นมแมวป่า
นมแมวป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Ellipeiopsis cherrevensis (Pierre ex Finet & Gagnep.) R.E.Fr. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]
สมุนไพรนมแมวป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พี้เขา พีพวนน้อย (นครพนม) เป็นต้น[1]
ลักษณะของนมแมวป่า
- ต้นนมแมวป่า จัดเป็นไม้เถา มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 เมตร และอาจสูงได้ถึง 3 เมตร แตกกิ่งก้านมากใกล้กับพื้นดิน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลเข้ม ตามกิ่งก้านและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ โดยจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูงไม่เกิน 500 เมตร หรือที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 150-400 เมตร[1],[2],[4]
- ใบนมแมวป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมน โคนใบมนเว้าเล็กน้อยหรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบและท้องใบมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่น ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2],[3],[4]
- ดอกนมแมวป่า ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกประมาณ 1-3 ดอก ที่ใต้ใบบริเวณใกล้กับปลายยอด ก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบดอกหนามี 6 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นใน ปลายกลีบดอกแหลมสั้นหรือมน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่และมีขนขึ้นปกคลุม ดอกเกสรเพศผู้มีจำนวนมาก สีส้มล้อมรอบเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลับ คาร์เพลจำนวนมากเรียงอยู่บนฐานดอกแยกกัน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3],[4]
- ผลนมแมวป่า ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 8-12 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสดเป็นสีเขียวและมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม พอสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง มีรสหวาน เมล็ดภายในผลมีลักษณะกลม[1],[2],[3],[4]
สรรพคุณของนมแมวป่า
- รากใช้ผสมกับรากหญ้าคา เหง้าเอื้องหมายนา และลำต้นอ้อยแดง นำมาต้มกับน้ำให้สตรีที่ผอมแห้งแรงน้อยดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต กินอาหารไม่ได้ ปัสสาวะขุ่นข้น (ราก)[2],[5]
- รากนำมาต้มใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้เล็ก และมีสาร alcaloid ที่มีฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็ง (ราก)[3]
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคไตพิการ (ราก)[1]
- ยายหมื่น ดวงอุปะ ได้ให้ข้อมูลว่า ยาตัวนี้ทำให้ผัวเมียรักกัน ด้วยการใช้รากนำมาดองกับเหล้ากินแล้วจะทำให้ผัวเมียรักกัน รวมทั้งใช้เคี่ยวกับน้ำมันและสีผึ้ง ใช้นวดริมฝีปากเป็นนวดเสน่ห์ (ราก)[5]
ประโยชน์ของนมแมวป่า
- ผลสุกมีรสหวานใช้รับประทานได้[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “นมแมวป่า (Nom Maeo Pa)”. หน้า 152.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “นมแมวป่า”. หน้า 125.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “นมแมวป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [02 ธ.ค. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “นมแมวป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [02 ธ.ค. 2014].
- กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “ตีนตั่งเตี้ย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com. [02 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : web3.dnp.go.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)