15 ประโยชน์ของทอรีน (Taurine) ทอรีนคืออะไร ?

ทอรีน

  • ทอรีน (Taurine) คืออะไร ? ทอรีนก็คือ กรดอะมิโน ชนิดหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มกรดอะมิโนไม่จำเป็น เพราะร่างกายสามารถสร้างเองได้
  • แต่กรดอะมิโนตัวนี้จัดว่ามีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะเป็นโครงสร้างของกรดอะมิโนตัวอื่น ๆ ทั้งหมด โดยทอรีนนั้นพบได้มากในเนื้อเยื่อหัวใจ กล้ามเนื้อลาย และระบบประสาทส่วนกลาง นอกจากนี้ทอรีนยังเป็นส่วนประกอบของน้ำดีอีกด้วย
  • สำหรับแหล่งอาหารที่สามารถพบได้ทั่วไปของทอรีนก็ได้แก่ เนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น เนื้อวัว ตับวัว หมู ตับหมู เนื้อแกะ เนื้อไก่ ปลาค็อด ปลาโดยเฉพาะปลาทูน่า แมลง ไข่ หอยต่าง ๆ อย่างหอยแมลงภู่ หอยนางรม รวมไปถึงสาหร่ายทะเลโดยเฉพาะสาหร่ายแดง และนมโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำนมโคลอสตรัมจากคนและวัว เป็นต้น และทอรีนจะไม่มีอยู่ในพืชผัก หรือถ้ามีก็ถือว่ามีน้อยมาก ๆ คือประมาณ 0.01 ไมโครโมลต่อกรัม
  • ร่างกายของเราสามารถสังเคราะห์กรดอะมิโนชนิดนี้ขึ้นมาเองได้อยู่แล้ว ถ้าตราบใดที่ร่างกายของเรายังมีวิตามินบี 6 อยู่
  • หากร่างกายขาดวิตามินบี 6 จะไปขัดขวางการสร้างกรดอะมิโนทอรีน
  • การดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายของคุณไม่สามารถใช้ทอรีนได้อย่างเหมาะสม
  • การขาดทอรีนในระดับปานกลาง ร่างกายจะมีระดับโปรตีนสำคัญ ๆ ในเลือดต่ำ ส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตช้า แต่ถ้าขาดทอรีนอย่างรุนแรงจะทำให้เกิดอาการเซื่องซึม เหงาหงอย อ่อนเพลีย ตัวผอม ผิวหนังแห้งหรืออักเสบ เส้นผมเปลี่ยนสี บวม ตับอาจถูกทำลาย เกิดการสูญเสียกล้ามเนื้อและไขมัน

ประโยชน์ของทอรีน

  1. ประโยชน์ของทอรีนช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย
  2. ทอรีนจัดว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองของทารกแรกเกิด และในวัยทารกจะมีปริมาณทอรีนมากกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงวัยเจริญเติบโต ร่างกายจะต้องการทอรีนในปริมาณมาก
  3. เป็นตัวแอนติออกซิแดนท์ในเม็ดเลือดขาวและในปอด
  4. ช่วยทำหน้าที่ปกป้องสมอง และทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมน้ำในเซลล์ของสมอง และยังเชื่อกันว่าทอรีนจะทำหน้าที่เป็นตัวนำกระแสประสาทในสมองอีกด้วย
  5. ช่วยคลายความเครียด ช่วยรักษาโรควิตกกังวล
  6. ช่วยรักษาความคงตัวของผนังเซลล์ในร่างกาย
  7. ช่วยรักษาโรคลมชัก
  8. ทอรีนช่วยลดความดันโลหิต ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
  9. ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ และช่วยทำให้หัวใจทำงานได้อย่างแข็งแรงมากขึ้น
  10. ช่วยในการทำงานของแคลเซียม ช่วยลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด
  11. ทอรีนจะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจใช้แคลเซียมได้อย่างสมดุลในการหดตัว ซึ่งไม่ทำให้เกิด Calcium Overload ต่อหัวใจแม้จะอยู่ในสภาวะที่มีระดับแคลเซียมสูง ทำให้เชื่อว่าสามารถช่วยรักษาภาวะหัวใจวายได้
  12. ช่วยส่งเสริมการมองเห็นและป้องกันศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม และช่วยในการทำงานของเรตินาในการรับแสง
  13. ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในการย่อยไขมัน ซึ่งจะมีเป็นตัวช่วยในการดูดซึมไขมัน รวมไปถึงการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันด้วยเช่นกัน
  14. ช่วยส่งเสริมการทำงานของอินซูลิน
  15. ช่วยในการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิสำหรับผู้ที่เป็นหมัน อันเนื่องมาจากสเปิร์มไม่มีกำลังในการเคลื่อนที่

คำแนะนำในการรับประทาน

  • โดยปกติแล้วในวัยผู้ใหญ่จะต้องการทอรีนวันละประมาณ 125-500 ไมโครโมลต่อกรัม แต่โดยทั่วไปแล้วเรามักจะได้ทอรีนจากการรับประทานอาหารมากเพียงพออยู่แล้วในปริมาณวันละ 40-400 มิลลิกรัม หรือ 100-1,000 ไมโครโมลต่อกรัม
  • ทอรีนมีวางจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งอยู่ในรูปของแคปซูลประมาณ 500 มิลลิกรัม โดยรับประทานก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมงพร้อมกับน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ก็ได้วันละ 3 เวลา และไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีทอรีนร่วมกับโปรตีนอื่น
  • การรับประทานกรดอะมิโนทอรีนร่วมกับกรดอะมิโนซิสทีน จะช่วยทำให้ร่างกายต้องการอินซูลินลดลง
  • การปรุงอาหารด้วยวิธีการต้มหรืออบจะทำให้ปริมาณทอรีนลดลงอย่างมาก ซึ่งการนำไปต้มจะสูญเสียทอรีนมากกว่าการอบ (ทอรีนจะลดลงมากกว่า 50%)
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ร่างกายจะต้องการทอรีนมากยิ่งขึ้น
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดทอรีน (ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก)
    1. เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำโดยไม่มีกรดอะมิโนทอรีนเป็นเวลานาน
    2. ผู้ที่อยู่ในสภาวะเจ็บป่วย เช่น ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยหนัก
    3. ผู้ป่วยหลังได้รับเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง
    4. ผู้ที่มีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง ผู้ที่เป็นแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
    5. ผู้ที่เป็นมังสวิรัติโดยไม่รับประทานไข่ (ผู้ให้นมบุตรปริมาณของทอรีนในน้ำนมก็น้อยตามไปด้วย)
    6. ผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรังซึ่งไม่สามารถสร้างทอรีนได้
    7. ผู้ที่เป็นโรคการดูดซึมบกพร่องเรื้อรังจะทำให้สูญเสียทอรีน
    8. ทารกที่คลอดก่อนกำหนดและตับยังทำงานได้ไม่ดี
    9. ทารกที่รับประทานนมผงดัดแปลง ซึ่งในสูตรของนมไม่ได้มีการเติมทอรีน
    10. ผู้ที่ร่างกายขาดเมไธโอนีนและซิสเทอีน
    11. ผู้ที่ขาด Cystathionase หรือ Cysteine Sulfinic acid Decarboxylase (CSAD) และวิตามินบี6

แหล่งอ้างอิง : วารสารโภชนบำบัด พ.ศ.2547 ปีที่ 15 ฉบับที่ 1

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด