ถั่วเสี้ยนป่า
ถั่วเสี้ยนป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Pueraria phaseoloides (Roxb.) Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[3]
สมุนไพรถั่วเสี้ยนป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักผีด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), แพด มือแผด (ลั้วะ), กะตั้งล้วง (เมี่ยน), เปี้ยด (ขมุ), เพียด เป็นต้น[2],[3]
ลักษณะของถั่วเสี้ยนป่า
- ต้นถั่วเสี้ยนป่า จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเป็นเถาเลื้อยพัน ลำต้นมีลักษณะเรียวยาวและมีขนขึ้นหนาแน่น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-3.8 มิลลิเมตร มีลำต้นใต้ดินและรากสะสมอาหาร พบขึ้นกระจายในทวีปเอเชีย โดยมักขึ้นตามที่โล่งแจ้งที่ระดับความสูงตั้งแต่ 300-1,600 เมตร[1],[3],[4]
- ใบถั่วเสี้ยนป่า ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบย่อยที่อยู่ส่วนปลายมีลักษณะเป็นรูปวงรี โคนใบเป็นเงี่ยงยื่นออกสองข้าง มีขนาดกว้างประมาณ 3.8-6.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8.5-10.4 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยที่อยู่ด้านข้างมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง โคนใบเบี้ยว มีเงี่ยงยื่นออกข้างเดียว มีขนาดกว้างประมาณ 4.7-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6.9-8.9 เซนติเมตร มีขนขึ้นหนาแน่นทั้งสองด้าน โดยหน้าใบจะมีขนสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมปานกลาง ส่วนหลังใบจะเป็นปุยขนสีขาวยาวกว่าหน้าใบและปกคลุมอย่างหนาแน่น ก้านใบรวมมีหูใบสีเขียวและมีขนมาก ขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนก้านใบย่อยจะมีหูใบเป็นเส้นเรียวเล็กปลายแหลม ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร[1],[3]
- ดอกถั่วเสี้ยนป่า ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ยาวประมาณ 10-40 เซนติเมตร มีขน ดอกย่อยมีจำนวนมาก มีใบประดับและใบประดับย่อย ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็นแฉก มีขนสั้น กลีบดอกเป็นสีขาวมีแถบสีม่วงตรงกลางกลีบ หรือเป็นสีชมพู สีม่วง หรือขาวแกมม่วง ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่ว ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันเป็นสองกลุ่ม รังไข่มีขน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม[1],[3],[4]
- ผลถั่วเสี้ยนป่า ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปขอบขนานแคบ ปลายมีจะงอย เมื่อฝักแก่จะแตกและบิดเป็นเกลียว ภายในมีเมล็ดลักษณะกลมสีน้ำตาล ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร[1],[3],[4]
สรรพคุณของถั่วเสี้ยนป่า
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบหรือรากแห้งของถั่วเสี้ยนป่า นำมาผสมกับใบโผงเผงแห้ง บดให้เป็นผง ทำเป็นยาลูกกลอนกินเป็นยาแก้ไข้ (ราก, ใบ)[1],[3]
ประโยชน์ของถั่วเสี้ยนป่า
- ชาวลั้วะจะใช้เปลือกต้นถั่วเสี้ยนป่านำมาทำเป็นเชือก ส่วนชาวเมี่ยนจะนำเครือสดมาใช้มัดสิ่งของ[2]
- เปลือกต้นนำมาฉีกเป็นเส้น ๆ แล้วนำเส้นใยที่ได้มาสานสวิง หรือนำเครือมาลอกเปลือกออกเป็นเส้น ๆ ตากแห้งแล้วนำมาฟั่นเป็นเกลียวเชือก ใช้สำหรับสานสวิง[2]
- ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ให้วัวกิน โดยคุณค่าทางอาหารของต้นถั่วเสี้ยนป่าอายุ 75-90 วัน จะมีโปรตีน 18.9%, แคลเซียม 0.66%, ฟอสฟอรัส 0.25%, โพแทสเซียม 1.76%, ADF 42.9%, NDF 62.0%, DMD 55.7% (โดยวิธี Nylon bag), ไนเตรท 725.6 พีพีเอ็ม, ออกซาลิคแอซิด 80.3 พีพีเอ็ม, แทนนิน 0.14%, มิโมซีน 0.29 พีพีเอ็ม ส่วนไนไตรท์ไม่พบ[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ถั่วเสี้ยนป่า”. หน้า 180.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ถั่วเสี้ยนป่า, เพียด”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [13 ธ.ค. 2014].
- สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ถั่วเสี้ยนป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [13 ธ.ค. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ถั่วเสี้ยนป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [12 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Phuong Tran, 阿橋, Nicolas Vereecken), luirig.altervista.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)