น้ำนมราชสีห์เล็ก
น้ำนมราชสีห์เล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia thymifolia L.[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Euphorbia humifusa Willd. โดยจัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)
สมุนไพรน้ำนมราชสีห์เล็ก ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกเช่น นมราชสีห์เล็ก, เซียวปวยเอี่ยงเช่า หยูจั๊บเช่า (จีน) เป็นต้น โดยต้นน้ำนมราชสีห์เล็กนี้มีเขตการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างและไม่ทราบถิ่นกำเนิดที่แน่ชัด แต่สามารถพบได้ทั่วไปในเอเชียและแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยจะพบขึ้นเป็นวัชพืชทั่วทุกภาคตามชายป่า ที่รกร้าง ตามท้องนา และในพื้นที่โล่งจนถึงระดับความสูง 800 เมตร[1],[2]
ลักษณะของน้ำนมราชสีห์เล็ก
- ต้นน้ำนมราชสีห์เล็ก จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุเพียงปีเดียว ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ทอดเลื้อยเป็นวง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร หรือลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 15 เซนติเมตร ลำต้นกิ่งมีสีชมพูอมน้ำตาลแดง มีขนขึ้นราบเอนกระจายอยู่ที่ส่วนต่าง ๆ ของลำต้น มีน้ำยางสีขาว[1],[2]
- ใบน้ำนมราชสีห์เล็ก ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี มีความยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร กิ่งด้านข้างใบมีขนาดเล็กกว่า โดยปลายใบมีลักษณะกลม มีหยักแหลมเล็กน้อย ส่วนโคนใบเบี้ยว ข้างหนึ่งเป็นติ่งคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อยแบบห่าง ๆ ที่แผ่นใบจะมีขนขึ้นกระจายเล็กน้อยทั้งสองด้าน และมีเส้นโคนประมาณ 3-5 เส้น มีเส้นแขนงใบไม่ชัดเจนมากนัก โดยมีประมาณ 3 คู่ ส่วนก้านใบยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร เกลี้ยง ใบเบี้ยวส่วนหูใบเป็นรูปแถบ[1]
- ดอกน้ำนมราชสีห์เล็ก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบสั้น ๆ และไม่มีก้าน ดอกย่อยเป็นแบบ Cyathium เรียงชิดกันอยู่ มีประมาณ 1-3 ช่อ ดอกมีสีชมพูอมแดง ส่วนใบประดับเป็นรูปแถบเล็ก ๆ มีอยู่หลายใบ ก้านช่อ Cyathium ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร และมีขนกระจายอยู่ โดยในแต่ละ Cyathium จะติดบนวงใบประดับรูปถ้วย มีความสูงประมาณ 0.8 มิลลิเมตร มีต่อม 4 ต่อม แต่ละต่อมมีขนาดประมาณ 0.1 มิลลิเมตร สีชมพูอมม่วง มีก้านสั้น ที่ต่อมมีรยางค์เป็นแผ่นสั้น ๆ สีชมพู มีขนาดประมาณ 0.2 มิลลิเมตร ดอกที่ติดภายใน Cyathium จะไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง ส่วนดอกตัวผู้จะอยู่ด้านข้าง มีอยู่หลายดอก โดยเกสรตัวผู้ลดรูปเหลือ 1 ก้าน ก้านเกสรสั้นติดบนก้านดอก ส่วนดอกตัวเมีย 1 ดอกติดอยู่ด้านบน รังไข่มี 3 พู แทบไม่มีก้าน ก้านเกสรตัวเมียมี 3 ก้าน โดยยอดเกสรจะยาวประมาณ 0.6 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉก และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2]
- ผลน้ำนมราชสีห์เล็ก ผลมีลักษณะเป็นแบบแคปซูล มีพู 3 พู มีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนสั้นและนุ่ม และก้านผลมีความประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร เมล็ดมี 1 เมล็ดในแต่ละซีกผล เมล็ดมีสีเหลืองอมน้ำตาล ผิวมีร่องตื้น ๆ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี เป็นเหลี่ยมเล็กน้อย มีความยาวประมาณ 0.8 มิลลิเมตร[1]
สรรพคุณของน้ำนมราชสีห์เล็ก
- ช่วยแก้เด็กมีอาการตกใจกลัวง่าย ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม นำมาล้างให้สะอาดและตำให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าว แล้วเอาแต่น้ำมาผสมกับน้ำผึ้งกิน (ต้น)[2]
- ช่วยแก้หูน้ำหนวก (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้ไข้จับสั่น ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 120 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำตาลแดงพอประมาณ ใช้กินก่อนเป็นไข้จับสั่นสองชั่วโมง (ต้น, ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้บิด บิดจากแบคทีเรีย ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือใช้ต้นแห้ง 30 กรัมผสมกับใบชาแก่แห้ง 15 กรัม ต้มน้ำผสมกับน้ำผึ้งกินก็ได้ (ต้น, ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้ลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ทั้งต้น)[2]
