ท้องนอกมดลูก : สาเหตุ การรักษา อาการตั้งครรภ์นอกมดลูก ฯลฯ

ท้องนอกมดลูก : สาเหตุ การรักษา อาการตั้งครรภ์นอกมดลูก ฯลฯ

การท้องนอกมดลูก

ท้องนอกมดลูก หรือ ตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) หมายถึง การที่ไข่เดินทางมาปฏิสนธิกับตัวอสุจิที่ท่อนำไข่ ซึ่งโดยปกติแล้วแทนที่ตัวอ่อนจะต้องเดินทางไปฝังตัวที่ผนังด้านในของโพรงมดลูก แต่ตัวอ่อนนี้กลับไปฝังตัวอยู่บริเวณอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ในโพรงมดลูก ก็จะกลายเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก เนื่องจากตำแหน่งที่ฝังตัวนั้นไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตตามปกติ ทารกจึงไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้

การตั้งครรภ์นอกมดลูกนี้ส่วนใหญ่แล้วตัวอ่อนประมาณ 95-96% จะไปฝังตัวอยู่ที่ท่อนำไข่หรือปีกมดลูก (Tubal pregnancy) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบาง ๆ ครับ (นอกจากนั้นอาจพบฝังตัวได้ที่บริเวณรังไข่ ปากมดลูก และภายในช่องท้อง) เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นก็จะทำให้ท่อนำไข่แตกในเวลาต่อมา เพราะผนังของท่อรังไข่จะค่อนข้างบาง ไม่เหมือนผนังโพรงมดลูกซึ่งหนามาก เมื่อท่อนำไข่แตกก็จะเกิดการตกเลือดออกในช่องท้อง ทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องมาก ซึ่งถ้าคุณแม่เสียเลือดมากก็อาจจะทำให้ช็อกไปเลยก็ได้ครับ

การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสตรีวัยเจริญพันธุ์ เพราะหากแพทย์วินิจฉัยโรคไม่ได้หรือให้การรักษาไม่ได้ทันท่วงที คุณแม่อาจเสียชีวิตเนื่องจากการเสียเลือดมากได้ นอกจากนั้นยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมาอีกในอนาคต สำหรับอุบัติการณ์การท้องนอกมดลูกในบ้านเรานั้นถือว่าเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งที่พบได้ในหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1 ใน 200 คนของการตั้งครรภ์ทั้งหมด (บางข้อมูลว่ามีประมาณ 1 ใน 300 คน) และอาจมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ[1],[2],[3]

สาเหตุท้องนอกมดลูก

สาเหตุการท้องนอกมดลูก

  • คุณแม่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์นอกมดลูกก่อน ในครรภ์ต่อไปจะมีความเสี่ยงที่เกิดเป็นซ้ำได้อีกมากกว่าคนทั่วไปถึง 7-13 เท่า
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก พบว่าจะมีความเสี่ยงมากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อย
  • คุณแม่เคยมีประวัติการติดเชื้อและการอักเสบในอุ้งเชิงกรานอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะเชื้อ Chlamydia trachomatis และ Nesseria gonorrheae ซึ่งจะทำให้สภาพภายในอุ้งเชิงกรานมีพังผืดดึงรั้งอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นบริเวณปีกมดลูกและรังไข่ ทำให้ท่อนำไข่คดงอหรือตีบตันบางส่วน จนไปขัดขวางการเดินทางของตัวอ่อนที่จะไปฝังตัวในโพรงมดลูกหรือการเดินทางของตัวอ่อนเคลื่อนตัวได้ช้าลงและฝังตัวอยู่นอกโพรงมดลูก
  • คุณแม่เคยใช้ฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินหลังการมีเพศสัมพันธ์หรือคุณแม่เคยใช้ห่วงอนามัยในการคุมกำเนิดมาก่อน ก็มีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้เช่นกัน เพราะการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนเพียงอย่างเดียว อิทธิพลของฮอร์โมนจะทำให้การบีบตัวของท่อนำไข่ ส่งผลให้ตัวอ่อนที่ผสมแล้วเคลื่อนที่ได้ช้าลง ส่วนการใช้ห่วงอนามัย (IUD) แม้จะช่วยป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนที่โพรงมดลูกได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนที่ปีกมดลูกได้ ถ้าหากคุณแม่พบว่าตนเองมีประจำเดือนขาดในช่วงที่คุมกำเนิดด้วยวิธีเหล่านี้อยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจดูว่าคุณแม่จะตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่
  • การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำกิฟต์ (GIFT), IVF-ET สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรยาก ก็อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์นอกมดลูกได้เช่นกัน แต่คุณแม่ที่มีแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิดมักจะปลอดภัย เพราะแพทย์จะนัดมาตรวจอัลตราซาวนด์ในระยะแรกของการตั้งครรภ์อยู่เสมอ
  • เคยผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะการผ่าตัดบริเวณท่อนำไข่ เช่น การผ่าตัดต่อหมัน เพราะจะทำให้เกิดเป็นพังผืดหรือท่อนำไข่ตีบตันบางส่วน ส่วนการทำหมันแล้วก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก เพราะเมื่อเกิดการตั้งครรภ์หลังการทำหมันก็มักจะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • เคยรักษาครรภ์นอกมดลูกโดยการผ่าตัดมาก่อน เพราะการผ่าตัดในช่องท้องจะทำให้เกิดพังผืดและมีแผลเป็นเกิดขึ้น ปีกมดลูกและรังไข่หลังจากการผ่าตัดจะเหลือเพียงข้างเดียว คุณแม่จึงมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกซ้ำได้อีกครั้ง แต่โดยปกติแล้วแพทย์จะพยายามรักษาปีกมดลูกเอาไว้ให้ดีที่สุด และกว่า 60% ของแม่ที่เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกก็ยังสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกตามปกติ ถ้าคุณแม่รีบแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์
  • ความผิดปกติของท่อนำไข่ เช่น ท่อนำไข่หรือปีกมดลูกเกิดการอักเสบเรื้อรัง มีพังผืดกั้นทำให้ท่อทางเดินของไข่อุดตัวเป็นบางส่วน ท่อนำไข่เจริญเติบโตได้ไม่ดี หรือท่อนำไข่ที่เกิดก้อนเนื้องอก (ถูกเบียดด้วยก้อนเนื้องอกของท่อนำไข่) หรือเนื้องอกของมดลูก จนมีการปิดกั้นขวางทางไม่ให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วเดินทางไปฝังตัวในโพรงมดลูก หรือเป็นผลให้เดินทางช้าลง เมื่อถึงระยะเวลาฝังตัวก็เพิ่งเดินทางอยู่ในท่อนำไข่เท่านั้น จึงเกิดการฝังตัวอยู่ที่ท่อนำไข่แทน ถ้าไม่รีบแก้ไขหรือแพทย์ยังไม่ได้ตรวจพบแต่เนิ่น ๆ ก็จะเป็นอันตรายทำให้ท่อนำไข่ของคุณแม่ฉีกขาดได้
  • การเดินทางของไข่ที่ผสมแล้วจากข้างหนึ่งไปยังท่อนำไข่ของด้านตรงข้าม เช่น ไข่ที่ตกจากรังไข่ข้างซ้ายแต่เดินทางไปเข้าท่อนำไข่ด้านขวา หรือไข่ตกจากรังไข่ข้างขวาแต่เดินทางไปเข้าท่อนำไข่ข้างซ้าย ซึ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลานาน พอถึงระยะฝังตัวก็ยังอยู่ในท่อนำไข่ หรือบางทีก็ยังไม่เข้าท่อนำไข่ก็มี จึงต้องฝังตัวอยู่ข้าง ๆ รังไข่ หรือบริเวณใกล้เคียง จึงเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งเป็นการตั้งครรภ์ผิดปกติที่ต้องรีบได้รับการแก้ไข
  • การสูบบุหรี่ สารพิษจากบุหรี่จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของปีกมดลูกและการโบกพัดของขนเล็ก ๆ ในท่อนำไข่

อาการท้องนอกมดลูก

คุณแม่มักมีประวัติการขาดประจำเดือน 1-2 เดือน หรือไม่ก็สังเกตว่าประจำเดือนมาผิดไปจากทุกครั้ง เช่น มากะปริดกะปรอย สีน้ำตาลคล้ำ แล้วอยู่ดี ๆ ก็เกิดมีอาการปวดเสียดในท้องขึ้นมาทันทีทันใด โดยจะปวดรุนแรงเป็นชั่วโมง อาจร้าวไปถึงหลัง ถ้านอนศีรษะต่ำอาจมีอาการปวดเสียวที่หัวไหล่ ต่อมาจะมีอาการเป็นลม เหงื่อออก ตัวเย็น ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจมีเพียงอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ร่วมกับประจำเดือนกะปริดกะปรอย (ในรายที่เป็นเรื้อรังแพทย์อาจตรวจไม่พบอาการชัดเจน ทำให้คิดว่าผู้ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ ถุงน้ำรังไข่ หรือแท้งบุตรได้)

คุณแม่จะทราบได้อย่างไรว่ากำลังท้องนอกมดลูก ?

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ คุณแม่บางคนอาจมีอาการปวดเสียวท้องน้อยคล้ายกับช่วงมีประจำเดือน ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยเป็นครั้งเป็นคราวก็ยังถือว่าปกติ แต่ถ้าคุณแม่มีอาการปวดท้องมาก ๆ บางทีก็อาจจะเป็นลมไปเลย และหน้าซีดลงจนคนใกล้ชิดสังเกตได้ ในบางรายอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดด้วย คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกอยู่ก็เป็นได้

เมื่อไหร่คุณแม่ควรพบแพทย์ ?

หากคุณแม่พบว่าประจำเดือนขาดหรือกำลังตั้งครรภ์ ร่วมกับมีอาการปวดท้อง มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะโดยทั่วไปแล้วการตั้งครรภ์ที่ปกติจะไม่มีอาการปวดท้องน้อยอย่างมากหรือมีเลือดออกทางช่องคลอด แต่ทางที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ก็คือ เมื่อทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ในทันทีครับ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์นอกมดลูกอยู่ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ แต่อาการที่บ่งบอกได้ชัดเจนที่สุดคือ “คุณแม่จะมีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง รู้สึกเจ็บเมื่อใช้มือกดบริเวณหน้าท้อง และมีเลือดออกทางช่องคลอดในระยะแรกของการตั้งครรภ์ด้วย”

