ไอโอดีน
- ไอโอดีน (Iodine) หรือ ไอโอไดด์ แร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งช่วยควบคุมระบบเผาผลาญอาหารในร่างกาย โดยไอโอดีนที่อยู่ในอาหารที่เรารับประทาน มักจะอยู่ในรูปของเกลือไอโอไดด์หรือเกลือไอโอเดต ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้
- สำหรับผู้ที่ขาดไอโอดีนจะส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ความคิดความอ่านช้าลง เชื่องช้า ง่วงซึม น้ำหนักตัวเพิ่ม ร่างกายขนาดพลังงาน หนาวง่าย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเป็นโรคคอพอก
- แหล่งที่พบไอโอดีนตามธรรมชาติ ได้แก่ สาหร่ายทะเลสีน้ำตาล อาหารทะเลทุกชนิด ปลาทะเล ปูหอย หัวหอม ผักที่ปลูกในดินที่มีแร่ธาตุไอโอดีนสูง เป็นต้น
- ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีผลเสียต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณมากติดต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจะรับประทานเกิน 2 มิลลิกรัม หรือ 2,000 ไมโครกรัม ต่อวัน และไอโอดีนที่อยู่ในรูปของยาอาจจะเป็นโทษก็ได้หากใช้ผิดวิธี
- โรคจากการขาดไอโอดีน ได้แก่ โรคคอพอก ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยไป (ไฮโปไทรอยด์) และศัตรูของไอโอดีน ได้แก่ กระบวนการแปรูปอาหารและดินที่ขาดสารอาหาร
คำแนะนำในการรับประทานไอโอดีน
- ไอโอดีนในรูปของอาหารเสริม โดยทั่วไปมักพบได้ในรูปของวิตามินรวมและแร่ธาตุรวม โดยจะมีปริมาณประมาณ 150 ไมโครกรัม โดยสาหร่ายธรรมชาติเป็นแหล่งของไอโอดีนเสริมอาหารที่ดีที่สุด
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 150 ไมโครกรัม และสำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรประมาณ 175 – 200 ไมโครกรัม
- การรับประทานไอโอดีนวันละ 50 ไมโครกรัม ก็สามารถช่วยป้องกันโรคคอพอกได้แล้ว
- สำหรับผู้ที่รับประทานกะหล่ำปลีดิบในปริมาณมาก สารบางอย่างในกะหล่ำปลีดิบอาจทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแร่ธาตุไอโอดีนได้ ดังนั้นควรหาอาหารเสริมที่อยู่ในรูปของวิตามินรวมและแร่ธาตุรวมมารับประทานเสริม
- สำหรับผู้ที่รับประทานวิตามินรวมและแร่ธาตุรวมเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ควรรับประทานไอโอดีนเสริมในรูปแบบอื่น ๆ อีก
- สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารทะเลเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ไม่ควรรับประทานไอโอดีนเสริมอีก
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพิการหรือปัญญาอ่อนของทารกในครรภ์
- สำหรับทารกแรกเกิดก็ควรได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอเช่นกัน เพราะจะช่วยให้เด็กมีความเฉลียวฉลาด และช่วยในการเจริญเติบโตของทารกแรกเกิด
- เนื่องจากไอโอดีนมีความสำคัญมากกับทุกเพศทุกวัย จึงควรจะได้รับอย่างเพียงพอ
- เด็กในวัยเจริญเติบโต หากขาดไอโอดีนระดับไอคิวอาจต่ำลงหรือบกพร่องได้
ประโยชน์ของไอโอดีน
- ช่วยพัฒนาสมองควบคุมระบบประสาท ทำให้ความคิดความอ่านไวขึ้น
- ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว โดยการเผลาผลาญไขมันส่วนเกิน
- ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย
- ช่วยทำให้ร่างกายมีพลังงาน เพิ่มความกระตือรือร้นได้
- ช่วยบำรุงสุขภาพเส้นผม เล็บ ผิวพรรณ และฟัน ให้มีความแข็งแรง
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้ดีขึ้น
- ช่วยกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนมของมารดาให้มากขึ้น
- ช่วยในการขับถ่ายปัสสาวะ ควบคุมการกระจายตัวของน้ำตามร่างกาย
- ป้องกันไม่ให้เด็กพิการ หญิงแท้งบุตรง่าย และอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
แหล่งอ้างอิง : หนังสือวิตามินไบเบิล (ดร.เอิร์ล มินเดลล์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)