยงหลอดเลือดตีบตันซ้ำได้
- การปลูกถ่ายหัวใจ การรับประทานน้ำมันปลาอาจช่วยสงวนการทำงานของไตและลดความดันโลหิตระยะยาวหลังการปลูกถ่ายหัวใจได้
โรคหลอดเลือดสมอง การบริโภคปลาในปริมาณที่พอเหมาะ (1-2 ครั้งต่อสัปดาห์) สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองลง 27%
- EPA มีส่วนช่วยลดความดันโลหิตสูง เนื่องจากโอเมก้า-3 มีส่วนช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น จึงมีผลให้ความดันลดลงเล็กน้อย (คือช่วยลดได้ไม่มากนัก) โดยที่จะไม่มีผลต่อความดันในผู้ที่มีความดันโลหิตปกติแต่อย่างใด
- ช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงจากการใช้ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้สำหรับลดความเสี่ยงการปฏิเสธอวัยวะใหม่ที่ต้องใช้หลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
- EPA มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ เพราะ EPA เป็นองค์ประกอบสำคัญของสารพลอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่ร่างกายสร้างขึ้นที่ช่วยลดการอักเสบและอาจช่วยรักษาภาวะหรือการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังได้ ทั้งยังช่วยลดการผลิตและการแสดงออกของยีนที่หลั่งสารไซโตไคน์ซึ่งเป็นโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ
- โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) การรับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับยานาพรอกเซน (Naproxen) สามารถช่วยให้อาการของข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ดีขึ้น มีผลทำให้อาการเจ็บปวดลดลงจนมีการใช้ยาแก้ปวดน้อยลง อีกทั้งการให้น้ำมันปลาเข้าเส้นเลือดก็สามารถลดอาการบวมและข้อแข็งในผู้ป่วยโรคนี้ได้ด้วย ส่วนการศึกษาของมหาวิทยาลัยบริสตอล พบว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 ในน้ำมันปลา สามารถบรรเทาอาการของโรคข้อกระดูกอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อทำการทดลองให้อาหารที่มีโอเมก้า-3 สูงแก่หนูตะเภาที่เป็นโรคข้อกระดูกอักเสบ พบว่า สามารถช่วยรักษาโรคได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับหนูที่กินอาหารแบบปกติ
- อาการอักเสบของข้อกระดูกในหญิงตั้งครรภ์ การรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยลดอาการอักเสบของข้อกระดูกที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักพบเจอได้
- DHA เป็นส่วนประกอบในเซลล์สมอง ประสาท และจอประสาทตา ซึ่ง
- การได้รับ DHA ในปริมาณที่มากพอจะช่วยให้ความคิดและการจดจำดีขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ DHA จึงอาจเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการการบำรุงสมองอย่างมาก เช่น นักเรียนนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่และต้องการเพิ่มการเรียนรู้การจดจำ หรือในผู้สูงอายุที่ต้องการช่วยเพิ่มการจดจำ การคิด ลดการเสื่อมของระบบประสาท อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเพิ่มความจำ DHA ก็ช่วยได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้นและไม่ได้ช่วยให้ฉลาดขึ้นแต่อย่างใด (แต่ DHA สามารถเสริมได้ตั้งแต่ทารกในครรภ์ เพราะ DHA เป็นองค์ประกอบของเซลล์สมอง จอประสาทตา หากทารกได้รับอย่างเพียงพอก็จะส่งผลให้มีพัฒนาการทางสมองและสายตาที่ดีขึ้น)
- ช่วยเสริมสร้างพลังให้สมองและความจำ DHA ในน้ำมันปลาเป็นสารอาหารบำรุงสมองชั้นดี มีส่วนช่วยให้สมองทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านความจำ ด้านการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท (Motor skill) รวมถึงระบบการมองเห็นของจอประสาทตา (Retina) ด้วย
- สำหรับทารกแรกเกิด DHA ในน้ำมันปลาอาจช่วยพัฒนาสมองในระบบประสาทส่วนกลางและพัฒนาเซลล์เนื้อเยื่อดวงตาซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการมองเห็นของเด็ก โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมองของเด็กในช่วงครรภ์ไตรมาสสุดท้ายและในช่วงเดือนแรก ๆ หลังการคลอด เนื่องจาก DHA เป็นองค์ประกอบของเซลล์สมอง จอประสาทตา หากทารกได้รับอย่างเพียงพอก็จะส่งผลให้มีพัฒนาการทางสมองและสายตาที่สมบูรณ์ขึ้น
- งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งออสเตรเลียตะวันตก (The University of Western Australia) พบว่า การเสริมน้ำมันปลาอาจนำไปสู่การทำให้การประสานกันของตาและมือที่ดีขึ้นของทารก (ทดสอบในเด็ก 72 คน โดยเปรียบเทียบคุณแม่ที่ได้รับน้ำมันปลาในปริมาณมากในระหว่างการตั้งครรภ์กับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำมันมะกอก)
- การรับประทานน้ำมันปลาในระหว่างการตั้งครรภ์สามารถช่วยเสริมภูมิต้านทานของร่างกายให้คุณแม่ได้ และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ทารกด้วยเช่นกัน โดยอาจมีผลช่วยทำให้ทารกไม่ค่อยเป็นหวัดในช่วงเดือนแรก ๆ หลังการคลอด เพราะจากการศึกษาวิจัยของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมโมรี (Emory University) ที่ได้ติดตามหญิงชาวแม็กซิกันจำนวน 851 คน (ผู้หญิงครึ่งหนึ่งทาน DHA วันละ 400 มิลลิกรัม กับอีกครึ่งหนึ่งที่ได้รับยาหลอก) ตั้งแต่ช่วงระหว่างเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ต่อเนื่องไปจนทารกมีอายุหกเดือน แล้วทำการสัมภาษณ์ถึงปัญหาสุขภาพของเด็กทารกว่ามีอาการโรคทางเดินหายใจหรือไม่ ตั้งแต่อาการไอ มีเสมหะ คัดจมูก หายใจมีเสียงฟืดฟาด หรือเป็นหวัด พบว่า “ทารกที่คุณแม่ทาน DHA เป็นประจำจะมีอาการของโรคทางเดินหายใจน้อยกว่าเมื่อเจ็บป่วย”
- สำหรับโรคความผิดปกติด้านพัฒนาการประสานงานของอวัยวะ (Developmental coordination disorder) การรับประทานน้ำมันปลา (80%) กับน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส (20%) อาจช่วยเพิ่มความสามารถในการอ่าน สะกดคำ และพฤติกรรมของเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการประสานงานของอวัยวะที่มีอายุ 5-12 ปีได้ อย่างไรก็ตาม น้ำมันปลาอาจไม่ช่วยในเรื่องทักษะการเคลื่อนไหว
- สำหรับโรคสมาธิสั้นในเด็ก การรับประทานน้ำมันปลาจะเพิ่มสมาธิ การทำงานทางสมอง และพฤติกรรมของเด็กโรคสมาธิสั้นที่มีอายุ 8-13 ปีได้ ส่วนการศึกษาวิจัยอื่นพบว่า การรับประทานน้ำมันปลาที่มีส่วนผสมของน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส สามารถเพิ่มการทำงานทางสมอง และพฤติกรรมของเด็กอายุ 7-12 ปีที่เป็นโรคสมาธิสั้นได้
- DHA อาจช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับความจำหรืออัลไซเมอร์ได้ เพราะ DHA ช่วยเพิ่มสารที่ช่วยลดการสร้างเส้นใยในสมองอันเป็นตัวการทำลายใยประสาทส่วนความจำ (ในส่วนนี้งานวิจัยยังขัดแย้งกันอยู่ มีทั้งพบว่าได้ผลและไม่ได้ผล แต่ถ้าจะให้ชัวร์แนะนำให้คุณรับประทานปลาบ่อย ๆ ก็จะดีที่สุด) แต่ถ้าเป็นอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมไปแล้วอันนี้ต่อให้ทานเยอะแค่ไหนน้ำมันปลาก็ไม่สามารถช่วยได้นะครับ
- ช่วยเสริมการแก้ปัญหาภาวะซึมเศร้า จากผลการวิจัยพบว่าผู้ที่บริโภคปลาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าต่ำ เพราะสมดุลของกรดไขมันในร่างกายมีผลต่อความรุนแรงของการเกิดโรคซึมเศร้า จากการวิจัยพบว่าผู้ที่มีระดับกรดไขมันโอเมก้า-3 ต่ำ แต่มีโอเมก้า-6 สูง จะมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าปกติ
- สำหรับคุณแม่หลังคลอด การรับประทานน้ำมันปลาในรูปแบบอาหารเสริมสามารถช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างมีนัยสำคัญ
- รักษาภาวะหรืออาการทางจิตใจ เนื่องจากน้ำมันปลามีกรดไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่สำคัญต่อการทำงานของสมอง หลายคนจึงเชื่อว่าน้ำมันปลาอาจช่วยในการรักษาภาวะหรืออาการทางจิตใจ จึงมีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันปลาในด้านนี้อยู่บ้าง โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่ชี้ว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันภาวะผิดปกติทางจิตใจบางอย่างได้ และยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคไบโพลาร์และโรคจิตเภท
- โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) การรับประทานน้ำมันปลาร่วมกับการบำบัดรักษาโรคนี้ตามปกติสามารถบรรเทาอาการซึมเศร้า (Depression) แต่ไม่อาจบรรเทาอาการพลุ่งพล่าน (Mania) ในผู้ป่วยโรคนี้ได้
