นางจุ่ม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นนางจุ่ม 7 ข้อ !

นางจุ่ม

นางจุ่ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Cansjera rheedei J.F.Gmel. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cansjera lanceolata Benth., Cansjera malabarica Lam., Cansjera monostachya M.Roem., Cansjera polystachya (Willd.) M.Roem., Cansjera scandens Roxb., Cansjera zizyphifolia Griff., Opilia amentacea Wall.) จัดอยู่ในวงศ์ OPILIACEAE

สมุนไพรนางจุ่ม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักหวานดง (ชลบุรี), นางชุ่ม มะนาวป่า (ภาคเหนือ), ตาไก่หิน, เถาเดือยไก่, นมสาว, นางจอง, เหมือดคน เป็นต้น[1]

ลักษณะของนางจุ่ม

  • ต้นนางจุ่ม จัดเป็นพรรณไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็ง แตกกิ่งก้านมาก มีความสูงของต้นได้ถึง 8 เมตร ลำต้นและกิ่งอ่อนเป็นสีเขียว มีขนสั้นนุ่มขึ้นปกคลุม ลำต้น เปลือกนอกเป็นสีน้ำตาลอ่อน ตามลำต้นมีหนามทู่ขึ้นกระจายทั่วไปจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วนชุ่มชื้น ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดแบบครึ่งวัน มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าผสมผลัดใบ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 700 เมตร[1],[2]

ต้นนางจุ่ม

  • ใบนางจุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียวสั้น ๆ ถึงสอบเรียว ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-13 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาและเป็นมัน ผิวใบมีขนขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะตามเส้นใบ มีขนขึ้นประปรายที่เส้นกลางใบและโคน เส้นแขนงใบ เส้นใบเป็นแบบขนนกร่างแห 4-10 คู่ ก้านใบมีขนาดสั้น ยาวได้ประมาณ 3-5 มิลลิเมตร มีขนกระจาย[1]

ใบนางจุ่ม

  • ดอกนางจุ่ม ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกยาวแบบช่อเชิงลดตามซอกใบ 1-4 ช่อ มีสีเหลืองอมเขียว แต่ละช่อยาวได้ประมาณ 1.3-4 เซนติเมตร และในแต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 8-16 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร แกนช่อดอกมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่น ดอกมีขนาดเล็ก ติดตามก้านช่อดอก ไร้ก้าน ดอกเป็นสมบูรณ์เพศ สมมาตรตามรัศมี ใบประดับมี 1 อัน ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ขนาดยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร มีขนสั้นกระจายทั่วไป เฉพาะขอบใบมีขนยาว กลีบรวมมี 4-5 กลีบ หลอดกลีบเป็นรูปโถหรือรูปคนโท มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-4.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เรียงจรดกัน ขอบเรียบ สีเขียวอมเหลือง ผิวด้านนอกมีขนขึ้นกระจาย ส่วนด้านในเกลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน เรียงระหว่างแฉกกลีบรวม ยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร อับเรณูมี 2 พู ขนาดเล็ก เกลี้ยง สีขาวอมเหลือง แตกได้ตามยาว อยู่ระดับปากหลอดกลีบรวม ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง ติดอยู่ที่ฐานและเชื่อมติดบนกลีบรวม ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน รูปขวด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกิดจาก 1 คาร์เพล ใน 1 ช่อง มีออวุล 1 อัน พลาเซนตาที่ฐานที่มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร เกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง ก้านเกสรเพศเมีย 1 อัน ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 4 แฉก จานฐานดอกมี 4 อัน แยกจากกัน ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบเรียบ เกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1]

นางชุ่ม

ดอกนางจุ่ม

  • ผลนางจุ่ม ผลเป็นผลสดเมล็ดเดียวแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี ขนาดเล็ก ปลายและโคนมน มีขนาดกว้างประมาณ 0.7-0.9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-1.3 เซนติเมตร ผิวขรุขระ สีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง และมีกลีบรวมกับยอดเกสรเพศเมียติดคงทน ก้านผลยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร มีขนขึ้นกระจายทั่วไป ภายในผลมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ค่อนข้างกลม เกลี้ยง มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร จะติดผลในช่วงประมาณมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1]

ลูกนางจุ่ม

ผลนางจุ่ม

สรรพคุณของนางจุ่ม

  • ในประเทศอินเดียจะใช้ทั้งต้นเป็นยารักษาอาการปวดหลัง ใช้ใบต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาเบาหวาน และใช้ส่วนที่อยู่เหนือดินเป็นยาถ่ายพยาธิ[1]
  • ชนเผ่าทมิฬนาฑู ที่ประเทศอินเดียจะใช้ใบนางจุ่มเป็นยารักษาอาการไข้แกว่ง (อาการไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ)[1]
  • ตำรายาไทยใช้เปลือกต้นนางจุ่มเป็นส่วนผสมปรุงยาต้มดื่มแก้อาการปวดเมื่อยและแก้เส้นตึง[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของนางจุ่ม

  • ในใบนางจุ่มพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ Quercetin-3-O-β-rutinoside[1]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดไข้ ขับปัสสาวะ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ปกป้องตับจากสารพิษ[1]
  • สารสกัดน้ำและเอทานอลจากใบนางจุ่ม ที่ระดับความเข้มข้น 200 mg/kg และ 400 mg/kg มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง[1]
  • สารสกัดเอทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นนางจุ่ม เมื่อนำมาให้หนูทดลองโดยการฉีดเข้าทางช่องท้องที่ความเข้มข้น 250 และ 500 mg/kg พบว่าจะมีฤทธิ์ต้านความเจ็บปวด โดยลดอาการปวดเกร็งของช่องท้องหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วยสารเคมี และทำให้ทนต่อความเจ็บปวดเมื่อถูกกระตุ้นด้วยความร้อนได้ด้วย[1]
  • จากการทดสอบโดยใช้สารสกัดน้ำ คลอโรฟอร์ม และเอทานอลของส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นนางจุ่ม ที่ความเข้มข้นระหว่าง 5-40 mg/mL พบว่าจะมีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม ทำให้พยาธิเป็นอัมพาตและตายได้[1]

ประโยชน์ของนางจุ่ม

  • นางจุ่มเป็นผักชนิดหนึ่งที่พบวางขายอยู่ในตลาดทุ่งเสลี่ยมที่อยู่ระหว่างทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมัดรวมอยู่กับตะแบก แต่แม่ค้ามักเรียกผักชนิดนี้ว่า “นางโจม” และบอกว่า นางโจมเป็นผักที่นิยมนำมาทำแกงหรือใส่ร่วมกับแกงแค มีรสอร่อยมากเหมือนผักหวานป่า และมีให้เก็บกินได้ตลอดทั้งปี[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “นางจุ่ม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [22 ก.ย. 2015].
  2. แหล่งข้อมูลต้นไม้.  “นางจุม”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : treeofthai.com.  [22 ก.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Yeoh Yi Shuen)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด