นางพญาเสือโคร่ง สรรพคุณของต้นนางพญาเสือโคร่ง 8 ข้อ !

นางพญาเสือโคร่ง

นางพญาเสือโคร่ง ชื่อสามัญ Wild Himalayan Cherry, Sour cherry

นางพญาเสือโคร่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cerasus cerasoides (Buch.-Ham. ex D. Don) S.Y. Sokolov (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Prunus cerasoides Buch.-Ham. ex D. Don, Prunus majestica Koehne, Prunus puddum (Roxb. ex Ser.) Brandis) จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ (ROSACEAE)[1]

สมุนไพรนางพญาเสือโคร่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ซากุระดอย (เชียงใหม่), ฉวีวรรณ ชมพูภูพิงค์ (ภาคเหนือ), คัวเคาะ เส่คาแว่ เส่แผ่ แส่ลาแหล (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ยาแก่ะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[3]

หมายเหตุ : ต้นนางพญาเสือโคร่ง ได้รับฉายาว่า “ซากุระเมืองไทย” เนื่องจากมีลักษณะคล้ายซากุระ และในประเทศญี่ปุ่นจะเรียกดอกไม้ของพรรณไม้ชนิดนี้ว่า “ฮิมาลายาซากุระ” (ヒマラヤザクラ)

ลักษณะของนางพญาเสือโคร่ง

  • ต้นนางพญาเสือโคร่ง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมโปร่ง เปลือกต้นเรียบเป็นมัน สีเหลือบน้ำตาล เยื่อผิวบาง หลุดลอกง่าย ตามกิ่งอ่อนมีขนละเอียด พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติทางตอนใต้ของประเทศจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น โดยพบขึ้นในป่าที่ระดับความสูงประมาณ 500-1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000-2,000 เมตร เช่น บนดอยเชียงดาว ดอยอินทนนท์ ฯลฯ[1],[2],[3]

ต้นนางพญาเสือโคร่ง

  • ใบนางพญาเสือโคร่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือสอบแคบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยละเอียด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ปลายก้านใบมีต่อมประมาณ 2-4 ต่อม หูใบแตกแขนงเป็นรูปคล้ายเขากวางหรือคล้ายเป็นริ้วเล็ก ๆ ใบร่วงได้ง่าย[1],[2],[3]

ใบนางพญาเสือโคร่ง

  • ดอกนางพญาเสือโคร่ง ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง ก้านดอกยาวประมาณ 0.7-2 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกนางพญาเสือโคร่งจะมีหลายเฉดสี ทั้งสีชมพูอ่อน สีชมพูเข้ม สีชมพูแดง สีแดง หรือสีขาว แต่ที่หาได้ยากที่สุดคือสีขาว ขอบริ้วประดับจักไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และจะทิ้งใบก่อนการออกดอก[1],[2],[3]

ดอกนางพญาเสือโคร่ง

ดอกซากุระเมืองไทย

นางพญาเสือโคร่งดอกชมพู

นางพญาเสือโคร่งดอกขาว

  • ผลนางพญาเสือโคร่ง เมื่อดอกได้รับการผสมจะติดเป็นผล ซึ่งจะเป็นผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยผลจะเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน รูปกระสวย รูปไข่หรือกลม ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ฉ่ำน้ำ ผิวผลเกลี้ยง ผลสุกเป็นสีแดงแบบลูกเชอร์รี่ มีรสเปรี้ยว[1],[2]

ผลนางพญาเสือโคร่ง

ผลซากุระเมืองไทย

หมายเหตุ : ต้นนางพญาเสือโคร่งมีความแตกต่างจากซากุระญี่ปุ่นตรงที่ช่วงเวลาการออกดอก คือ นางพญาเสือโคร่งจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ (ฤดูหนาว) ส่วนซากุระในญี่ปุ่นจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน (ฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น) และยังมีข้อสันนิษฐานว่าพรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้มีบรรพบุรุษร่วมกันทางตอนใต้ของจีน และมีวิวัฒนาการออกไปจนมีหลากหลายสายพันธุ์

สรรพคุณของนางพญาเสือโคร่ง

  1. ชาวเขาเผ่ามูเซอจะใช้เปลือกต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นยาแก้ไอ ลดน้ำมูก แก้อาการคัดจมูก (เปลือกต้น)[1]
  2. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำ ดื่มรักษาอาการหนาวสั่นจากอาการไข้ (เปลือกต้น)[2]
  3. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้เลือดกำเดาไหล (เปลือกต้น)[1]
  4. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น)[2]
  5. เปลือกต้นใช้ตำคั้นเอาน้ำทาหรือพอกแก้ฟกช้ำ แก้ข้อแพลง ปวดข้อ (เปลือกต้น)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของนางพญาเสือโคร่ง

  • สารสกัดจากลำต้นนางพญาเสือโคร่งด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้สัตว์ทดลอง[1]

ประโยชน์ของนางพญาเสือโคร่ง

  1. ผลของนางพญาเสือโคร่งมีรสเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานได้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก และไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ท้องเสียได้[2]
  2. เนื้อไม้อ่อน สามารถนำมาใช้ทำด้ามเครื่องมือการเกษตรได้
  3. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากออกดอกดกและมีความสวยงาม และยังใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำ เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว ทนทานต่อไฟป่า และต้องการแสงมาก จึงเหมาะนำไปปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าดิบเขาในพื้นที่ต้นน้ำ หรือปลูกในพื้นที่ที่ผ่านการทำไร่เลื่อนลอยบนพื้นที่สูง แต่ไม่ควรนำไปปลูกบนพื้นที่ที่มีลมพัด เพราะจะทำให้กิ่งก้านหักได้ง่าย[2]

ซากุระเมืองไทย

สำหรับสถานที่เที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่งในประเทศไทยก็มีอยู่หลายที่ด้วยกัน เช่น ขุนช่างเคี่ยน จ.เชียงใหม่ (เป็นสถานที่เที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่งยอดฮิตของภาคเหนือ), ขุนแม่ยะ (หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ) จ.แม่ฮ่องสอน, สถานีเกษตรหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่, ดอยช้าง-ดอยวาวี จ.เชียงราย, ดอยแม่ตะมาน จ.เชียงใหม่, ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่, ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่, ภูลมโล จ.เลย เป็นต้น

ซากุระดอย

ฉวีวรรณ

ชมพูภูพิงค์

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ฉวีวรรณ”.  หน้า 177.
  2. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “นางพญาเสือโคร่ง”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/.  [08 ม.ค. 2015].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ชมพูภูพิงค์, นางพญาเสือโคร่ง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [07 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by kampee patisena, Jeeranan R, Min Sheng Khoo, Tassaphon Vongkittipong, Jim Mayes, Saroj Kumar Kasaju, norsez, Nareerat Klinhom, kampee patisena)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด