ถุงลมโป่งพอง
โรคถุงลมโป่งพอง, ถุงลมปอดโป่งพอง หรือ ถุงลมพอง (ภาษาอังกฤษ: Emphysema) เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)* หมายถึง ภาวะพิการอย่างถาวรของถุงลมในปอด ซึ่งเป็นผลมาจากผนังถุงลมเสียความยืดหยุ่นและเปราะง่าย ทำให้ถุงลมสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ และผนังของถุงลมที่เปราะยังมีการแตกทะลุ ทำให้ถุงลมขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ อันรวมตัวเป็นถุงลมที่โป่งพองและพิการ ส่งผลให้จำนวนพื้นผิวของถุงลมที่ยังทำหน้าที่ได้ทั้งหมดลดน้อยลงกว่าปกติ ออกซิเจนจึงเข้าสู่กระแสเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจตื้นและเกิดอาการเหนื่อยหอบง่ายตามมา สำหรับการรักษาสามารถทำได้โดยการหยุดสาเหตุและรักษาแบบประคับคองตามอาการซึ่งจะไม่ได้ทำให้พยาธิสภาพของโรคหายไป เพียงแต่จะช่วยหยุดการดำเนินของโรค/การลุกลามของโรคและทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น
โดยปกติถุงลมอยู่ปลายสุดของปอด ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนล้าน ๆ ถุง เป็นถุงอากาศเล็ก ๆ มีหลอดเลือดหุ้มอยู่โดยรอบ เป็นที่ซึ่งเกิดการแลกเปลี่ยนอากาศ (ก๊าซออกซิเจนในถุงลมซึมผ่านผนังถุงลมและหลอดเลือดเข้าไปในกระแสเลือด และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดซึมกลับออกมาในถุงลม) และปกติถุงลมจะมีผนังที่ยืดหยุ่น ทำให้ถุงลมหดและขยายตัวได้คล้ายฟองน้ำ ซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนอากาศเป็นไปได้อย่างเต็มที่
ส่วนใหญ่มักพบโรคนี้ในผู้สูงอายุ (ช่วงอายุ 45-65 ปี) พบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง และมักพบร่วมกับโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีประวัติการสูบบุหรี่จัด (มากกว่าวันละ 20 มวน) มานานเป็น 10-20 ปีขึ้นไป หรือไม่ก็มีประวัติอยู่การได้รับมลพิษทางอากาศในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นอากาศเสีย ฝุ่น ควัน หรือมีอาชีพทำงานในโรงงานหรือเหมืองแร่ที่หายใจเอาสารระคายเคืองเข้าไปเป็นประจำ
โรคถุงลมโป่งปองเป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบเป็นลำดับที่ 4 ของการเสียชีวิตของประชากร และหากนับเฉพาะโรคถุงลมโป่งพอง อัตราการพบโรคจะอยู่ที่ 18 คนต่อประชากร 1,000 คน ส่วนสถานการณ์โรคถุงลมโป่งพองในประเทศไทย ในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกับทั่วโลก และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ ของประชากรไทย โรคนี้จึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทยโรคหนึ่ง
หมายเหตุ : โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease : COPD) คือ ภาวะที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายโรค ที่สำคัญได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) และถุงลมโป่งพอง (Emphysema) โดยปกติแล้วมักจะพบทั้ง 2 โรคนี้ร่วมกัน แต่หากตรวจพบว่าปอดมีพยาธิสภาพของถุงลมที่โป่งพองออกเป็นลักษณะเด่นก็จะเรียกว่า “โรคถุงลมโป่งพอง”
สาเหตุของถุงลมโป่งพอง
- การสูบบุหรี่ (รวมถึงยาเส้นหรือบุหรี่ที่ทำจากใบจากด้วย) เป็นสาเหตุสำคัญที่พบได้บ่อยที่สุด ปริมาณและระยะเวลาที่สูบบุหรี่จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค คือ ยิ่งสูบบุหรี่มากและสูบมานานหลายปีก็จะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มาก โดยเกิดจากสารพิษในบุหรี่ที่สูบเข้าไปทำลายเยื่อบุหลอดลมและถุงลมในปอด ซึ่งจะค่อย ๆ เกิดขึ้น และลุกลามแรงขึ้นอย่างช้า ๆ จนในที่สุดถุงลมปอดก็จะเกิดความพิการอย่างถาวร
- ไม่จำเป็นว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทุกคนจะต้องเป็นโรคนี้ โดยเฉลี่ยผู้สูบบุหรี่ 5 คนจะเป็นโรคนี้ 1 คน ซึ่งการที่ไม่ได้เป็นโรคในผู้ที่สูบบุหรี่ทุกคน คาดว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล และกลับกันผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
- ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหืด จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้มากกว่าคนปกติ และการสูบบุหรี่จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
- ประมาณ 15-20% ของผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองมากกว่าคนที่ไม่ได้สูบมากถึง 6 เท่า
- ในจำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ 10 ล้านคน จะมีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองกว่า 1 ล้านคน และมีจำนวน 3 แสนคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตประมาณปีละ 15,000 คน
- ปัจจุบันพบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคจากบุหรี่ทั่วโลกประมาณปีละ 5 ล้านคน โดยทุก ๆ 10 รายที่เสียชีวิตจะมี 1 รายที่เสียชีวิตจากบุหรี่ และคาดว่าภายในปี ค.ศ.2030 ตัวเลขน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 รายในทุก 6 ราย หรือประมาณ 10 ล้านคนต่อปี ถ้าแนวโน้มยังเป็นอยู่ดังที่ปรากฎ คนจำนวน 500 ล้านคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้จะสูญเสียด้วยสาเหตุจากบุหรี่ในอนาคต และครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวในวัยกลางคน คนเหล่านั้นจะมีอายุสั้นกว่าที่ควรประมาณ 20-25 ปี
- มลพิษทางอากาศ เพราะพบว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ จะมีอัตราการป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังซึ่งรวมถึงโรคถุงลมโป่งพองได้มากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบท มลพิษทางอากาศจึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย เช่น ฝุ่น ควันจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงหรือไอเสียรถยนต์ ควันพิษหรือละอองสารเคมีบางอย่างจากโรงงาน (ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองหรือควันพิษที่มีส่วนประกอบของสารเคมีหรือฝุ่นละอองจากไม้ ฝ้าย หรือการทำเหมือนแร่ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานบางประเภท เช่น การทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอจากฝ้าย งานอุตสาหกรรมพลาสติก งานในเหมืองถ่านหิน และงานเชื่อมโลหะ) หากหายใจเข้าไปในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงลมโป่งพองมากขึ้น และความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นไปอีกหากมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย นอกจากนี้ในบางพื้นที่ (เช่น พื้นที่เขตเขาทางภาคเหนือ) อาจมีสาเหตุมาจากการใช้ฟืนหุงต้มหรือก่อไฟภายในบ้านที่ขาดการถ่ายเทอากาศอยู่เป็นประจำ ทำให้ผู้ป่วยสูดควันจนเป็นพิษต่อทางเดินหายใจ
- ภาวะพร่องสารต้านทริปซิน (α1-antitrypsin) ซึ่งเป็นเอนไซม์ป้องกันการถูกทำลายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจากสารต่าง ๆ จึงช่วยป้องกันไม่ให้ถุงลมปอดถูกสารพิษ ภาวะนี้จัดเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ ความผิดปกติบางชนิดก็ทำให้เกิดการขาดเอนไซม์เพียงเล็กน้อยและไม่ทำให้เกิดโรค แต่ความผิดปกติบางชนิดก็ทำให้เกิดการขาดเอนไซม์ได้มากและส่งผลให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองได้ในขณะที่ยังอายุไม่มาก แต่หากขาดเอนไซม์รุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีตับอักเสบอย่างรุนแรงตั้งแต่แรกคลอดและอาจเสียชีวิตก่อนที่จะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคทางพันธุกรรมชนิดนี้ส่วนใหญ่จะพบในคนเชื้อชาติผิวขาว มักเกิดอาการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 40-50 ปี และผู้ป่วยมักจะไม่สูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ก็พบเกิดได้น้อยมากคือประมาณ 3% ของโรคปอดเรื้อรังทั้งหมด
อาการของถุงลมโป่งพอง
ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (แต่อาการจะไม่เด่นเท่าผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งมักจะเริ่มมีอาการในช่วงอายุ 30-40 ปี โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่จัดมานานหลายปี) กล่าวคือ ผู้ป่วยจะมีอาการไอมีเสมหะเรื้อรังทุกวันนานเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยมักจะไอหรือขากเสมหะในคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้าเป็นประจำจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติและไม่ใส่ใจดูแลรักษา ต่อมาผู้ป่วยจะไอถี่ขึ้นตลอดทั้งวันและมีเสมหะจำนวนมาก ซึ่งในช่วงแรกเสมหะจะมีลักษณะเป็นสีขาว แต่ต่อมาเสมหะอาจเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว มีไข้ขึ้น หรือมีอาการหอบเหนื่อยกำเริบเป็นครั้งคราวจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อน
ถ้าผู้ป่วยยังขืนสูบบุหรี่ต่อไปหรือไม่หยุดสาเหตุให้ได้ก็จะทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองตามมา (จากระยะเริ่มมีอาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาจใช้เวลามากกว่า 10 ปี) ซึ่งนอกจากจะมีอาการไอเรื้อรังแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจตื้นและหอบเหนื่อยง่ายตามมาด้วย โดยเฉพาะเวลาที่ออกแรงมาก (เช่น ยกของหนัก วิ่ง หรือเดินขึ้นบันได) หรือเมื่อมีโรคติดเชื้อแทรกซ้อนดังกล่าว แล้วต่อมาอาการหอบเหนื่อยจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นจนแม้แต่เวลาเดินตามปกติ เวลาพูด หรือในขณะที่ทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน รับประทานอาหาร ผู้ป่วยก็ยังรู้สึกเหนื่อย จนในท้ายที่สุด (ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป) แม้แต่อยู่เฉย ๆ ผู้ป่วยก็รู้สึกหอบเหนื่อยได้และไม่สามารถทำอะไรได้เลยเหมือนคนพิการ ต้องนอนเฉย ๆ และต้องใช้ออกซิเจนช่วยในการหายใจตลอดเวลา (ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้ต้องทนทุกข์ทรมานมาก ความเป็นอยู่และสุขภาพเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ ซึ่งรวมทั้งทางด้านจิตใจด้วย นอกจากนั้นยังเป็นภาระกับบุคคลในครอบครัว และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก) เนื่องจากถุงลมปอดที่พิการอย่างรุนแรงหรือถูกทำลายไปมากจนไม่สามารถทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอากาศได้เพียงพอต่อการนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เกิดพลังงาน
ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วย เช่น เกิดภาวะซึมเศร้า หายใจมีเสียงดังวี๊ด ๆ หรือรู้สึกเจ็บหน้าอกร่วมด้วย เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายจะฟังเสียงปอดได้ผิดปกติ อัตราการหายใจเร็ว ส่วนผู้ป่วยในระยะที่เป็นมากขึ้นจะพบหน้าอกมีขนาดที่ใหญ่กว่าปกติ เนื่องจากปริมาตรของปอดที่ขยายใหญ่ขึ้นจากอากาศที่ค้างอยู่ในถุงลมมาก (ขยายออกทางด้านหน้าและหลังมากกว่าทางด้านข้าง) มีลักษณะเป็นรูปถังทรงกระบอกที่เรียกว่า “อกถัง” หรือ “อกโอ่ง” (Barrel chest) อาจพบลักษณะการหายใจออกแบบห่อปาก (Pursed lip) ซึ่งเป็นท่าทางที่ช่วยในการหายใจเอาอากาศออก หรือท่ายืนเอนตัวไปด้านหลังและยืดแขนออก เมื่อตรวจเล็บอาจพบลักษณะเล็บปุ้มหรือนิ้วข้อปลายมีลักษณะกลม (Clubbing finger) นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่เป็นมานานแล้วจะพบอาการอื่น ๆ ได้อีก เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงอย่าง มีรูปร่างผอม ซึ่งในระยะท้าย ๆ ผู้ป่วยจะผอมมาก (เกิดจากการที่ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ ทำให้ไปกระตุ้นการหลั่งสารเคมีชื่อ Tumor necrosis factor-alpha ซึ่งสารนี้จะทำให้ร่างกายใช้พลังงานสูงกว่าปกติ หากผู้ป่วยยังกินเท่าเดิมก็จะผอมลงเรื่อย ๆ และปริมาณของออกซิเจนที่ต่ำยังไปกระตุ้นให้ไตหลั่งฮอร์โมนอีกหลายชนิด จึงทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ทำให้เกลือแร่ชนิดโซเดียมคั่งและร่างกายเกิดการบวมน้ำ และออกซิเจนที่ต่ำยังไปกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูกให้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อช่วยขนส่งออกซิเจน จึงทำให้มีปริมาณของเม็ดเลือดแดงในเลือดสูงกว่าปกติ) อาจเกิดภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่แขนขาเล็กลงและกล้ามเนื้ออ่อนแรงลงด้วย
ส่วนผู้ป่วยในระยะที่เป็นรุนแรงหรือมีอาการรุนแรงมากแล้ว มักพบอาการหายใจลำบาก ปากเขียว เล็บเขียว (เนื่องจากเนื้อเยื่อไม่ได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอ) เกิดภาวะความดันโลหิตสูงของหลอดเลือดที่ไหลเข้าสู่ปอดซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
อาการของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองอาจกำเริบขึ้นเป็นครั้งคราวได้ (โดยเฉลี่ยมักจะเกิดขึ้นปีละ 1-2 ครั้ง) ทำให้มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้นกว่าปกติที่เป็นอยู่อย่างฉับพลันหรือไอมากขึ้น มีเสมหะปริมาณมาก เสมหะเป็นสีเหลือง/เขียวหรือมีลักษณะเป็นหนอง มีไข้ขึ้น จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในปอดแทรกซ้อน
ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองจะมีอาการแตกต่างกันได้มาก ตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อยไปจนถึงมีอาการมากถึงขนาดไม่สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ และผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองอาจจะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้มานานแล้วก็ได้ เพราะอาการของโรคจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ทันได้สังเกตเห็นถึงอาการใด ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของถุงลมโป่งพอง
มักเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนเป็นครั้งคราว เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบกำเริบรุนแรง ในระยะแรกอาจเป็นประมาณปีละ 1-2 ครั้ง แต่เมื่อเป็นรุนแรงมากขึ้นก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ถี่ขึ้นจนผู้ป่วยอาจต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่บ่อย ๆ
ในระยะรุนแรง ผู้ป่วยมักมีภาวะการหายใจล้มเหลวเรื้อรังร่วมด้วย และอาจมีภาวะหัวใจวายแทรกซ้อน มีอาการหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ หลอดเลือดที่คอโป่ง เท้าบวม ตับโต หัวใจห้องขวาล่างโต ที่เรียกว่า “โรคหัวใจเหตุจากปอด” (Cor pulmonale)
ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ไอออกมาเป็นเลือดจากการอักเสบของหลอดลม, ไส้เลื่อนกำเริบจากอาการไอเรื้อรัง, เกิดภาวะที่โพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศหรือปอดแตก (Pneumothorax) ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ในรายที่มีอาการรุนแรง เพราะการทำงานของปอดได้ถูกทำลายไปบ้างแล้ว, เกิดถุงลมที่พองตัวผิดปกติ (Giant bullae) ซึ่งสามารถพองตัวใหญ่ได้ประมาณครึ่งหนึ่งของปอดและเพิ่มโอกาสทำให้ปอดแตกได้, ภาวะเลือดข้น (Polycythemia) ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือด (Thrombosis)
โดยธรรมชาติของโรคถุงลมโป่งพองอาการของผู้ป่วยจะค่อย ๆ แย่ลงเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ และจะเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลวในที่สุด การหยุดที่สาเหตุ (หยุดสูบบุหรี่) จะทำให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้นานขึ้นและมากขึ้น มีอาการเหนื่อยน้อยลง การดำเนินของโรค/การลุกลามของโรคช้าลง แต่ไม่สามารถทำให้ปอดที่เกิดพยาธิสภาพแล้วหายเป็นปกติได้
การวินิจฉัยถุงลมโป่งพอง
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพองในเบื้องต้นได้จากประวัติและอาการแสดงของผู้ป่วย (โดยเฉพาะอาการไอเรื้อรัง หอบเหนื่อยง่าย มีประวัติการสูบบุหรี่จัดมานาน) และจะยืนยันการวินิจฉัยด้วยการพิเศษต่าง ๆ เพิ่มเติม (เครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจอาจแตกต่างกันได้บ้าง แต่ผลการตรวจจะช่วยให้แพทย์วางแนวทางในการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น) ได้แก่
- การเอกซเรย์ปอด สามารถช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้ในผู้ป่วยที่เป็นมานานแล้ว โดยการตรวจนี้จะทำให้เห็นอากาศในปอดที่มากกว่าปกติ กระบังลมอยู่ต่ำกว่าปกติ และหัวใจดูมีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับพื้นที่ปอด (ในผู้ป่วยที่มีอาการมาไม่นาน ภาพถ่ายเอกซเรย์อาจไม่พบความผิดปกติใด ๆ)
- การตรวจสมรรถภาพปอด คือ วิธีมาตรฐานของการวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง เป็นการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยในผู้ป่วยที่มีภาพถ่ายเอกซเรย์ผิดปกติหรือในผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัย โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยหายใจเข้าให้เต็มที่แล้วเป่าลมหายใจออกอย่างรวดเร็วผ่านเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometry) แล้ววัดดูค่า FEV1 (Forced expiratory volume in 1 second) ซึ่งหมายถึง ปริมาตรอากาศที่หายใจออกใน 1 วินาที และค่า FVC (Forced vital capacity) ซึ่งหมายถึง ปริมาตรอากาศที่หายใจออกทั้งหมดจนสุดอย่างเต็ม 1 ครั้ง โดยแพทย์จะประเมินจากค่า FEV1 และจากค่า FEV1 หารด้วยค่า FVC ซึ่งทั้ง 2 ค่านี้ถ้ายิ่งมีค่าต่ำก็ยิ่งบ่งชี้ว่ายิ่งมีความรุนแรง เช่น ในรายที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทั้งโรคถุงลมโป่งพองและโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง มักจะมีค่า FEV1 หารด้วยค่า FVC น้อยกว่า 70% และมีค่า FEV1 มากกว่าหรือเท่ากับ 80% ของค่ามาตรฐาน (ในรายที่เป็นเล็กน้อย), ระหว่าง 30-80% (ในรายที่เป็นปานกลาง) และน้อยกว่า 30% (ในรายที่เป็นรุนแรง)
- การตรวจเลือดเพื่อดูระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการตรวจที่มีประโยชน์ในการประเมินความรุนแรงของโรค ซึ่งระดับออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยจะต่ำกว่าปกติตั้งแต่ระยะแรก ๆ และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดจะสูงกว่าปกติในระยะต่อมา
- การตรวจด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse oximetry) เป็นการตรวจเพื่อวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ซึ่งในผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองมักจะมีออกซิเจนในเลือดต่ำ คือ วัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดได้น้อยกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ (โดยปกติความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดจะอยู่ที่ 96-99% หากต่ำกว่านี้ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ)
- การตรวจเสมหะหาเชื้อ ในรายที่แพทย์สงสัยว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน (มีไข้ขึ้น มีเสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียว)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจและตรวจหาโรคหัวใจ เพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
- การตรวจเลือดเพื่อประเมินภาวะเลือดข้น (Polycythemia) ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยบางราย
- การตรวจหาระดับสารทริปซินในเลือด หากผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองมีอายุน้อยกว่า 40-50 ปี สาเหตุอาจมาจากภาวะพร่องสารต้านทริปซินซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องตรวจหาปริมาณ α1-antitrypsin ในเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วย ส่วนบุคคลในครอบครัวก็ควรมาตรวจด้วยเช่นกัน
การแยกโรค
อาการไอเรื้อรัง หอบเหนื่อยง่าย อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรงถุงลมโป่งพองได้ เช่น
- หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกับโรคถุงลมโป่งพอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอมีเสมหะอย่างเรื้อรังทุกวันเป็นแรมเดือนแรมปี แต่ยังไม่มีอาการหอบเหนื่อยง่าย
- โรคหืด ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการหอบหืด (หายใจมีเสียงดังวี๊ด) กำเริบได้เป็นครั้งคราว แต่ในขณะที่ไม่จับหืดก็จะรู้สึกสบายดี ผู้ป่วยมักมีประวัติโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้ในครอบครัว และมักจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว ส่วนในโรคถุงลมโป่งพองนั้นมักจะเริ่มมีอาการในคนอายุ 50-60 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่จัดหรือถูกมลพิษทางอากาศมาเป็นเวลานาน และผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยรุนแรงขึ้นทีละน้อยอย่างช้า ๆ (ใช้เวลานาน 5-10 ปีขึ้นไป) แต่บางครั้งทั้ง 2 โรคนี้ก็อาจแยกจากกันได้ไม่ชัดเจนนักถ้าพบในคนสูงอายุ แต่ก็มีแนวทางในการดูแลรักษาคล้ายกันและผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์เป็นหลัก
- ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีหัวใจบกพร่องในการทำหน้าที่สูบฉีดเลือด เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้มีอาการหอบเหนื่อยง่าย เท้าบวมทั้ง 2 ข้าง และเวลานอนราบหรือหนุนหมอนต่ำ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการไอเรื้อรังหรือหอบเหนื่อยง่ายก็ควรรีบไปพบแพทย์เสมอ
การรักษาถุงลมโป่งพอง
เนื่องจากโรคถุงลมโป่งพองเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะหากปอดมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นแล้วก็จะไม่สามารถทำให้ปอดกลับมาเป็นปกติได้อีก ดังนั้น การรักษาจะเน้นไปที่การลดอาการหรือชะลอการดำเนินของโรค/การลุกลามของโรคให้ช้าลง การตรวจพบโรคได้อย่างทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะในรายที่เป็นรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
หากสงสัยว่าเป็นโรคถุงลมโป่งพอง เช่น มีอาการไอมีเสมหะเรื้อรัง หอบเหนื่อยง่ายเวลาออกแรงหรือใช้กำลัง ซึ่งค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ มีประวัติการสูบบุหรี่จัดหรือสัมผัสมลพิษทางอากาศมาเป็นเวลานาน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคและแนวทางการรักษาทั่วไป ให้คำปรึกษาแนะนำและส่งเสริมให้ญาติเข้ามามีบทบาทในการให้กำลังใจผู้ป่วยในการเลิกสูบบุหรี่และติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลในเรื่องของโภชนาการต่าง ๆ การให้ยารักษา การให้ออกซิเจนที่บ้านสำหรับผู้ป่วยระยะรุนแรงเพื่อใช้ช่วยหายใจ บรรเทาอาการหอบเหนื่อย และการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพที่ดี ลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย และไม่ให้สิ้นเปลืองเกินเหตุ
ส่วนในรายที่มีอาการหายใจหอบรุนแรง หรือสงสัยว่าเป็นปอดอักเสบ ปอดทะลุ หรือภาวะหัวใจวาย แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ ซึ่งอาจต้องให้ออกซิเจน ใส่ท่อหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ
สำหรับแนวทางในการรักษาโรคถุงลมโป่งพองนั้นมีดังนี้
- การหยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งบางสาเหตุก็สามารถหยุดได้ เช่น การเลิกสูบบุหรี่ แต่บางสาเหตุก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น สาเหตุจากพันธุกรรม ส่วนบางสาเหตุก็อาจควบคุมไม่ได้แต่สามารถลดได้ เช่น มลภาวะทางอากาศ
- การรักษาด้วยยา เป็นการให้ยาบรรเทาไปตามอาการหรือตามความรุนแรงของโรค ได้แก่
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) เป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ จึงช่วยลดความเหนื่อยและช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (ทำให้อากาศลงสู่ปอดได้มากขึ้น และง่ายขึ้นเวลาที่ผู้ป่วยหายใจเข้า) โดยยาขยายหลอดลมจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ
- ยากลุ่มกระตุ้นตัวรับชนิดเบต้า-2 (Beta2-adrenergic agonist หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Beta-2 agonist) เป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ Beta-2 receptor ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมคลายตัว ซึ่งยาในกลุ่มนี้ยังแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่ออกฤทธิ์สั้น (Short-acting) ซึ่งออกฤทธิ์เร็วและอยู่ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง มักใช้เป็นยาแก้อาการเมื่อมีอาการเหนื่อย และชนิดที่ออกฤทธิ์นาน (Long-acting) ซึ่งออกฤทธิ์ช้าและอยู่ได้ประมาณ 12 ชั่วโมง ทำให้ไม่ต้องบริหารยาบ่อย เป็นยาที่ใช้ประจำพ่นตามเวลา ซึ่งอาจใช้พ่นวันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหนื่อยและใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการหอบตอนดึก (สำหรับยาเม็ดในกลุ่มนี้แพทย์จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้ เพราะมักทำให้เกิดผลข้างเคียง มือสั่น ใจสั่น ฯลฯ)
- ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic drugs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งตัวรับ Muscarinic receptor มีผลทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมคลายตัว ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะมีทั้งยาที่ออกฤทธิ์สั้น เช่น ไอพราโทรเพียมโบรไมด์ (Ipratropium bromide) ที่ออกฤทธิ์ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ใช้พ่นวันละ 4 ครั้ง (หากใช้ยาผสมระหว่าง ไอพราโทรเพียมโบรไมด์กับ Short-acting beta-2 agonists จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้ยาเดี่ยวเพียงชนิดเดียว) และยาที่ออกฤทธิ์นาน เช่น ไทโอโทรเปียม (Tiotropium) ที่ออกฤทธิ์นาน 24 ชั่วโมง จึงใช้พ่นเพียงวันละ 1 ครั้ง ซึ่งมักใช้เป็นยาป้องกัน เพราะออกฤทธิ์ช้า
- ยากลุ่มเมทิลแซนธีน (Methylxanthines) เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase (PDE) ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของ cAMP มีผลทำให้หลอดลมคลายตัว ยากลุ่มนี้ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน คือ ทีโอฟิลลีน (Theophylline)
- ยาสเตียรอยด์ ส่วนใหญ่จะในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือมีอาการหลอดลมอักเสบร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งรูปแบบของยากิน ยาฉีด และยาสูดพ่น (นิยมใช้ยาชนิดสูดพ่นร่วมกับยาขยายหลอดลม) ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี บรรเทาอาการต่าง ๆ ได้มาก นิยมใช้เมื่อมีอาการกำเริบเพื่อควบคุมอาการให้กลับสู่ปกติ
- ยาละลายเสมหะ มักใช้ในกรณีเมื่อผู้ป่วยมีเสมหะมากและเหนียว แต่สิ่งที่ทำให้เสมหะคลายความเหนียวได้ดีที่สุดคือ น้ำ โดยทั่วไปแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้มาก ๆ เพราะถ้าร่างกายขาดน้ำจะทำให้เสมหะเหนียวข้นได้ ส่วนการพ่นละอองไอน้ำเข้าไปในอากาศก็อาจช่วยให้เสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น
- ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องใช้ในทุกกรณี แต่จะใช้ในกรณีที่แพทย์พบว่าหรือมีหลักฐานชวนให้เชื่อว่าผู้ป่วยมีการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเกิดขึ้น (เช่น ผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน มีอาการไข้หรือมีเสมหะข้นสีเหลืองหรือสีเขียว) ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin), ดอกซีไซคลิน (Doxycycline), หรือโค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) ติดต่อกันนาน 7-10 วัน
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) เป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ จึงช่วยลดความเหนื่อยและช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (ทำให้อากาศลงสู่ปอดได้มากขึ้น และง่ายขึ้นเวลาที่ผู้ป่วยหายใจเข้า) โดยยาขยายหลอดลมจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ
- การฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบทุกปีเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพราะการได้รับวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในปอดที่รุนแรงได้
- การบำบัดด้วยออกซิเจนเสริมที่บ้าน (Oxygen therapy) เป็นสิ่งแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีระดับออกซิเจนต่ำ โดยในแต่ละวันจะให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง (นิยมใช้ตอนกลางคืนขณะนอนหลับ) เพื่อใช้ช่วยหายใจ บรรเทาอาการหอบเหนื่อย ช่วยให้สามารถออกกำลังกายได้นานยิ่งขึ้น ช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงในหลอดเลือดแดงของปอดและภาวะหัวใจวายได้
- การบำบัดอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องทำ ได้แก่
- การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด หรือการออกกำลังกายที่มีความหนักในระดับปานกลาง เช่น การเดิน รวมถึงการเล่นโยคะ ไทชิ ซึ่งต้องทำทั้งในระยะปกติ ระยะที่อาการป่วยกำเริบ และหลังจากฟื้นจากอาการป่วย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อการหายใจมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น ทำให้ออกแรงใช้งานได้มากขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย บรรเทาอาการให้น้อยลง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น และยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ด้วย
- การฝึกหายใจ ในรายที่มีอาการหอบเหนื่อยมาก ๆ การฝึกหายใจจะช่วยลดความรู้สึกหอบเหนื่อยได้ ซึ่งมีวิธีการดังนี้
- การฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้องและกระบังลมให้ถูกต้อง มีวิธีทำให้คือ ในท่ายืนหรือนั่งที่สบายให้วางมือบนหน้าท้อง หายใจเข้าพร้อม ๆ กับขยายกล้ามเนื้อหน้าท้องขึ้น (สังเกตว่ามือที่วางบนหน้าท้องจะถูกยกขึ้น) และหายใจออกโดยการแขม่วกล้ามเนื้อท้องลงอย่างช้า ๆ จนรู้สึกไม่มีลมออกทางจมูกอีก แล้วจึงเริ่มหายใจเข้าใหม่ต่อไป
- การฝึกการหายใจออกโดยการทำปากจู๋ เพื่อช่วยเพิ่มความกดดันภายในทางเดินหายใจและลดการตีบตัวของหลอดลม ทำให้อากาศเก่าที่คั้งค้างอยู่ลึก ๆ ไหลออกมาได้มากขึ้น และหายใจเข้าเอาอากาศใหม่ที่มีออกซิเจนสูงลงสู่ปอดได้มากขึ้น โดยมีวิธีการคือ ให้สูดหายใจเข้าทางจมูก แล้วหายใจออกทางปากโดยจีบปากให้จู๋เข้ามา (เพื่อทำให้ลมหายใจออกมาได้ช้าลง) แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกมาอย่างช้า ๆ
- การดูแลเรื่องโภชนาการ ผู้ป่วยที่มีอาการมากหรือเป็นมานานที่มักจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงเรื่อย ๆ กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ทำให้แรงหรือกำลังที่ใช้ในการหายใจลดลงและซ้ำเติมอาการหอบเหนื่อยให้เป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับพลังงานจากอาหารที่เพียงพอในแต่ละวันเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นและเพิ่มน้ำหนักให้กลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติ
- การดูแลด้านจิตใจ เพราะผู้ป่วยที่มีอาการมานานจะเกิดความวิตกกังวลและซึมเศร้าได้
- การบำบัดด้วยการให้สารต้านทริปซินทดแทน (Alpha-1-antitrypsin replacement therapy) โดยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องสารต้านทริปซิน (α1-antitrypsin)
- การผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรของปอด ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้การผ่าตัดเนื้อปอดบางที่มีการโป่งพองมากหรือถูกทำลายโดยโรคถุงลมโป่งพอง เพื่อทำให้เนื้อเนื่อเยื่อปอดส่วนที่ยังเหลือสามารถทำงานได้ ลดขนาดของปอดให้เล็กลง ทำให้ปอดส่วนที่สามารถเหลือหดตัวเวลาใจออกได้ดียิ่งขึ้นและทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมทำงานหดตัวช่วยในการบีบตัวของปอดได้ดีมากขึ้น แต่ผลการรักษาจะเป็นเพียงแค่ระยะสั้น ๆ
- การผ่าตัดเปลี่ยนปอด (การปลูกถ่ายปอด) เป็นวิธีการรักษาเดียวที่จะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาทำในผู้ป่วยที่มีอาการมากแล้ว แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ยังไม่สามารถให้บริการได้ทั่วไป (โดยเฉพาะในบ้านเรา) เนื่องจากมีเทคนิคการรักษาที่ซับซ้อนและติดปัญหาเรื่องปอดเทียมหรือการบริจาค
- การดูแลตนเองของผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง ถ้าผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และดูแลตนเองได้อย่างถูกวิธีก็จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตได้ยาวนาน รู้สึกสบายยิ่งขึ้น มีอาการเหนื่อยน้อยลง สามารถที่จะทำงานหรือช่วยตัวเองได้มากขึ้น อาการของโรคกำเริบน้อยลง และมีโอกาสเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยลง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และใช้ยารักษาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด
- เลิกสูบบุหรี่หรือยาเส้นโดยเด็ดขาดและหลีกเลี่ยงควันบุหรี่โดยการไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้อาการลุกลามมากขึ้น (แม้บางครั้งสาเหตุจะไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่ก็ตาม เช่น มีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรม เพราะจะทำให้โรคลุกลามเร็วขึ้น)
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปอด เช่น น้ำหอม ฝุ่นละออง ควันต่าง ๆ สารเคมี หรือสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศ รวมถึงควรรู้จักใช้หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปข้างนอก ใช้เครื่องฟอกอากาศ และล้างเครื่องปรับอากาศให้สะอาดอยู่เสมอ (หากผู้ป่วยอาศัยอยู่ในเมืองที่มีปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ ก็ให้พยายามอยู่ในแต่ในบ้านหรือในอาคาร เพราะจะมีฝุ่นละออง ควันพิษต่าง ๆ น้อยกว่าตามท้องถนน)
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ วันละ 10-15 แก้ว เพื่อช่วยขับเสมหะ
- ดูแลเรื่องโภชนาการให้ดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการมากหรือเป็นมานานที่มักจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ทำให้แรงหรือกำลังที่ใช้ในการหายใจลดลงและซ้ำเติมอาการหอบเหนื่อยให้เป็นมากขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรแก่สุขภาพ เพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น สามารถเดินได้ไกลขึ้นและช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น และบริหารร่างกายเพื่อให้กล้ามเนื้อช่วยการหายใจแข็งแรงยิ่งขึ้น และฝึกการหายใจให้ถูกวิธีเพื่อช่วยลดความรู้สึกหอบเหนื่อยให้น้อยลงดังที่กล่าวไปแล้ว
- พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ป่วยจำเป็นต้องต้องมีการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการนอนหลับไม่สนิทจากความกังวลและมีอาการซึมเศร้าจากการเจ็บป่วยของตนเองได้ หรือต้องตื่นขึ้นมากลางดึกอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากหายใจไม่สะดวก (สำหรับการใช้ยานอนหลับควรปรึกษาแพทย์และควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น)
- หลีกเลี่ยงและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยการไม่สัมผัสหรืvอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจต่าง ๆ (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่) และฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบทุกปี
- ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับยาบรรเทาตามอาการ ประเมินสมรรถภาพปอดและภาวะแทรกซ้อนเป็นระยะ ๆ รวมถึงหาทางช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะโรคนี้จะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิตและผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง
- พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อสงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น
ผลการรักษาของโรคถุงลมโป่งพองจะขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นระยะแรก (ความรุนแรงปานกลาง คือมีค่า FEV1 มากกว่า 50% ของค่ามาตรฐาน) และผู้ป่วยสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้โดยเด็ดขาด การรักษาก็มักจะได้ผลดี โรคจะไม่ลุกลามรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้ลุกลามจนถึงระยะรุนแรง (สมรรถภาพของปอดลดลงอย่างมากแล้ว คือมีค่า FEV1 น้อยกว่า 30% ของค่ามาตรฐาน) ก็มักจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ภายใน 1-5 ปี (เช่น ปอดอักเสบ ปอดแตก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะการหายใจล้มเหลว ภาวะสิ่งอุดตันหลอดเลือดแดงปอด) โดยเฉลี่ยผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรงจะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 50% ใน 10 ปีหลังจากที่ได้รับการวินิจครั้งแรก
การป้องกันถุงลมโป่งพอง
- การป้องกันที่สำคัญที่สุด คือ การไม่สูบบุหรี่ (รวมถึงยาเส้น) และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่หรือสถานที่ที่มีควันบุหรี่ เพราะบุหรี่นอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคถุงลมโป่งพองแล้วยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงอีกหลาย ๆ ชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งต่าง ๆ (เช่น มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งผิวหนัง ฯลฯ)
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ควรหมั่นไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเริ่มมีอาการไอบ่อยทุกวันโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษในอากาศ และรู้จักสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองจากควันและสารพิษที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ส่วนผู้ที่ต้องทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ หากเริ่มมีความผิดปกติของปอดควรหาทางเปลี่ยนงาน
- หลีกเลี่ยงการใช้ฟืนหุงต้มหรือก่อไฟภายในที่ขาดการถ่ายเทอากาศ
- ถ้าเป็นโรคหลอดลมอักเสบและโรคหืด ต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจัง
- นอกจากการป้องกันโดยส่วนตัวแล้ว การป้องกันยังต้องอาศัยความร่วมมือจากสังคมด้วย เช่น การควบคุมสิ่งแวดล้อมทางอากาศ โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีมาตรการในการจัดการกับฝุ่นละอองของสารต่าง ๆ ไม่ให้มีค่าสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด มีการระบายอากาศที่ดี มีการใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองที่เหมาะสมกับชนิดของฝุ่นละอองในแต่ละโรงงาน และมีการตรวจสุขภาพพนักงานประจำเพื่อคัดกรองโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโรคถุงลมโป่งพอง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ถุงลมปอดโป่งพอง (Emphysema)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 432-436.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 361 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค. “ถุงลมปอดโป่งพอง”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [06 ก.ย. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)”. (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [08 ก.ย. 2017].
- ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. “โรคถุงลมโป่งพอง (Pulmonary Emphysema)”. (นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com. [10 ก.ย. 2017].
- พบแพทย์. “ถุงลมโป่งพอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [12 ก.ย. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)