- โรคจิต (Psychosis) มีงานวิจัยที่พบว่าการรับประทานน้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันโรคจิตในวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุน้อยที่มีอาการไม่รุนแรงมากได้ (แต่ยังไม่ได้ทดสอบในผู้สูงอายุ)
- ลดอาการปวดไมเกรน (Migraine headaches) ด้วยกรดไขมันในน้ำมันปลามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพรอสตาแกลนดินและลดการหลั่งสารซีโลโทนิน ทำให้การเกาะตัวของหลอดเลือดลดลงในระยะที่มีการบีบตัวของหลอดเลือดในสมอง น้ำมันปลาจึงอาจช่วยลดอาการปวดไมเกรนได้ (แต่งานวิจัยบางชิ้นก็ระบุว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงหรือลดความถี่ของอาการปวดไมเกรนได้แต่อย่างใด)
- ลดอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) การรับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับวิตามินบี 12 สามารถลดระยะเวลาเจ็บปวดและลดความจำเป็นในการใช้ยาแก้ปวดในช่วงปวดประจำเดือนของผู้หญิงได้
- ลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน นักวิจัยพบว่ากรดไขมัน EPA ในน้ำมันปลามีผลช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้นได้ (แต่ไม่ได้ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด)
มีงานวิจัยที่พบว่า น้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันการพัฒนาจากภาวะก่อนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Prediabetes) ได้ - บรรเทาอาการหอบหืด การทานน้ำมันปลาจะช่วยลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ และสารสำคัญที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด ดังนั้น การรับประทานน้ำมันปลาอย่างต่อเนื่องจะมีส่วนช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้
- แก้ปัญหาโรคผิวหนังบางชนิด การทานปลาที่มีไขมันมากอาจจะช่วยบรรเทาอาการของโรคผิวหนังได้ เช่น สะเก็ดเงิน โรคเรื้อนกวาง โดยลดอาการคัน ทำให้ผื่นแดงน้อยลง
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) มีหลักฐานชี้ว่าการให้น้ำมันปลาทางหลอดเลือดดำสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินได้ อีกทั้งเมื่อนำน้ำมันปลาไปทาบนผิวหนังก็จะช่วยให้อาการของโรคนี้ดีขึ้นได้ด้วย ส่วนการรับประทานพบว่าไม่ได้ผล
- น้ำมันปลาช่วยรักษาสิว EPA และ DHA ที่พบในน้ำมันปลา มีส่วนช่วยในการผลิตสารพรอสตาแกลดิน (Prostaglandins) ที่มีหน้าที่หลักในการรักษาระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ผลิตมากเกินไปเป็นหนึ่งในตัวการผลิตไขมันบนผิว ทำให้เป็นสิวอุดตันนั่นเอง
- น้ำมันปลาช่วยชะลอวัย ด้วยกรดไขมันโอเมกา-3 ในน้ำมันปลามีส่วนช่วยต้านการอักเสบภายในร่างกาย ซึ่งการอักเสบในร่างกายนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายเสื่อมถอยลง ด้วยเหตุนี้น้ำมันปลาจึงมีส่วนในการช่วยชะลอวัย
- ช่วยเรื่องการลดน้ำหนัก งานวิจัยบางชิ้นยังระบุว่าการบริโภคน้ำมันปลาควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอาจช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของน้ำมันปลาในด้านนี้อีกครั้ง
- อ้วนคือภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากผิดปกติหรือมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกไป และอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคมะเร็ง มีงานวิจัยหนึ่งที่ชี้ว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจในผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะอ้วนได้
- งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า การรับประทานปลาจะเพิ่มอัตราการลดน้ำหนักและลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่มีน้ำหนักร่างกายมากที่มีความดันโลหิตสูง
- ปัญหาน้ำหนักลดในผู้ป่วยมะเร็ง การรับประทานน้ำมันปลาปริมาณสูงอาจช่วยชะลอน้ำหนักที่หายไปในผู้ป่วยโรคมะเร็งบางรายได้ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากฤทธิ์ของน้ำมันปลาที่ช่วยลดอาการจากภาวะซึมเศร้าและช่วยปรับอารมณ์ของบรรดาผู้ป่วยให้ดีขึ้นนั่นเอง (แต่การใช้น้ำมันปลาในปริมาณที่น้อยเกินจะไม่ส่งผลเช่นนี้)
