น้ำตาเทียม
น้ําตาเทียม (Artificial tears) เป็นเภสัชภัณฑ์ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสารหล่อลื่นลูกตา ใช้รักษาและบรรเทาอาการตาแห้งเนื่องจากมีน้ำตาน้อย รวมถึงอาการระคายเคืองในลูกตา หรือใช้หล่อลื่นลูกตาขณะใส่คอนแทคเลนส์ เป็นต้น น้ำตาเทียมที่ผลิตออกมาจะมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมที่มีขายในประเทศไทยจะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ สารละลาย (มีทั้งแบบ Multiple dose ที่ใส่สารกันเสีย และ Unit dose ที่ไม่ใส่สารกันเสีย) เจล และขี้ผึ้ง ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป
โดยทั่วไปน้ำตาเทียมจะจัดอยู่ในหมวดยาแผนปัจจุบันชนิดยาใช้ภายนอก ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ยาเสพติดหรือยาควบคุมพิเศษ แต่สำหรับบางชื่อการค้าจะจดทะเบียนเป็นยาใช้ภายนอกชนิดยาอันตราย อย่างไรก็ตามการใช้น้ำตาเทียมได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา ยังคงต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น
สำหรับส่วนประกอบหลักของน้ำตาเทียมในรูปแบบสารละลายและแบบเจลนั้นจะประกอบไปด้วยสารช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น เมทิลเซลลูโลส (Methylcellulose), คาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลส (Carboxymethyl cellulose – CMC), ไฮดรอกซีเอทิลเซลลูโลส (Hydroxyethyl cellulose – HEC), ไฮดรอกซีโพรพิลเซลลูโลส (Hydroxypropyl cellulose – HPC), ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส (Hydroxypropyl methylcellulose – HPMC), เดกซ์แทรน (Dextran), โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (Polyvinyl alcohol – PVA), โพลีเอทิลีนไกลคอล (Polyethylene glycol – PEG), โซเดียมไฮยาลูโรเนท (Sodium hyaluronate), คาร์โบเมอร์ (Carbomer) เป็นต้น นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยบัฟเฟอร์ (Buffer) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ช่วยปรับสมดุลขององค์ประกอบอื่นในน้ำตาเทียม ควบคุมความเป็นกรดด่างของน้ำตาเทียมให้พอเหมาะและเข้ากับความเป็นกรดด่างของน้ำตา ทำให้ไม่แสบตาเวลาหยอด และช่วยคงสภาพของน้ำตาเทียม เช่น กรดบอริก (Boric acid) และโซเดียมบอเรต (Sodium borate) สารปรับสภาพตึงตัวเพื่อปรับออสโมลาริตี (Osmolarity) ของน้ำตาเทียมให้เข้ากับน้ำตา ที่นิยมใช้กันมากก็คือ โซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) สารอิเล็กโทรไลต์หรือส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อช่วยทำให้น้ำตาเทียมมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด เช่น ไกลซีน (Glycine), แคลเซียมคลอไรด์ (Calcium chloride), แมกนีเซียมคลอไรด์ (Magnesium chloride), โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride), โซเดียมแลคเตท (Sodium lactate), ซิงค์ (Zinc) เป็นต้น สารกันเสียเพื่อช่วยให้น้ำตาเทียมคงสภาพได้นานและป้องกันการเติบโตของจุลชีพที่อาจปนเปื้อนเข้าไปขณะหยอด ทำให้สามารถเก็บใช้ได้นาน 1 เดือนหลังจากเปิดขวดใช้แล้ว เช่น เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride)
ส่วนน้ำตาเทียมรูปแบบขี้ผึ้งนั้นจะประกอบไปด้วยสารช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น ลาโนลิน (Lanolin), ไวท์ปิโตรลาตัม (White petrolatum), น้ำมันมิเนรัล (Mineral oil) เป็นต้น และอาจจะใส่หรือไม่ใส่สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ก็ได้
ตัวอย่างน้ำตาเทียม