การวินิจฉัยการท้องนอกมดลูก

โดยปกติแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้จาก

  1. สังเกตอาการเด่นชัดของการตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งประกอบไปด้วย อาการปวดท้องน้อย (มักปวดเด่นด้านใดด้านหนึ่งของท้องน้อย ซึ่งจะเป็นด้านที่เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก), มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (มักเป็นแบบกะปริดกะปรอยและไม่สัมพันธ์กับรอบเดือน) มีประวัติขาดประจำเดือนนำมาก่อน ถ้าหากคุณแม่มีครบทั้ง 3 อาการดังกล่าวแพทย์ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้โดยง่าย แต่โดยทั่วไปแล้วคุณแม่อาจมีอาการแสดงออกมาน้อยมากจนแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ หรือผู้ป่วยอีกกลุ่มอาจมีบางอาการมากจนแพทย์มองผ่านอีก 2 อาการไป เพราะคิดว่าเป็นอาการของโรคอื่นแทน เช่น ผู้ป่วยมีอาการซีดมากแต่มีประวัติเลือดออกทางช่องคลอดมีนิดเดียว แพทย์จึงคิดว่าเป็นภาวะซีดทั่วไปแทน, มีอาการปวดท้องน้อยอย่างมากจนจะเป็นลมโดยที่ไม่แสดงอาการอื่นอีก 2 อาการ หรือบางคนอาจมาด้วยอาการปวดไหล่เนื่องจากมีเลือดออกในช่องท้องแล้วไประคายเคืองที่กะบังลม ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ เป็นต้น
    อาการท้องนอกมดลูก
  2. อาการแสดงที่แพทย์ตรวจพบ เมื่อตรวจร่างกายผู้ป่วยมักไม่มีไข้ ในรายที่เสียเลือดไม่มากนัก สัญญาณชีพมักไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่หากมีการเสียเลือดในช่องท้องมาก จะทำให้ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งเป็นสัญญาณบอกเหตุว่ากำลังช็อก เมื่อตรวจเปลือกตาจะเห็นตาเป็นสีขาวซีด ถ้าสังเกตจะเห็นท้องบวมโตขึ้น เมื่อตรวจดูจะพบว่ามีของเหลวอยู่ในท้อง หากกดบริเวณท้องน้อยผู้ป่วยจะปวดและเกร็ง หากมีเลือดในช่องท้องมาก ผู้ป่วยจะปวดและเกร็งไปทั่วช่องท้อง
  3. การตรวจภายใน เป็นการตรวจที่จำเป็นและสำคัญ แพทย์จะตรวจพบเลือดออกเล็กน้อยในช่องคลอด ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บในอุ้งเชิงกรานเมื่อโยกปากมดลูกไปมา ถ้ากดบริเวณปีกมดลูกจะรู้สึกปวดมากในด้านที่มีการตั้งครรภ์นอกมดลูก และอาจคลำได้ก้อนเนื้อบริเวณปีกมดลูกข้างที่มีปัญหาหรือคลำได้ว่ามีการโป่งนูนของช่องในเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกรานตอนล่าง (Cul-de-sac) เนื่องจากมีของเหลวอยู่เป็นจำนวนมากในช่องเชิงกรานนั้น
  4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
    • การตรวจความเข้มข้นของเลือด (Complete blood count-CBC) จะพบว่ามีโลหิตจาง
    • การตรวจการตั้งครรภ์ในปัสสาวะ ด้วยการใช้แถบตรวจการตั้งครรภ์ที่มีประสิทธิภาพที่มีขายทั่วไปตามร้านขายยา แม้ว่าการตั้งครรภ์อ่อน ๆ จะยังมีระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (hCG) อยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ยังสามารถตรวจพบได้ หากตรวจแล้วไม่พบว่าตั้งครรภ์ ก็แสดงว่าไม่ได้เป็นโรคนี้
    • การตรวจอัลตราซาวนด์ โดยเฉพาะการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะช่วยทำให้มองเห็นพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานได้อย่างชัดเจนกว่าการตรวจผ่านทางหน้าท้อง หากตรวจแล้วมองไม่เห็นถุงการตั้งครรภ์อยู่ในโพรงมดลูกในระยะที่ควรจะมองเห็นแล้ว, เห็นทารกอยู่นอกโพรงมดลูก, เห็นของเหลวจำนวนมากอยู่ในอุ้งเชิงกราน และพบก้อนที่ปีกมดลูก สิ่งเหล่านี้จะช่วยยืนยันว่ามีการตั้งครรภ์นอกมดลูกเกิดขึ้นจริง
      ท้องนอกมดลูกมีอาการอย่างไร
    • ตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมน ß- hCG จะเป็นการตรวจเฉพาะในบางรายที่สงสัยว่าเป็นการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก หรือตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือในรายที่มีอาการแสดงน้อยมากจนแทบไม่มีอาการปวดท้อง มีประวัติประจำเดือนแทบเป็นปกติ เพราะการตรวจแบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจปัสสาวะ ต้องใช้เวลาในการตรวจ และทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัว ในรายที่จะต้องแยกว่าตั้งครรภ์ปกติหรือไม่และมีอายุครรภ์อ่อนมากที่ยังมองไม่เห็นจากการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ จะมีการเจาะเลือดครั้งแรกเพื่อดูระดับฮอร์โมนชนิดนี้ก่อน และจะเจาะเลือดตรวจอีกครั้งในอีก 2 วันถัดมา หากพบว่าระดับฮอร์โมนชนิดนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งแรก 66% จะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ปกติและให้รอสังเกตอาการต่อไป แต่หากเพิ่มขึ้นไม่ถึง 66% จะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นการแท้งบุตรหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกก็ได้ หรือถ้าตรวจครั้งแรกแล้วระดับฮอร์โมนสูงกว่า 1,500 mIU/ml ประกอบกับการตรวจอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดแล้วไม่พบถุงการตั้งครรภ์ ก็สามารถบอกได้เลยว่าเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือถ้าตรวจอัลตราซาวนด์ทางหน้าท้อง โดยใช้เกณฑ์ระดับฮอร์โมนนี้สูงกว่า 6,500 mIU/ml ก็ต้องพบถุงการตั้งครรภ์ได้แล้ว แต่ถ้ายังไม่พบก็ให้คิดถึงการตั้งครรภ์นอกมดลูก
    • การส่องกล้องวินิจฉัยทางหน้าท้อง (Diagnostic laparoscopy) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ผู้ป่วยจะต้องเจ็บตัวเช่นกัน ซึ่งวิธีนี้แพทย์จะใช้ในกรณีที่คุณแม่มีอาการไม่ชัดเจน จำเป็นต้องดมยาสลบแล้วส่องกล้องเข้าไปดูภายในช่องท้องของคุณแม่โดยตรงว่ามีการตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่จริงหรือไม่
      อาการคนท้องนอกมดลูก

การรักษาท้องนอกมดลูก

การรักษาการตั้งครรภ์นอกมดลูกมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเป็นหลัก ซึ่งมีวิธีการรักษาดังนี้

  1. คอยสังเกตอาการเพียงอย่างเดียว แพทย์มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติน้อยมาก มีอาการปวดท้องไม่มากหรือไม่ปวดท้องเลย ไม่มีเลือดออกในช่องท้อง และไม่มีการแตกของท่อนำไข่ ซึกมักจะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกแล้วเกิดการแท้งหรือหลุดเข้าไปในช่องท้อง
  2. การรักษาด้วยยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ปัจจุบันนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สามารถใช้ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องเพียงเล็กน้อยหรือไม่ปวดเลย, ยังไม่มีการแตกของท่อนำไข่หรือแตกเพียงเล็กน้อย และเลือดออกเล็กน้อยหรือหยุดไปแล้ว, ขนาดของก้อนท้องนอกมดลูกมีขนาดเล็กกว่า 4 เซนติเมตร, มีสัญญาณชีพคงที่ และมีระดับฮอร์โมน ß- hCG ในเลือดน้อยกว่า 3,000-5,000 mIU/L ส่วนวิธีการให้ยาแพทย์จะฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ (มีทั้งแบบฉีดครั้งเดียวและหลายครั้ง) ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกอย่างมาก ผู้ป่วยไม่ต้องถูกผ่าตัด สามารถเก็บท่อนำไข่ไว้เพื่อการตั้งครรภ์ในอนาคตได้ นอกจากนั้นยังสามารถฉีดยาเข้าไปที่ตัวทารกโดยตรงได้อีกด้วย (ทำผ่านกล้องส่องตรวจทางหน้าท้องแล้วฉีดยาเข้าไปที่บริเวณท่อนำไข่โดยตรง) แต่มีข้อเสียคือ ไม่สามารถรักษาได้ในผู้ป่วยทุกราย เช่น ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก, มีสัญญาณชีพไม่คงที่, มีระดับฮอร์โมน ß- hCG ในเลือดมากกว่า 15,000 mIU/L, ตรวจพบหัวใจทารกเต้นแล้ว เป็นต้น นอกจากนั้นการรักษาด้วยวิธีนี้ก็สามารถทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่สามารถตรวจหาระดับฮอร์โมน ß- hCG ในเลือดได้ เพราะต้องใช้ติดตามระดับฮอร์โมนว่าลดลงหรือไม่ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีการตอบสนองต่อการรักษาดีแค่ไหน ผู้ป่วยจึงต้องเสียเวลามาตรวจเลือดทุกสัปดาห์ว่าปกติแล้วหรือยัง โดยทั่วไปจะต้องใช้เวลาในการติดตามนานถึง 7-8 สัปดาห์ และหากผลการรักษาด้วยยาไม่ดีขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดต่อไป
  3. การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลมากจนเกินไป เพราะแพทย์จะรีบทำการรักษาโดยดูจากประวัติและอาการของคุณแม่ ถ้าคุณแม่ยังไม่เคยมีลูกมาก่อน เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์นอกมดลูกแล้วและแพทย์วินิจฉัยได้เร็ว เลือดยังออกไม่มาก หรือท่อนำไข่ยังไม่แตก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาในการรักษา แต่หากไม่ได้ผลแพทย์ก็จะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะเก็บปีกมดลูกเอาไว้ ซึ่งการผ่าตัดจะมีทั้งแบบการตัดปีกมดลูกด้านที่ตั้งครรภ์ออกทั้งหมด การตัดออกบางส่วน และการตัดเฉพาะที่ปีกมดลูกแล้วดูดเอาส่วนที่ตั้งครรภ์ออก ซึ่งวิธีการผ่าตัดแต่ละวิธีเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการหนักเบาของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับอายุ ความต้องการมีบุตร รวมถึงความชำนาญของแพทย์และความพร้อมของอุปกรณ์ โดยการผ่าตัดผ่านกล้องเอาส่วนที่ตัวอ่อนฝังตัวผิดปกติออกไป แผลจะมีขนาดเล็กมาก 2-3 วันคุณแม่ก็สามารถกลับได้เลย แต่ในกรณีที่คุณแม่มีลูกให้ชื่นชมเพียงพอแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเอาปีกมดลูกออกไปเลยก็ได้ สำหรับคุณแม่ที่ท่อนำไข่หรือปีกมดลูกแตกและมีเลือดออกในช่องท้องแล้ว จะทำให้คุณแม่ปวดท้องมาก ถ้าเสียเลือดมากก็อาจช็อกไปเลย ซึ่งแพทย์จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเอาส่วนของท่อนำไข่ข้างที่ตั้งครรภ์นั้นออกไปเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ของการผ่าตัดมีความก้าวหน้าไปมาก แพทย์จึงสามารถผ่าตัดปีกมดลูกโดยผ่านกล้องเจาะผ่านผนังหน้าท้อง ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมากและคุณแม่ก็สามารถกลับบ้านได้ภาย 24-28 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ท่อนำไข่แตกไม่มากแพทย์ก็อาจจะผ่าตัดซ่อมแซมท่อนำไข่ ซึ่งจะต้องผ่าตัดในทันทีที่แพทย์วินิจฉัยได้ทั้ง ๆ ที่คุณแม่อาจจะอยู่ในภาวะช็อกก็ตาม สำหรับตัวเด็กนั้นจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เพราะยังมีขนาดเล็กมาก (บางครั้งยังมองไม่เห็นเลยก็มี) ส่วนท่อนำไข่อีกข้างที่ยังเหลืออยู่ ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติคุณแม่ก็มีโอกาสกลับมาตั้งครรภ์ครั้งใหม่ต่อไปได้

