ถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาว ชื่อสามัญ Yard long bean
ถั่วฝักยาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Vigna unguiculata (L.) Walp. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vigna sinensis (L.) Savi ex Hausskn., Vigna sinensis (L.) Savi ex Hassk., Vigna unguiculata subsp. unguiculata) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vigna unguiculata subsp. sesquipedalis (L.) Verdc. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
ถั่วฝักยาว มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและอินเดีย จัดเป็นผักที่ชาวเอเชียนิยมรับประทาน และยังเป็นผักที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย เพราะนอกจากจะใช้ปรุงเป็นอาหารได้อย่างหลากหลายแล้ว ยังใช้เป็นวัตถุดิบในด้านอุตสาหกรรมแช่แข็งและบรรจุกระป๋องอีกด้วย
ลักษณะของต้นถั่วฝักยาว
ลำต้นเป็นไม้เลื้อย เถาเป็นสีเขียวอ่อน เถาจะแข็งและเหนียวคล้ายกับถั่วพู ลำต้นม้วนพันสิ่งยึดเกาะได้ ลักษณะของใบเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ มี 3 ใบย่อยลักษณะคล้ายรูสามเหลี่ยมยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ส่วนลักษณะของดอกถั่วฝักยาว จะออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีขาว (หรือน้ำเงินอ่อน) ฝักมีลักษณะกลม (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร) ยาวประมาณ20-80 เซนติเมตร และในฝักมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด
ถั่วฝักยาวประกอบไปด้วยด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ ๆ หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินบี ธาตุเหล็ก ซัลเฟอร์ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม และที่สำคัญยังเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยวิตามินซี โฟเลต แมกนีเซียม และแมงกานีสอีกด้วย ซึ่งนับว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากเลยทีเดียว
ประโยชน์ของถั่วฝักยาว
- ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
- ฟอสฟอรัสมีส่วนช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน
- วิตามินซีช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดโรคหวัด
- ถั่วฝักยาวมีประโยชน์ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยแก้กระหาย ให้รสชุ่มชื่น ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ (เมล็ด)
- ช่วยแก้อาเจียน ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ (เมล็ด)
- สำหรับเด็กที่เบื่ออาหารเนื่องจากกระเพาะอาหารทำงานไม่ดี ให้ใช้รากสดนำมาผสมกับรากเถาตดหมาตดหมู แล้วนำมาตุ๋นกินกับเนื้อวัว จะช่วยแก้อาการเบื่ออาหารได้ (ราก)
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอเปรี้ยว ด้วยการเคี้ยวฝักสดกิน (ฝัก)
- ใช้ใบสดประมาณ 60-100 กรัมนำมาต้มกับน้ำ ใช้รักษาโรคหนองในและอาการปัสสาวะเป็นหนอง (ใบ)
- ใช้เป็นยาบำรุงม้ามและไต ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ หรือจะใช้รากนำมาตุ๋นกินเนื้อก็ได้เช่นกัน (ฝัก, ราก, เมล็ด)
- ใช้ถั่วฝักยาวสดหรือเมล็ดนำมาต้มกับน้ำผสมกับเกลือ ใช้รับประทานเป็นยาบำรุงไต (ฝัก, เมล็ด)
- ใช้รากสดนำไปเผาแล้วบดจนละเอียด ผสมกับน้ำแล้วใช้ทาเป็นยารักษาโรคหนองในที่หนองไหล (ราก)
- ถั่วฝักยาวมีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาฝีเนื้อร้าย ช่วยทำให้เนื้อเยื่อเจริญเร็วขึ้น ด้วยการใช้รากสดนำไปเผาแล้วบดจนละเอียดผสมกับน้ำแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น (ราก)
- ช่วยแก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ (เมล็ด)
- ช่วยแก้ตกขาว ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดและผักบุ้งนำมาตุ๋นกับเนื้อไก่รับประทาน จะช่วยแก้อาการตกขาวได้ (เมล็ด)
- ช่วยรักษาอาการปวดบวม ปวดตามเอว และรักษาแผลที่เต้านม ด้วยการใช้เปลือกฝักประมาณ 100-150 กรัมนำมาต้มกิน หรือใช้ภายนอกด้วยการนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ปวด (เปลือกฝัก)
- เมนูถั่วฝักยาว เช่น แกงส้มถั่วฝักยาว ถั่วฝักยาวผัดกะปิกุ้ง ถั่วฝักยาวผัดกุ้ง หมูผัดพริกแกงถั่วฝักยาว ผัดเป็ดถั่วฝักยาวหมูสับ หมูผัดเต้าเจี้ยวถั่วฝักยาว ผัดพริกขิงหมูใส่ถั่วฝักยาว กระเพาะหมูใส่ถั่วฝักยาว ถั่วฝักยาวผัดเต้าหู้ยี้ ฯลฯ
คุณค่าทางโภชนาการของถั่วฝักยาวต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 47 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 8.35 กรัม
- ไขมัน 0.4 กรัม
- โปรตีน 2.8 กรัม
- วิตามินเอ 43 ไมโครกรัม 5%
- วิตามินบี 1 0.107 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 2 0.11 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 3 0.41 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 5 0.55 มิลลิกรัม 11%
- วิตามินบี 6 0.024 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 9 62 ไมโครกรัม 16%
- วิตามินซี 18.8 มิลลิกรัม 23%
- ธาตุแคลเซียม 50 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุเหล็ก 0.47 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุแมกนีเซียม 44 มิลลิกรัม 12%
- ธาตุแมงกานีส 0.205 มิลลิกรัม 10%
- ธาตุฟอสฟอรัส 59 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุโพแทสเซียม 240 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุสังกะสี 0.37 มิลลิกรัม 4%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
คำแนะนำ : สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก ไม่ควรนำมาเมล็ดของถั่วฝักยาวมารับประทาน
ถั่วฝักยาวแม้จะมีประโยชน์ แต่สิ่งที่คุณต้องระวังให้มากนั่นก็คือสารพิษจากยาฆ่าแมลงตกค้าง ซึ่งจากการสุ่มตรวจเพื่อหาการตกค้างของยาฆ่าแมลงในกลุ่มคาร์บาเมตและไพรีทรอยด์ ก็มักจะพบสารเหล่านี้แทบทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารไซเพอร์เมทรินและเมโทมิลที่ไม่รู้จักหมดไปเสียที ซึ่งวิธีการป้องกันง่าย ๆ สำหรับผู้บริโภคคือ การนำผักมาล้างให้สะอาดหลาย ๆ ครั้ง เพื่อลดปริมาณยาฆ่าแมลงที่ตกค้างให้เจือจางลงกว่าเดิม เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เป็นโทษต่อร่างกาย
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), เว็บไซต์เดอะแดนดอทคอม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)