ทองหลางป่า
ทองหลางป่า ชื่อสามัญ Indian Coral tree[2], December tree[4]
ทองหลางป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrina subumbrans (Hassk.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]
สมุนไพรทองหลางป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตองหลาง (แพร่), ทองบก (น่าน), ทองมีดขูด (ภาคเหนือ), ทองหลาง (ภาคกลาง), เก๊าตอง (คนเมือง), ไม้ตองหนาม ไม้ตองน้ำ (ไทใหญ่), ยาเซาะห่ะ (อาข่า) เป็นต้น[1],[2],[4]
ลักษณะของทองหลางป่า
- ต้นทองหลางป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบในระยะสั้น ๆ มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีขาวหม่น มีหนามแหลมสั้น ๆ ขึ้นกระจายทั่วลำต้นและกิ่ง มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียจนถึงอินโดนีเซีย พบขึ้นตามป่าดิบบริเวณที่ชุ่มชื้นและตามริมห้วยในป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 100-900 เมตร[1],[3],[4]
- ใบทองหลางป่า ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบกลางมีขนาดใหญ่กว่าใบข้าง ลักษณะของใบย่อยเป็นหัวใจ รูปไข่แกมสามเหลี่ยม หรือรูปไข่แกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม โคนใบตัดหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร เส้นใบด้านล่างเด่นชัด ที่โคนก้านใบมีต่อม 1 คู่[1],[3],[4]
- ดอกทองหลางป่า ออกดอกเป็นช่อกระจะบริเวณปลายกิ่ง มีขนสั้นปกคลุม ดอกย่อยมีจำนวนมาก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีแดงเข้ม ดอกมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว ดอกล่างจะบานก่อน กลีบรองดอกเป็นหลอด กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบบนแผ่โค้งเป็นรูปเรือ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันที่โคนด้านล่าง ก้านเกสรเป็นสีแดง อับเรณูเป็นสีเหลือง ติดดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[3],[4]
- ผลทองหลางป่า ผลมีลักษณะเป็นฝักโค้งแบน ตอนโคนแบน ไม่มีเมล็ด ตอนปลายหนา แบ่งเป็นห้อง ๆ มีเมล็ดประมาณ 1-5 เมล็ด รูปรี เมื่อแก่ฝักจะแตกอ้าออกตามทางยาวจากส่วนปลาย[1],[3],[4]
สรรพคุณของทองหลางป่า
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทองหลางป่าผสมกับหนามแน่ นำมาตำผสมกับปูนแดงใช้สุมแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
- ชาวอาข่าจะใช้ใบเป็นส่วนผสมของยารักษาวัณโรค (ใบ)[2]
- ใบใช้ตำพอกรักษาฝี (ใบ)[2]
- ใบนำมาบดทาแก้โรคบวมตามข้อ (ใบ)[3]
- ชาวเขาเผ่าเย้าจะใช้ใบทองหลางป่า นำมาตำพอกรักษากระดูกหักและแก้อาการปวดกระดูก (ใบ)[1]
- เปลือก แก่น และใบ นำมาให้หมูหรือไก่กินเป็นยาแก้อหิวาตกโรค (เปลือก, แก่น, ใบ)[1]
ประโยชน์ของทองหลางป่า
- ใบอ่อนใช้รับประทานสดหรือใช้ใส่ในแกง หรือจะนำยอดอ่อนมาลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก ใส่ในแกง แกงหน่อ แกงขนุน ฯลฯ[2]
- เนื้อไม้เป็นสีขาว ค่อนข้างอ่อน ใช้ทำของเล่นสำหรับเด็ก หรือนำมาใช้ทำรั้วบ้าน เพราะมีหนาม[2],[3]
- ดอกให้สีแดงสำหรับใช้ย้อมผ้า[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ทองหลางป่า”. หน้า 105.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ทองหลางป่า ทองหลาง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [11 ธ.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ทองหลางป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [11 ธ.ค. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ทองหลางป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [11 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Siddarth Machado, John Elliott), biodiversity.forest.go.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)