ภาวะแทรกซ้อนของการท้องนอกมดลูก

  • ภาวะแทรกซ้อนในระยะเฉียบพลัน คือ อาจทำให้ปีกมดลูกอักเสบ, ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ, อาจเกิดการตกเลือดในช่องท้องจนช็อกและเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
  • ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก (เพราะการผ่าตัดปีกมดลูก อาจทำให้เกิดพังผืดและท่อรังไข่ตีบตันได้) หรือเป็นหมัน, มีโอกาสเกิดภาวะท้องนอกมดลูกซ้ำได้อีกในครรภ์ต่อไป (โอกาสมากกว่าคนทั่วไป 7-13 เท่า), มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง

การป้องกันการท้องนอกมดลูก

  1. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  2. หากติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ควรรีบไปพบแพทย์และรักษาโรคให้หายขาด เพราะการซื้อยามารับประทานเอง บ่อยครั้งยังไม่เพียงพอ เนื่องจากอาจเกิดเป็นการติดเชื้อเรื้อรังและทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกรานได้
  3. หากเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบให้รีบพบแพทย์เพื่อรักษา
  4. ควรงดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  5. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง

หลังผ่าตัดท้องนอกมดลูก

การท้องมดลูกเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีผลกระทบต่อจิตใจของคุณแม่ เนื่องจากต้องแท้งลูก การสูญเสียครั้งนี้ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างมาก คุณแม่อาจตั้งความหวังใหม่ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็ได้ เพื่อคุณแม่จะได้ทำใจได้เร็วขึ้นและก้าวผ่านประสบการณ์นี้ไปอย่างเจ็บปวดน้อยที่สุด