- ใช้เป็นยาระบายด้วยการนำมาบดเป็นผง (ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าใช้ทั้งต้น)[2]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณฆ่าพยาธิ ขับพยาธิ (ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวารมีเลือดออก ด้วยการใช้ต้นสดพอสมควร ใช้ต้มเอาน้ำมาชะล้างบริเวณที่เป็นผื่นคัน (ต้น, ทั้งต้น)[2]
- ใบและเมล็ดแห้งใช้เป็นยาฝาดสมาน (ใบ, เมล็ด)[2]
- ทั้งต้นใช้ตำพอกแผลภายนอก ส่วนใบใช้พอกบาดแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ใบ, ทั้งต้น)[2]
- ใบใช้พอกแก้พิษงูกัดได้ (ใบ)[2]
- น้ำคั้นจากต้นนำมาผสมกับเหล้า ใช้แก้สัตว์ แมลง และสัตว์เลื้อยคลานมีพิษกัดหรือต่อย (ต้น)[2]
- ใบใช้ตำพอกช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับผิวหนังได้ (ใบ)[2]
- น้ำนมราชสีห์เล็กช่วยแก้ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดพอสมควรต้มเอาน้ำมาชะล้างบริเวณที่เป็นผื่นคัน (ต้น, ทั้งต้น)[2]
- น้ำคั้นจากต้น ใช้ทาแก้กลาก (ต้น)[2]
- ช่วยแก้กลากน้ำนม ด้วยการใช้ต้นสด นำมาตำผสมกับน้ำตาลกรวด แล้วใช้พอกที่แผล (ต้น, ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการอักเสบ แก้บวม ด้วยการใช้ต้นสด นำมาตำผสมกับน้ำตาลกรวด แล้วใช้พอกบริเวณที่เป็น (ต้น, ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้งูสวัดขึ้นรอบเอว ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือและกระเทียม 1 หัว นำมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำสุกที่เย็นแล้ว ใช้ทาบริเวณที่เป็นตุ่ม (ต้น)[2]
- ใบใช้ตำพอกแก้อาการกระดูกเคลื่อน (ใบ)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของน้ำนมราชสีห์เล็ก
- สารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็กในขนาด 50, 100, 200 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของอุ้งเท้าหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยคาราจีแนน โดยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ 9.14%, 29.43% และ 45.71% ตามลำดับ ในขณะที่ยาแผนปัจจุบันต้านการอักเสบ (ibuprofen) ขนาด 50 มก./กก. จะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบเท่ากับ 59.71% ส่วนฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสำลีที่ฝังไว้ที่ขาหนีบของหนูพบว่า สารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็กในขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. สามารถต้านการอักเสบได้ 32.1%, 40.8% และ 45.4% ตามลำดับ ในขณะที่ยาต้านการอักเสบ ibuprofen มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเท่ากับ 59.71%[3]
- สารสกัดจากเมทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็ก สามารถช่วยลดระดับเอนไซม์ในเลือดของตับ Alanine amino tranferase (ALT), Aspartate Aminotranferase (AST) และ Lipid peroxidation (LPO) ได้ แต่มีผลไม่ดีเท่ากับการใช้ยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ปกป้องตับ (Silymarin) จึงสรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็ก สามารถนำมาใช้เป็นยาแผนโบราณในการรักษาอาการอักเสบและอาการตัวเหลืองอันเนื่องมาจากมีความผิดปกติที่ตับได้[3]
ประโยชน์น้ำนมราชสีห์เล็ก
- ทั้งต้นนำมาตำพอกผสมแอมโมเนียมคลอไรด์ ใช้นวดศีรษะเพื่อช่วยแก้รังแค[2]
- ใช้ผสมเป็นยาฉีดไล่ยุงและแมลง หรือใช้เป็นยาขับพยาธิของสุนัขในฟาร์มเลี้ยงสุนัขจิ้งจอก[2]
เอกสารอ้างอิง
- สารานุกรมพืชในประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “น้ำนมราชสีห์เล็ก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [10 ธ.ค. 2013].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 14 คอลัมน์: อื่น ๆ. “น้ำนมราชสีห์และน้ำนมราชสีห์เล็ก“. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [10 ธ.ค. 2013].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และปกป้องตับของสารสกัดน้ำนมราชสีห์เล็ก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [10 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by andylau31hk, dinesh_valke, Ahmad Fuad Morad)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)