- น้ำมันปลาช่วยให้สุขภาพกระดูกดีขึ้น ไม่ได้มีเพียงแค่แคลเซียม วิตามินดี และแมกนีเซียมที่เป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยรักษาความหนาแน่นของกระดูก แต่ยังมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ชนิด DHA ด้วย ที่เป็นสารอาหารจำเป็นในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
- กระดูกพรุน (Osteoporosis) การรับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียวหรือทานร่วมกับแคลเซียมและน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส สามารถชะลอการสูญเสียกระดูกและเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกต้นขา (Femur) และสันหลังของผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้ (แต่ไม่ได้ชะลอการสูญเสียกระดูกในผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเสื่อมที่เข่า)
- คอเลสเตอรอลผิดปกติหลังจากการปลูกถ่ายไต การรับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับยาลดระดับคอเลสเตอรอลสามารถช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลของผู้มีปัญหาคอเลสเตอรอลผิดปกติหลังการปลูกถ่ายไตได้
- คอเลสเตอรอลผิดปกติจากการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS น้ำมันปลาสามารถลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติที่เกิดจากการรักษา HIV/AIDS ได้
- โรคไตประเภทที่เรียกว่า IgA nephropathy การใช้น้ำมันปลาในระยะยาวสามารถช่วยชะลอการสูญเสียการทำงานของไตในคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงที่เป็น IgA nephropathy
- กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิดหรือการแท้งบุตรในผู้หญิงที่มีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Antiphospholipid syndrome) การรับประทานน้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันการแท้งบุตรและเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สำเร็จของผู้หญิงที่เป็นโรคนี้ได้
- ช่วยป้องกันความเสียหายที่ไตจากการใช้ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) และช่วยเพิ่มกระบวนการทำงานของไตช่วงพักฟื้นในผู้ป่วยที่ร่างกายปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่ายที่กำลังใช้ยาตัวนี้อยู่
- ประโยชน์อื่น ๆ ของน้ำมันปลาที่ยังมีงานวิจัยขัดแย้งกันเองหรือยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจนว่าช่วยได้หรือไม่
- การรับประทานน้ำมันปลาทุกวันนาน 90-150 วันร่วมกับออกกำลังกายแบบต้าน 90 วันอาจเพิ่มความแข็งแรงและการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อให้กับผู้หญิงอายุมากที่มีสุขภาพดีได้
- การรับประทานน้ำมันปลาสามารถลดอาการปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากการออกกำลังกายได้
- การเสริมอาหารผู้ป่วยติดเตียงด้วยน้ำมันปลาแบบป้อนทางสายอาหารเป็นเวลา 28 วัน อาจช่วยชะลอการเกิดแผลกดทับ (Pressure ulcers) ได้
- การรับประทานน้ำมันปลาทุกวันติดต่อกันนาน 12 เดือนอาจช่วยเพิ่มการทำงานในส่วนความจำของผู้ที่มีการทำงานของสมองน้อยผิดปกติ (Cognitive impairment) ได้
- การใช้น้ำมันปลาร่วมกับยาต้านภาวะซึมเศร้า (Depression) สามารถช่วยลดอาการของโรคได้ในบางคน แต่งานวิจัยชิ้นอื่นพบว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นแต่อย่างใด
- บรรเทาอาการของจิตเภท (Schizophrenia) ในหญิงตั้งครรภ์
- การศึกษาขนาดเล็กงานหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การรับประทานน้ำมันปลาอาจช่วยลดความตื่นตัวของเด็กพิเศษหรือออทิสติก (Autism) ได้ แต่การศึกษานี้ยังมีจุดด้อยอยู่มากและงานวิจัยอื่นกลับแสดงให้เห็นว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยในเรื่องนี้
- น้ำมันปลาอาจช่วยรักษาหอบหืด (Asthma) ได้แค่บางอาการ คือ ช่วยให้หายใจดีขึ้นและลดการใช้ยาบางตัวลง ส่วนงานวิจัยชิ้นพบว่าน้ำมันปลาไม่ได้ลดความรุนแรงของหอบหืดในเด็ก แต่อาจช่วยป้องกันหอบหืดในเด็กเล็กได้หากคุณแม่รับประทานน้ำมันปลาขณะตั้งครรภ์
- การรับประทานน้ำมันปลาระหว่างตั้งครรภ์สามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่ที่รับประทานปลาหรือน้ำมันปลาระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งเสริมพัฒนาการด้านสมองของเด็กได้ (แต่หากรับประทานในขณะให้นมบุตรจะไม่ได้ผล) อย่างไรก็ตาม การรับประทานน้ำมันปลาในระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างให้นมบุตรยังอาจช่วยพัฒนาในการมองเห็นของเด็กและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ได้
- นมเด็กที่ผสมกับกรดไขมันจากน้ำมันปลาและน้ำมันโบราจ (Borage oil) อาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านระบบประสาทและการเจริญเติบโตของทารกที่คลอดก่อนกำหนด (Prematurity) ได้ โดยเฉพาะกับทารกเพศชาย
- คุณแม่ที่รับประทานอาหารน้ำมันปลาระหว่างช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ตามฤดูกาลหรือไข้ละอองฟาง (Hay fever) ในเด็กได้ แต่งานวิจัยกลับพบว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยลดโอกาสเกิดภูมิแพ้ในเด็กแต่อย่างใด
- มีหลักฐานที่พบว่าการรับน้ำมันปลาจะเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว การประสานงาน และการมองเห็นของเด็กที่ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมหายากที่เรียกว่าฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria : PKU) ได้
- การรับประทานปลา 3 ครั้งต่อสัปดาห์สามารถลดความเสี่ยงต่อต้อกระจก (Cataracts) ได้เล็กน้อย
- การบริโภคน้ำมันปลาปริมาณสูงมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อความเสียหายที่ดวงตาผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic retinopathy) ที่น้อยลง
- การรับประทานน้ำมันปลาระหว่างการทำเคมีบำบัดอาจช่วยชะลอการลุกลามของเนื้อร้ายในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal cancer)
- ในโรคลมชัก (Epilepsy) การรับประทานกรดไขมันโอเมก้า-3 จากน้ำมันปลาทุกวันติดต่อกันนาน 10 สัปดาห์จะช่วยลดอาการชักในผู้ที่มีปัญหาลมชักที่ดื้อยาได้
- การรับประทานน้ำมันปลาบางยี่ห้อสามารถลดการเกิดอาการของโรคโครห์น (Crohn’s disease) ซ้ำได้ แต่งานวิจัยอื่นกลับพบว่าน้ำมันปลาไม่ได้มีประโยชน์ในเรื่องนี้
- น้ำมันปลาสามารถเพิ่มการทำงานของปอดของผู้ป่วยโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) ได้ แต่หากเป็นการให้น้ำมันปลาเข้าเส้นเลือดนั้นกลับพบว่าไม่ได้ผลดังกล่าว
- น้ำมันปลาสามารถลดการอักเสบในผู้ที่เป็นโรคไตชนิดลุกลาม (ไตวายระยะสุดท้าย) ได้
- น้ำมันปลาช่วยให้อาการจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic lupus erythematosus : SLE) ดีขึ้น
- น้ำมันปลาอาจทำให้อาการจากภาวะแพ้ซาลิไซเลต (Salicylate intolerance) อย่างเช่นหอบหืดและคันดีขึ้นได้
- ลดความเจ็บปวดที่เกิดกับผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease) ได้
- การรับประทานน้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดขึ้นในท่อไตเทียมหรือทางเบี่ยง (Grafts) อีกทั้งยังช่วยให้ใช้การได้นานขึ้น
คำแนะนำและข้อควรรู้เกี่ยวกับน้ำมันปลา
- หากคุณไม่ชอบรับประทานปลาหรือไม่สามารถรับประทานปลาได้อย่างสม่ำเสมอ สามารถเลือกรับประทานอาหารเสริมประเภทน้ำมันปลาหรือ Fish Oil แทนได้
- ในกรณีต้องการรับประทานน้ำมันปลาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรรับประทานในปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำและไม่ควรรับประทานน้ำมันปลาในปริมาณมากเกินไป เพราะทำให้มีเลือดออกและเลือดไม่แข็งตัว
- ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ ศึกษาวิธีการเลือกซื้อและการรับประทานที่เหมาะสม แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวและต้องการใช้น้ำมันปลาเป็นการรักษาเสริม อย่างผู้ป่วยโรคหัวใจหรือผู้ที่ต้องการควบคุมระดับไขมันเลือด ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณการบริโภคที่เหมาะสม
- แม้จะรับประทานน้ำมันปลาแล้วก็ควรจะรับประทานอาหารอื่น ๆ ให้ถูกหลักโภชนาการด้วย
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)