น้ำตาเทียม มีชื่อทางการค้า เช่น อัลคอน เทียร์ส แนเชอรอล ฟรี (Alcon Tears Naturale Free), อัลคอน เทียร์ส แนเชอรอล 2 (Alcon Tears Naturale ll), เซลลูเฟรช เอ็มดี / เซลลูวิส เอ็มดี (Cellufresh MD / Celluvisc MD), เซลลูเฟรช / เซลลูวิส (Cellufresh / Celluvise), ดูราเทียร์ส (Duratears), เอ็นดูรา (Endura), เจนเทียล เจล (Genteal Gel), ไฮอะลิด (Hialid), ไอซอปโทเทียร์ส (Isopto Tears), แล็ค-ออปห์ (Lac-Oph), ลาครีวิส (Lacryvisc), ลิโพซิค (Liposic), ลิควิฟิล์ม (Liquifilm), แนทเทียร์ (Natear), ออฟซิลเทียร์ส (Opsil Tears), ออฟตัล-เทียร์ส (Optal-Tears), ออฟติ-ฟรี เพียวมอยส์ (OPTI-FREE Puremoist), ออปทีฟ (Optive), รีเฟรช (Refresh), เทียร์แมค (Tear mac), วิสลูบ อาร์ติฟิเชียล เทียร์ ฟอร์ วัน เดย์ (Vislube artificial tear for One day), วิดิซิค เจล (Vidisic Gel) ฯลฯ
รูปแบบและความแตกต่างของน้ำตาเทียม
- น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดขวด ขนาดบรรจุ 5, 15 และ 30 มิลลิลิตร
- น้ำตาเทียมรูปแบบนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งเล็กน้อยและสะดวกใช้เป็นประจำ
- มีราคาตามท้องตลาดถูกกว่ารูปแบบสารละลายชนิดแท่งใช้วันเดียวมาก
- ใช้ง่ายกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ไม่เหนอะหนะ สามารถหยอดได้ในช่วงเวลากลางวันโดยไม่ทำให้ตาพร่ามัว แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้บ่อยกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา
- ใช้หยอดตาได้หลายครั้ง เนื่องจากมีสารกันเสียในตำรับ ทำให้สามารถใช้ได้นานประมาณ 1 เดือนหลังการเปิดขวดใช้ครั้งแรก
- ใส่สารกันเสีย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองตาได้ เนื่องจากสารกันเสียไปทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตา
- หลังการเปิดใช้หยอดยาแต่ละครั้ง หากปิดขวดยาไม่สนิทหรือเก็บยาไม่มิดชิด อาจเกิดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ในการใช้ยารูปแบบนี้จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการจัดเก็บและการใช้หยอดตาในครั้งถัดไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาติดตามมา
- น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดแท่งใช้วันเดียว หรือ น้ำตาเทียมรายวัน (Monodose eye drops) ขนาดบรรจุหลอดละ 0.3, 0.4 และ 0.8 มิลลิลิตร บรรจุตั้งแต่ 20-60 หลอด ต่อ 1 กล่อง
- น้ำตาเทียมรูปแบบนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีประวัติการแพ้สารกันเสียในน้ำตาเทียมหรือต้องหยอดตาบ่อย ๆ เป็นเวลานาน เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารกันเสียติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้
- มีราคาสูงกว่ารูปแบบแรก โดยภาชนะบรรจุน้ำตาเทียมรูปแบบนี้จะแบ่งบรรจุเป็นแท่งหรือหลอดเล็ก ๆ ทำให้สามารถแบ่งพกพาได้ตามจำนวนที่ต้องการใช้หยอดตา และสะดวกต่อการใช้งานในแต่ละวัน
- ใช้ง่ายกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ไม่เหนอะหนะ สามารถหยอดได้ในช่วงเวลากลางวันโดยไม่ทำให้ตาพร่ามัว แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้บ่อยกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา
- การหยอดยาแต่ละครั้งจะได้ปริมาณน้ำตาเทียมเท่ากันของการหยอดแต่ละครั้ง
- ไม่มีสารกันเสีย จึงมีอายุการใช้งานภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก แต่มีข้อดีคือ ให้ความรู้สึกสบายตากว่า สามารถช่วยลดโอกาสตาแพ้สารกันเสียได้ (แต่ยังอาจแพ้สารเพิ่มความหนืดของน้ำตาเทียมได้อยู่) และมีโอกาสปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกได้น้อยกว่า
- น้ำตาเทียมรูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ขนาดบรรจุ 3.5 กรัม
- มีความหนืดมากกว่าน้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดขวดและชนิดแท่งใช้วันเดียว จึงทำให้ความถี่ในการใช้ยาน้อยกว่าทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าว
- ด้วยความที่มีความหนืดมากกว่า ทำให้น้ำระเหยช้าลงจึงช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาได้นานกว่า จึงเหมาะสำหรับใช้ในผู้ที่มีอาการตาแห้งระดับปานกลางถึงรุนแรง
- สามารถใช้ได้นานตามข้อกำหนดในเอกสารกำกับยาของแต่ละบริษัทยา แต่ต้องเก็บยาหลังการเปิดใช้ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม
- มักรบกวนการมองเห็นมากกว่าน้ำตาเทียม 2 รูปแบบแรก โดยอาจทำให้ตาพร่ามัวหลังหยอดหรือป้ายตาชั่วขณะ จึงแนะนำให้ใช้ในช่วงก่อนนอน ส่วนผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ไม่ควรใช้น้ำตาเทียมรูปแบบนี้ เพราะจะรบกวนการมองเห็นภาพและอาจทำให้คุณภาพของคอนแทคเลนส์ลดลงไป
- ในสูตรตำรับอาจพบองค์ประกอบของลาโนลิน (Lanolin), ไวท์ปิโตรลาตัม (White petrolatum) หรือน้ำมันมิเนรัล (Mineral oil) ซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้ฟิล์มของน้ำตาเทียมรูปแบบขี้ผึ้งจับที่ผิวดวงตาได้นานขึ้น จึงให้ความรู้สึกเหนอะหนะที่ตา
สรรพคุณของน้ำตาเทียม
- ช่วยให้ตาชุ่มชื้น หล่อลื่นลูกตา ในผู้ที่มีอาการตาแห้ง (Dry eye) มีน้ำตาน้อย (โดยทั่วไปมักพบในผู้สูงอายุที่ต่อมน้ำตาทำงานน้อยลงตามอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน รวมไปถึงผู้ที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ทำให้มีการกะพริบตาน้อยกว่าปกติ เมื่อรู้สึกระคายเคืองตาหรือแสบตาและหลับตาพักแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการ) หรือในผู้ที่มีอาการตาแห้งเนื่องจากรังสีความร้อน (มักพบในผู้ที่ทำงานกลางแดด ถูกลมพัดมาก หรือทำงานในอากาศร้อนและแห้ง เพราะจะทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาระเหยออกไปมากกว่าปกติ) และผู้ที่เสี่ยงต่อตาแห้ง เช่น อัมพาตเบลล์ ตาโปนในผู้ป่วยคอพอกเป็นพิษ
- ใช้หล่อลื่นลูกตาหลังการผ่าตัดต้อกระจกหรือหลังการทำเลสิก
- (LASIK)
- ใช้บรรเทาอาการระคายเคืองดวงตาอันเนื่องมาจากฝุ่นและควันบุหรี่
- ช่วยบรรเทาอาการแผลที่กระจกตา (กระจกตาอักเสบ)
- ช่วยบรรเทาอาการกระจกตาถลอก
- ใช้เป็นตัวช่วยในการรักษาอาการของต้อหิน
- น้ำตาเทียมบางสูตรตำรับจะถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับคอนแทคเลนส์
กลไกการออกฤทธิ์ของน้ำตาเทียม
น้ำตาเทียมหรือสารหล่อลื่นลูกตาส่วนใหญ่จะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการทำตัวเป็นฟิล์มหรือเยื่อบาง ๆ และมีความหนืดในตัวเอง ทำให้เกิดการจับและหล่อลื่นที่ผิวของดวงตา จึงช่วยลดอาการระคายเคืองและช่วยให้รู้สึกสบายภายในลูกตาหลังการหยอดน้ำตาเทียมได้
ก่อนใช้น้ำตาเทียม
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงน้ำตาเทียม สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้น้ำตาเทียม และยาอื่น ๆ ทุกชนิด โดยเฉพาะยาหยอดตา รวมทั้งอาการจากการแพ้ยาดังกล่าว เช่น หยอดยาแล้วมีอาการปวด แสบ หรือระคายเคือง เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะน้ำตาเทียมอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (แต่โดยปกติแล้วน้ำตาเทียมเป็นยาใช้ภายนอกที่ใช้กับตา จึงมีข้อมูลที่ก่อปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานได้น้อยมาก ยกเว้นการใช้น้ำตาเทียมร่วมกับยาหยอดตาชนิดอื่น ๆ เพราะน้ำตาเทียมอาจรบกวนการดูดซึมของยาหยอดตาได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรหยอดยาแต่ละชนิดให้ห่างกันอย่างน้อยประมาณ 10 นาที)
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว โดยเฉพาะน้ำตาเทียมที่มีการเปลี่ยนสีไปจากมาตรฐานเดิมของผู้ผลิต
- ห้ามนำน้ำตาเทียมที่ออกแบบมาให้ใช้เพียง 1 วันกลับมาใช้ใหม่ และหากใช้หยอดตาไม่หมดให้ทิ้งไปหลังการใช้
- ห้ามใช้น้ำตาเทียมร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่น
- ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลของผลกระทบจากการใช้น้ำตาเทียมในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรและในเด็ก ด้วยเพราะน้ำตาเทียมเป็นยาใช้เฉพาะที่ ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจในการให้ใช้เป็นกรณีไป
- ควรระวังการแพ้ส่วนประกอบของน้ำตาเทียม เช่น สารยับยั้งเชื้อหรือสารกันเสีย (Preservatives)
วิธีใช้น้ำตาเทียม
- โดยทั่วไปน้ำตาเทียมจะมีขนาดการบริหารยาและวิธีการใช้ยาดังนี้
- สำหรับอาการตาแห้ง ระคายเคืองตาเล็กน้อย ให้ใช้หยดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 3-4 ครั้ง (น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดขวด โดยปกติไม่ควรใช้เกินวันละ 4 ครั้ง เพราะสารกันเสียที่ผสมอยู่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระจกตาได้)
- สำหรับอาการตาแห้งรุนแรง ให้ใช้หยดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 10-12 ครั้ง (เฉพาะแพทย์สั่ง)
- สำหรับน้ำตาเทียมรูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ให้ป้ายยาวันละ 1-2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนเข้านอน (ถ้าใช้วันละครั้งแนะนำให้ป้ายตาก่อนเข้านอน)
- วิธีใช้น้ำตาเทียม (วิธีการใช้ วิธีการหยอดยา วิธีการป้ายน้ำตาเทียม) ให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังนี้
- ล้างมือให้สะอาด
- แหงนหน้าขึ้น โดยให้อยู่ในมุมที่ถนัดที่สุด แล้วใช้มือข้างหนึ่งดึงเปลือกตาล่างลงมาเบา ๆ ให้เป็นกระเปาะหรือกระพุ้งเพื่อเปิดพื้นที่ของการหยอดน้ำตาเทียม
- เหลือบตามองขึ้นข้างบน และวางปลายหลอดน้ำตาเทียมในตำแหน่งที่ห่างจากดวงตาพอประมาณ แล้วบีบหลอดยาของน้ำตาเทียมให้ยาหยดลงตรงบริเวณดวงตาด้วยมืออีกข้าง โดยจำนวนที่หยดให้ใช้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้ให้การรักษา ซึ่งโดยทั่วไปคือประมาณ 1-2 หยด (ควรระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดน้ำตาเทียมแตะโดนบริเวณดวงตาหรือใบหน้า หรือสัมผัสปลายนิ้วมือหรือส่วนใดของร่างกาย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปเจริญเติบโตอยู่ในยา)
- จากนั้นให้หลับตาและกลอกตาไปมาประมาณ 2-3 นาที พร้อมกับเอียงศีรษะเพื่อไม่ให้น้ำตาเทียมไหลออกมาจากดวงตา
- เช็ดยาส่วนเกินที่หยดออกมานอกดวงตาด้วยกระดาษชำระหรือผ้าที่สะอาด
- ล้างมือหลังหยอดตาให้สะอาด เพราะอย่าลืมว่าการติดเชื้ออาจเป็นที่ตาอีกข้างหนึ่งได้ ถ้าเอามือสกปรกที่แตะหนังตาหรือขี้ตามาถูกตาอีกข้างหนึ่ง
- หลังจากหยอดน้ำตาเทียมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการกะพริบตาถี่ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาเทียมไหลออกจากตาเร็วขึ้น และให้ใช้นิ้วมือคลึงเบา ๆ บริเวณหัวมุมของเปลือกตาเพื่อช่วยกระจายน้ำตาเทียมให้ทั่วตา
คำแนะนำในการใช้น้ำตาเทียม
- การเลือกใช้น้ำตาเทียมแต่ละแบบจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันด้วย หากผู้ป่วยมีความสะดวกที่จะใช้ชนิดหยอดตาได้หลายครั้งในระหว่างวัน ควรเลือกใช้น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดขวดหรือแบบแท่งใช้วันเดียว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 แบบนี้มีความหนืดน้อย จึงรบกวนเรื่องการมองเห็นน้อยกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าในระหว่างวันไม่มีความสะดวกในการใช้ก็ให้เลี่ยงมาใช้รูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา โดยใช้ป้ายตาวันละ 1 ครั้งก่อนนอน
- ขนาดของการหยอดยารวมถึงความถี่ของการใช้ยาในแต่ละวันจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารสำคัญในน้ำตาเทียมแต่ละยี่ห้อ ผู้ป่วยจึงควรใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์ ประกอบกับทำความเข้าใจถึงวิธีการใช้จากเอกสารกำกับยาอย่างละเอียด
- น้ำตาเทียมที่ใช้กับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ควรเป็นสูตรตำรับสำหรับคอนแทคเลนส์โดยเฉพาะ
- สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำตาเทียมที่ใส่สารกันเสียที่อาจทำให้เกิดการทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตา เช่น สารเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride) เนื่องจากคอนแทคเลนส์สามารถดูดซับสารนี้ได้และทำให้เยื่อบุกระจกตาสัมผัสกับสารนี้เป็นเวลานาน จึงอาจทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้ ดังนั้นผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์จึงควรเลือกใช้น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดแท่งใช้วันเดียว (Monodose eye drops) หรือเลือกใช้น้ำตาเทียมที่ใส่สารกันเสียชนิดที่เป็นพิษต่อเยื่อบุกระจกตาน้อย เช่น Stabilized oxychloro complex (Purite®), Polyquaterium-1 (Polyquad®) สารประกอบระหว่าง Boric acid, Zinc, Sorbital และ Propylene glycol (SofZia™) แต่หากจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมที่มีสารเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride) ควรถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อนหยอดน้ำตาเทียม แล้วจึงค่อยใส่คอนแทคเลนส์หลังจากหยอดตาเสร็จแล้วประมาณ 10 นาที
- หากต้องใช้น้ำตาเทียมร่วมกับยาหยอดตาชนิดอื่น ควรเว้นระยะเวลาห่างกันอย่างน้อยประมาณ 10 นาที
- ผู้ที่มีอาการตาแห้งขั้นรุนแรงและเรื้อรังควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาที่สาเหตุของอาการ
- หากพบอาการผิดปกติหลังการใช้ยาหยอด เช่น มีอาการระคายเคืองตามาก ให้หยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาจักษุแพทย์
การเก็บรักษาน้ำตาเทียม
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
- สำหรับน้ำตาเทียมแบบสารละลายชนิดขวด ให้เก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 15-25 องศาเซลเซียส และไม่ควรใช้นานเกิน 1 เดือน ส่วนน้ำตาเทียมรูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ให้เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส
- สำหรับน้ำตาเทียมแบบสารละลายชนิดแท่งใช้วันเดียว เมื่อเปิดใช้แล้ว ควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง
- เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
- ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว (ไม่ว่าจะน้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาชนิดใด หากครบกำหนดอายุการใช้งานแล้วควรทิ้งส่วนที่เหลือทันที เนื่องจากอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียได้)
เมือลืมใช้น้ำตาเทียม
หากลืมหยอดยา ให้หยอดยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการหยอดยาในเวลาถัดไป ให้ข้ามไปหยอดยาในเวลาถัดไปได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ
ผลข้างเคียงของน้ำตาเทียม
- อาจทำให้การมองเห็นภาพไม่ค่อยชัดเจน เกิดการระคายเคืองตาเล็กน้อย ทำให้เกิดการแพ้แสงสว่าง มีอาการคล้ายกับตาแฉะ ทำให้เปลือกตาบวม ซึ่งอาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดจากสารอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบร่วมในสูตรตำรับยา เช่น สารเพิ่มความหนืดของยา สารกันเสีย เป็นต้น
การใช้น้ำตาเทียมจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรูปแบบของน้ำตาเทียมและความรุนแรงของอาการของผู้ป่วย ดังนั้นจึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ และควรพึงระลึกไว้เสมอว่า “น้ำตาเทียมมีไว้ใช้สำหรับบรรเทาอาการตาแห้งเท่านั้น ไม่สามารถใช้รักษาหรือแก้ไขสาเหตุของอาการตาแห้งได้” ผู้ป่วยควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาที่ต้นเหตุต่อไป
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “น้ำตาเทียม (Artificial tear)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 311.
- หาหมอดอทคอม. “น้ําตาเทียม (Artificial tears)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [01 พ.ย. 2016].
- หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “น้ำตาเทียมกับตาแห้ง”. (นศภ.จิรัชญา เตชะพิริยะกุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th. [01 พ.ย. 2016].
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.). “น้ําตาเทียม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.nstda.or.th. [02 พ.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)