เมื่อคุณแม่ได้รับการรักษาจากแพทย์โดยการผ่าตัดแล้ว อาจทำให้คุณแม่เป็นกังวลในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป เพราะการผ่าตัดในช่องท้องจะทำให้เกิดพังผืดดึงรั้ง มีแผลเป็นเกิดขึ้น ปีกของมดลูกและรังไข่หลังจากผ่าตัดก็เหลือเพียงข้างเดียว ซึ้งล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาต่อการตั้งครรภ์แทบทั้งสิ้น คุณแม่จึงมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกซ้ำได้อีกและเสี่ยงต่อการมีบุตรยากอีกด้วย แต่โดยปกติแล้วแพทย์ที่ผ่าตัดจะพยายามดูแลรักษาปีกมดลูกไว้ให้ดีที่สุด และกว่าประมาณ 60% ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์นอกมดลูกก็ยังสามารถตั้งครรภ์อีกได้ตามปกติและลูกที่ออกมาก็แข็งแรงเหมือนคนอื่น ๆ แม้ว่าจะเหลือท่อนำไข่เพียงข้างเดียวก็ตาม

ข้อควรรู้ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

  • หลังจากรักษาการตั้งครรภ์นอกมดลูกแล้ว ในกรณีที่ต้องตัดท่อนำไข่ไปข้างหนึ่งและยังมีท่อนำไข่อีกข้างที่ดีเหลืออยู่ หรือในกรณีที่รักษาด้วยยา Methotrexate โดยไม่มีการผ่าตัดท่อนำไข่ คุณแม่ก็สามารถตั้งครรภ์ได้อีกครั้งตามปกติ ซึ่งโอกาสในการตั้งครรภ์อีกครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 50-60% ขึ้นอยู่กับสภาพของท่อนำไข่และสภาพภายในอุ้งเชิงกรานว่าปกติดีหรือไม่ ส่วนโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกซ้ำจะพบได้ประมาณ 10-15% ครับ โดยสามารถเกิดทั้งที่ท่อนำไข่ด้านเดิมที่มีปัญหา (แต่ไม่ได้ตัดท่อนำไข่ ซึ่งรักษาด้วยวิธี Salpingostomy หรือ Salpingotomy หรือให้ยา Methotrexate) หรืออาจเกิดที่ท่อนำไข่อีกข้างซึ่งอาจมีสภาพไม่สมบูรณ์ก็ได้ ส่วนในกรณีที่คุณแม่เกิดท้องนอกมดลูกทั้ง 2 ครั้ง และถูกตัดท่อนำไข่ไปทั้ง 2 ข้าง จะไม่สามารถมีลูกเองได้ด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้ก็อาจต้องพึ่งเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น ทำเด็กหลอดแก้ว
  • ยังไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าหลังจากรักษาการตั้งครรภ์นอกมดลูกแล้วจะต้องรออีกนานเท่าไรถึงจะตั้งครรภ์ได้อีก เพราะหลังการรักษาอาจมีการตกไข่ในรอบประจำเดือนถัดไปและเกิดการตั้งครรภ์เลยก็ได้ ดังนั้นหากคุณแม่ยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ก็ควรจะคุมกำเนิดไปก่อน มีคำแนะนำว่า เพื่อสุขภาพของสตรีควรคุมกำเนิดไปก่อนอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้สุขภาพกลับมาสมบูรณ์ก่อนอีกครั้ง เพราะก่อนหน้าคุณแม่อาจมีการผ่าตัดหรือเสียเลือดไปมาก
  • ในระหว่างรอตั้งครรภ์ใหม่ คุณแม่ควรคุมกำเนิดไปก่อน ซึ่งการเลือกวิธีคุมกำเนิดก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะเว้นระยะการตั้งครรภ์ไปนานเพียงใด ถ้าต้องการเว้นระยะเพียงสั้น ๆ ก็ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีการใช้ถุงยางอนามัย เนื่องจากไม่มีฮอร์โมน ไม่มีผลข้างเคียงและกระทบต่อรอบเดือนของคุณแม่ เมื่อหยุดคุมกำเนิดก็สามารถตั้งครรภ์ได้เร็ว แต่หากต้องการเว้นระยะการตั้งครรภ์ไปนาน คุณแม่อาจใช้วิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดหรือยาฉีดคุมกำเนิดก็ได้ ทั้งนี้คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาการตั้งครรภ์นอกมดลูกถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับตัวเองต่อไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “การตั้งครรภ์นอกมดลูก”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์).  หน้า 158-159.
  2. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “ท้องนอกมดลูก”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ).  หน้า 184.
  3. หาหมอดอทคอม.  “ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)”.  (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [16 ธ.ค. 2015].
  4. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 905-906.

ภาพประกอบ : www.wikihow.com, servier.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด