ทองกวาว
ทองกวาว ชื่อสามัญ Bastard teak, Bengal kino, Kino tree, Flame of the forest
ทองกวาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea monosperma (Lam.) Taub. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
สมุนไพรทองกวาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จาน (อุบลราชธานี), จ้า (สุรินทร์), ทองต้น (ราชบุรี), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ (ภาคกลาง), กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), ดอกจาน (ภาคอีสาน), จอมทอง (ภาคใต้), กวาวต้น เป็นต้น
ลักษณะของทองกวาว
- ต้นทองกวาว มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียใต้ จากประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย และในแถบทางภาคตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 12-18 เมตร กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา ลักษณะของการแตกกิ่งก้านจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นระเบียบ ส่วนเปลือกต้นจะเป็นปุ่มปม ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการใช้กิ่งปักชำ
- ใบทองกวาว ลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับ ใบย่อยที่ปลายรูปไข่ กลีบแกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ส่วนใบย่อยด้านข้างจะเป็นรูปไม่เบี้ยว มีความกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 17 เซนติเมตร และขอบใบเรียบ
- ดอกทองกวาว ออกดอกเป็นช่อคล้ายกับดอกทองหลาง ดอกมีสีแดงส้มหรือแสด มีความยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร มีดอกย่อยเกาะกันเป็นกลุ่ม เมื่อดอกบานจะมีกลีบ 5 กลีบ และจะออกดอกมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
- ผลทองกวาว ลักษณะของผลเป็นฝักแบน ฝักมีสีเขียวอ่อนและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองเมื่อแก่เต็มที่ ที่ฝักมีขนอ่อนนุ่มสีขาวเป็นมัน ฝักโค้งงอเล็กน้อย ไม่แตก ส่วนด้านบนหนาแตกเป็น 2 ซีก ในฝักมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ภายใน 1 เมล็ด ฝักมีความยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร
สรรพคุณของทองกวาว
- รากทองกวาวมีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุ (ราก)
- รากทองกวาวใช้ต้มรักษาโรคประสาท (ราก)
- ดอกทองกวาวใช้ต้มดื่มช่วยถอนพิษไข้ได้ (ดอก)
- ช่วยแก้กระหายน้ำ (ดอก)
- ช่วยสมานแผลปากเปื่อย (ดอก)
- แก่นสามารถใช้ทาแก้อาการปวดฟันได้ (แก่น)
- ดอกใช้หยอดตาแก้อาการตาแดง เจ็บตา ปวดตา ระคายเคืองตา ตามัว ตาแฉะ ตาฟาง (ดอก)
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ยาง)
- ทองกวาวมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องขึ้น (อาการท้องอืดเพราะลมในกระเพาะอาหารเฟ้อขึ้น) (ใบ)
- ฝัก ใบ หรือเมล็ด นำมาต้มเอาแต่น้ำใช้เป็นยาขับพยาธิหรือพยาธิตัวกลม (ฝัก, ใบ, เมล็ด)
- ใช้บำบัดพยาธิภายใน (เมล็ด)
- ดอกใช้ต้มดื่มช่วยขับปัสสาวะ (ดอก)
- ใบช่วยรักษาริดสีดวง (ใบ)
- ดอกหรือใบใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดได้ (ดอก, ใบ)
- เมล็ดนำมาบดผสมกับมะนาว นำมาทาบริเวณที่เป็นผดผื่นแดง อักเสบ คัน และแสบร้อน (เมล็ด)
- ใบใช้ตำพอกฝีและสิว แก้อาการปวด และช่วยถอนพิษได้ (ใบ)
- ดอกช่วยแก้พิษฝี (ดอก)
- รากทองกวาวนำมาใช้ประคบบริเวณที่เป็นตะคริวได้ (ราก)
- ช่วยลดกำหนัด (ดอก)
- สารสกัดจากเปลือกทองกวาวสามารถช่วยเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้นได้ แต่จะทำให้จำนวนอสุจิลดลง (เปลือก)
ประโยชน์ของทองกวาว
- ดอกใช้ย้อมสีผ้า โดยจะให้สีแดง
- ลำต้นเมื่อนำมาสับเป็นแผลจะมียางไหลออกมา สามารถนำมาใช้แทน Kimo ได้ หรือที่เรียกว่า Bengal kino
- เส้นใยจากเปลือกสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกหลวม ๆ และกระดาษได้
- ใบสดนำมาใช้ห่อของ
- ใบทองกวาวใช้ตากมะม่วงกวน
- ใบใช้เป็นอาหารสำหรับช้างและวัวควายได้
- ในอินเดียใช้ใบนำมาปั้นเป็นถ้วยไว้ใส่อาหารและขนมแทนการใช้พลาสติก
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเรือนและเครื่องมือทางการเกษตรได้
- เนื้อไม้เมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบาและหดตัวมาก จึงสามารถใช้ทำกระดานกรุบ่อน้ำ ทำเรือขุดหรือเรือโปงใช้ชั่วคราว หรือใช้กั้นบ่อน้ำ ร่องน้ำ และกังหันน้ำได้
- ทองกวาวจัดเป็นไม้มงคลนาม คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเงินมีทองมาก คือสามารถมีทองได้ตามชาติหรือมีทองมากมายนั่นเอง นอกจากนี้ดอกทองกวาวยังมีความสวยงามเรืองรองเหมือนทองธรรมชาติอีกด้วย โดยตำแหน่งที่ปลูกก็คือทิศใต้ และถ้าปลูกในวันเสาร์ก็จะยิ่งเป็นมงคลขึ้นไปอีก หรือถ้าจะให้เป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือหรือเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
คำแนะนำ : เนื่องจากหลักฐานทางด้านความเป็นพิษยังมีอยู่น้อยมาก จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังและไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
ข้อควรระวัง : เนื่องจากเมล็ดมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน ซึ่งมีผลเสียต่อสตรีที่กำลังตั้งครรภ์
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, รายการสาระความรู้ทางการเกษตร สถานีวิทยุ มอ. เอฟเอ็ม แปดสิบแปด เมกะเฮิร์ตซ์, หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1
ภาพประกอบ : www.hellomukdahan.com, www.baanmaha.com, www.wattano.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)