OGTT คืออะไร
การทดสอบความทนต่อน้ำตาล, การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล หรือการตรวจหาความทนทานต่อน้ำตาลที่กินเข้าไป (ภาษาอังกฤษ : Oral Glucose Tolerance Test หรือ OGTT*) คือ การตรวจสอบร่างกายต่อการทนน้ำตาลว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ มักใช้ทดสอบในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (ตามข้อบ่งชี้ด้านล่าง) เนื่องจากระดับที่สูงหรือต่ำกว่าค่าปกติจะแสดงให้เห็นว่า ร่างกายอาจมีการผลิตหรือใช้อินซูลินที่บกพร่อง และอาจกำลังเป็นโรคเบาหวานหรือกำลังเกิดสภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
หมายเหตุ : การตรวจ OGTT มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า Oral Glucose Tolerance (OGT), Glucose Tolerance Test (GTT), Glucose Tolerance (GT)
วัตถุประสงค์ของการทดสอบ OGTT
เนื่องจากฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่ผลิตมาจากตับอ่อนซึ่งเป็นตัวรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่เกิดอันตราย แพทย์จึงอยากทราบว่า เมื่อร่างกายต้องถูก “จู่โจม” จากการกินน้ำตาลในปริมาณมากอย่างทันทีทันใดเข้าไปแล้ว ร่างกายโดยตับอ่อนจะยังสามารถทนทานและพอจะรับมือกับน้ำตาลจำนวนมากได้เพียงใด ซึ่งในคนปกตินั้นจะสามารถลดระดับน้ำตาลลงมาได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่มีการหลั่งอินซูลินบกพร่องหรือเป็นโรคเบาหวานจะต้องใช้เวลาในการลดระดับน้ำตาลนานกว่า 2 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นการทดสอบที่เรียกว่า “การทดสอบความทนต่อน้ำตาล” (OGTT)
ข้อบ่งชี้ของการทดสอบ OGTT
- เพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยโรคเบาหวานในกรณีที่ผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (FPG หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า FBS) ให้ผลไม่ชัดเจน คือมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ 100-125 mg/dL ซึ่งถือว่าภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน (ทำท่าจะเป็นเบาหวานแต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นเบาหวาน)
- เพื่อตรวจในกรณีที่ผลการตรวจ FPG ให้ผลเป็นปกติ แต่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรค เช่น
- มีอาการของโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มอาจจะเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าผู้อื่น เช่น ผู้ที่อ้วนมาก ๆ, ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน, ผู้ที่มีคู่แฝดเป็นโรคเบาหวาน, ผู้ที่มีน้ำตาลในปัสสาวะหลังอาหาร เช่น
- เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ (GDM) ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่
- เป็นหญิงตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 25 ปีที่อ้วน
- เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัม
- การตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- มีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน
- ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ
- บุตรเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ
ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการทดสอบ OGTT
- การทดสอบ OGTT นี้สามารถทำการทดสอบได้ทั้งกับบุคคลทั่วไปและหญิงตั้งครรภ์
- ถ้าผู้รับการทดสอบที่เป็นหญิงหลังคลอด ไม่ควรนำบุตรมาโรงพยาบาบาล (แต่ถ้าจำเป็นก็ควรมีผู้ดูแลติดตามมาเพื่อช่วยดูแลบุตรให้)
- ให้รับประทานอาหารตามปกติ แต่จะต้องมีอาหารจำพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อย 150 กรัม (ข้าวและแป้ง 8 ทัพพีต่อวัน และผลไม้ตามปกติ) เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันก่อนการตรวจ (ตัวอย่างอาหาร ได้แก่ ข้าว ขนมปัง ธัญพืช ผลไม้ ถั่ว ข้าวโพด มันฝรั่ง) เพราะการได้รับคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่ต่ำกว่านี้อาจทำให้ผลการทดสอบผิดปกติได้
- ให้งดยาทุกชนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันก่อนเข้ารับการตรวจ
- ผู้รับการตรวจจะต้องงดการออกกำลังกายอย่างหนัก ไม่สุบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และต้องงดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีแคลอรีทุกชนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงก่อนการทดสอบ (สามารถดื่มน้ำเปล่าได้) เพราะการงดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเวลาสั้นกว่า 8 ชั่วโมงอาจทำให้ระดับ FPG สูงผิดปกติได้ ส่วนการงดเป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมง ก็อาจทำให้ผลการทดสอบผิดปกติได้เช่นกัน
- ผู้รับการตรวจจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงชนิดยาที่ใช้อยู่ (ถ้ามี)
- โปรดทราบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการทดสอบ OGTT คือ การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยากันชัก ยาคุมกำเนิด ยาแก้อักเสบ ยาลดความดันโลหิต), การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์, คาเฟอีน, การควบคุมน้ำหนัก รวมถึงการมีโรคประจำตัว โรคติดเชื้อ การดูดซึมอาหารผิดปกติ (Malabsorption) ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และการผ่าตัด
ขั้นตอนการทดสอบ OGTT
- ในขั้นตอนแรก (เช้าวันทดสอบ) เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลจะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) ก่อนที่จะทำการทดสอบ OGTT (ผู้รับการตรวจจึงต้องงดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมงดังกล่าว) หากผลการตรวจ FPG มีค่า 100-125 mg/dL (อาจบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน) และหากมีค่าน้อยกว่า 70 mg/dL (อาจประเมินได้ว่าอาจเกิดสภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ)
- ในขั้นตอนต่อมาจะเป็นการทดสอบ OGTT โดยจะใช้วิธีให้ผู้รับการทดสอบดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคสมาตรฐาน (Standard oral glucose) ขนาด 75 กรัม (ที่ผสมในน้ำ 250-300 มิลลิลิตร) โดยต้องดื่มให้หมดในเวลา 5 นาที แล้วรอรับการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลอีกครั้งเมื่อครบ 2 ชั่วโมง (ในระหว่างนี้อาจมีการเจาะเลือดเพิ่มเติม ในกรณีที่แพทย์ต้องการ)
- สำหรับการวินิจฉัยโรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ การตรวจจะใช้วิธีการตรวจแบบ 2 ขั้น (Two step screening) ซึ่งต่างจากคนปกติ
- โดยในขั้นตอนแรกจะเป็นการ “ตรวจคัดกรอง” โดยการให้ผู้รับการตรวจดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคสขนาด 50 กรัม (ขณะอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์) โดยไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหารที่ผ่านมา แล้วเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลดูเมื่อครบ 1 ชั่วโมงเพียงครั้งเดียว ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าไม่สูงเกิน 135-140 mg/dL ก็จบแค่นี้และไม่ต้องตรวจต่อ แต่ถ้าระดับน้ำตาลสูงเกินก็ต้องตรวจต่อในขั้นตอนต่อไป ซึ่งหมอจะนัดให้มาตรวจอีกรอบครับ
- ต่อมาจะเป็นขั้นตอนการ “ตรวจวินิจฉัย” โดยจะทำการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลหลังจากที่ผู้เข้ารับการตรวจอดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (FPG) ก่อน แล้วจึงจะให้ดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคสขนาด 100 กรัม ให้หมดภายในเวลา 5 นาที และจะเจาะเลือดตรวจเมื่อครบ 1, 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ (รวม 4 ครั้ง)
- การทดสอบ OGTT จะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ในระหว่างการทดสอบ (ขณะรอเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลหลังการดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคส) ควรนั่งหรือนอนพักผ่อนให้สบาย ไม่สูบบุหรี่ ไม่รับประทานอาหาร และไม่เดินไปเดินมาหรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่จะทำให้เกิดความเครียดและใช้พลังงานในระหว่างการตรวจ (ให้ดื่มได้เฉพาะน้ำเปล่า)
- เมื่อทดสอบเสร็จแล้ว ผู้รับการทดสอบสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติและมารอฟังผลการตรวจจากแพทย์
ค่าปกติของ OGTT
ให้ยึดถือตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ในคนทั่วไป (ไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์) จะวัดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะ ณ เวลา 2 ชั่วโมงหลังการดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคส ดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 140 mg/dL จะวินิจฉัยว่ามีความทนต่อน้ำตาลปกติ (Normal glucose tolerance)
- ระดับน้ำตาลในเลือด 140-199 mg/dL จะวินิจฉัยว่ามีความทนต่อน้ำตาลผิดปกติ (Impair glucose tolerance) และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าตั้งแต่ 200 mg/dL ขึ้นไป จะวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน (provisional DM)
- ในหญิงตั้งครรภ์ ค่าที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ไม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์)* คือ
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (FPG) จะน้อยกว่า 95 mg/dL
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม ณ เวลา 1 ชั่วโมงจะน้อยกว่า 180 mg/dL
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม ณ เวลา 2 ชั่วโมงจะน้อยกว่า 155 mg/dL
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม ณ เวลา 3 ชั่วโมงจะน้อยกว่า 140 mg/dL
การแปลผล OGTT
- ค่า OGTT ที่ต่ำกว่าปกติ ไม่ว่าจะค่าตัวใดตัวหนึ่งหรือในชั่วโมงใดชั่วโมงหนึ่งจะต่ำกว่าค่าปกติลงไปมากเกินสมควร ก็อาจเรียกได้ว่าร่างกายของผู้รับการตรวจมีความทนทานต่อน้ำตาลดีมากเกินไป (Glucose too tolerance) ซึ่งอาจแสดงผลว่า
- อาจเกิดจากยารักษาโรคเบาหวาน (โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดอินซูลินมากเกินขนาด) และยากลุ่มปิดกั้นเบต้า
- อาจเกิดจากต่อมใต้สมองทำงานน้อยเกินไป (Hypopituitarism)
- อาจเกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism)
- อาจกำลังเกิดโรคตับ
- อาจมีโรคเนื้องอกเกิดขึ้นที่เซลล์เบต้าของตับอ่อน (Insulinoma) จึงทำให้หลั่งอินซูลินออกมามากเกินความจำเป็น
- อาจอยู่ในช่วงอดอาหาร
- ค่า OGTT ที่สูงกว่าปกติ หมายถึง ค่าน้ำตาลมีระดับเกินตัวเลขปกติทั่วไปทุกตัวหรือแม้แต่ตัวเดียว (ในบางชั่วโมง) ก็อาจเรียกได้ว่าร่างกายของผู้รับการตรวจไม่มีความทนทานต่อน้ำตาล (Glucose intolerance) ซึ่งอาจแสดงผลว่า
- อาจใช้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยยืนยันได้แน่นอนว่าเป็นโรคเบาหวาน
- อาจเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism)
- อาจเกิดจากสภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis) เป็นผลทำให้ผลิตอินซูลินไม่ได้ หรือผลิตได้แต่มีปริมาณน้อยกว่าปกติหรือมีคุณภาพที่ผิดปกติ จึงทำให้ควบคุมน้ำตาลหรือรับมือกับน้ำตาลจำนวนมากไม่ได้
- อาจเกิดจากสภาวะไตวาย จึงทำให้ไตหมดประสิทธิภาพในการขับทิ้งกลูคากอน (Glucagon) ออกทางน้ำปัสสาวะ (กลูคากอนเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ซึ่งตามปกติแล้วฮอร์โมนตัวนี้จะถูกปล่อยออกมาเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ เป็นผลทำให้ตับเปลี่ยนไกลโคเจนที่สะสมไว้เป็นกลูโคสและปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในกระแสเลือด)
- อาจเกิดจากโรคของต่อมหมวกไต (Cushing’s syndrome) ที่ส่งผลให้ต่อมหมวกไตทำงานมากกว่าปกติ
- อาจเกิดจากภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
- อาจกำลังตกอยู่ภายใต้สภาวะความเครียดอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน เช่น ร่างกายถูกไฟไหม้ ได้รับการผ่าตัดใหญ่ จึงเป็นเหตุทำให้ฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งมีบทบาทตรงข้ามกับอินซูลินช่วยพาน้ำตาลออกมามากเกินเหตุ
- อาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids), ไนอะซิน (Niacin), เฟนิโทอิน (Phenytoin)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)